- 3 สิ่งที่ผู้ปกครองควรจะต้องรู้ไม่ว่าลูกจะอยู่วัยไหนก็ตามคือ เป้าหมายคืออะไร, รู้จักและเข้าใจลูก รวมถึงจะช่วยการเรียนรู้ลูกได้อย่างไร ภายใต้โจทย์ ‘ออกแบบการเรียนรู้ที่บ้าน’ แบ่งเป็น 3 ช่วงการเรียนรู้ในแต่ละวัน เน้นงานบ้าน งานสวน งานครัว การสำรวจ และการเล่น
- “ในส่วนการเรียนรู้ของเด็กๆ ครูกลอยให้ผู้ปกครองแบ่งเป็น 3 ช่วง ตามความสะดวก อาจจะเป็นช่วงเวลา 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงก็ได้ที่เป็นเวลาคุณภาพ โดยผู้ปกครองสามารถออกแบบได้ตามบริบทของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนที่ครูดีไซน์ให้ เช่น บ้านนี้มีแต่ทุ่งนา ก็ดีไซน์ 3 ช่วงเวลานี้ให้ลูกอยู่กับทุ่งนาอยู่กับตัวเองอย่างมีคุณภาพ สร้างงานได้”
- สิ่งสำคัญที่ควรระวังเลยก็คือ พ่อแม่ต้องไม่ทำลายเซลฟ์ และส่งเสริมเซลฟ์ให้กับลูก เปลี่ยนคำพูดเชิงลบที่พ่อแม่ยิ่งพูดลูกยิ่งเฟล ให้เป็นคำพูดเชิงบวก สร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันและสร้างอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องบังคับ
“เคลื่อน Mindset จากโรงเรียนเป็นฐานในการเรียนรู้ หรือสถาบันการศึกษาเป็นฐานในการเรียนรู้ ไปสู่ผู้เรียนเป็นฐานในการเรียนรู้ มีสโลแกนง่ายๆ ว่า ‘อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้างและ Mindset” ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา พูดถึงการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิด-19 ที่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ในงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์ไม่ล็อกการเรียนรู้’ ครั้งที่ 1 กรณีศึกษา โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ’ จัดโดย คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
โดยโครงสร้างในระบบที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาวางนั้นรองรับกับแนวคิด เปลี่ยน Living ให้เป็น Learning ‘อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน’ แต่จะทำอย่างไรให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ของลูกได้ด้วย นี่คือกุญแจสำคัญของแนวคิดนี้
วันนี้เราจะพาดูตัวอย่างและกระบวนการทำงานระหว่างครูกับผู้ปกครองที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เล่าผ่านการทำงานของ ครูกลอย – สุกัญญา แสนลาด ครูที่ดูแลการจัดการเรียนรู้ระดับปฐมวัย กับโจทย์ที่ท้าทาย ต่อจากนี้เด็กอนุบาลจะไม่อยู่กับครู แต่จะกลับสู่อ้อมอกของพ่อแม่ ทำอย่างไรให้พ่อแม่เข้าใจเรื่องพัฒนาการ 4 ด้าน, การสร้าง Self-esteem, Self-control และพัฒนาทักษะสมอง EF ซึ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กตามวัย และนอกจากเข้าใจแล้ว ทำอย่างไรให้พ่อแม่นำกลับไปสร้างการเรียนรู้ให้กับลูกๆ ที่บ้านได้ด้วย
