- หลักคิดในการจัดการเรียนรู้ที่น่าจะเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนทิศทางการศึกษาไทยหลังวิกฤตโควิด-19 คือ ‘ปิดโรงเรียน เปิดชีวิต’ เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เปิดการเรียนรู้ที่กว้างขึ้น และให้ความสนใจสำคัญกับสิ่งที่เป็นหัวใจของการเรียนรู้จริงๆ นั่นคือ ‘ผู้เรียน’
- Child Based Learning หรือการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนเป็นฐานหลัก คือหนึ่งในแนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา นำมาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์นี้ โดยมีหลักการสำคัญคือ “อยู่ที่ไหนก็สามารถเกิดการเรียนรู้ได้”
- ในงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 1 นอกจากจะนำเสนอวิธีจัดการเรียนรู้จากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนากับโรงเรียนในเครือข่ายในพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งใช้หลัก Child Based Learning และวง PLC เป็นเครื่องมือสำคัญแล้ว ยังมุมมองจากผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษาอีกหลายท่ายด้วย
การแพร่ระบาดของโควิด – 19 สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางในแทบทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ระบบการศึกษาที่ถูกเร่งให้ต้องปรับเปลี่ยนยกเครื่องขนานใหญ่เพื่อรับมือกับวิกฤตเฉพาะหน้า ซึ่งการไปโรงเรียนตามปกติเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่จนถึงวันนี้หลายฝ่ายเริ่มเห็นแล้วว่าด้วยสภาพการณ์ที่อาจจะยืดเยื้อยาวนาน การปรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นแล้วในหลายโรงเรียนอาจกลายเป็นโอกาสในการปฎิรูปการศึกษาไทยครั้งสำคัญ
Child Based Learning หรือการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนเป็นฐานหลัก คือหนึ่งในแนวคิดการจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนานำมาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์นี้ มีหลักการสำคัญคือ “อยู่ที่ไหนก็สามารถเกิดการเรียนรู้ได้” ชวนให้สังคมกลับไปตั้งต้นที่หัวใจสำคัญของการออกแบบการเรียนรู้ นั่นคือ ‘ผู้เรียน’
งานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 1 กรณีศึกษา โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ’ จัดโดย คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา นอกจากจะนำเสนอวิธีจัดการเรียนรู้จากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา พร้อมกับโรงเรียนในเครือข่ายในพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ อย่างโรงเรียนบ้านปะทาย และโรงเรียนโรงเรียนบ้านกระถุน ซึ่งใช้หลัก Child Based Learning และวง PLC (Professional Learning Community) เป็นเครื่องมือสำคัญแล้ว ระหว่างการเสวนายังเปิดเวทีสะท้อนคิดโดยผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษา อาทิ
- ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางนโยบายและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
- ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฐานสมรรถนะ
- รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อนุกรรมการด้านบริหารงานวิชาการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
- ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.
