- ‘ห้องเรียนเตรียมอนาคต’ คือแผนการเรียนที่ตอบสนองความฝันของทุกคน ช่วยให้เด็กได้ค้นหาตัวตน ความต้องการ ความถนัด และกำหนด ‘อนาคตที่ใช่’ ในแบบของตัวเอง นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้
- ปลายทางของแผนการเรียนนี้ไม่ใช่การเด็กเข้ามหาวิทยาลัย แต่คือการให้เขาสามารถ ‘เรียนที่ชอบ ไปสู่อาชีพที่ใช่’ และไม่ใช่เพื่อไปแข่งกันเข้ามหาวิทยาลัย โดยที่ตัวเด็กเองยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะเรียนอะไร แต่ขอแค่ให้ได้เข้ามหาวิทยาลัยพอ และเรียนจบปริญญาตรี กลายเป็นว่าเด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัยไปแบบไม่มีทิศทาง จึงเกิดปรากฏการณ์ซิ่วขึ้นมา ประหนึ่งว่ายิ่งเรียนยิ่งหลงทาง
- สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนผ่านแววตาและพฤติกรรมของเด็กคือ เด็กมีความสุขกับการเรียน ต่อให้การบ้านเยอะแค่ไหนถ้าเป็นการบ้านที่เขาชอบ เขาก็อยากจะทำ เพราะเป็นสิ่งที่ท้าทาย และพฤติกรรมเปลี่ยนไปคือสนใจการเรียนมากขึ้นกระตือรือร้นมากขึ้น มีเป้าหมายชัดเจนในการเรียน
‘เรียนที่ชอบ ไปสู่อนาคตที่ใช่’ หรือ ‘เรียนที่ชอบ ไปสู่อาชีพที่ใช่’ ประโยคสุดคลาสสิกทำนองนี้ไม่ว่าจะเด็กยุคไหนก็น่าจะได้ยินได้ฟังมานักต่อนัก โดยเฉพาะวัยรอยต่อที่กำลังจะขึ้นมัธยมปลายเพือก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย แต่พวกเขาจะรู้ได้อย่างไรว่า…อะไรคือสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเอง
เด็กๆ หลายคนอาจรู้สึกเหมือนยิ่งเรียนยิ่งหลงทาง เรียนก็หนัก ที่บ้านกดดัน ไหนจะต้องเจอสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบกับการเรียนโดยตรงอีก บางคนถึงขั้นทิ้งความฝัน เพราะถ้าฝันต่อไปก็ไม่รู้ว่าโอกาสที่จะเป็นจริงมีมากน้อยแค่ไหนในสถานการณ์แบบนี้
แต่ก็ใช่ว่าการไม่มีความฝันเป็นเรื่องผิด ไม่ใช่ว่ายังค้นหาตัวเองไม่เจอจะเป็นคนไร้ประสิทธิภาพ และคงจะดีไม่น้อยถ้าในรั้วโรงเรียนที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้อย่างน้อยๆ ก็ 8-9 ปี ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกห้องเรียนกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้ จุดประกายให้พวกเขาได้มองเห็นความถนัดของตัวเอง มีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ลงมือทดลองทำสิ่งนั้น ไม่ว่าจะในรูปแบบของกิจกรรม หรือแม้แต่ปลุกปั้นให้กลายเป็นแผนการเรียนที่เป็นรูปเป็นร่างอย่างที่ ดร.ภูมิสิษฐ์ สุคนธวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโพธิสารพิทยากร ได้ทำให้เราเห็นผ่านแผนการเรียนที่ช่วยให้เด็กได้ค้นหาตัวตน ความต้องการ ความถนัด และเพื่อกำหนด ‘อนาคตที่ใช่’ ในแบบของตัวเอง
การเรียนรู้ผ่านวิชาเลือกอาชีพ ช่วยเด็กค้นหาตัวเอง
การปรับเปลี่ยนแผนการเรียนการสอนเป็นเพียงปลายทางของการจัดการศึกษา และหัวใจสำคัญที่แท้จริงอยู่ที่ประสบการณ์ในการเรียนรู้ ซึ่งรูปแบบการจัดการศึกษาที่ดร.ภูมิสิษฐ์ นำมาใช้คือการจัดการ ‘การศึกษาเพื่ออาชีพ’