โดย 3 สิ่งที่ผู้ปกครองควรจะต้องรู้ไม่ว่าลูกจะอยู่วัยไหนก็ตามคือ เป้าหมายคืออะไร, รู้จักและเข้าใจลูก รวมถึงจะช่วยการเรียนรู้ลูกได้อย่างไร ภายใต้โจทย์ ‘ออกแบบการเรียนรู้ที่บ้าน’ แบ่งเป็น 3 ช่วงการเรียนรู้ในแต่ละวัน โดยเน้น งานบ้าน งานสวน งานครัว การสำรวจ และการเล่น
ซึ่งในกระบวนการทำงานกับผู้ปกครองนั้นแบ่งเป็น 4 ขั้น ดังนี้
ขั้นที่ 1 Inspire หรือ Spark เพื่อให้มีประเด็นชวนคุย
ขั้นที่ 2 Share & Learn สิ่งที่ได้ทำในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขั้นที่ 3 Input ความรู้ความเข้าใจใหม่
ขั้นที่ 4 ให้โจทย์ – กิจกรรมในสัปดาห์ถัดไป
ชวนพ่อแม่เข้าใจพัฒนาการของลูกปฐมวัย
ครูกลอยเล่าว่า ในการจัดการเรียนรู้ช่วงนี้ชั้นอนุบาลของโรงเรียนลำปลายมาศจะไม่ได้เรียนออนไลน์ 100% แต่โจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ผู้ปกครองกลับไปสร้างการเรียนรู้ให้ลูกๆ ที่บ้านได้
“เราก็เริ่มจากทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง นัดมาประชุมเพื่อที่สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน มีทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ ช่วง 3 สัปดาห์แรกจะเป็นออนไซต์ที่โรงเรียน แล้วก็ออนไลน์สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เพราะทั้งเราและผู้ปกครองเองมองว่า ออนไลน์บางครั้งเราสัมผัสความรู้สึกของกันและกันไม่ได้ บางคนไม่สามารถแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ในกลุ่มได้ ด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่ซัพพอร์ต ก็เลยต้องมาออนไซต์ด้วย”
ทั้งนี้ ทุกครั้งที่มีการพูดคุยกันทั้งครูและผู้ปกครองจะต้องประเมินความเสี่ยงของตัวเองว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ และขอความร่วมมือสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง นำปากกา กระบอกน้ำสำหรับใช้ส่วนตัวมาด้วย
“ทุกครั้งครูก็จะมีสถานการณ์ให้ผู้ปกครองได้ร่วมกิจกรรม สมมติว่าเป็นการเล่นเกม พอเล่นเกมเสร็จแล้วเราก็เอาจากเกมนั้นมาให้ผู้ปกครองช่วยกันวิเคราะห์ว่า จากเกมที่เล่นนี้ถ้าลูกได้เล่นเองคิดว่าจะเกิดพัฒนาการทางด้านไหนกับลูกบ้าง ได้อะไรจากตรงไหน เช่น เซลฟ์ (Self) เซลฟ์ผู้ปกครองทำหน้ามึน คือบางคนไม่เคยได้ยิน ไม่รู้จักคำว่าเซลฟ์ แล้วยิ่งกว่านั้นให้วิเคราห์ EF ถามว่า EF คืออะไร คือผู้ปกครองบางคนก็ยังไม่เคยได้ยินคำเหล่านี้ แต่ถ้าพูดถึงในเรื่องพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน จะพอเห็นภาพ เพราะอยู่จะอยู่กับคู่มือของเด็กๆ อยู่แล้ว”
