- จับประเด็นน่าสนใจจาก 5 คน 5 อาชีพที่ไม่ดูดายโลก ไม่ละเลยสังคม และลุกขึ้นมาแก้ ‘มัน’ ด้วยตัวเอง
- การศึกษา สิ่งแวดล้อม ความยุติธรรม สาธารณสุข และ สิทธิ คือ ‘มัน’ ที่เข้าขั้นวิกฤติ และนี่คือสิ่งที่ 5 คนนี้ลุกขึ้นมาทำให้เห็น
- ด้วยหวังว่าในอนาคต ความหลากหลายจะกลายเป็นความแข็งแกร่ง
เรื่อง: อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
ภาพ: ทีมสื่อสาร งาน Connect Fest เพราะความหลากหลายทำให้เรามาเจอกัน
“แล้วทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้นล่ะ?”
คำถามธรรมดาๆ นี้ สังเกตน้ำเสียงดีๆ สิ่งที่ต้องการอาจไม่ใช่คำตอบ แต่เป็นอารมณ์ปะปนด้วยความรู้สึกหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับว่า ‘มัน’ ในประโยคนั้นคืออะไร
แต่ประโยคนี้คือจุดเริ่มต้น ดึง 5 คน 5 สายอาชีพ ที่ต่างก็มี ‘มัน’ เป็นของตัวเอง ซึ่งมาเจอกัน ในงานเสวนา Connect to The Future เพราะความหลากหลายทำให้เรามาเจอกัน ณ มิวเซียมสยาม เมื่อ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
เพื่อแชร์และตอบคำถามให้มากกว่า ‘ทำไม’ แต่ไกลไปจึงจุดที่ว่า “เราจะแก้มันได้อย่างไร”
‘มัน’ คือการศึกษา
เปิดวงเสวนาโดย ต่าย-ภนิธา โตปฐมวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง A-chieve ธุรกิจเพื่อสังคมด้านการศึกษา ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนที่ปรึกษาให้เด็กๆ มัธยมตอนปลายได้ค้นหาตัวตนและความต้องการมา 9 ปีแล้ว
‘มัน’ ของต่าย คือ การศึกษา
9 ปีที่แล้ว A-chive เริ่มต้นมาจากการที่ต่ายได้พูดคุยกับเพื่อนและคนรอบตัวถึงความฝัน ความต้องการในชีวิตของแต่ละคน แล้วพบกับคำตอบที่ชวนให้สิ้นหวังและหดหู่ว่า “มันคงเป็นไปไม่ได้หรอก”
ตรงกันข้าม เมื่อเธอได้พูดคุยในเรื่องนี้กับเพื่อนต่างชาติ แววตาพวกเขากลับเป็นประกายวิบวับ น้ำเสียงเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น ซึ่งทำให้ต่ายต้องหันกลับมาถามตัวเองว่า “มันเกิดอะไรขึ้นระหว่างทางก่อนที่เราจะเรียนจบ” และนำมาสู่คำถามที่ว่า
“มันเกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาที่ควรจะทำให้เราเห็นความต้องการของตัวเอง”
A-chieve จึงถือกำเนิดขึ้น ไม่ใช่เพียงเพื่อให้เด็กได้พบเจอกับตัวตน แต่ยังสร้างกระบวนการในการตรวจสอบตัวเองว่า “ถ้าหากปัจจัยเงื่อนไขมันเปลี่ยนแล้วเขาควรจะทำอย่างไร และเขาควรจะมีจุดยืนอย่างไรกับมัน?”
