- ‘การหย่า’ แม้จะเป็นเรื่องของคนสองคน แต่หากครอบครัวไหนมีลูก พวกเขาย่อมเป็นหนึ่งในตัวแปรของสมการการหย่าร้างนี้ ในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะทางบวกหรือลบ หรือบางครั้งเด็กก็ถูกดึงมาเป็นเครื่องมือต่อรอง หรือเอาชนะกันของพ่อแม่
- ในสถานการณ์เช่นนี้เด็กควรได้รับการปฎิบัติอย่างไร? ชวนคุยกับจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในประเด็นสิทธิเด็กต่อสถานการณ์หย่าร้างของพ่อแม่ เขาควรได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างไร รวมถึงการแสดงออกของสังคมที่ก็เป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตมา และย้อนกลับไปคุยถึงต้นตอเรื่องค่านิยมสังคมไทยที่ส่งผลต่อบทบาทความเป็นพ่อแม่
‘เรื่องของผู้ใหญ่เด็กไม่เกี่ยว’ เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้รับประโยคนี้จากพ่อแม่ ครู ญาติ หรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด พอเจอประโยคนี้ก็ต้องมานั่งคิดแล้วล่ะว่ามันมีเรื่องอะไรบ้างที่เป็นของผู้ใหญ่? เราขอยกตัวอย่างที่ตัวเองเคยเจอ มีทั้งเรื่องเงิน เรื่องการเมือง หรือแม้แต่เรื่องในครอบครัวโดยตรง เรายังไม่มีสิทธิ์ยุ่งเลย เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ (อันนี้ผู้ใหญ่บอกเองนะ)
‘การหย่า’ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกบอกว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แต่เอาจริงๆ มันเป็นเรื่องที่เกิดกับคนใกล้ชิดของเด็กอย่างพ่อแม่ ซึ่งเราว่าเกี่ยวเต็มๆ เด็กได้รับผลกระทบแน่นอนไม่ว่าจะทางบวกหรือลบ บางทีเด็กก็ถูกดึงมาเป็นตัวแปรสำคัญในการหย่าของพ่อแม่ เป็นเครื่องมือต่อรอง หรือเอาชนะกัน
แถมถ้าพ่อแม่เป็นคนมีชื่อเสียง เรื่องการหย่าร้างของพ่อแม่กลายเป็นเรื่องของสาธารณะ เด็กก็ไม่วายต้องถูกลากมาเป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาบนโลกออนไลน์ คงไม่ใช่ ‘ไม่ใช่เรื่องของเด็ก’ อย่างที่ผู้ใหญ่บอกซะแล้วล่ะ ยิ่งยุคนี้เราสามารถแสดงจุดยืนได้ง่ายดาย คิดอะไรก็พิมพ์ลงไป ถ้าผิดหรือไม่ถูกใจก็แค่ลบทิ้ง ที่ต้องไม่ลืมคือ เรายังมีสิ่งที่เรียกว่า Digital Footprint หรือร่องรอยของเราบนโลกดิจิทัล ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราโพสต์ในโลกโซเชียล ต่อให้ลบแล้ว มันก็ยังสามารถกู้คืนกลับมาได้ หรือถ้ามีมือดีแคปเก็บไว้ ก็สามารถเอามาแชร์ต่อได้เรื่อยๆ
ลองจินตนาการถึงเด็กคนหนึ่งที่ลำพังแค่เจอการเปลี่ยนแปลงในครอบครัวก็ว่ายากแล้ว ยังต้องถูกสังคมเอาครอบครัวเขาไปวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา เมื่อโตขึ้นหากกลับมาดูข้อมูลพวกนี้มันจะส่งผลกับเขาอย่างไร? ภาพพ่อแม่ที่เด็กคนหนึ่งมองเห็นมาตลอดชีวิตเขา กับภาพพ่อแม่ที่สังคมวาดไว้หากไม่ตรงกันจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้เป็นลูก?