- รศ.ประภาภัทร นิยม อธิบดีสถาบันอาศรมศิลป์
- ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช รองประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล
โควิด-19 เปลี่ยนมายเซ็ตทั้งประเทศ: โรงเรียนไม่ได้ผูกขาดระบบการศึกษาอีกต่อไป
รศ.ประภาภัทร นิยม อธิบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ให้ความเห็นว่า โควิด – 19 ไม่ได้ทำให้เราติดกับหรือถูกล็อกการเรียนรู้ กลับกันโควิด – 19 ทำให้เกิดนวัตกรรมหรือเครื่องมือใหม่ๆ ในระบบการศึกษาบ้านเรา รวมถึงการปรับเปลี่ยนมายเซ็ตครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการมองโรงเรียนในเวลานี้เป็นเพียงศูนย์ปฎิบัติการที่จะทำให้เกิดการสร้างการเรียนรู้ไปสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ (ครู ผู้ปกครอง นักเรียน) มองเห็นสถานที่เรียนรู้ที่สามารถเป็นไปได้ทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะ ‘บ้าน’ ก็สามารถเปิดโอกาสแห่งการเรียนรู้ได้มหาศาล
นอกจากนี้ มายเซ็ตของผู้เรียนเองที่กลายเป็นเรียนรู้ด้วยตัวเองจริงๆ เกิดเป็น Trust หรือความเชื่อมั่นว่าเด็กสามารถเรียนรู้เองได้ มายเซ็ตของครูในการทำงาน จากทำงานเป็นปัจเจก ก็รวมมือผ่านวง PLC ช่วยกันแชร์ vision (วิสัยทัศน์)
มายเซ็ตผู้ปกครอง จากที่เคยมองว่าโรงเรียนเป็นคนจัดการเรียนรู้ให้ลูก วันนี้ผู้ปกครองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง หรือแม้แต่ปู่ย่าตายายเองก็สามารถจัดการศึกษาให้ลูกหลานได้
นอกจากการปรับมายเซ็ตแล้ว รศ.ประภาภัทร กล่าวว่า ยังเห็นการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนทักษะ เห็นการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการศึกษาเวลานี้ เช่น ทักษะการสร้างคำถาม ทักษะการสร้างประเมินผลที่ไปถึงผู้เรียนจริงๆ ตัวผู้เรียนได้วิเคราะห์งานที่ทำว่าได้อะไรจากการทำสิ่งๆ นี้ แม้แต่ครูเองก็ได้ทักษะการเข้าไปสำรวจตัวเอง รวมถึงผู้ปกครอง ฯลฯ ทั้งหมดนับเป็นสมรรถนะที่อยู่ใน 21st century skills หรือทักษะในศตวรรษที่ 21 เป็นสิ่งที่รศ.ประภาภัทรทำงานมาตลอด รวมถึง การสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ที่ช่วยให้การเรียนรู้เกิดได้ทุกที่ ทำให้บ้านกับโรงเรียนเชื่อมโยงใช้เครื่องมือเดียวกัน สะดวกในการปฎิบัติ ทำให้เกิดเรียนรู้ที่มีความหมาย
ผู้อำนวยการโรงเรียนคือผู้นำการเปลี่ยนแปลง ระดมความคิดออกแบบการเรียนรู้ด้วย PLC
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงเรียนสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางนโยบายและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ความคิดเห็นว่า อยู่ที่การทำงานของผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ลำปลายมาศพัฒนา ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถถ่ายทอดความฝัน หลักคิด ปรัชญาของผู้บริหาร สร้างเป็นโครงสร้างที่ยืดหยุ่น และก็ได้คุณครูในโรงเรียนมาร่วมกันสร้างผ่านวง PLC จนสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์เป้าหมาย