“คำว่า การจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ ไม่ได้หมายความว่า เราทำให้นักเรียนจบม.6 แล้วไปประกอบอาชีพ แต่เรากำลังทำให้นักเรียนตั้งแต่ม.ต้น เขารู้จักตัวตนของตัวเอง รู้จักความต้องการ ความถนัด ความสนใจในอาชีพ ผ่านการเรียนรู้จากวิชาเลือกอาชีพ จากประสบการณ์ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน”
สร้างแรงจูงในใจอาชีพให้กับเด็กตั้งแต่เริ่มต้นเข้ามัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยการพาสัมผัสและพูดคุยกับบุคคลที่ประกอบอาชีพนั้นๆ เพื่อให้เห็นว่า อาชีพนี้ต้องเจออะไรบ้าง เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกเส้นทางก่อนขึ้นมัธยมปลาย รวมถึงมีค่ายค้นหาความต้องการความถนัดปีละหนึ่งครั้งตั้งแต่ม.1-ม.6 และเสริมด้วย Project based learning (PBL) ซึ่งจะผูกโยงกับอาชีพเช่นเดียวกัน
“เด็กตั้งแต่ม.1-ม.3 เรามีวิชาเลือกอาชีพ 200 กว่าวิชา ให้เด็กได้เรียนตั้งแต่เทอมหนึ่งถึงเทอมที่หกของม.3 เด็กก็จะได้เรียนวิชาอาชีพที่เขาเลือกที่เขาสนใจอย่างน้อยภาคเรียนละหนึ่งครั้ง เช่น ม.1 เทอมหนึ่งเขาก็ไปเรียนวิชาเลือกอาชีพเกี่ยวกับวิศวะ เทอมสองเขาก็ลองไปเรียนอาชีพเกี่ยวกับเชฟ พอขึ้นม.2 เทอมหนึ่งเขาก็ไปเรียนวิชาที่เกี่ยวกับการออกแบบ อย่างน้อยพอถึงม.3 เขาก็ได้ประมาณหกอาชีพ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ด้วย”
นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมที่ชื่อว่า ‘Habitscan’ เป็นตัวช่วยให้นักเรียนค้นหาอนาคตของตัวเอง และจะช่วยพัฒนานักเรียนรายบุคคลด้วย
“โปรแกรมนี้จะทำนายนิสัยที่สอดคล้องที่เหมาะสมกับอาชีพในอนาคต เป็นแบบสอบถามที่เป็นโปรแกรมเลย พอเราเข้าไปตอบเสร็จแล้ว เขาก็จะทำนายมาเลยว่า ถ้านิสัยร่าเริงแจ่มใส ช่างพูดช่างเจรจา คุณจะเหมาะกับเป็นอะไร เช่น อาจจะบอกเป็นทนายความ เป็นครู ซึ่งตรงนี้เราจะวัดทุกเทอมตั้งแต่ม.1 ก็จะได้หกครั้งทุกเทอมๆ ละครั้ง สุดท้ายก็จะเป็นไฟนอลให้เป็นข้อมูลองค์ประกอบหนึ่งให้นักเรียนได้ตัดสินใจว่าจะไปแผนเตรียมอะไร”
ซึ่งมีทั้งหมด 10 แผนเตรียม คือ เตรียมแพทย์, เตรียมเภสัช-สหเวช, เตรียมวิศวะ, เตรียมสถาปัตย์, เตรียมวิทย์-คอม, เตรียมนิติ-รัฐศาสตร์, เตรียมนิเทศ,เตรียมศิลปกรรม, เตรียมบริหารธุรกิจ บัญชีและการบริการ, เตรียมมนุษย์-ครุศาสตร์
และแม้หลักสูตรจะดูเหมือนว่าเอื้อต่อเด็กที่ค่อนข้างชัดเจนในความฝันของตัวเอง แต่สำหรับเด็กที่ยังหาตัวตน ความถนัด ความชอบของตัวเองไม่เจอ ดร.ภูมิสิษฐ์บอกว่า
“เราให้โอกาสเทอมนึงในการเลือกในการเปลี่ยน แต่ต้องอธิบายว่า เราเล่นกับความคาดหวังของผู้ปกครอง ดังนั้น การที่เด็กชอบ เด็กต้องการ เด็กถนัดอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องดูที่ศักยภาพของตัวเองด้วย เราจึงต้องกำหนดเกณฑ์ในการเข้าแต่ละแผน เช่น จะต่อเตรียมแพทย์จบม.3 ต้องได้เกรดเฉลี่ย 3.00 และวิทย์ คณิตฯ อังกฤษต้องได้ 3 ด้วย ไม่งั้นเข้าไม่ได้”
“ความฝันกับความจริงมันต้องไปด้วยกัน เราถึงเอาเกณฑ์ศักยภาพของเด็กมาผสมด้วย ไม่ใช่ฉันชอบอย่างเดียวแต่การเรียนอ่อนมาเลยจะไปยังไง เพราะมันจะต้องสอบเพื่อไปเข้า ทุกแผนจะมีเกณฑ์หมด แล้วมีการสัมภาษณ์เด็กก่อนเข้าด้วย อย่างเช่น ศิลปกรรม ถ้าคุณไม่รักการแสดงจริงๆ ไม่รักศิลปะจริงๆ แค่เกณฑ์ได้ก็ไม่ได้นะ เราถึงมีการสัมภาษณ์ด้วย”
