- มีผลการศึกษาที่ชัดเจนว่าประเทศที่ใช้ฐานสมรรถนะในการพัฒนาผู้เรียนนั้น เด็กเกิดการพัฒนาที่ดีขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงควรเปลี่ยน เพื่อเตรียมเด็กไทยให้พร้อมรับความท้าทายในอนาคต
- การสร้างสมรรถนะแบบไร้รอยต่อ ต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย โดยธรรมชาติให้ Self มาตั้งแต่ในช่วงปฐมวัย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการมีตัวตนของมนุษย์ที่จะรู้ว่า ตัวเองมีสมรรถนะอะไร มีความสามารถอะไร
- การจะพัฒนาเด็กสู่สมรรถนะ ต้องพัฒนาแบบเป็นองค์รวม ซึ่งคำว่าองค์รวมตีความได้หลายมิติ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็นำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า การเรียนรู้ที่มีความหมาย (Meaningful Learning) เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ที่ต้องการคนที่มีความพร้อมด้านสมรรถนะ
“เรื่องสมรรถนะไม่ใช่เรื่องใหม่ถอดด้าม หลายโรงเรียนทำมานานแล้ว เพียงแต่ไม่เรียกว่าสมรรถนะ เพราะทำไม่สุดแต่คิดว่าใช่ ก็อาจจะต้องทบทวน แล้วก็มีโรงเรียนส่วนหนึ่งทำแต่ส่วนใหญ่ทำเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง เพราะติดกับดักความคิดเดิมๆ เช่น มันต้องเกิดในเวลาเรียนนะ เกิดขึ้นในห้องเรียน ครูเท่านั้นที่เป็นผู้พัฒนาสมรรถนะ ถ้าครูไม่บอก ไม่สั่งสอน ไม่เรียนจากหนังสือไม่เกิดสมรรถนะ ทั้งๆ ที่นอกห้องเรียนบางทีเกิดเยอะกว่า”
ศ.ดร.บังอร เสรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวในเวที TEP Forum 2024 ในหัวข้อ ‘พัฒนาผู้เรียนด้วยฐานสมรรถนะ’ โดยบอกเล่าจากประสบการณ์การทำงานที่คลุกคลีกับเรื่องเหล่านี้มาร่วม 7 ปี ว่ามีจุดไหนบ้างที่ต้องตระหนักถึง อะไรที่ทำให้เด็กไม่เกิดสมรรถนะอย่างที่ตั้งเป้าหมายกันไว้
เริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า ทำไมต้องทำ? ศ.ดร.บังอร เล่าผ่านข้อมูลสองชุดด้วยกัน
“ชุดที่ 1 แผนภูมิ ระดับความสามารถของนักเรียนไทยเปรียบเทียบกับชาติต่างๆ (ร้อยละ) เป็นข้อมูลที่น่าตกใจมาก อยากให้เห็นภาพของข้อมูลที่เป็นระดับความสามารถจากการประเมิน ดูที่สีส้ม (แทนเด็กเก่ง: Top Performer) กับสีเหลือง (แทนเด็กอ่อน: Low Performer) ประเทศที่เขานำฐานสมรรถนะไปใช้ ปรากฏว่า เด็กเก่งมีเยอะ เด็กอ่อนมีน้อย แล้วเห็นประเทศไทยไหมคะ หาส้มไม่ค่อยเจอเหลืองย๊าว ยาว เพราะฉะนั้นนี่ก็ถึงเวลาแล้วว่า ถ้าเราจะสร้างเด็กให้มีคุณภาพ มีความสามารถสูงเราต้องเปลี่ยน เพราะประเทศที่ส้มยาวเปลี่ยนเป็นฐานสมรรถนะเป็น 10 ปี แล้ว”
อีกทั้ง ผลการสอบ PISA ปี 2022: ผลประเมินความสามารถเด็กไทย ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่า คะแนนทุกด้านต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยเฉพาะด้านการอ่านที่ลดลงมากที่สุด และทุกด้านยังต่ำว่าค่าเฉลี่ยของ OECE ด้วย จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไมต้องทำ? เพราะมีผลชัดเจนว่าประเทศที่ใช้ฐานสมรรถนะในการพัฒนาผู้เรียนนั้น เด็กเกิดการพัฒนาที่ดี