A-chieve ตั้งต้นจากการเป็นกลุ่มเล็กๆ เข้าไปอยู่ร่วมกับเด็กวัยรุ่นในช่วงเวลาที่ต้อง “ตัดสินใจครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต” ช่วยให้พวกเขาเผชิญแรงกดดันทั้งของตัวเองและรอบข้างให้น้อยที่สุด จนนำไปสู่การค้นพบเส้นทางของแต่ละคน
ต่ายได้เรียนรู้หลายอย่าง หนึ่งในนั้นที่สำคัญ คือ การสร้างพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกซึ่งตัวตนของเขาได้อย่างเต็มที่โดยไม่ถูกใครตัดสิน และเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เด็กกล้าหันหลังกลับไปพูดคุยและบอกความต้องการกับพ่อแม่ รวมทั้งเผชิญแรงกดดันที่ตัวเองสร้างขึ้น
การค่อยๆ เติบโตขึ้นไปพร้อมกับเด็ก และการค่อยๆ ก่อร้างสร้างตัวขององค์กร ทำให้ A-chieve กลายมาเป็นอาชีพหลักของต่าย ที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงปากท้องตัวเองและครอบครัวไปพร้อมๆ กับการช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่ในสังคมให้เติบโตอย่างแข็งแรง ไปเป็นคนที่รู้จักและเลือกที่จะทำตามเป้าหมายของตัวเองได้
‘มัน’ คือสิ่งแวดล้อม
มีเรื่องราวมากมายที่ประกอบสร้างเป็นตัวตนให้กับ ดร.อ้อย-สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ มหาบัณฑิตจากอังกฤษ ให้กลับมาเริ่มต้นงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยและเข้าร่วมกับมูลนิธิโลกสีเขียวมาตลอด 24 ปีจนถึงปัจจุบัน
ความสนิทสนมของ ดร.อ้อยกับสิ่งแวดล้อม เริ่มจากการที่ตนเองเติบโตมากับความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติเยอะมาก จากภาพในตอนเด็ก พบเห็นแต่ความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม จนกลายมาเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สร้างผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทำให้เธอต้องก้าวเข้ามาทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง
งานที่ ดร.อ้อยทำในมูลนิธิโลกสีเขียวคือ ‘สิ่งแวดล้อมศึกษา’ หนึ่งในกิจกรรมที่คนรู้จักคือ ‘นักสืบสายน้ำ’ ที่คอยตรวจเช็คสายน้ำจากต้นน้ำสู่ปากน้ำชายทะเล กับ ‘นักสืบสายลม’ ที่คอยตรวจเช็คสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ว่าอากาศมีทิศทางและความแปรปรวนอย่างไร งานนี้มีไอเดียว่า
“อยากจะให้คนอ่านธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่มันอยู่รอบตัวเนี่ย ได้เหมือนกับอ่านหนังสือ”
สิ่งที่ทำให้ ดร.อ้อยริเริ่มงานชิ้นนี้ มาจากสมัยที่เธอยังเรียนอยู่อังกฤษ ในเวลานั้นเรื่องภาวะโลกร้อนเพิ่งจะเริ่มได้พื้นที่ในสื่อกระแสหลัก พร้อมกับการตั้งคำถามจากคนในสังคมว่า “มันเป็นข่าวจริงหรือเปล่า?” ทำให้เกิดการก่อตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ที่รวมเอานักวิทยาศาสตร์จากทั่วทุกมุมทั่วโลกเข้ามาเป็นคณะกรรมการเพื่อทำข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนฉบับแรก
โดยข้อมูลทั้งหมดถูกรวบรวมจากประชาชนคนทั่วไปที่สนใจในธรรมชาติ ชอบดูนกชมไม้ ว่าพวกเขาเริ่มเห็นความผิดปกติอะไรบ้างในสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งการเพาะพันธุ์ วิถีชีวิต แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับเมื่อ 100 ปีก่อน ซึ่ง BBC เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้
“BBC ที่คอยเปิดประเด็นให้ผู้คนตามติดชีวิตสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น แมงมุม ปลวก หรือการทำรังของนกบางชนิด แล้วให้ส่งข้อมูลต่างๆ เข้ามา”