‘Child center’ เรียนในสิ่งที่ชอบ เพื่อไปสู่อาชีพที่ใช่
จากแผนการเรียนที่มุ่งไปที่อาชีพที่ใช่ ส่วนมากก็เป็นอาชีพยอดฮิต เช่น หมอ พยาบาล วิศวกร ครู แต่ยังมีอาชีพที่หลากหลายกว่านี้มาก และด้วยบริบทของโรงเรียนที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเด็กที่นี่มีความพร้อมและความต้องการที่จะเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยร้อยเปอร์เซ็นต์ และใฝ่ฝันในอาชีพยอดฮิตเหล่านั้น
“เราสำรวจแล้วว่า เราจะเปิดได้ประมาณนี้ แล้วแต่ละแผนมีเจ้าภาพ เช่น เตรียมแพทย์ กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์เป็นเจ้าภาพ การเป็นเจ้าภาพเขาต้องดูแลทั้งระบบเลย ดูแลวิชาเลือกอาชีพในม.ต้นที่เกี่ยวกับแพทย์ วิชาเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับแพทย์ในม.ปลายด้วย รวมถึงแต่ละแผนต้องมีพี่เลี้ยงเป็นมหาวิทยาลัยทุกแผน เช่น แพทย์เราก็มีพี่เลี้ยงเป็นศิริราช วิศวะ ก็จะมีเทคโนโลยีพระจอมเกล้าที่ลาดกระบัง แล้วก็พระนครเหนือ เป็นต้น”
นอกจากนี้การสร้างสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการจัดการศึกษาไม่ว่าจะหลักสูตรใดการตาม
“เวลาเราทำหลักสูตรเราต้องเอาไปนั่งคุยกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเลย เพราะหลักของมันก็คือว่า เราจะเน้นวิชาที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะนั้นๆ วิชาพื้นฐานในมหาวิทยาลัยปีหนึ่งเราเอามาเรียน แล้วเราก็ใส่สภาพแวดล้อมอุปกรณ์ต่างๆ ให้เสมือนเด็กได้เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัย เราพยายามที่จะให้เด็กได้ประสบการณ์ตรงนี้ เช่น ในแผนการเรียนนิเทศมีห้องสตูดิโอ ห้องวิทยุ เราเอาวิชาการนำสถานที่ ไม่ใช่อยู่ๆ เราไปตกแต่งสถานที่แล้วค่อยคิดถึงวิชาการกัน”
ปลายทางของแผนการเรียนนี้จึงไม่ใช่การเด็กเข้ามหาวิทยาลัย แต่คือการให้เขาสามารถ ‘เรียนที่ชอบ ไปสู่อาชีพที่ใช่’ และไม่ใช่เพื่อไปแข่งกันเข้ามหาวิทยาลัย โดยที่ตัวเด็กเองยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะเรียนอะไร แต่ขอแค่ให้ได้เข้ามหาวิทยาลัยพอ และเรียนจบปริญญาตรี กลายเป็นว่าเด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัยไปแบบไม่มีทิศทาง จึงเกิดปรากฏการณ์ซิ่วขึ้นมา ประหนึ่งว่ายิ่งเรียนยิ่งหลงทาง
“แล้วมันทำให้เสียเวลา แทนที่จบสี่ปีจะได้ทำงาน บางคนจบปริญญาตรีแล้วก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะเป็นอะไร อยากจะทำอะไร แต่ก็ต้องไปทำงาน พอไปทำงานเราก็แบบเช้าไม่อยากไปทำงาน ขอแค่ให้ได้เงินเดือน เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว เย็นเมื่อไรจะได้กลับดูนาฬิกาเมื่อไรจะเลิกงาน โอกาสก้าวหน้าในอาชีพก็มีน้อย เพราะเขาไม่ได้ทำด้วยใจรัก ทำไปก็เบื่อไป ประสิทธิภาพการทำงานก็ไม่มี พอไม่มีคนที่เป็นหัวหน้าเขาก็มองว่าคนนี้ไม่ไหว เขาก็ไม่ส่งเสริม”