ความรู้ + ทักษะ + เจตคติ/คุณลักษณะ เกิดเป็น ‘สมรรถนะ’ ที่ใช้พัฒนาศักยภาพผู้เรียน
ศ.ดร.บังอร อธิบายคอนเซ็ปต์ของ ‘สมรรถนะ’ ว่า เกิดจากการใช้ ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และ เจตคติ/คุณลักษณะ (Attitude/Attribute) ในการทำงานหรือการแก้ปัญหาต่างๆ จนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
“แต่ภาพที่เกิดแล้วหยุดเลย ไม่ได้ไปต่อ ก็คือเรียนๆ แล้วมีการประยุกต์เล็กน้อยถึงปานกลาง ไปไม่สุด เพราะฉะนั้นคอนเซ็ปต์นี้ไม่ใช่แค่เห็นว่ามีแต่ต้องนำไปใช้ด้วย อีกอันที่พูดถึงเยอะคือ การประเมินสมรรถนะ ซึ่งตัวนี้ก็เชื่อมให้เห็นว่าเวลาเราจะรู้ว่าคนมีสมรรถนะ สิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องจัดสถานการณ์ สถานการณ์เท่านั้นที่จะบอกว่าคุณมีหรือเปล่า มีสถานการณ์ให้เข้าร่วมทำได้ไหม ทำได้นั่นคือมี”
ถ้าอย่างนั้นแล้ว ทำอย่างไรได้บ้าง ที่จะทำให้เด็กเกิดสมรรถนะ? ในมุมของ ศ.ดร.บังอร มองว่า
“หลายคนบอกว่าถ้าเราจะพัฒนาสมรรถนะให้เด็กได้คิด ปฏิบัติจริง คำว่า Active Learning ก็เข้ามา ถ้าคิดแค่นี้ยังเสี่ยงอยู่ อาจไปไม่สุด ต้องเพิ่มคำสำคัญคือ การประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใหม่/ใช้ในชีวิตจริง ความเสี่ยงจะน้อยลง แต่ถ้าไม่ต้องการเสี่ยงต้องทำให้เขากระหาย อยากเรียน อยากเดิน อยากทำ มีความมุ่งมั่น เริ่มต้นตรงนี้ก่อน เพราะนั่นคือรากฐานสำคัญ”
สุดท้าย โรงเรียนจะทำได้ไหม? เริ่มอย่างไร? ศ.ดร.บังอร เสนอ 2 เส้นทาง โดยเส้นทางที่ 1 เริ่มต้นจากการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะหรือพัฒนาสมรรถนะ และค่อยๆ ถอดบทเรียน เพื่อทำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ และนำหลักสูตรไปใช้
“เส้นทางนี้ทำได้ทุกโรงเรียน แต่สิ่งสำคัญหนึ่งคือจะทำอะไรต้องรู้จักเขาอย่างละเอียด สองให้เลือกแนวทางที่หลากหลาย เหมาะสมกับการพัฒนาสมรรถนะแต่ละด้าน สามเป็นหัวใจเลยต้องนึกถึงสถานการณ์ 3 อย่าง เราเรียกว่าสถานการณ์เพื่อการเรียนรู้ (ASK) นั่นคือสถานการณ์ที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาขั้นแรกของสมรรถนะ สถานการณ์อันที่สองคือ การประยุกต์ใช้ เอาไปใช้ สถานการณ์ที่สาม เช็ค ตรวจสอบดูว่าเกิดหรือยัง เป็นสถานการณ์เพื่อประเมินสมรรถนะ”
เส้นทางที่ 2 คือ การทำหลักสูตร และนำไปใช้ เส้นทางนี้ทำได้แค่โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรม ที่มีการใช้หลักสูตรประเภทที่ 3 คือ หลักสูตรอื่นๆ ที่สถานศึกษานำร่องประสงค์จะจัดการเรียนการสอนโดยไม่ใช้หลักสูตรตามมาตรา 20 (4)
“การนำหลักสูตรไปใช้พัฒนาสมรรถนะผู้เรียนจะเกิดปรากฏการณ์ 3 อย่างขึ้น เลือกได้เลยว่าอยากให้โรงเรียนเป็นอย่างไร ปรากฏการณ์ที่ 1 คือ โกลาหล สับสน และทุกข์ทน ใครก็ตามทำพอเป็นพิธี เวลาเอาไปใช้จะเป็นอย่างนี้เลย อันที่ 2 อึดอัดเล็กน้อยไม่สบายตัว พัฒนาเล่มหลักสูตรตามความรู้ ความเข้าใจ แต่ไม่พัฒนาสมรรถนะหน้างาน อันนี้ก็ยังมีประโยชน์ แต่ถ้าอยากสบายๆ ก็นำประสบการณ์เดิม เอาความรู้ ตอนทำที่เราเข้าใจมาพัฒนา”
ในการทำงานการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนนั้น ศ.ดร.บังอร ชี้ว่า จุดเริ่มต้นคือการเข้าใจที่ชัดเจน “ทำไป คิดไป ปรับไป ยิ่งเข้าใจลุ่มลึก”
“ที่สำคัญการพัฒนาสมรรถนะที่เกิดผลต้องอาศัยลมใต้ปีก อย่าปล่อยให้ครูทำงานโดยลำพัง ผู้บริหารเข้าไปช่วย ศึกษานิเทศน์ นักวิชาการต้องช่วยกัน
การสอนเป็นหน้าที่ของครูอยู่แล้ว แต่ต้องคอยสนับสนุนเป็นลมให้เขาบินได้ และอย่าทำงานในมุมแคบๆ ห้องเรียนเล็กๆ หนังสือสองสามเล่ม เปิดกว้างให้แนวทางที่หลากหลาย และชวนสองผู้มาทำงานด้วย คือ ผู้เรียน กับ ผู้ปกครอง จะทำให้ทุกท่านเดินอย่างมั่นใจ และผู้เรียนก็เกิดสมรรถนะ”
พัฒนา 4 ด้าน, Self และทักษะ EF 3 มิติในการพัฒนาเด็กอย่างสมดุลในทุกช่วงวัย
ในช่วงของการเสวนามีอีกหนึ่งหัวข้อที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาผู้เรียนด้วยฐานสมรรถนะ ที่ศ.ดร.บังอร ได้กล่าวในช่วงต้น นั่นก็คือ ‘สร้างสมรรถนะเพื่อคนทุกวัย รับความท้าทายแห่งอนาคต’ โดยเริ่มจากปฐมวัย
“เราเชื่อว่าปฐมวัยคือรากฐานของชีวิตมนุษย์ เราไม่พัฒนาเขาเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมปีที่ 1 แต่เราสร้างเขาเพื่อชีวิตของเขาทั้งหมด” อาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข นายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ พูดถึงการส่งเสริมสมรรถนะแบบไร้รอยต่อ ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก
“ธรรมชาติให้สิ่งที่ดีงามที่สุดให้กับเด็กปฐมวัย แต่ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วง 5 ขวบ ก่อนที่จะเข้าสู่วัยเรียน เด็กของเราพัฒนาล่าช้าไปถึง 1 ใน 4 แล้ว ทักษะสมอง EF ซึ่งเป็นทักษะที่ประกันความสำเร็จของมนุษย์ในอนาคต พัฒนาล่าช้าไปถึง 29% ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นมาตั้งแต่เขายังไม่เข้าสู่วัยเรียนเลย ทั้งๆ ที่ธรรมชาติให้หน้าต่างแห่งโอกาส ให้พัฒนาที่ดี ให้ Self ที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ที่สุดในชีวิตของมนุษย์”
“ในเรื่องของพัฒนาการเด็กคว่ำ หงาย คลาน อย่างรวดเร็ว พอถึงหนึ่งขวบพูดหนึ่งคำ สองขวบพูดสองคำ แต่พอสี่ขวบเขาเถียงกับเราได้ทันที คือพัฒนาการไวมากๆ จนต้องจับตามอง ในช่วงนี้พัฒนาการขั้นพื้นฐานจะส่งผลต่อพัฒนาการในระยะถัดๆ ไป ถ้าเราทำดี พัฒนาการไม่ล่าช้า ไม่มีรอยต่อแน่นอน”
มาที่เรื่องของ ‘ตัวตน’ หรือ Self อาจารย์ธิดาอธิบายว่า ธรรมชาติให้ Self มาตั้งแต่ในช่วงปฐมวัย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการมีตัวตนของมนุษย์ที่จะรู้ว่า ตัวเองมีสมรรถนะอะไร มีความสามารถอะไร
“ถ้าเด็กมี Self แข็งแรง เขาจะมีพลังชีวิตที่จะก้าวออกไปเรียนรู้ในโลกใบนี้ โลกใบนี้ไม่น่ากลัว จะมองโลกในมุมบวก จะนึกถึงคนอื่นว่าสิ่งที่ทำจะกระทบถึงคนอื่นอย่างไร
เพราะฉะนั้น Self เริ่มต้นในขวบปีแรกของชีวิต และ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพัง เกิดขึ้นจากการมีสัมพันธ์กับคนอื่น แปลว่าไม่ได้เริ่มที่ตัวเขา แล้วขยายไปที่คนอื่นอย่างที่การศึกษามักเข้าใจ แต่มันจะหลอมรวมไปตั้งแต่แรกเกิดของชีวิต ที่มีตัวเขาและคนอื่น มีความสัมพันธ์กันตลอดเวลา แล้ว Self ยังส่งผลถึงเมื่อมีพลังชีวิตสมองจะทำงานได้ดี Self ที่แข็งแรง จึงส่งผลดีต่อการทำงานของ EF ด้วย”
