- Bai Lan คือภาวะที่คนจีนรุ่นใหม่ขาดความทะเยอทะยานในการดำรงชีวิตและใช้ชีวิตอยู่บ้านไปวันๆ โดยไม่พะวงกับอนาคต
- คนส่วนมากที่ประสบภาวะนี้ มักเบื่อหน่ายกับการทำงานหนัก ซึ่งเต็มไปด้วยการแข่งขัน และให้ผลลัพธ์ที่ไม่คุ้มค่า ดังนั้นสู้ปล่อยให้ชีวิตเน่าไปบ้างก็ไม่เป็นไร
- การใช้ชีวิตตามอัตภาพทำให้ทางการจีนหรือคนรุ่นก่อนมองว่า Bai Lan เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศชาติ และขัดต่อ Zhong Guo Meng (ความฝันของจีน) ที่ว่าคนรุ่นใหม่ต้องเพียรทำงานเพื่อเติมเต็มความฝันและมีส่วนให้ชาติกลับมีชีวิตอีกครั้ง
แม้ภาพลักษณ์ความขยันขันแข็งของคนจีนจะเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก แต่ภาพลักษณ์ดังกล่าวกำลังถูกท้าทายด้วยภาวะ Bai Lan หรือ การ ‘ปล่อยให้มันเน่าไปเถอะ’ ที่เกิดขึ้นกับเหล่าลูกหลานมังกรจำนวนมาก
สำหรับ Bai Lan เป็นภาวะที่คนรุ่นใหม่หมดแพสชันกับการทำงาน เพราะต่อให้พวกเขาขยันแทบตายก็ไม่มีวันรวยขึ้น แถมยังเสียสุขภาพกายสุขภาพจิตอีกต่างหาก ดังนั้นเมื่อระบบเศรษฐกิจต่างๆ ไม่เอื้อให้คนรุ่นใหม่ลืมตาอ้าปากได้ง่ายเหมือนกับคนรุ่นก่อนๆ พวกเขาจึงหลีกเลี่ยงชีวิตอันแสนวุ่นวายด้วยการอยู่บ้าน เล่นเกมเล่นมือถือ กินอาหารประหยัดๆ และนอนหลับยาวๆ เพื่อฆ่าเวลาในแต่ละวัน
แน่นอนว่าความคิดนี้สวนทางกับประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ปลูกฝังให้คนหนุ่มสาวขยันทำงานเพื่ออนาคตที่มั่งคั่ง หรือแม้กระทั่งคำพูดยอดฮิตประเภท ‘งานหนักไม่ทำให้ใครตาย’
ขณะเดียวกันถึงความขยันจะเป็นเรื่องที่ดี และมีตัวอย่างของผู้ประสบความสำเร็จให้เห็นมากมาย ทว่าในยุคสมัยนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อัตราการแข่งขัน การแย่งงาน รวมถึงค่าครองชีพที่ไม่สอดคล้องกับรายได้ ก็ยังไม่รุมเร้าคนรุ่นก่อนมากนักเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยหมดไฟและอยากใช้ชีวิตง่ายๆ ตามอัตภาพ
นอกจากกับดักที่เกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือมุมมองที่ว่าการทำงานหนักให้ผลลัพธ์ที่ไม่คุ้มค่า ชาวจีนรุ่นใหม่ยังมองว่าการปล่อยให้ชีวิตเน่าบ้างได้ช่วยให้พวกเขามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เพราะไม่ต้องเครียดกับงานที่บีบรัดและความคาดหวังของสังคม
“สังคมสอนให้เด็กโฟกัสไปที่เงิน มองไปที่แมนชั่นของคนรวย ดูรถซูเปอร์คาร์ ไหนจะเฮลิคอปเตอร์และเรือยอร์ช เห็นไหมว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนวัดจากเงินทั้งนั้น คนรุ่นใหม่จึงเป็นเจนเนอเรชั่นที่ว่างเปล่า เหงา เศร้า และน่าสงสาร” ชาวจีนคนหนึ่งกล่าวผ่าน China Insights
เมื่อผู้คนสนใจเรื่อง Bai Lan มากขึ้น ทางการจีนเองก็ไม่รอช้าและพยายามตอบโต้กระแส Bai Lan ผ่านทางสื่อต่างๆ ของภาครัฐในทำนองว่า Bai Lan ไม่ใช่เรื่องที่น่าพอใจ และขัดต่อ Zhong Guo Meng (ความฝันของจีน) ที่ว่าคนรุ่นใหม่ต้องเพียรทำงานเพื่อเติมเต็มความฝันและมีส่วนให้ชาติกลับมีชีวิตอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่าชาว Bai Lan หลายคนไม่สนไม่แคร์ว่าจะถูกมองยังไง แถมยังเปรียบเทียบตัวเอง โดยนำสองสุภาษิตจีนมาอธิบายอย่างน่าสนใจ
สุภาษิตแรกคือคำว่า ‘ทำลายหม้อน้ำและจมเรือ’ หมายความว่าเมื่อเราผลักดันตัวเองไปสู่สถานการณ์ที่สิ้นหวัง เราอาจสามารถกระตุ้นศักยภาพภายในซึ่งอาจเปลี่ยนชีวิตของเราไปในทางที่ดีขึ้น
หรืออีกสุภาษิตหนึ่งที่ว่า ‘หมูที่ตายแล้วไม่กลัวน้ำร้อน’ เพราะพวกเขามองว่าทัศนคติของการปล่อยให้มันเน่านำไปสู่การปล่อยวางที่ง่ายขึ้น เมื่อปล่อยวางได้ก็รู้สึกเครียดน้อยลงและใช้ชีวิตไปวันๆ อย่างมีความสุขมากขึ้น
นอกจากกระแส Bai Lan ที่จีนแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่แทบทุกสังคม โดยมีคำที่ถูกใช้ในความหมายคล้ายๆ กัน อย่าง ‘NEET’ (นีต) ซึ่งย่อมาจาก Not in Education, Employment, or Training ใช้เรียกกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ฝึกงาน หรือทำงาน (อ่านบทความเรื่อง ‘NEET’ คนที่ล้มเหลวหรือผลผลิตจากระบบการศึกษาไทย)
NEET ถูกใช้ครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษช่วงปี 1990 ก่อนจะแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีคำว่า ‘นีตโตะ’ หรือการที่คนๆ หนึ่งใช้ชีวิตอยู่โดยไม่ได้กำลังเรียนหนังสือ ทำงาน หรือฝึกงานใดๆ ทั้งสิ้น โดยชาวนีตในญี่ปุ่นส่วนมากคือคนเจนเนอเรชั่น Y และ Z ที่เลือกใช้ชีวิตอยู่บ้าน และใช้เงินของพ่อแม่ ซึ่งสาเหตุก็คล้ายๆ กับ Bai Lan นั่นคือการทำงานหนักแล้วไม่คุ้มค่ากับพลังชีวิตและสุขภาพจิตที่เสีย รวมไปถึงความรู้สึกสิ้นหวังต่อเรื่องต่างๆ ในสังคม
ดังนั้นคำถามที่สำคัญกว่า Bai Lan, NEET หรือ นีตโตะ คือประเทศต่างๆ มีความพร้อมในการรับมือหรือจัดการกับภาวะเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะสุดท้ายแล้ว เราต้องยอมรับความจริงว่านโยบายของแต่ละประเทศต่างมุ่งเน้นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากกว่าการใส่ใจความสุขมวลรวมของประชาชน
อ้างอิง
www.51cmm.com : 摆烂是什么意思?如何看待摆烂?摆烂有什么好处?
China InSights (Youtube Channel) : Chinese Youth : ‘Let it Rot’new high of lying flat