ทั้งปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ส่งเข้ามา นำมารวบรวมเป็นบทสรุปที่แสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศของโลกในช่วงเวลา 100 ปีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน
พอเรียนจบ กลับมาเมืองไทย สิ่งที่ ดร.อ้อยเห็นคือ ข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีน้อยมาก และส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนด้วยความเชื่อ ไม่ใช่ความรู้
“แต่สิ่งที่น่าตกใจก็คือ สังคมเรายังขับเคลื่อนด้วยความเชื่อของคนเพียงไม่กี่กลุ่มที่เป็นนักวิชาการ ทั้งๆ ที่สายตาที่เรามองเห็นมันไม่ใช่ ทำไมเราไม่เชื่อในสิ่งที่สายตาเราเห็น”
ดร.อ้อยจึงก่อตั้งกลุ่ม ‘นักสืบสายน้ำ’ ขึ้นมาเพื่อสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ถึงชีวิตภายในหนองน้ำ ซึ่งผลตอบรับก็คือ การได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากเครื่องมือ
“สองคือ เปลี่ยนมุมมองความคิดของเด็กที่เข้าร่วมกลุ่ม ที่หลังจากเข้าร่วมกิจกรรม พวกเขาต่างรู้สึกตื่นเต้นและตกหลุมรักไปกับโลกของสายน้ำที่แปลกตาแต่ไม่แปลกไปจากโลกบนบกเลย”
ดร.อ้อยบอกว่า นี่อาจจะพอเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ เพราะหลังจากทุกคนผ่านสนามนักสืบสายน้ำแล้ว เด็กส่วนใหญ่ต่างก็ก้าวเข้าสู่การทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนับแต่นั้นเป็นต้นมา
‘มัน’ คือ การแพทย์และสาธารณสุข
มีคนจำนวนไม่น้อยในสังคมที่ได้รับมุมมองใหม่ๆ หรือลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่ๆ จากการอ่านหนังสือ เช่นเดียวกับ หมอนิล-นายแพทย์มารุต เหล็กเพชร นายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ผู้ขับเคลื่อนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพรุใน บนเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ให้ก่อตั้งโรงพยาบาลในแบบที่ชาวบ้านเป็นศูนย์กลางได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
จุดเริ่มต้นของการมาเป็นหมอนิลมาจาก การที่เขาชอบอ่านหนังสือ ชอบศึกษาเรื่องของผู้คนในหลากหลายพื้นที่ จนกระทั่งเขาได้พบกับหนังสือเล่มหนึ่งที่พูดถึงระบบการแพทย์ไทยที่ยังไม่ไปถึงไหน นั่นจึงทำให้เขาอยากเรียนหมอ เพื่อจะแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขภายในประเทศ
“ความทุกข์อย่างหนึ่งที่พบเจอตอนเรียนหมอคือ ตอนที่เราต้องไปราวด์วอร์ดในชั้นคลินิก ปี 4-6 ตอนนั้นผมเรียนที่โรงพยาบาลพระพุทธชินราช ด้วยความที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ฯ ทำให้คนเยอะมาก ญาติต้องนอนใต้เตียง ภาพที่เห็นคือ ทุกคนไม่มีความสุขเลย แล้วคนที่ไม่มีความสุขที่สุดเลยคือคนไข้ แม้อาจารย์จะบอกว่า หายแล้ว กลับบ้านได้ ผมก็กลับเห็นสายตาที่ว่างเปล่าของคนไข้ว่า ‘ฉันหายแล้วเหรอ ทำไมฉันไม่มีความสุขเลย’ ภาพทั้งหมดตลอด 3 ปีทำให้ผมคิดว่า มันต้องมีความผิดพลาดอะไรบางอย่างในสาธารณสุขไทยแน่นอน”
หมอนิลจึงคิดหาหนทางที่จะออกแบบโรงพยาบาลร่วมกับคนในชุมชนว่า “โรงพยาบาลที่ทุกคนต้องการควรจะเป็นแบบไหน?” เขาจึงเลือกไปเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัวที่เกาะยาวใหญ่ ซึ่งขณะนั้นกำลังจะสร้างโรงพยาบาลพอดี ทำให้เขาเริ่มคิดหาวิธีปรับเปลี่ยนรูปแบบของโรงพยาบาล ผ่านการจัดงาน Charity Fair ทุกๆ ปีเพื่อเรี่ยไรเงินสนับสนุนเข้าโรงพยาบาล ปรับปรุงให้โรงพยาบาลมีความทันสมัยและพร้อมต่อความต้องการของชาวบ้านจริงๆ