“สมองของเด็กจะมีพัฒนาการด้าน EF หรือ Executive Functions หรือทักษะสมอง เมื่อสมองเริ่มต้น แน่นอนว่าเราเรียนรู้กันอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วว่า หลังจากความรู้ทางด้าน Neuroscience (ประสาทวิทยาศาสตร์) เข้ามา สมองของเด็กเติบโตได้ถึง 80-90% ของสมองผู้ใหญ่ สมองที่เรามีทุกวันนี้เด็กเขามีมาตั้งนานแล้ว เรามาเติมกันอีกหน่อยเดียว เติมทักษะที่มีความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์”
ในการทำงานกับเด็กปฐมวัย อาจารย์ธิดา มองว่า “เด็กคือเมล็ดพันธุ์ที่มีศักยภาพอยู่ในตัว เราจะไม่ไปจัดการกับเมล็ดพันธุ์นี้ แต่เราจะเป็นชาวสวนที่ขยันขันแข็ง รดน้ำพรวนดิน เพื่อให้สิ่งที่ธรรมชาติให้เด็กๆ มานั้นเติบโตงอกงาม นั่นคือ พัฒนาการที่ดี Self ที่แข็งแรง และ EF ที่ดี
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ครูปฐมวัยจะต้องรู้และอยากจะฝากไปทุกช่วงวัยก็คือ ครูจะต้องมีความรู้ฐานราก 3 มิติ คือ พัฒนาการ 4 ด้าน Self และทักษะสมอง EF เป็นความรู้สามัญประจำมนุษย์ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นครู พ่อแม่ นักการศึกษา ประชาชนทั่วไปต้องมีความรู้สามัญประจำตัวเพื่อดูแลเด็กๆ ความรู้นั้นคืออะไร แม่นยำในเรื่องของพัฒนาการ อย่าฝืนให้เขาทำอะไรที่ไม่ใช่ในเรื่องพัฒนาการของเขา”
“เพราะเด็กคือธรรมชาติที่งดงาม เขาคือต้นกล้าที่มี Self ที่แข็งแรงอยู่ในตัว ถ้าเขาได้รับความรัก ความอบอุ่น จากคนรอบข้าง แต่ถ้าคุณทำลาย Self เขาด้วยการเปรียบเทียบ กดดัน พยายามที่จะทำให้เขาไม่ได้รับความสำเร็จด้วยตัวเอง แม้กระทั่งใส่รองเท้า ถุงเท้า เขากำลังจะใส่ก็ยังดึงดันที่จะใส่ให้เขาอีก เขาเรียกว่าการเอาใจมากเกินไปทำให้เขาไม่ค้นพบเลยว่าเขามีศักยภาพ หรือมีสมรรถนะอะไร ธรรมชาติที่เขามี สมองที่ดี แต่เราไม่ได้ให้เขาคิด เขาอยากจะตัดสินใจที่จะเลือกหยิบเสื้อผ้ามาใส่ เขาอยากจะเล่นของเล่น คุณครูก็กำหนดว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเมล็ดต้นกล้าเหล่านี้จะงอกงามได้อย่างไร”
ในด้านการจัดการศึกษาในเด็กเล็ก อาจารย์ธิดาจึงมองว่า “เราต้องเคารพในความเป็นธรรมชาติของเด็ก เราไม่มองเด็กเป็นเครื่องจักรที่จะจัดการให้เขารู้อย่างนั้น รู้อย่างนี้ ครูอนุบาลถูกสอนสั่งมาว่า เด็กคือครูของเรา เราต้องให้ความใส่ใจ แล้วหาจังหวะที่เราเอื้ออำนวยให้เขาเติบโตอย่างงดงาม”
“การจัดการเรียนการสอนในระดับประถม ในระดับมัธยม ต้องคำนึงถึงพัฒนาการของเขาด้วย โดยเฉพาะอย่างช่วงที่เขาจะเป็นวัยรุ่น การจัดการเรียนการสอนบางทีเรามองเรื่องของความรู้ ทักษะ เจตคติหรือคุณค่า แต่มองถึงด้วยไหมว่าพัฒนาการของเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยพรีทีน เขากำลังปั่นป่วนอะไรอยู่ในตัวของเขา ฝากมองสายที่เชื่อมต่อกันไปจากปฐมวัยด้วย สายใยที่เราสร้างเอาไว้ให้เขามีภูมิต้านทานทางด้านพลังชีวิตก็คือ Self ของเขาที่เริ่มก่อตัวตั้งแต่ปฐมวัยแล้ว ทำให้เขาเห็นคุณค่าในตนเอง ทำให้เขาเห็นคุณค่าในผู้อื่น”