ยิ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าเพราะการที่พวกเขาเป็นคนไม่มีศักยภาพ โดยศักยภาพนั้นเป็นเพราะเขาไม่ได้เรียนและได้ทำงานในสิ่งที่ชอบ นี่จึงเป็นผลกระทบระยะยาวและเป็นปัญหาระดับชาติ
“การจัดการศึกษาเช่นนี้นอกจากเด็กจะได้ทั้งพื้นฐานทางด้านวิชาการ ยังได้พื้นฐานทางด้านประสบการณ์อาชีพที่จะไปต่อยอดมหาวิทยาลัยโดยที่ไม่ต้องเริ่มจากนับหนึ่ง แต่เราไปห้าไปหกไปเจ็ดแล้ว แล้วไม่ต้องซิ่ว เพราะอะไร เพราะเขารู้แล้วว่าอยากเป็นนักแสดง เขารู้แล้วว่าเขาอยากเป็นอัยการ เป็นผู้พิพากษา”
เป้าหมายที่แคบและแหลมคม ให้ผลลัพธ์ดีกว่าเป้าหมายกว้างๆ
ช่วงแรกๆ ด้วยความที่เด็กยังไม่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรของแผนการเรียนที่มุ่งไปสู่อาชีพย่อมมีปัญหาบ้าง โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง เพราะเด็กไทย 80-90 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ผู้ปกครองไม่ใช่อยู่ที่ตัวเด็ก ดร.ภูมิสิษฐ์ บอกว่า “กว่าจะได้มาเป็นหลักสูตรนี้ผ่านอะไรมาเยอะ บาดแผลนี่เต็มตัวกว่าจะเปลี่ยนได้”
“การเปลี่ยนแปลงย่อมมีการบาดเจ็บ แต่ถ้าคุณอยู่ในเซฟโซนการศึกษาไม่มีวันเปลี่ยน ถ้าผมมัวแต่รอว่าเมื่อไหร่เขาจะทำข้างบนจะสั่งมาไม่มีทาง ตอนเปลี่ยนแรกๆ ผู้ปกครองเขาก็บอกว่าทำให้ลูกเขามีทางแคบลง ลูกเขาเคยเรียนแผนวิทย์แล้วก็งมหาตัวเองไปเรื่อยๆ จนลูกเขาอาจจะได้เป็นแพทย์ แต่พอเรามาปรับใหม่มีเกณฑ์ ลูกเขาไม่ได้เตรียมแพทย์ เขาไปได้วิศวะ ได้สถาปัตย์ เกณฑ์ไม่ถึงเขาก็มาโวยวาย เพราะเหมือนตัดอนาคตลูกเขา แต่ผมมองว่าการที่มีเป้าหมายที่มันแคบและแหลมคมมันไปได้ถึงจุดหมายได้ดีกว่าการที่เรามีเป้าหมายกว้างๆ โดยที่เราไม่ได้พุ่งไปที่อะไรเลย แล้วเราคิดว่า 1 ก็ได้ 2 ก็ได้ 3 ก็ได้ แต่ถ้าเราพุ่งไปที่ 1 เลยมันก็จะมีเวลาเรียนรู้เยอะขึ้น ไม่ใช่ว่าพุ่งไปแบบกว้างๆ แล้วค่อยไปเลือกเอาม.6”
แต่สิ่งที่ดร.ภูมิสิษฐ์ เห็นได้อย่างชัดเจนผ่านแววตาและพฤติกรรมของเด็กคือ เด็กมีความสุขกับการเรียน ต่อให้การบ้านเยอะแค่ไหนถ้าเป็นการบ้านที่เขาชอบ เขาก็อยากจะทำ เพราะเป็นสิ่งที่ท้าทาย และพฤติกรรมเปลี่ยนไปคือสนใจการเรียนมากขึ้นกระตือรือร้นมากขึ้น มีเป้าหมายชัดเจนในการเรียน
“ผลสัมฤทธิ์ของเราไม่ได้มองแค่ว่าเด็กเข้ามหาวิทยาลัยตามคณะที่ต้องการแล้วก็สอดคล้องกับแผนการเรียนที่เขาเลือกในม.ปลายเท่านั้น แต่เรามองไปถึง achievement ที่ว่าพอเขาเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วเขาจะไม่ซิ่ว ไม่เปลี่ยนคณะ เรียนไปจนตลอดรอดฝั่งจนจบ และเป็นคนดีคนเก่ง จากนั้นยังไม่พอเรียนจบไปแล้วเด็กคนนี้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพเป็นหัวหน้างาน เป็นผู้จัดการ เป็นประธานบริษัท แสดงว่านี่คือผลผลิตของเราที่เราฟูมฟักทั้งเรื่องความรู้ ทักษะ และเจตคติ”
ทั้งหมดทั้งมวลเป็นการเปิดกว้างให้เด็กได้ค้นหาตัวตน ค้นหาสิ่งที่ชอบ ความถนัด เพื่อที่จะกำหนดอนาคตที่ใช่ด้วยตัวของเขาเอง
“เราต้องการที่ทำให้เด็กรู้ตัวเร็วที่สุด เพราะการที่รู้ตัวเร็วที่สุดมันได้เปรียบคนอื่น” ผู้อำนวยการโรงเรียนโพธิสารพิทยากร ทิ้งท้าย