จากการอยู่ร่วมและเรียนรู้กับชุมชนบนเกาะยาวใหญ่ หมอนิลพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นมุสลิมและมีความสนิทชิดเชื้อกันอย่างมาก หากใครป่วยใกล้เสียชีวิต คนในชุมชนก็จะต้องรวมตัวกันมาละหมาด สวดขอดุอาให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย และนั่นทำให้ความคิดของหมอนิลเปลี่ยนไป
“ผมเคยคิดและเชื่อว่าความจริงทางการแพทย์นั้นมีเพียงหนึ่งเดียว ทุกคนจะต้องฟังเราที่เป็นหมอ แล้วยิ่งเราเป็นข้าราชการเนี่ย มันก็จะยิ่งกดทับ มันเลยทำให้โรงพยาบาลกลายเป็นพื้นที่ที่กดทับในแง่ของมิติทางวัฒนธรรม จิตวิญญาณที่เราควรจะใส่ใจมัน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ที่ทำให้โรงพยาบาลเป็นที่ที่มันแค่รักษา แต่ไม่ได้ดูแลใคร”
การทำงานหลายปีที่เกาะยาวทำให้หมอนิลคิดว่าความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะความเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิเท่ากัน
“ทุกคนมีสิทธิกำหนดชีวิตตัวเองได้ ทั้งระบบการศึกษา สาธารณสุข เมื่อเราไม่ใช้ความเป็นอำนาจนิยม ทำให้อำนาจมันเป็นแนวราบ ซึ่งมันก็ย้อนไปถึงรากฐานการทำงานว่าเราต้องเคารพคนอื่น ซึ่งเวลาที่ต่อสู้มามันก็ยาวนาน แม้ว่าหลายเรื่องเราจะเห็นชัดๆ ว่ามันผิดทั้งกฎหมาย ผิดทั้งระเบียบ แต่ที่เราเห็นคือ สิ่งที่ผิดมันกลายเป็นสิ่งที่ถูกได้ เมื่อมันได้รับฉันทามติจากหลายๆ คน”
‘มัน’ คือความยุติธรรม
การที่ใครสักคนจะลุกขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลง หรือทำอะไรสักอย่าง ส่วนใหญ่มักจะต้องมาจากจุดพลิกผันของชีวิต เช่นเดียวกับหญิง-จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ บัณฑิตนิติศาสตร์ใหม่หมาดจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ที่เคยใฝ่ฝันอยากเป็นผู้ผดุงความยุติธรรมที่มีหน้าที่ชี้ขาดความถูกผิดอย่าง ผู้พิพากษา แต่วันนี้งานของหญิงคือ เอ็นจีโอช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเหมือง
การเปลี่ยนเส้นทางชีวิตครั้งนี้มาจาก ตอนที่หญิงเข้าร่วมกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อ ‘กลุ่มดาวดิน’ ที่ลงพื้นที่ทำงานและเรียนรู้ประเด็นปัญหาของกลุ่มคนรักบ้านเกิด จังหวัดเลย ซึ่งได้รับผลกระทบต่อน้ำฝน น้ำดื่ม และน้ำใช้ เพราะอยู่ในพื้นที่รอบเหมืองทองคำและเขื่อนไซยาไนด์
“ตอนที่ชาวบ้านพาเราขึ้นไปดูเหมืองที่เขาขุดเอาทองไปเรียบร้อยแล้ว แล้วเหลือแต่ซากที่เป็นภูเขา ทำให้เราก็สะเทือนใจมากว่า สุดท้ายเขาตักตวงทุกสิ่งออกไปจากหมู่บ้าน ไม่ได้คืนอะไรกลับมาเลย มันก็เลยทำให้เราสนใจว่า กฎหมายที่เราเชื่อว่ามันยุติธรรมจริงๆ แล้วมันเป็นยังไงกันแน่”
“พอเรารู้ แล้วจะให้เราหยุด เราทำไม่ได้ พอเราได้เห็น เรารู้สึกว่าต้องทำต่อ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมันไม่เคยถูกแก้ไขเลย”
หญิงจึงหันมาทำงานร่วมกับชุมชน โดยให้ความรู้กับชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องสิทธิว่า เขามีสิทธิ์ทีจะเลือกได้ คัดค้านได้ตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น เรื่องการทำเหมือง จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.แร่ หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญเองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังต้องสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ให้ชาวบ้านกล้าที่จะออกมาใช้สิทธิในรูปแบบต่างๆ ได้
“สิ่งหนึ่งที่หญิงเห็นจากการทำงานในส่วนนี้คือ การสู้ เขาไม่เคยถอย หมายถึงเขาไม่ยอมจำนนกับสิ่งที่ถูกกดทับ สิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่เขาแสดงให้เห็นมันก็กลายมาเป็นพลังของเราเหมือนกัน”
‘มัน’ คือสิทธิและความตระหนัก
“ไม่เจอกับตัวไม่รู้หรอก” ประโยคนี้มักจะถูกหยิบมาใช้บ่อยครั้งกับสิ่งที่ทำร้ายเรา แต่คนรอบข้างไม่ได้เข้าใจไปกับเราด้วย
แต่ประโยคนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้ จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หันมาสนใจข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเมืองและการใช้อำนาจของรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อตัวเองและประชาชน จนเกิดเป็นรายการ ‘เจาะข่าวตื้น’ และรายการ ‘คุยหาเรื่อง’
จอห์นเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกให้จ่ายภาษีย้อนกลับหลายล้าน จากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เขาตั้งคำถามกลับไปยังรัฐว่า “เงินภาษีของเราถูกเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง?” เขาจึงทำรายการ ‘เจาะข่าวตื้น’ ขึ้นมาเพื่อต้องการให้เพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยและคนรุ่นราวคราวเดียวกันหันมาสนใจข่าวสารการใช้อำนาจของรัฐบ้าง
แต่หากจะเล่าแบบปกติธรรมดาก็คงไม่มีใครสนใจ จอห์นเลยเลือกนำเสนอผ่านการเสียดสี ประชดประชันเพื่อให้มีคนมาสนใจแล้วนำไปแชร์ นำไปเล่าต่อ รวมทั้งทำให้คนหันมารู้สึกตื่นตัวและปวดแสบปวดร้อนเวลาได้อ่านข่าวเหล่านี้ จนต้องกดแชร์ต่อทุกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น ในช่วงแรกรายการกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าไหร่นัก
“ยอมรับว่า หลายๆ ครั้งก็ท้อนะว่า ทำไมคนมันยังออกมาเป่านกหวีดกันอยู่ หรือทำไมยังเอาดอกไม้ไปให้รถถัง ไม่รู้สึกหรือว่า การทำรัฐประหาร มันคือการล้มล้างการปกครอง จริงๆ แล้วมันคืออันนี้ต่างหาก หลักการข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนี้”
แต่ความหวังของจอห์นก็เพิ่มขึ้น เมื่อในช่วงเวลา 3-4 ปีผ่านมา เขาได้เห็นการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำไปและที่หลายคนกำลังจะทำอยู่ คนสนใจและตระหนักมากขึ้น ความสิ้นหวังที่เคยมีก็หายไป กลายเป็นกำลังใจใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา
แม้ว่าการมาทำรายการเสียดสีสังคมการเมืองจะทำให้งานในวงการบันเทิงและกลุ่มเพื่อนของจอห์นค่อยๆ หายไป แต่เขาไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งเหล่านั้นมากนัก เพราะสิ่งเดียวที่เขารู้ก็คือ เวลาจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์เองว่า สิ่งที่เขาพูดไป จะกลายเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ว่าใครในสังคมก็เห็นได้จริง
“ผมเชื่อว่าเวลามันจะเป็นเครื่องพิสูจน์เอง เพียงแต่ว่าร่นเวลามันหน่อยได้ไหม ด้วยเสียงของเรา”
สำหรับจอห์น การสนับสนุนที่ดีต้องไม่หยุดที่การรีทวีต หรือการแชร์ แต่ต้องแสดงความคิดเห็นของเราออกไปในโลกกว้างด้วยได้เหมือนกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงจะไม่มีวันเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาส่งเสียง แล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง
ถึงจะต่าง ‘มัน’ และต่างที่มา สิ่งที่ทั้งห้ามีเหมือนกัน คือ กำลังใจที่ยังคงเต็มเปี่ยมในการผลักดัน ขับคลื่อนสังคมในแบบที่ตนถนัดและเชี่ยวชาญ
….เพราะความหลากหลายคือความแข็งแกร่ง