ทั้งนี้ เด็กปฐมวัยเรียนรู้ผ่านการกระบวนการหลากหลาย อาจารย์ธิดา เล่าว่า นอกจากลงมือทำแล้ว เด็กจะเรียนรู้ผ่านการซึบซับจากสภาพแวดล้อมทั้งหมด รวมถึงตัวคุณครูเองที่เป็นแบบอย่าง เพราะฉะนั้นในแนวการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยจึงไม่ควรมองแคบหรือตีบตันเพียงแค่การศึกษา แต่มองถึงการพัฒนาตัวเด็กโดยองค์รวม
“แล้วถ้ามองในเรื่องของ Ecology (นิเวศวิทยา) ของเด็กปฐมวัย เด็กเกี่ยวพันกับโรงเรียน ครอบครัว เพราะฉะนั้นปฐมวัยจะดึงครอบครัวเข้ามาร่วมกันพัฒนาเด็กไปด้วยกัน แบบที่พยายามไม่ให้มีรอยต่อระหว่างบ้านกับโรงเรียน กระทรวงต่างๆ หน่วยงานต่างๆ ผู้คนต่างๆ ที่แวดล้อมรอบเด็กก็ถูกบังคับให้เป็นองค์รวม หากวันนี้สังคมไทยยังแยกส่วนต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างมีมาตรฐานคุณภาพตัวชี้วัดเป็นของตัวเอง เราก็หั่นเด็กเป็นชิ้นอีกเหมือนกัน”
“เด็กปฐมวัยเตือนสติเราอยู่ตลอดเวลาว่า เขามีชีวิตแบบองค์รวมอย่าทำให้เขาแยกส่วน และเขาเปลี่ยนแปลงถ้าผู้ใหญ่เปลี่ยนแปลง
ถ้าเมื่อไหร่พวกเราเก่งขึ้น ดีวันดีคืนขึ้น เป็นชาวสวนที่แข็งแรงและเฉลียวฉลาดในการดูแลต้นกล้าอย่างนี้ เขาจะเติบโต งดงาม และเขาจะกลับมาเป็นที่ชื่นใจของพวกเรา แต่ถ้าเราเป็นคนสวนที่ไม่ขยันขันแข็ง ไม่ได้ใส่ใจว่าเม็ดพันธุ์แต่ละต้นมันมีความหลากหลายต่างกันยังไง ทำตามใจตัวเองหรือทำเหมือนกันหมดทั้งแปลง ต้นกล้าแต่ละต้นก็จะไม่สามารถงอกงามได้ หรือเติบโตอย่างล่าช้า ไม่ว่าเราจะทำข้างบนอย่างไรให้เก่ง คิดนวัตกรรมดีแค่ไหน หากตัวเขาไม่ได้เป็นต้นกล้าที่แข็งแรงมาตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ต้นกล้าก็จะแคระและแกร็น หากเราไม่ให้ความใส่ใจกับวิธีคิดของการดูแลเด็กปฐมวัย”
อาจารย์ธิดา เสริมว่า ในด้านพัฒนาการที่ล่าช้านั้นเป็นเพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กยังขาดความรู้เรื่องพัฒนาการ ขาดความรู้เรื่อง Self และขาดความรู้เรื่องของสมอง
“เวลาเราพูดถึงหลักสูตรฐานสมรรถนะ พูดถึง Active Learning ต้องกลับมาถามว่าสอนแล้วเด็กกำกับตัวเองได้ไหม ทุกวันนี้ปัญหาเกิดจากเด็กไม่สามารถกำกับตัวเองได้ เพราะว่าจริงๆ ช่วงของ Early Childhood (วัยเด็กตอนต้น) EF พัฒนาสูงสุด พอเขาไม่สามารถที่จะมีความยั้งคิดไตร่ตรองหรือยับยั้งชั่งใจได้ วงจรประสาทของสมองที่ดีที่สุดในช่วงเล็กๆ มันไม่ได้ถูกสร้าง อาจจะมาจากการตามใจบ้าง ไม่เข้าใจพัฒนาการบ้าง ทำให้ส่วนนี้อ่อนแอ แปลว่าเมื่อเขาโตขึ้นในชั้นประถมเขาก็กำกับตัวเองไม่ได้เลยในการที่จะรู้เวลาว่าตัวเองจะต้องเรียนหนังสือ
พอกำกับตัวเองไม่ได้ยั้งใจตัวเองไม่ได้ เวลาเพื่อนมาแกล้งจัดการกับอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ทักษะเสียหายไปหมด จึงเห็นเด็กติดยา เด็กทำอะไรตามใจ ทำอะไรตามอารมณ์ตัวเอง เพราะขาดการฝึกฝนทักษะการยับยั้งชั่งใจ การจัดการอารมณ์ การจดจ่อใส่ใจ เพราะทั้งหมดนั้นการที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งพัฒนาได้ แล้วทำให้เขายังรักคนอื่น รักสิ่งแวดล้อม หลักการสำคัญที่สุดคือการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวก จึงทำให้ทุกอย่างไร้รอยต่อ เพราะมันจะสมานทุกอย่างเข้าไป”
