- ชวนดูวิธีสร้างผู้เรียนให้กลายเป็น ‘Learner Person’ ผ่านวงเสวนาผู้ทรงคุณวุฒิ ในงาน ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 2 กรณีศึกษาโรงเรียนรุ่งอรุณและพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
- การเรียนแบบบูรณาการ เป็นสื่อการเรียนรู้ที่มีความหมายอย่างมากกับผู้เรียน แตกต่างจากการสอนแบบเดิมที่ใช้ตัวชี้วัดหรือตัวมาตรฐานตั้ง แล้วสอนไปทีละตัว แต่การบูรณาการเป็นการเรียนรู้ตามธีม ตามความสนใจผู้เรียน และพิจารณาว่าผู้เรียนควรเรียนรู้อะไรจากเรื่องนั้นๆ สุดท้ายตัวชี้วัดหรือผลลัพธ์อื่นๆ ตามมาเอง
- “อย่างหนึ่งที่เห็นชัด เราจะเอาผลลัพธ์การเรียนรู้แบบเดิมเป็นตัวตั้งไม่ได้ ไปใช้ตัวชี้วัดมาวัดแต่ละตัวไม่ได้แล้ว เราต้องโดดไปที่สมรรถนะของผู้เรียน เพราะสมรรถนะไปไกลกว่าตัวชี้วัดเดิม คือ สร้างคุณภาพใหม่ให้ผู้เรียน จนถึงขนาดที่เรียกว่า ผู้เรียนลุกขึ้นมาเป็น learner person สามารถไปถึง DOE ของชาติ (Desired Outcomes of Education ผลลัพธ์ที่พึ่งประสงค์ของการศึกษา)”
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความพิเศษอย่างหนึ่ง คือ เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาและทั้งชีวิต เกิดเป็นประโยคสวยๆ ที่ว่า ‘Lifelong learning’ การเรียนรู้ตลอดชีวิต
แต่เราหลายคนกลับเลิกที่จะเรียนรู้เมื่อจบภาคการศึกษาบังคับ หรือระดับมหาวิทยาลัย นั่นเพราะเราอาจกำลังผูกการเรียนรู้ไว้ที่ ‘สถานศึกษา’ และ ‘อายุ’ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่จะทำให้เราเกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่สถานที่ แต่เป็นเจตคติของตัวเราเอง การจะได้มาซึ่งมายเซ็ต ‘เรียนรู้ตลอดชีวิต’ จึงต้องอาศัยการติดตั้งเครื่องมือและทักษะที่ทำให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
งานเสวนา ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 2 กรณีศึกษาโรงเรียนรุ่งอรุณและพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง จัดโดย คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา นอกเหนือจากการนำเสนอบทเรียนจากโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง โรงเรียนวัดถนนกะเพราและโรงเรียนวัดตาขันแล้ว ยังมีเวทีสะท้อนคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งในครั้งนี้มีทั้งหมด 6 ท่าน ได้แก่
- ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล
- ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อนุกรรมการด้านบริหารงานวิชาการ ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
- ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาสพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)
- ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฐานสมรรถนะ
- รศ.ประภาภัทร นิยม อธิบดีสถาบันอาศรมศิลป์และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ
- ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ผู้ปกครอง: ครูอีกหนึ่งคนของลูก
เช่นเดียวกับงานเสวนาครั้งที่ 1 (อ่านบทความ) เมื่อครูไม่สามารถดูแลนักเรียนได้เหมือนเดิม ‘ผู้ปกครอง’ มีบทบาทสำคัญที่จะทำหน้าที่นีแทน แต่บทบาทดูแลลูกกับบทบาทซัพพอร์ตให้ลูกเรียนรู้มีความแตกต่างกัน ต้องอาศัยการปรับมายเซ็ต ติดตั้งเครื่องมือให้ผู้ปกครอง
ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาสพฐ. กล่าวว่า ที่โรงเรียนรุ่งอรุณมีการช่วยเหลือผู้ปกครองมากๆ ทั้งทำคู่มือที่อธิบายรายละเอียดแม้กระทั่งการใช้คำพูดกับลูก ทำตารางพัฒนาการเด็กแต่ละวัย การเชิญนักจิตวิทยามาพูดคุยปรับมายเซ็ตผู้ปกครองอีกทางหนึ่ง
ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อนุกรรมการด้านบริหารงานวิชาการ ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้ความเห็นว่า การที่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมทำให้เกิดการ Reskills และ Upskills ใหม่ๆ ซึ่งอาจส่งผลระยะยาวต่อการเรียนรู้ของเด็ก เป็นเรื่องที่ควรลองศึกษาในอนาคต
ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กล่าวว่า ในฐานะผู้ปกครองคนหนึ่งมองเห็นโอกาสที่โรงเรียนเข้ามาหาผู้ปกครอง ผู้ปกครองจะมีโอกาสได้รู้ว่าการเรียนรู้ของลูกเป็นอย่างไร และผู้ปกครองสามารถช่วยเขาได้อย่างไรบ้าง บทบาทใหม่กลายเป็นผู้ช่วยครูและกระตุ้นการเรียนรู้ของลูก ผู้ปกครองสามารถจับชีพจรการเปลี่ยนแปลงของลูกหลานได้
“วันนี้เป็นโอกาสของผู้ปกครองที่โรงเรียนมาให้ความรู้เรา ตั้งแต่ลูกอยู่อนุบาล ประถม มัธยม เราจะมีบทบาทดูแลเขาอย่างไร เชื่อว่าถ้าผู้ปกครองฉวยโอกาสนี้เรียนรู้และปฏิบัติไปกับโรงเรียนจะได้ประโยชน์มาก เป็นความรู้ที่ใช้ได้ตลอดชีวิต”
การบูรณาการ: แนวทางการเรียนรู้ที่พัฒนาศักยภาพผู้เรียนได้จริง
ดร.รัตนา หยิบประเด็นหนึ่งขึ้นมาแชร์ในวงเสวนา คือ การเรียนแบบบูรณาการ เป็นสื่อการเรียนรู้ที่มีความหมายอย่างมากกับผู้เรียน แตกต่างจากการสอนแบบเดิมที่ใช้ตัวชี้วัดหรือตัวมาตรฐานตั้ง แล้วสอนไปทีละตัว แต่การบูรณาการเป็นการเรียนรู้ตามธีม ตามความสนใจผู้เรียน และพิจารณาว่าผู้เรียนควรเรียนรู้อะไรจากเรื่องนั้นๆ สุดท้ายตัวชี้วัดหรือผลลัพธ์อื่นๆ ตามมาเอง
“หลักสูตรเป็นเพียงกรอบให้เราเห็นว่าเด็กควรจะเรียนรู้อะไร แต่การออกแบบการเรียนรู้อยู่ที่คุณครู ช่วงแรกๆ อาจจะยาก แต่กระบวนการ PLC จะช่วยให้ความกังวล ความเครียดของครูลงลด และรวมทั้งเกิดความสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการจัดการเรียนรู้”
รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ แสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกันว่า “อย่างหนึ่งที่เห็นชัด เราจะเอาผลลัพธ์การเรียนรู้แบบเดิมเป็นตัวตั้งไม่ได้ ไปใช้ตัวชี้วัดมาวัดแต่ละตัวไม่ได้แล้ว เราต้องโดดไปที่สมรรถนะของผู้เรียน เพราะสมรรถนะไปไกลกว่าตัวชี้วัดเดิม คือ สร้างคุณภาพใหม่ให้ผู้เรียน จนถึงขนาดที่เรียกว่า ผู้เรียนลุกขึ้นมาเป็น learner person สามารถไปถึง DOE ของชาติ (Desired Outcomes of Education ผลลัพธ์ที่พึ่งประสงค์ของการศึกษา)
“ประเด็น learner person เราอยากเห็นมาก พลเมืองของไทยจะมีคุณภาพใหม่ จุดเปลี่ยนตรงนี้เปิดโอกาสให้เราแล้ว ถ้าเอาสมรรถนะเป็นตัวตั้งจะไปถึงแน่นอน การเป็น co – creator เป็นพลเมืองที่เข้มแข็งมาได้หมด”
ปิยาภรณ์ ให้เห็นความเห็นเช่นเดียวกันว่า หมดยุคที่ตั้งเป้าหมายผู้เรียนได้ความรู้ หรือครูตั้งหน้าตั้งตาสอน เพราะโควิด – 19 ทำให้เห็นชัดขึ้นว่าคนเราเรียนเพื่อเอาความรู้ไปใช้ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ คือ ต้องให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติเอง หากเราอยากให้ผู้เรียนเอาความรู้ไปใช้แก้ปัญหาได้ ไปต่อยอดสร้างสิ่งใหม่ๆ นั่นคือความรู้ที่ตั้งเป้าไว้ที่ทักษะสมรรถนะ