นอกจากนี้ กระบวนการเรียนรู้เน้นตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ จะเห็นได้จากเป้าหมายที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาตั้งให้นักเรียน คือ เน้นพัฒนาการของเด็ก เช่น EF (การทำงานของสมองขั้นสูง) Self (ตัวตน)
“ผมชอบคำหนึ่ง ‘การแชร์ vision (วิสัยทัศน์) ให้เกิด passion (แรงผลักดัน)’ มันมีเส้นแบ่งบางๆ ว่าการเรียนที่เราทำแบบนี้ online learning ทำให้เกิดภาระหรือสร้างระบบการเรียนรู้ไปกับผู้ปกครอง ถ้าเราใช้ระบบเดิมไม่สร้าง passion ให้ผู้ปกครอง จะกลายเป็นภาระงานทันที จะมีความรู้สึกว่า ‘เฮ้ย ทำไมต้องอย่างนั้นอย่างนี้’ เสียงโวยวายสนั่นทั่วประเทศ
“การตระเตรียมผู้ปกครองจึงสำคัญ ที่คุณมาประชุม มา PLC กับเรา ก็เพื่อลูกหลานเรา ลูกหลานเราแต่ละระดับต้องเรียนรู้แบบไหน ปัญหาข้อจำกัดคืออะไร สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การเรียนรู้ที่บ้านกับโรงเรียนเชื่อมโยงกัน เป้าหมายตรงกันเพื่อลูกหลานของคุณ เพราะพ่อแม่ทุกคนรักและหวังดีกับลูก ถ้าเราช่วยบอกกับเขาว่า ‘ไม่ควรพูดกับลูกแบบนี้นะ’ ‘ควรจะเสริมแบบไหน’ กระบวนพวกนี้ทำให้เห็นว่าวง PLC สามารถตอบโจทย์การทำงาน ความร่วมมือ เต็มใจ” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว
รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อนุกรรมการด้านบริหารงานวิชาการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ก็หยิบประเด็นการทำงานร่วมกันของครูและผู้ปกครองมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยให้ความเห็นว่าการจัดการศึกษาเช่นนี้ต้องอาศัยการคิดนอกกรอบ ความคิดสร้างสรรค์ที่ได้จากการแชร์ผ่านเครื่องมือที่สำคัญอย่างวง PLC
“วิกฤตครั้งนี้ทำให้เห็นคีย์เวิร์ดตัวหนึ่งที่เป็นประโยชน์ การเรียนรู้ของผู้ปกครอง เรารู้ว่าระบบการศึกษาพอโรงเรียนแยกมาจากคำว่าบวร ผู้ปกครองก็โยนภาระให้ครู ให้โรงเรียน แต่ครั้งนี้ผู้ปกครองได้เรียนรู้มหาศาลเลย ที่สำคัญได้เข้าใจลูกตัวเองที่กำลังอยู่ในระบบการศึกษา ได้เห็นพัฒนาการของลูก ได้เห็นว่าครูยากลำบากยังไงในการสอนลูกตัวเอง วิกฤตอันนี้ถือเป็นการสื่อสารวิชาพ่อแม่ครู พ่อแม่กลายเป็นครู เป็นครูคนแรกของเด็กอย่างจริงจังเสียที
“ที่ผู้ปกครองเปลี่ยนได้ส่วนหนึ่งเพราะกระบวนการจิตศึกษาที่ลงไปที่ผู้ปกครอง ทำยังไงถึงจะดึงผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา เข้ามามีส่วนร่วม เปลี่ยนมายเซ็ตพวกเขา เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกับโรงเรียน”
รศ.ดร.สุธีระกล่าวและทิ้งท้ายคำถามชวนคนในวงเสวนาคิดต่อว่า โครงสร้างระบบการศึกษาในเวลานี้สามารถตามทันโลกปัจจุบันหรือไม่ และระบบพัฒนาครูที่ต้องเปลี่ยนมายเซ็ตใหม่ ในอนาคต แนวโน้มการพัฒนาครูจะเป็นอย่างไร
เอื้ออำนวยด้วยการปลดล็อกระเบียบและปฎิรูปการศึกษาไทยผ่าน ‘หลักสูตรสมรรถนะ’
แม้ว่าที่ผ่านมาหลายโรงเรียนจะพยายามปรับตัวเพื่อที่สอดรับกับวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่เสียงสะท้อนจากผู้อำนวยการและครูในฐานะผู้ปฏิบัติ คือ กฎระเบียบต่างๆ ได้สร้างเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ทำให้ปรับเปลี่ยนได้ค่อนข้างยาก ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า ทางสำนักวิชาการฯ พยายามปลดล็อกข้อจำกัดที่มีอยู่ โดยติดตามจากสถานการณ์ในปัจจุบันว่าโรงเรียน ครู นักเรียนมีปัญหาติดขัดอะไรบ้าง และส่งเรื่องไปยังเขตพื้นที่การศึกษา เช่น ปัญหาเวลาเรียน จากสถานการณ์ทำให้เวลาเรียนของเด็กที่ตามระเบียบจะต้องร้อยละ 80 ขึ้นไปถึงจะสามารถเลื่อนชั้นหรือเรียนจบได้ ทางสำนักฯ พยายามยืดหยุ่นโดยให้ครูเป็นคนวัดว่าความสามารถเด็กในตอนนี้ผ่านเกณฑ์ที่ครูตั้งไว้หรือไใม่ โดยไม่ต้องคำนึงเรื่องเวลาเรียน หรือการวัดและประเมินผลจากเดิมที่ต้องใช้แบบทดสอบ ก็สามารถปรับเปลี่ยนตามที่โรงเรียนเห็นสมควร
ในอีกมุมหนึ่ง ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฐานสมรรถนะ กล่าวว่า ขณะนี้การทำงานของคณะกรรมการพยายามปรับเปลี่ยนหลักสูตรโดยใช้สมรรถนะเป็นฐาน เพราะตอนนี้เทรนด์การศึกษาโลกเปลี่ยนจาก content based เป็น capacity based ใช้สมรรถนะเป็นฐาน ความกังวลของคณะกรรมการ คือ กลัวว่าจะเป็นการเพิ่มภาระงานให้ครูและนักเรียนในสภาวะเช่นนี้ แต่จากการฟังงานเสวนาครั้งนี้ก็พบว่า หลักสูตรที่โรงเรียนคิดมีการใส่เป้าหมายพัฒนาเด็กโดยใช้สมรรถนะตั้ง แถมมีสมรรถนะมากกว่าที่คณะกรรมการกำหนดเสียอีก ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการปรับเปลี่ยนในระบบการศึกษาไทย
“หัวใจของความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ จากที่คณะกรรมการฯ ได้ศึกษาตัวอย่างหลากหลายประเทศที่ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ไม่ว่าจะเป็นนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย หรือฟินแลนด์ที่สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนและคุณครูทุกคน ในการร่วมมือวางแผนจัดการเรียนรู้ วันนี้จากที่ฟังครูทั้ง 3 โรงเรียน กระบวนการที่พวกท่านทำเหมือนที่ฟินแลนด์ทำเลย ทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และเด็กต่างมีส่วนร่วม โดยเฉพาะนักเรียนที่รู้ว่าตัวเขาต้องการสมรรถนะอะไร และต้องทำยังไงให้ไปถึงได้” ดร.สิริกรกล่าว
ปิดท้ายด้วยมุมมองจาก ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กล่าวถึง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (อ่าน พื้นที่นวัตกรรม: การศึกษาไทยแก้ได้ในชาตินี้ ให้คนในพื้นที่เป็นเจ้าของ) พื้นที่นำร่องทั้ง 8 จังหวัดได้เปิดให้โรงเรียนเป็นคนออกแบบหลักสูตรการศึกษาด้วยตัวเอง ความสำคัญของพื้นที่นี้ คือ การขยายผลเอากระบวนการของโรงเรียนที่ทำสำเร็จส่งต่อให้โรงเรียนอื่นๆ เพื่อปฎิรูปการศึกษาไทย
“เราเอาระบบการศึกษากลับไปที่หัวใจจริงๆ ก็คือการเรียนรู้ด้วยตัวเองของผู้เรียน เน้นเป้าหมายแท้จริง เปลี่ยนจากโรงเรียนที่เคยเป็นฐาน กลายมาเป็นผู้เรียนเป็นฐาน”
“ที่ลำปลายมาศให้ความสำคัญกับการตั้งโจทย์น้อยแต่สำคัญยิ่ง เน้นความท้าทายเป็นหลัก ปิดโรงเรียน เปิดชีวิต เราเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เปิดการเรียนรู้ที่กว้างขึ้น ให้ความสนใจสำคัญกับสิ่งที่เป็นหัวใจของการเรียนรู้จริงๆ” ดร.พิทักษ์ กล่าวถึงหลักคิดในการจัดการเรียนรู้ที่น่าจะเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนทิศทางการศึกษาไทยหลังวิกฤตโควิด-19