พัฒนาเด็กแบบองค์รวม ด้วย Meaningful Learning การเรียนรู้ที่มีความหมาย
“การพัฒนาเด็กต้องพัฒนาแบบเป็นองค์รวม ซึ่งคำว่าองค์รวมนั้นตีความได้หลายมิติ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็นำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่เราเรียกว่า การเรียนรู้ที่มีความหมาย หรือ Meaningful Learning” รศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงปรัชญาหนึ่งที่สำคัญของการศึกษาปฐมวัย ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์การศึกษาที่นำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนสู่สมรรถนะ
โดยคอนเซ็ปต์ Meaningful Learning รศ.ดร.ยศวีร์ อธิบายว่า พูดถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งสังคมในแต่ละยุคสมัยมีความต้องการที่แตกต่างกันไป
“ยุคหนึ่ง Meaningful Learning ในระดับประถมกับมัธยมให้ความสำคัญกับการที่พัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนรู้เยอะ สอบเก่ง เข้าเรียนในคณะที่เรียนยาก เพราะฉะนั้นกลไกก็เลยไหลไปสู่การเรียนการสอนแบบนั้น เลยเกิดตะเข็บขึ้น เพราะว่าตะเข็บของ Meaningful Learning ของอนุบาล ประถม กับมัธยม เป็นคนละกระบวนทัศน์กัน”
ในฐานะที่มาจากภาควิชาหลักสูตรและการสอน รศ.ดร.ยศวีร์ มองว่า “เราจัดการศึกษา เราไม่ได้จัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองหรือผู้ที่กำหนดตัวทิศทางใดๆ ก็ตาม แต่ท้ายสุดแล้วเรากำลังจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของสังคม
ในยุคนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนเลยว่า ผู้ที่มีผลประโยชน์โดยตรงกับการรับผลผลิตทางการศึกษาก็คือกลุ่มผู้ประกอบการ เพราะเขาเป็นคนรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาเข้าไปสู่โลกของการทำงาน โลกของวิชาชีพ ยุคหนึ่งนายจ้างเคยบอกว่าฉันต้องการคนที่รู้เยอะรู้เก่ง แต่พอเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าขึ้นมา ไม่จำเป็นแล้ว เพราะหลายอย่างเทคโนโลยีทำงานแทนคนได้ มีการพูดถึงเรื่องของ multitasking คือคนหนึ่งคนทำอะไรได้หลายต่อหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราจะสังเกตเห็นเลยว่า เวลาที่เราพูดถึงเรื่องของความต้องการของผู้ประกอบการเขาไม่ได้คาดหวังคนเก่งอีกต่อไปแล้ว”
รศ.ดร.ยศวีร์ ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ทำให้เห็นภาพชัดของงานหนึ่งงานที่แฝงไปด้วยความรู้ ทักษะ และเจตคติ