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฐานสมรรถนะ ให้ความเห็นว่าหลังจากได้เห็นการทำงานของโรงเรียนรู้สึกมีความหวังว่าหลักสูตรสมรรถนะที่ทำจะสามารถใช้ได้จริง งานเสวนาครั้งนี้ทำให้เห็นภาพมหภาคการศึกษาของจังหวัดระยอง หนึ่งในจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สามารถทำได้ด้วยความร่วมมือจากผู้นำการเรียนรู้ 5 กลุ่ม หนึ่ง – โรงเรียนรุ่งอรุณที่เป็นโค้ชแนะนำโรงเรียนอื่นๆ สอง – โรงเรียนวัดกะเพรา สาม – โรงเรียนวัดตาขัน สี่ – ศึกษาธิการจังหวัดและศึกษานิเทศก์ของจังหวัดระยอง และห้า – ภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม
“คนที่เคยคิดว่าวิถีพุทธเป็นเรื่องเชย เป็นเรื่องของผู้สูงวัย แต่ไม่ใช่เลย โรงเรียนวิถีพุทธอย่างรุ่งอรุณก็สามารถเป็นผู้นำการจัดการศึกษาในลักษณะที่เรียกว่า ‘ฐานสมรรถนะ’ และเป็นโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 ที่นำวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ และเราได้เห็นภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา ภาคของโลกอาชีพจริงมาบ่มเพาะนักเรียน
“เอกสารกรอบหลักสูตรกำลังจะเสร็จ สิ่งที่จะช่วยเติมเต็มให้สมบูรณ์ขึ้น คือ ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้ดีๆ ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ขยับจากโรงเรียนเป็นฐาน กลายเป็นบ้านเป็นฐาน วันนี้เราได้เห็นการจัดการเรียนรู้ที่เป็น ‘กัลยานิมิตรกับผู้ปกครอง’
“ปีหน้าที่เคยกังวลเรื่องหลักสูตร สบายใจละว่าคงเกิดขึ้นอย่างงดงามแน่นอน เพราะมีผู้นำการเรียนรู้ไม่ว่าจะที่ศรีสะเกษ ระยอง หรือสตูล มีสีสันต่างกันไป”
ต้นทุนโรงเรียนไม่เหมือนกัน แต่ก็ใช้โมเดลเดียวกันได้
มีหลายเสียงที่กังวลว่าโมเดลการจัดการศึกษาจากโรงเรียนต้นแบบอย่างรุ่งอรุณ โรงเรียนอื่นๆ จะสามารถนำไปใช้ได้หรือไม่ ด้วยบริบทและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
ดร.สุธีระ ให้ความเห็นว่า แม้โรงเรียนรุ่งอรุณเด็กและผู้ปกครองจะมีการเตรียมพร้อม มีต้นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่โมเดลที่นำเสนอครั้งนี้โรงเรียนอื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้แน่นอน แม้บริบทจะแตกต่างกัน ต้องอาศัยผู้นำ หรือผู้อำนวยการโรงเรียนในการปรับใช้โมเดล พัฒนาระบบ บริหารจัดการของโรงเรียน
ส่วนดร.รัตนา ยกเครื่องมืออีกหนึ่งชิ้นที่ช่วยให้การทำโมเดลสำเร็จ คือ วง PLC (Professional Learning Community) “เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพการศึกษาได้มากทีเดียว เห็นสิ่งที่ตามมา เช่น การกำหนดโจทย์ที่ทำให้มีความหมายที่สุด มีความท้าทายและซับซ้อน”
ปิยาภรณ์ แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า การสำรวจและใช้ต้นทุนที่โรงเรียนมีถือเป็นอีกหนึ่งคีย์หลัก จากการทำงานของโรงเรียนรุ่งอรุณที่ดึงศักยภาพคนรอบตัวและบริบทโรงเรียน ไม่ใช่แค่ศักยภาพครูเท่านั้น แต่เป็นเครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายของศิษย์เก่า ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ในชุมชนที่โรงเรียนรู้จัก หรือจังหวัดศรีสะเกษในงานเสวนาครั้งก่อนก็มีการดึงนักกีฬาระดับชาติ นักคิด นักวิชาการ ผู้ประกอบการ ซึ่งถ้าโรงเรียนใช้เครือข่ายดังกล่าวเข้ามาช่วยจัดการเรียนรู้เพื่อให้ได้การศึกษาในมิติใหม่ที่มีคุณภาพ
“ขอใช้คำพูดของผอ.โรงเรียนวัดตาขัน ‘เรื่องยากๆ อะไรก็ตาม ไม่พ้นความพยายามของครูและก็ผู้อำนวยการของเราหรอก ที่จะหาทางไปสู่ความสำเร็จได้’ ” ปิยาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย