- ขณะนี้วัคซีนที่ประเทศไทยอนุมัติให้ฉีดให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจาก Pfizer สำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติวัคซีน Moderna เป็นอีกหนึ่งวัคซีนที่สามารถฉีดให้ผู้ที่มีอายุระหว่าง 12 – 17 ปี
- การตัดสินใจจะฉีดหรือเลือกรับวัคซีนใดๆ คนที่มีสิทธิ์เลือกและตัดสินใจก็คือเจ้าตัว แต่ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือยังไม่ได้บรรลุนิติภาวะ ทำให้การตัดสินใจบางอย่างต้องมีผู้ปกครองร่วมด้วย กลายเป็นจุดที่ทำให้การตัดสินใจฉีดวัคซีนในคนกลุ่มนี้มีหลายองค์ประกอบ
- Claire Breen ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ได้เขียนบทความลง The Conversation แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปีในนิวซีแลนด์ ผู้เขียนกล่าวว่า แม้กฎหมายนิวซีแลนด์จะระบุให้ผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ถึงจะมีสิทธิ์ตัดสินใจทางการแพทย์ด้วยตัวเอง แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปีจะไม่สามารถตัดสินใจใดๆ ได้ เพราะกุญแจสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการตัดสินใจของคนๆ นั้น ไม่มีการกำหนดว่าอายุเท่าไรถึงจะเรียกว่ามีความสามารถ
ปัจจุบันสถานการณ์การฉีดวัคซีนให้คนไทย จากข้อมูล ณ วันที่ 19 กันยายน โดยคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการให้วัคซีนโควิด 19 รายงานจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 29,002,572 คน เข็มที่ 2 สะสม 15,118,015 คน และเข็มที่ 3 สะสม 621,462 คน โดยกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีน ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ประชาชนทั่วไป ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ตั้งครรภ์
ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบอ.) มีมติเห็นชอบให้บริการฉีดวัคซีน Pfizer สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยผ่านความยินยอมของผู้ปกครอง วางกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 หรือเทียบเท่า โดยการฉีดจะแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6 หรือเทียบเท่า ถัดไปจึงจัดสรรให้นักเรียนชั้นอื่นๆ โดยจะเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนแก่ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายนนี้เป็นต้นไป
รูปแบบการให้บริการฉีดวัคซีนจะผ่านสถานศึกษาที่ผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไปกำลังศึกษาอยู่ โดยสถานศึกษาต้องทำการชี้แจงผู้ปกครองเพื่อขอความยินยอมในการรับวัคซีนผ่านใบยินยอม และแจ้งนักเรียนที่ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน ศบอ.มีเป้าหมายเร่งฉีดให้ทันรับเปิดภาคเรียนที่ 2 / 2564 ซึ่งวางแผนเปิดวันที่ 1 พฤศจิกายน
ขณะนี้วัคซีนที่ประเทศไทยอนุมัติให้ฉีดให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจาก Pfizer สำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติวัคซีน Moderna เป็นอีกหนึ่งวัคซีนที่สามารถฉีดให้ผู้ที่มีอายุระหว่าง 12 – 17 ปี
แต่ล่าสุดก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเซียลเมื่อราชวิทยาจุฬาภรณ์ (รจภ.) ได้เริ่มฉีดวัคซีน Sinopharm ให้กลุ่มผู้ที่มีอายุ 10 – 18 ปี เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากสถานะวัคซีนชนิดนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียนสำหรับการฉีดให้ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ทำให้เกิดกระแสถกเถียงหลากหลายว่าการฉีดวัคซีนตอนนี้อยู่ในช่วง ‘ทดลองวิจัย’
การตัดสินใจจะฉีดหรือเลือกรับวัคซีนใดๆ คนที่มีสิทธิ์เลือกและตัดสินใจก็คือเจ้าตัว แต่ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือยังไม่ได้บรรลุนิติภาวะ ทำให้การตัดสินใจบางอย่างต้องมีผู้ปกครองร่วมด้วย กลายเป็นจุดที่ทำให้การตัดสินใจฉีดวัคซีนในคนกลุ่มนี้มีหลายองค์ประกอบ