“สมมติว่าถ้าเราจะต้องเขียนบัตรอวยพรญาติผู้ใหญ่เนื่องในวันคล้ายวันเกิด เราจะเขียนว่าอะไร มาดูสิว่าจริงๆ แล้วมันต้องใช้สมรรถนะอะไรบ้าง ผลผลิตในงานนี้ที่เราต้องการคือคำอวยพรที่เป็นคำพูด ความรู้ที่เขาจะต้องใช้ในการเขียนคำอวยพรญาติผู้ใหญ่ คำพูดการใช้ภาษามีผลหมดเลย ทักษะที่จะต้องใช้ก็มีการสื่อสาร คือถ้ามีความรู้ว่าต้องใช้ภาษาแบบนี้ แต่พูดจาไม่ได้เลย ความรู้ก็ไม่ถูกเอาไปใช้ เช่นเดียวกันกับตัวคุณลักษณะหรือสิ่งที่มันอยู่ข้างใน สิ่งที่มันมองไม่เห็นอาจจะเป็นมารยาทในการใช้ภาษาท่าทาง ความสุภาพ ท่าทางที่เราใช้ในการส่งความปรารถนาในขณะที่เราสื่อสาร เพียงแค่ตัวอย่างเล็กๆ ในชีวิตประจำวันที่คนหลายคนมักจะมองข้ามอย่างการอวยพรญาติผู้ใหญ่ จริงๆ แล้วมันแฝงไปด้วยทักษะ แฝงไปด้วยความรู้ แฝงไว้ด้วยคุณลักษณะ หรืออะไรใดๆ ที่อยู่ข้างในแบบที่เรามองไม่เห็น นี่คือสิ่งที่การศึกษาโลกกำลังจะพัฒนาให้มนุษย์คนนึงเติมเต็มด้วยสิ่งเหล่านี้”
“และในฐานะที่อยู่ในภาคส่วนของครุศึกษา เราพัฒนาครู มันมีมายด์เซ็ตนึงที่เราค่อนข้างกังวลกับการเปลี่ยนแปลงจากหลักสูตรที่จะอิงมาตรฐานไปสู่ฐานสมรรถนะ เราจะเห็นเลยว่าภาพที่เรามองผลผลิตปลายทางที่เป็นตัวผู้เรียน เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนที่รู้เยอะหรือได้คะแนนเยอะๆ อย่างเดียว หรือเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนที่เขาทำอะไรต่อมิอะไรคล่องแคล่ว แต่สิ่งที่ทำถูกบ้างผิดบ้าง และเราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนที่ทำอะไรเป็นแต่ว่าเอาความสามารถของตนเองไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง”
“สิ่งที่เด็กจะพัฒนาได้ แน่นอนมันต้องผ่านประสบการณ์ตรง ในเรื่องของการเรียนรู้ที่มีความหมายหรือว่า Meaningful Learning ผมอยากขยายความต่อว่า ตะเข็บหรือว่ารอยเชื่อมต่อมันจะหายไปถ้าเราเซ็ตคอนเซ็ปต์ของ Meaningful Learning ให้ตรงกับปฐมวัย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำได้แล้วสังคมมองหาด้วยซ้ำไป
อย่างที่บอกว่าตอนนี้มุมมองวิธีคิดความต้องการของคนในสังคมที่คาดหวังต่อการจัดการศึกษาหรือผลผลิตของการศึกษา เขาไม่ได้ต้องการคนเก่ง แต่เขาต้องการคนที่มีความพร้อมในการมีสมรรถนะ
ซึ่งการสอนให้เด็กเกิดสมรรถนะ คีย์เวิร์ดสำคัญก็คือ การลงมือปฏิบัติ หรือ Active Learning เพราะว่าสมรรถนะหรือทักษะใดทักษะหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นมาได้เพียงชั่วข้ามคืน เราไม่สามารถสอนให้เด็กเกิดทักษะได้อย่างชำนิชำนาญ โดยคิดไว้เลยว่าสองคาบทำได้เลย เพราะฉะนั้นความต่อเนื่อง ตอกย้ำ ซ้ำทวน การจัดประสบการณ์ให้เขาเกิดซ้ำๆ จนกระทั่งเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นระบบ จะทำให้ทักษะของเขาแข็งแกร่ง ทำให้เขาเกิดสมรรถนะขึ้นโดยธรรมชาติที่สุด แล้วเมื่อไรก็ตามที่เกิดทักษะ เกิดสมรรถนะแล้วสิ่งนั้นจะอยู่ติดตัว”
สำหรับ Meaningful Learning หรือการเรียนรู้ที่มีความหมายนั้น รศ.ดร.ยศวีร์ อธิบายต่อถึงคอนเซ็ปต์ของการสอนว่า “ครูทุกคนจะรู้เลยว่าในการที่จะสอนให้เด็กคนนึงเกิดความสำเร็จได้ ต้องมีความสอดคล้องกันใน 3 สิ่งนี้ สิ่งแรกคือเราต้องมีเป้าหมายหรือการเรียนรู้ที่ชัดเจน สองคือกระบวนการจัดการเรียนการสอน และสุดท้ายก็คือการวัดผลประเมินผล พูดง่ายๆ ความสอดคล้อง 3 ส่วนนี้คือ หลักสูตร การสอน และการประเมินผล
ทุกวันนี้จะบอกว่าการสอนขั้นพื้นฐานเราก็สอดคล้องนะครับ 3 ตัวนี้ แต่สิ่งสอดคล้องของเราไม่ได้สอดคล้องกับเขาเท่านั้นเอง ถึงจุดนี้ทุกท่านจะเห็นเลยว่ารอยตะเข็บที่ว่ามันมาจากไหน แต่มันมีแนวโน้มทิศทางที่ดีขึ้นนะครับ ในกลุ่มนักวิชาการหลายต่อหลายท่าน ก็รวบรวมพลังพอสมควรที่จะทำให้เกิดภาพเปลี่ยนของหลักสูตรของบ้านเราให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ
แต่กลไกนึงที่นักครุศึกษาไม่ใช่ผมคนเดียว ก็หลายคนด้วยซ้ำมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ถ้าเปลี่ยนหลักสูตรแต่การสอนและการวัดประเมินผลไม่เปลี่ยนก็ไม่มีประโยชน์ เพราะถ้าสมมติหลักสูตรกำหนดว่าต้องทำให้เด็กเกิดสมรรถนะ คุณครูก็ทราบ แต่ปรากฏการสอนก็ยังสอนคอนเซ็ปต์แล้วตามด้วยแบบฝึกหัดเป็นแพทเทิร์นปกติที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน เด็กไม่ได้เอาความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ในขณะเดียวกันการวัดประเมินผลของคุณครูก็เป็นลักษณะของ paper-pencil test (แบบให้เขียนตอบ) เพื่อตอบให้ได้ว่าคะแนนดีขึ้นกี่เปอร์เซ็น ตัดเกรดเท่าไร อันนี้มันก็จะเห็นเลยว่า ทั้ง 3 สิ่งที่ผมบอกมันไม่สอดคล้องกัน แล้วก็เกิดสับสนกับตัวเองอีกว่าเราจะไปทางไหน
เพราะฉะนั้นถ้าเรามองดีๆ เราจะเห็นเลยว่าความต้องการของสังคม เราต้องการคนแบบไหน การที่จะเกิดสมรรถนะได้มันต้องมีงาน และงานจะเกิดขึ้นเด็กต้องลงมือทำ เช่น การเขียนการ์ดอวยพรญาติผู้ใหญ่ที่ยกตัวอย่างไป ต้องใช้ทั้งความรู้ ต้องมีทักษะอะไรบางอย่าง การเขียน การใช้ภาษา การสื่อสาร ต้องมีคุณลักษณะบางอย่างออกมาเพื่อทำให้เขียนแล้วญาติผู้ใหญ่เกิดความซาบซึ้ง”
“ท้ายสุดแล้วถ้าต้องเรียนแบบสมรรถนะ สมมติมีหลักสูตรเรียนแบบฐานสมรรถนะ คุณครูให้เด็กทำงาน มี Active Learning ให้เด็กเรียนรู้ ถึงเวลาครูก็ให้เด็กสอบ RT (Reading Test คือการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1) อยู่ดี หรือสอบ O-Net (การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน) อยู่ดี มันก็ไม่ไปไหน เพราะฉะนั้นมันจะทรงพลังมากถ้ามีอิทธิพลมาสู่หลักสูตร การสอนและการวัดประเมินผล
แต่ก็ต้องยอมรับว่าเวลาพูดถึงการวัดประเมินผลผู้เรียน ในชั้นเรียน ในบริบทจริงๆ เห็นความเพียรพยายามของคุณครูนะครับ ในการที่จะประเมินเด็กแทนที่จะประเมินจากการใช้ข้อสอบ เราก็พยายามให้เด็กทำชิ้นงาน และเราก็จะให้เด็กประเมินจากชิ้นงาน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีในระดับห้องเรียน แต่เราพบว่าในระดับประเทศที่มีเรื่องของ Accountability System ระบบรับผิดรับชอบ ก็จะมีกลไกในการต้องใช้คะแนนเพื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยต่างๆ มองในมุมของคุณครูมันเป็นแรงกดดันมหาศาลมาที่คุณครู แล้วก็อยากจะฝากจริงๆ ครับว่า Seamless (ไร้รอยต่อ) ที่มันจะเกิดขึ้นได้มันต้องสอดคล้องกันทั้งในส่วนที่เป็นของหลักสูตร การสอน และการประเมินผล มันจะทำให้บรรยากาศในชั้นเรียนเปลี่ยนไปได้จริงๆ ครับ” รศ.ดร.ยศวีร์ ทิ้งท้าย