ทั้งหมดทั้งมวลข้างต้นเป็นเหตุในการนัดเจอกับ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เพื่อชวนเขามาคุยตั้งแต่กระบวนการหย่าร้างของพ่อแม่กับสิทธิของเด็ก รวมถึงการตีกรอบบทบาทพ่อแม่ และการปฎิบัติของสังคมซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมหนึ่งที่เด็กอาศัยอยู่ควรทำอย่างไร
จะเด็จ เขาเป็นนักสิทธิที่ทำงานต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศและต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวมากว่า 40 ปี นั่นเป็นเหตุผลชั้นดีที่เราชวนเขาคุยในวาระนี้
เมื่อพ่อแม่หย่ากัน ลูกอยู่ตรงไหน
ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ จะเด็จเริ่มด้วยการวาดภาพเคสที่มูลนิธิดูแลให้เราเห็น ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มาด้วยปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และต้องการหาทางออก บางคนอยากอยู่เป็นครอบครัวต่อเหมือนเดิม หรือบางคนต้องการหย่าขาดจากกัน หน้าที่ของมูลนิธิ คือ ให้ความช่วยเหลือตามสิ่งที่เคสต้องการ ถ้าต้องการอยู่ด้วยกันต่อ มูลนิธิจะทำหน้าที่เป็นเหมือนสื่อกลางเชื่อมพวกเขาเข้าด้วยกัน แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เช่น ถ้าต้นเหตุความขัดแย้งมาจากเรื่องเหล้า มูลนิธิก็จะพาไปบำบัด พร้อมๆ กับทำความเข้าใจเรื่องสิทธิ ความรุนแรงในครอบครัว หรือถ้าคนไหนเลือกการหย่ามูลนิธิก็จะให้คำแนะนำทางด้านกฎหมาย
ในกรณีที่ต้องการหย่ากัน หากมีลูกก็ต้องสร้างข้อตกลงกันว่าลูกจะอยู่กับใคร จะเด็จอธิบายว่า ถ้าครอบครัวไหนสามารถตกลงกันได้เอง ไม่จำเป็นต้องขึ้นศาล แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องขอแรงศาลให้ช่วย การเลือกว่าจะให้เด็กอยู่กับฝ่ายไหน ศาลจะยึดการตัดสินใจของเด็กเป็นหลัก พร้อมๆ ไปกับพิจารณาว่าฝ่ายไหนมีความสามารถเลี้ยงลูกมากกว่ากัน
“เขาจะให้เด็กคุยกับนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เพื่อประเมินสภาพจิตใจของเด็ก จากนั้นก็ดูว่าแม่และพ่อเป็นยังไง เช่น สภาพจิตใจ สภาพแวดล้อม ฐานะทางเศรษฐกิจสามารถเลี้ยงดูเด็กได้หรือไม่ แต่ยังไงก็ต้องยึดความต้องการของเด็กเป็นหลักว่าเขาอยากอยู่กับใครมากที่สุด แต่ขณะเดียวกันเด็กก็ต้องได้รับการปกป้องตามกฎหมายนะ”
การพิจารณาก็จะใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เป็นฐาน ตามมาตราที่ 22 ระบุไว้ว่า การปฎิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชนสูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และไม่ให้มีการเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรม
“ไม่ใช่ว่าเด็กเลือกอยู่กับแม่แล้วแม่มีปัญหาติดเหล้า แล้วศาลจะตัดสินให้ไปอยู่เลยนะ คือถ้าเด็กเลือกแบบนี้ ศาลก็จะสั่งให้แม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เข้ารับการบำบัด ไม่งั้นมีปัญหาแน่ เพราะเด็กควรอยู่กับคนที่ปกป้องเขาได้จริงๆ
“หรือสมมติฝ่ายพ่อมีพฤติกรรมชอบใช้ความรุนแรง แล้วศาลตัดสินให้เด็กอยู่กับแม่ เพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก ศาลก็จะสั่งให้พ่อไปปรับปรุงพฤติกรรมก่อนจึงจะสามารถพบลูกได้ เพราะมันก็อันตรายนะ สมมติพ่อเป็นคนที่มีอารมณ์โกรธตลอดเวลา ควบคุมตัวเองไม่ได้ มันก็อาจเกิดอันตรายกับเด็ก”
แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจากคำสั่งที่ให้ผู้ปกครองปรับพฤติกรรมคือ การติดตามผล (follow up) โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าพฤติกรรมของพ่อแม่ปรับเปลี่ยนหรือไม่ พร้อมที่จะกลับมาอยู่กับเด็กหรือไม่ จะเด็จบอกว่า ส่วนมากเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยติดตามผลต่อ ทำให้บางครั้งปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น พ่อที่บอกจะเข้าบำบัดรักษาอาการติดเหล้า แต่สุดท้ายก็ทำไม่สำเร็จ ซึ่งส่งผลเสียกับตัวแม่และเด็กได้ เช่น เขาอาจจะกลับมาทำร้าย ใช้พฤติกรรมแบบเดิม ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวก็ยังคงอยู่
จุดยืนของพ่อแม่ สื่อ และสังคม กับการดูแลเด็ก
เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ปฎิกิริยาโต้ตอบกลับก็มีหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการพยายามเอาชนะ ใช้ทุกวิธีเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามแพ้ ทำให้พลั้งเผลอ หรือดึงลูกมาเป็นเครื่องมือต่อรอง
“แน่นอนว่าบางทีพ่อแม่ก็ตัดสินใจผิดพลาด เช่น เอาลูกมาเป็นเครื่องมือต่อรอง มันก็ส่งผลกระทบต่อเด็กสูงมากนะ ผมเชื่อว่าทั้งพ่อและแม่ต่างก็มีสิทธิในตัวลูกเท่าๆ กัน สิ่งสำคัญ คือ เราจะปกป้องเด็กแบบไหนไม่ให้เหตุการณ์พวกนี้ทำร้ายเขา ไม่ว่าด้วยคำพูดหรือการจัดสิ่งแวดล้อมให้กับเด็ก
“ผมเคยเจอเคสที่ใช้ความรุนเเรงในครอบครัว กว่าพ่อแม่จะตกลงหย่ากัน ลูกที่อายุประมาณ 4 – 5 ขวบ เขาก็ซึมซับความรุนเเรงไปแล้ว แล้วส่งต่อความรุนแรงนั้นให้คนอื่น พอไปโรงเรียนก็แสดงออกด้วยการก้าวร้าวกับเพื่อน หรือโตขึ้นอาจใช้ความรุนเเรงกับคู่ชีวิตของเขา”
สังคมก็เป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตมา จะเด็จเล่าว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนพุ่งเป้าให้ความสนใจข่าวพวกนี้ก็มาจากการนำเสนอของสื่อ เขาตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 5 ปีมานี้ ข่าวที่เรามักจะเห็นตามสื่อใหญ่ๆ ก็คือข่าวคนทะเลาะกัน เรื่องดารา หรือพยายามสร้างประเด็นเพื่อขายข่าว อย่างเช่นข่าวลุงพล
จะเด็จมีโอกาสไปพูดคุยกับคนในแวดวงดังกล่าว ซึ่งบางส่วนไม่ได้เข้าใจ หรือสนใจเรื่องกฎหมาย สิ่งที่พวกเขาสนใจ คือ จะทำยังไงให้ได้เรตติ้งเพิ่มเพื่อนำไปสู่การโฆษณา
“แง่หนึ่งมันก็ทำให้สังคมไม่สนใจเรื่องอื่น วนเวียนอยู่กับข่าวคนทะเลาะกัน เรื่องดารา ถ้าคุณคิดถึงเรื่องอื่นเมื่อไหร่ คุณก็จะมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างทันที เกิดการตั้งคำถามไปถึงโจทย์ใหญ่ คือไทยเรามีปัญหาเรื่องเชิงอำนาจนิยมเต็มไปหมด ความไม่เป็นธรรมในสังคม เรื่องชายเป็นใหญ่ เรื่องประชาธิปไตย หรือเรื่องอื่นๆ แต่เรากลับไม่เคยถูกทำให้ตั้งคำถามต่อเรื่องพวกนี้ เพราะมันยังคงมีคนได้ประโยชน์จากเรื่องนี้อยู่
“ตอนนี้ผมกำลังทำงานกับพม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลเกี่ยวกับข้อกำหนดเเละเกณฑ์การทำงานของสื่อกับการคุ้มครองเด็ก ถึงแม้เราจะมีพรบ.คุ้มครองเด็กแล้วก็จริง เเต่หลักปฏิบัติเรื่องการทำงานสื่อยังออกมาไม่ชัดเจน ซึ่งก็ต้องเพิ่มเติมส่วนนี้
“จริงๆ ภาครัฐสามารถออกหนังสือเตือนสื่อได้นะ เวลาที่นำเสนอข่าวไม่เหมาะสม อย่างเช่นกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ถ้าเขาเจอโฆษณาที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม เขาจะทำหนังสือเตือนไปที่สื่อเลยนะ สื่อก็จะรู้ตัวและแก้ไข เเต่กรณีแบบนี้ยังไม่ค่อยมีใครทำ”
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตราที่ 27 ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชน หรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