จากนั้นผู้ปกครองก็จะมาร่วมกันวิเคราะห์ แน่นอนว่าสัปดาห์แรกอาจจะไม่เป็นรูปเป็นร่างนัก หลายคนยังไม่เข้าใจในส่วนของพัฒนาการเด็ก แต่อย่างน้อยผู้ปกครองได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดกัน ที่สำคัญคือ เขาสามารถนำกิจกรรมที่คุณครูได้ถ่ายทอดให้กลับไปใช้กับลูกได้เองที่บ้าน
“พอรอบที่ 2 ก็จะมีกิจกรรมให้ร่วมเหมือนกัน ก็คืออินพุดข้อมูลให้ แต่กิจกรรมก็เปลี่ยนแปลงไปจากกิจกรรมเดิม เริ่มเห็นว่าตอนในช่วงที่ให้วิเคราะห์ผู้ปกครองบางท่านไปค้นหาข้อมูลมา เริ่มรู้ว่า EF คืออะไร เซลฟ์คืออะไร ก็มาแลกเปลี่ยนความคิดกันระหว่างผู้ปกครอง เริ่มเห็นภาพมากขึ้น จนครั้งต่อๆ มาก็ลื่นไหล”
ออกแบบกิจกรรมผ่านงานบ้าน งานสวน งานครัว
“ในส่วนการเรียนรู้ของเด็กๆ ครูกลอยให้ผู้ปกครองแบ่งเป็น 3 ช่วง ตามความสะดวก อาจจะเป็นช่วงเวลา 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงก็ได้ที่เป็นเวลาคุณภาพ โดยผู้ปกครองสามารถออกแบบได้ตามบริบทของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนที่ครูดีไซน์ให้ เช่น บ้านนี้มีแต่ทุ่งนา ก็ดีไซน์ 3 ช่วงเวลานี้ให้ลูกอยู่กับทุ่งนาอยู่กับตัวเองอย่างมีคุณภาพ สร้างงานได้”
โดยครูกลอยจะเฝ้าติดตามทุกก้าวของการเรียนรู้ที่ผู้ปกครองออกแบบให้เด็กผ่านไลน์กลุ่มเป็นหลัก ผู้ปกครองจะส่งงานและฟีดแบคกันผ่านช่องทางนี้ ส่วนผู้ปกครองคนไหนที่เข้าไม่ถึงข้อมูลครูกลอยจะใช้วิธีการโทรไปคุยโดยตรง เพื่อจะได้รู้ว่าสภาวะที่เขาเป็นอยู่นั้น ครูจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง
“พอเราจะเห็นกิจกรรมของเด็กที่เกิดขึ้นในแต่ละสัปดาห์ที่ผู้ปกครองออกแบบ จากนั้นเราก็จะนำผลที่ได้กลับมา Reflection มาสังเกตพัฒนาการเด็ก แล้วก็จะฟีดแบคกลับไปให้ผู้ปกครองเลย”
ยกตัวอย่าง กิจกรรมงานสวนของเด็กๆ กลุ่ม 1 หลังจากที่ผู้ปกครองออกแบบกิจกรรมเสร็จและพาลูกทำกิจกรรมแล้ว จะต้องถ่ายภาพเพื่อให้ครูได้สังเกตและติดตามความก้าวหน้าของเด็กแต่ละคนว่าเขาได้ Self-esteem, Self-control และ EF มากน้อยแค่ไหนและได้มาอย่างไร โดยแลกเปลี่ยนกับผู้ปกครองเพิ่มเติมว่าสิ่งที่ครูเห็นผู้ปกครองเห็นอย่างไร เช่น ด้านพัฒนาการสมอง EF
- ความจำเพื่อใช้งาน สามารถจดจำขั้นตอนวิธีการเพาะปลูกต้นไม้และนำมาประยุกต์เพาะยอดอ่อนได้
- ยืดหยุ่นความคิด สามารถปรับเปลี่ยนตะกร้าให้เป็นกระถางเพาะได้
- จดจ่อใส่ใจ สนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง
- การริเริ่มลงมือทำ ลงมือเพาะปลูกทันทีที่ได้รับโจทย์จากครูหรือแม่
- มุ่งสู่เป้าหมาย เฝ้าดูแลจนยอดอ่อนเติบโต นำมาประกอบอาหารรับประทานได้
ตามด้วยการฟีดแบคให้ว่าจะดีกว่านี้ไหมถ้า…
คุณแม่ชวนสังเกตการเปลี่ยนแปลงพร้อมวาดภาพ (จดบันทึก) เพื่อฝึกการมีจิตวิทยาศาสตร์ ชวนสนทนาเพื่อเพิ่มคลังคำศัพท์และการสื่อสาร เช่น ตัก โรย หยอด วาง กลบ ถม ชวนนับจำนวน ตวงปริมาตร ฝึกเรื่องตัวเองกับการคิด หรือชวนคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นวันต่อวัน