อายุเท่าไหร่ถึงสามารถตัดสินใจทางการแพทย์ด้วยตัวเอง
ในการตัดสินใจให้ความยินยอมทางการแพทย์จะมีสิ่งที่เรียกว่า หลักความยินยอมทางการแพทย์ (informed consent) เป็นหลักการทางชีวจริยศาสตร์ที่มีอยู่ทั้งในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและการวิจัยในมนุษย์ แพทย์ที่ทำการรักษาและนักวิจัยที่ทำการทดลองในมนุษย์ต้องขอความยินยอมจากบุคคลนั้นก่อนจะกระทำการใดๆ ต้องมีการแจ้งข้อมูลการวินิจฉัย การรักษา หรือการวิจัยให้เจ้าตัวทราบก่อน และเปิดโอกาสให้ตัดสินใจด้วยตัวเอง เป็นหลักที่ได้จากแนวคิดในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่มนุษย์ทุกคนย่อมมีอิสระที่จะกระทำการใดด้วยตัวเอง (right to self – determination) ตราบเท่าที่การกระทำนั้นไม่รบกวนหรือแทรกแซงบุคคลอื่น
แม้การให้ความยินยอมจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนมีตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่หากให้ทุกคนสามารถให้ความยินยอมในการรักษาได้โดยไม่คำนึงถึงอายุอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี ด้วยเหตุผลด้านวิทยาศาสตร์ ที่ต้องรอช่วงระยะเวลาหนึ่งมนุษย์ถึงจะพัฒนาร่างกายและจิตใจพร้อมสำหรับการตัดสินใจต่างๆ ในแต่ละประเทศจึงมีการกำหนดอายุผู้ที่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เช่น ที่นิวซีแลนด์และอังกฤษ ผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป สามารถตัดสินใจให้ความยินยอมหรือปฎิเสธการรักษาด้วยตัวเอง หรือที่ญี่ปุ่น ผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไปถึงจะสามารถตัดสินใจการรักษาที่เกี่ยวกับการผ่าตัดได้ (กฎหมายที่กำหนดเรื่องความสามารถของบุคคลก็อาจแตกต่างกันได้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้นๆ เช่น ในไทย กฎหมายแพ่งบัญญัติให้ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะเมื่ออายุ 20 ปี ในขณะที่กฎหมายมรดกกำหนดให้ผู้เยาว์ทำพินัยกรรมได้ เมื่ออายุ 15 ปี และกฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้บุคคลธรรมดามีสิทธิเลือกตั้งเมื่ออายุ 18 ปี)
ในประเทศไทยยังไม่มีกฏหมายที่บัญญัติถึงสิทธิของผู้ป่วยที่เป็นผู้เยาว์โดยตรง ไม่มีการกำหนดว่าผู้เยาว์อายุเท่าไหร่ถึงสามารถให้ความยินยอมด้วยตัวเองได้ อีกทั้งยังไม่มีกำหนดว่าผู้ที่สามารถให้ความยินยอมแทนผู้เยาว์ในการรักษาพยาบาลและลำดับในการให้ความยินยอมแทนผู้เยาว์ไว้ว่าต้องเป็นอย่างไร
กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ไม่ได้ระบุเรื่องความยินยอมในการเข้ารับการรักษาโดยตรง แต่มีมาตราที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 8 ที่ผู้รับบริการด้านสุขภาพต้องได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริการอย่างเพียงพอในการตัดสินใจว่าจะให้ความยินยอมหรือไม่ และหากไม่ยินยอมก็เป็นสิทธิ์ของบุคคลนั้น และมาตรา 9 ระบุว่า ในการทดลองงานวิจัย ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขต้องแจ้งให้ผู้รับบริการทราบล่วงหน้า และต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือ ผู้รับบริการสิทธิ์เพิกถอนได้ทุกเมื่อ
แม้ไม่มีกฎหมายที่ระบุเรื่องนี้ชัดเจน แต่มีข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้อง คือ คำประกาศสิทธิของผู้ป่วย (เป็นกรอบกำหนดสิทธิของผู้ป่วย ออกโดยแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา และคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วย แต่ไม่ถือเป็นกฎหมายบังคับ) ข้อที่ 9 กำหนดให้ผู้ที่อายุ 18 ปีบริบูรณ์สามารถให้ความยินยอมได้ และให้พ่อแม่หรือผู้แทนโดยชอบธรรมใช้สิทธิแทนผู้ที่อายุยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ และพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 กำหนดให้แพทย์ต้องขอความยินยอมจากผู้ป่วยซึ่งอายุเกิน 18 ปีขึ้นไปและกำหนดให้คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ปกครอง หรือผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นแล้วแต่กรณีเป็นผู้ให้ความยินยอมแทนในกรณีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์
การกำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับการตัดสินใจให้ความยินยอมการทำกิจกรรมต่างๆ แง่หนึ่งถือเป็นการคุ้มครอง ปกป้องผู้เยาว์ที่ร่างกายและจิตใจอาจจะยังไม่พัฒนาเต็มที่ แต่อีกด้านอาจกลายเป็นการปิดปากไม่ให้พวกเขาได้ส่งเสียง ตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิต
อายุไม่ใช่เกณฑ์ตัดสินขาดเดียว หากบุคคลนั้นมีความสามารถมากพอที่จะพิจารณาด้วยตัวเองได้
หลักในการพิจาณาว่าบุคคลใดสามารถตัดสินใจให้ความยินยอมทางการแพทย์ได้ นอกจากความสามารถที่กำหนดโดยกฏหมาย อีกหนึ่งปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาประกอบ คือ ความสามารถตามความเป็นจริง (Capacity) ของบุคคล หากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ หรือผู้ให้บริการ เห็นว่าบุคคลนั้นมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการรักษาและสามารถตัดสินใจได้อย่างมีสติ ก็สามารถอนุญาตให้ผู้ที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์สามารถให้ความยินยอมด้วยตัวเอง
Claire Breen ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ได้เขียนบทความลง The Conversation แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปีในนิวซีแลนด์ ผู้เขียนกล่าวว่า แม้กฎหมายนิวซีแลนด์จะระบุให้ผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ถึงจะมีสิทธิ์ตัดสินใจทางการแพทย์ด้วยตัวเอง แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปีจะไม่สามารถตัดสินใจใดๆ ได้ เพราะกุญแจสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการตัดสินใจของบุคคลๆ นั้น ไม่มีการกำหนดที่ตายตัวว่าอายุเท่าไรถึงจะเรียกว่ามีความสามารถ
การกำหนดทางกฎหมายเป็นเพียงการให้แนวทางปฎิบัติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือผู้เยาว์ ถือว่ามีความสามารถในการตัดสินใจด้วยตัวเอง หากพวกเขาสามารถทำความเข้าใจการรักษานั้นๆ ได้ และถ้าผู้ให้บริการประเมินว่าบุคคลนั้นสามารถเข้าใจวัตถุประสงค์ทางการแพทย์อย่างถ่องแท้ ก็สามารถมอบหมายการตัดสินใจให้ผู้เยาว์ เว้นแต่ว่าจะมีเหตุอันควรที่ทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถกระทำการได้ และในการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี พวกเขาสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง มีสิทธิ์ที่จะปฎิเสธไม่รับการฉีดได้ภายใต้ข้อบัญญัติว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของพลเมืองนิวซีแลนด์ (New Zealand Bill of Rights Act 1990)
นอกจากนี้ ผู้เขียนได้ยกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (United Nations Convention on the rights of the child) (อนุสัญญาที่ประเทศไทยได้เข้าร่วม) ข้อบัญญัติที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการให้ความยินยอมทางการแพทย์ของผู้เยาว์ คือ ข้อ 3 ในการกระทำทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับผู้เยาว์ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้เยาว์เป็นลำดับแรก ข้อ 6 เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิต รัฐต้องดูแลให้เด็กรอดและมีพัฒนาการที่ดีที่สุด และข้อ 12 ผู้เยาว์มีสิทธิแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีโดยได้รับการคุ้มครอง และผู้ใหญ่ควรรับฟัง
แม้ ณ ขณะนี้บ้านเราอาจจะยังไม่มีวัคซีนให้เลือกมากนักและสถานการณ์ผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มเรื่อยๆ แต่ก็ยังคงเป็นสิทธิของมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ว่าจะอายุเท่าไร หรือแม้กระทั่งผู้เยาว์ พวกเขาควรได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง ผ่านการได้รับข้อมูลครบถ้วนประกอบการตัดสินใจ ถูกรับฟังความคิดเห็น และไม่ถูกกดดัน บังคับ