“เด็กเเค่เห็นพ่อเเม่ทะเลาะกันมันก็เป็นความรู้สึกที่อยู่ในใจเขาแล้ว เขารู้สึกไม่พอใจเเละไม่ได้รับการยอมรับ ความรู้สึกพวกนี้มันก็อาจกลายเป็นความก้าวร้าวไปจนถึงการใช้คำพูดหรืออาจทำร้ายร่างกายคนอื่น สิ่งที่คนไปคอมเมนท์ก็ไม่ต่างกัน เพราะวันหนึ่งเด็กเขาเห็นก็คงจะรู้สึกเเย่”
ต้นเหตุของเรื่องราว: แนวคิดชายเป็นใหญ่
เนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงแค่ปลายเหตุ ซึ่งต้นเหตุจริงๆ จะเด็จบอกว่ามาจากระบบชายเป็นใหญ่ (หรือปิตาธิปไตย (Patriarchy)) “การบ่มเพาะมันมีมายาวนานแล้ว ตั้งแต่คุณเกิดมา หลักๆ คือการกำหนดว่าถ้าคุณเป็นผู้ชาย คุณต้องปฎิบัติตัวอย่างไร เช่น คุณต้องเป็นชายชาตรี ต้องเข้มแข็ง ร้องไห้ไม่ได้ ถ้าแต่งงานก็ต้องเป็นผู้นำดูแลครอบครัว ส่วนผู้หญิง คือ คุณต้องเป็นแม่ เป็นเมีย เป็นช้างเท้าหลัง ต้องอ่อนโยน เพราะเมื่อไหร่ที่คุณแสดงความเข้มแข็งออกมา จะถูกมองว่าไม่ดี
“แล้วพอไปโรงเรียน หลักสูตรที่เรียนมันก็ยิ่งไปตอกย้ำเรื่องพวกนี้ ที่มูลนิธิเราเคยสำรวจเก็บข้อมูลเลยนะ เช่น ในหลักสูตรจะกำหนดเลยว่าเป็นผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ต้องแต่งตัวเรียบร้อย หรือถ้าเป็น LGBTQ+ ก็จะโดนตีตราว่าเป็นโรค”
การกำหนดบทบาทเพศก็เป็นลูกโซ่ส่งต่อที่บทบาทพ่อแม่ แม่ถูกคาดหวังว่าต้องเป็นแม่บ้าน มีหน้าที่เลี้ยงลูก ส่วนพ่อก็ถูกคาดหวังว่าต้องเป็นผู้นำครอบครัว ควรวางตัวให้น่าเกรงขาม
“ถามว่าฝ่ายชายรักลูกไหม? ก็รักนะ แต่เขาถูกสอนว่าไม่ใช่หน้าที่เขาที่ต้องเลี้ยงลูก หน้าที่ของพ่อคือ หาเงิน ทำงาน ส่วนภรรยาก็ต้องอยู่บ้าน หรือถ้าจะทำงานก็ได้นะ แต่คุณต้องดูแลลูกด้วย
“ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวส่วนหนึ่งก็มาจากฐานความคิดนี้นะ ผู้ชายถูกสังคมคาดหวังว่าคุณต้องเป็นผู้นำครอบครัว นำพาสมาชิกทุกคนให้รอด ถ้าสมมติครอบครัวเกิดปัญหาแล้วเขาแก้ไม่ได้ หรืออย่างตอนนี้ที่มีโควิด-19 เกิดปัญหาเศรษฐกิจ หลายคนตกงาน ก็เกิดความเครียด แล้วไอ้พื้นที่ระบายปัญหาของผู้ชายส่วนใหญ่ก็คือการกินเหล้า เล่นพนัน สุดท้ายเกิดปัญหาปากเสียงในครอบครัว นำมาสู่ความรุนแรง”
แล้วคุณเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ไหม? เราถามจะเด็จกลับ ในฐานะที่เขาก็เป็นผู้ชาย เป็นพ่อ ซึ่งจะเด็จตอบว่า บ่อยครั้งไปที่เขาจะเจอการตัดสินเช่นนี้
“ผมเป็นลูกชายคนเดียวนะ มีพี่น้องผู้หญิง 3 คน ก็โตท่ามกลางผู้หญิงเป็นหลัก โชคดีที่แม่ผมสอนเรื่องพวกนี้ตั้งแต่เด็ก เช่น ให้ทำงานบ้าน แต่พ่อก็จะเสมอว่าเป็นผู้ชายไม่ต้องทำงานพวกนี้หรอก แต่แม่ผมเขาไม่ได้คิดแบบนั้น แม่บอกว่าเราต้องทำงาน ต้องดูแลตัวเองได้ ทำให้ผมเข้าใจประเด็นนี้ตั้งแต่เด็กๆ
“สมัยที่ลูกผมเล็กๆ แล้วแฟนผมต้องไปทำงานแต่เช้า งานที่ผมทำมันทำให้เรามีเวลาดูแลลูกได้ เราก็รับหน้าที่ดูแลลูก แน่นอนคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหรอก ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องธรรมดามาก ซึ่งปัจจุบันมันอาจดีขึ้นแล้วก็ได้ ค่านิยมการเป็น family man”
จะเด็จที่ทำงานด้านนี้มายาวนาน แม้ว่าปัจจุบันปัญหามันยังคงอยู่ คนยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ เรื่องเพศกันเยอะ แต่เขาบอกว่าตอนนี้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงสังคมไปทิศทางที่ดี มีคนรุ่นใหม่ออกมาขับเคลื่อนประเด็นนี้มากขึ้น คนในสังคมเริ่มตั้งคำถาม “ที่เรายังไม่เข้าใจเรื่องเพศเพราะมันมีม่านบังตาอยู่ เป็นเรื่องอำนาจ ยังมีฝ่ายที่มีอำนาจไม่ยอมทำลายกำแพง ไม่ใช่แค่ผู้ชายอย่างเดียว ผู้หญิงเองก็ยังมีความเชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่ การเปลี่ยนแปลงมันเลยยาก