นี่เป็นตัวอย่างเครื่องมือที่ครูกลอยใช้ทำงานร่วมกับผู้ปกครอง นอกจากจะให้ความรู้แล้ว ยังช่วยพัฒนาสกิลของพ่อแม่ในการจัดการเรียนรู้สำหรับลูกไปด้วย
พ่อแม่ต้องไม่ทำลายเซลฟ์ และส่งเสริมเซลฟ์ของลูก
“ทำไมไม่เก่งเหมือนพี่เหมือนน้องบ้าง”
“อีกแล้วนะ สอนไม่รู้จักจำ”
“บอกกี่ครั้งแล้วว่าอย่าทำ”
“ทำไมชอบก่อปัญหาอยู่เรื่อยนะ”
“ซุ่มซ่ามจริงๆ ทำไมถึงโง่อย่างนี้นะ”
“ทำแบบนี้ลูกไม่น่ารักเลยนะ”
“จะทิ่มตาอยู่แล้ว มองไม่เห็นหรือไง”
“หยุดร้องไห้นะ ถ้าไม่หยุดเดี๋ยวแม่จะตีแล้วนะ”
“ทำไมถึงอืดอาดแบบนี้”
“ไปไกลๆ เลย พ่อ/แม่ กำลังยุ่งอยู่นะ”
หากอ่านประโยคเหล่านี้จบแล้ว ใครที่เคยเจอกับตัว หรือเผลอใช้กับลูก แสดงว่าคุณกำลังค่อยๆ ทำลายเซลฟ์ของเขาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากสำหรับพัฒนาการตามวัยของเด็ก
นอกจากผู้ปกครองจะร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ของลูกแล้ว สิ่งสำคัญที่ควรระวังเลยก็คือ การไม่ทำลายเซลฟ์ และส่งเสริมเซลฟ์ของเด็กๆ ซึ่งครูกลอยทำให้พ่อแม่เข้าใจเรื่องนี้ด้วยการให้พวกเขาได้สัมผัสกับความรู้สึกจริงๆ ผ่าน 10 ประโยคของพ่อแม่ ยิ่งพูดลูกยิ่งเฟล
ในขั้นตอนการวิเคราะห์สิ่งที่เด็กควรจะได้จากกิจกรรม ครูกลอยยังให้ผู้ปกครองวิเคราะห์ถึงท่าทีของคุณครูที่พาทำกิจกรรม รวมถึงคำพูดของคุณครูที่ทำให้กระตุ้นการเรียนรู้กับทุกคนด้วย เพราะนั่นจะทำให้เขาเห็นว่าคำพูดแบบไหนที่ครูใช้แล้วให้ผลลัพธ์ที่ทางบวก ส่วนคำพูดที่มีแต่จะสร้างบาดแผลในใจเราต้องมาวิเคราะห์กันสักหน่อย เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ที่สร้างผลดีกับทั้งตัวเด็กและผู้ปกครอง
“พออ่านแล้ว เราก็ตั้งคำถามกับผู้ปกครองว่า ประโยคไหนที่มีความรู้สึกกับตนเองมากที่สุด ได้ฟังได้อ่านแล้วสะเทือนกับจิตใจตัวเองมากที่สุด แล้วก็ถามกลับไปว่า ทำไมคำๆ นี้ ประโยคๆ นี้ มันถึงสะเทือนกับเรา มันถึงมีความรู้สึกกับเรา ผู้ปกครองก็ถ่ายทอดออกมา บางคนถึงกับน้ำตาคลอ บอกว่าเขาโดนคำนี้มาตลอดตั้งแต่จำความได้ เช่น ทำไมไม่เก่งเหมือนพี่เหมือนน้องบ้าง ทุกครั้งที่เขาได้ยินคำนี้เขาเลยรู้สึกไม่โอเคกับมัน”
จากนั้นมาช่วยกันเปลี่ยนคำพูดเชิงลบเหล่านี้เป็นคำพูดเชิงบวก สร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันและอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องบังคับ
“การที่เราสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้ปกครองเขาได้อยู่ในสภาวะนั้นจริงๆ ให้อยู่ในกระบวนการนั้น แล้วเขาก็จะเกิดความรู้สึกเกิดความคิดกับกระบวนการที่เราสร้างขึ้น ซึ่งความรู้สึกนี้มันจะรับได้ก็ต่อเมื่อเข้าได้ลงมือทำจริงๆ พอผู้ปกครองได้ลงมือทำจริงๆ แล้ว เขาจะสามารถถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ที่บ้านได้”