“แน่นอนว่ามันยังมีความหวัง เราเห็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิงออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ พูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ แต่แน่นอนว่าม่านบังตาในรุ่นพวกผมมีเยอะเกินไป สิ่งที่เราต้องทำ คือ สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง สนับสนุนคนรุ่นใหม่” จะเด็จทิ้งท้าย
เพื่อให้เข้าใจเรื่องสิทธิเด็กมากขึ้น เราหยิบบางมาตราของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่บอกถึงหลักปฎิบัติต่อเด็ก มาตรา 25 ผู้ปกครองต้องไม่กระทําการ ดังต่อไปนี้ – ทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถานพยาบาล หรือไว้กับบุคคลที่รับจ้างเลี้ยงเด็กหรือที่สาธารณะหรือสถานที่ใดๆ โดยเจตนาที่จะไม่รับเด็กกลับคืน – ละทิ้งเด็กไว้ ณ สถานที่ใดๆ โดยไม่จัดให้มีการป้องกันดูแลสวัสดิภาพหรือให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสม – จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งที่จําเป็นแก่การดํารงชีวิตหรือสุขภาพอนามัยจนน่าจะเกิดอันตรายแก่ รางกายหรือจิตใจของเด็ก – ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก – ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการเลี้ยงดูโดยมิชอบ มาตรา 26 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทําการ ดังต่อไปนี้ – กระทําหรือละเว้นการกระทําอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก – จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจําเป็นแก่การดํารงชีวิตหรือรักษาพยาบาลแก่เด็กที่อยู่ในความดูแลของตน จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก – บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทําให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทําผิด – โฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทําของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว – บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทําด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่รอน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือการกระทําผิด หรือกระทําด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหา ประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก – ใช้จ้าง หรือวานเด็กให้ทํางานหรือกระทําการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก – บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทําการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก หรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก – ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใด หรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณีหรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทําการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบแทนหรือเพื่อการใด – จําหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุรา หรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์ |