- หนังสือในดวงใจของนักอ่าน ‘ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์’ หรือ ชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Wonder’ เขียนโดย อาร์.เจ. ปาลาซิโอ (R.J. Palacio) เป็นเรื่องราวของ ‘อ๊อกกี้’ หรือ ออกัสต์ พูลล์แมน เด็กชายวัยสิบขวบ ผู้เกิดมาพร้อมกับความพิการบนใบหน้า
- เรื่องราวของอ๊อกกี้ในหนังสือเล่มนี้ สื่อสารกับเราอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่หน้าแรกๆ ของหนังสือว่า สิ่งที่คนไม่ปกติต้องการมากที่สุด คือ ความปกติธรรมดานั่นเอง
- สารสำคัญที่สุดที่หนังสือเล่มนี้ต้องการบอกกับเรา คือ ‘ความมีเมตตา’ ที่แม้ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกสิ่ง แต่อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้สึกได้ว่า โลกใบนี้ไม่ได้โหดร้ายเกินไป
หนังสือเล่มนี้ จั่วหัวไว้ว่า ‘เรื่องราวของเด็กชายผู้หน้าตาน่าเกลียดที่สุดในโลก’ นั่นอาจทำให้หลายคนถึงกับชะงักและไม่กล้าหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน
แต่จริงๆแล้ว หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้หดหู่ โหดร้าย หรือชวนให้จิตตกแต่อย่างใด ตรงกันข้าม นี่คือวรรณกรรมเยาวชนที่จะทำให้คุณหัวใจฟูด้วยความรู้สึกอิ่มเอม หรือพูดง่ายๆ ในภาษาหนังว่า ‘ฟีดกู้ด’ นั่นแหละครับ
ชื่อของหนังสือเล่มนี้คือ ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Wonder เขียนโดย อาร์.เจ. ปาลาซิโอ (R.J. Palacio) แปลเป็นภาษาไทยโดย ปณต ไกรโรจนานันท์ จัดพิมพ์โดยแพรวเยาวชน
หนังสือเล่มนี้ ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์หนังสือ กลายเป็นหนังสือในดวงใจของนักอ่าน ติดอันดับวรรณกรรมเยาวชนขายดีข้ามปีในหลายๆประเทศ อีกทั้งยังถูกนำไปดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน ซึ่งทั้งภาพยนตร์และหนังสือ ต่างก็สร้างความประทับใจและเรียกน้ำตาแห่งความตื้นตันจากผู้ชมและผู้อ่าน
สำหรับผมแล้ว สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ คือ การสะท้อนภาพจริงในสังคม ที่หลายคนพร้อมแสดงความโหดร้ายออกมา เมื่อพบเห็นคนที่ดูแตกต่าง (และไม่เข้าพวก) จากคนหมู่มาก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนอีกหลายคน ที่พร้อมจะโอบรับความแตกต่างนั้น
และนั่นทำให้เรายังมีความหวังว่า โลกใบนี้ไม่ได้โหดร้ายเกินไปหรอก
ปกตินั่นแหละคือความมหัศจรรย์
ชีวิตมหัศจรรย์ของออสกัสต์ เป็นเรื่องราวของ ‘อ๊อกกี้’ หรือ ออกัสต์ พูลล์แมน เด็กชายวัยสิบขวบ ผู้เกิดมาพร้อมกับความพิการบนใบหน้า ซึ่งจากคำบรรยายของโอลิเวีย หรือ ‘เวีย’ พี่สาวของอ๊อกกี้ บอกไว้ว่า
ดวงตาเขาอยู่ต่ำกว่าตำแหน่งที่ควรอยู่บนใบหน้าประมาณหนึ่งนิ้วตรงเกือบถึงกลางแก้ม และเอียงลงมากจนเกือบเหมือนรอยกรีดทแยงมุมที่มีคนบากไว้บนใบหน้าเขา ตาข้างซ้ายอยู่ต่ำกว่าตาข้างขวาอย่างชัดเจน ดวงตาสองข้างโปนออกมา… สองข้างจมูกมีรอยพับยาวลงมาจนถึงปาก ทำให้ผิวเขาเยิ้มๆ บางครั้ง ผู้คนก็คิดว่าเขาถูกไฟคลอก เพราะหน้าตาเขาดูหลอมละลายคล้ายน้ำตาเทียนที่ย้อยลงข้างเล่มเทียน
ความพิการบนใบหน้าของอ๊อกกี้ เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่มีอยู่จริง โดยกลุ่มอาการนี้ถูกเรียกในชื่อ เทรชเชอร์ คอลลินส์ ซินโดรม (Treacher Collins Syndrome) ส่งผลทำให้อวัยวะบนใบหน้า เช่น หู ตา โหนกแก้ม และขากรรไกร ผิดรูป ซึ่งสามารถพบได้ 1 ใน 50,000 คน
อาร์.เจ. ปาลาซิโอ ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ เล่าว่า เธอได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์วรรณกรรมเล่มนี้ จากประสบการณ์จริง เมื่อตอนที่เธอพาลูกชายสองคนไปร้านไอศกรีม แล้วพบเด็กหญิงคนหนึ่งที่มีความผิดปกติบนใบหน้า
“ตอนนั้น ฉันเริ่มตื่นตระหนกลนลาน เพราะลูกชายคนเล็กทำท่าจะกรีดร้อง สิ่งที่ฉันทำก็คือ รีบผลักรถเข็นเด็กหนีไปทางอื่น ซึ่งเป็นอะไรที่แย่มากและงี่เง่ามาก” ปาลาซิโอ เล่า “หลังจากนั้นตลอดทั้งวัน ฉันนั่งคิดทบทวนสิ่งที่ทำลงไป และสิ่งที่ฉันควรจะทำให้ดีกว่านั้น”
และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่กลายเป็นหนังสือ Wonder ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2012 และได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง ทั้งจากนักอ่าน นักวิจารณ์ โรงเรียน ชุมชน พ่อแม่ที่มีลูกป่วยด้วยโรคนี้ รวมถึงแวดวงทางการแพทย์ ที่พยายามรณรงค์ส่งเสริมความเข้าใจในการปฏิบัติต่อผู้ป่วย
เรื่องราวของอ๊อกกี้ในหนังสือเล่มนี้ สื่อสารกับเราอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่หน้าแรกๆ ของหนังสือว่า สิ่งที่คนไม่ปกติต้องการมากที่สุด คือ ความปกติธรรมดานั่นเอง
“ถ้าผมเจอตะเกียงวิเศษและอธิษฐานขอพรได้สักข้อหนึ่ง ผมจะขอให้ตัวเองมีใบหน้าปกติที่ไม่มีใครสนใจเลย… สาเหตุเดียวที่ทำให้ผมไม่ปกติคือการที่ไม่มีใครเห็นว่าผมปกตินั่นเอง”
แน่นอนว่า ในโลกความเป็นจริงไม่มีมนต์วิเศษที่ทำให้คำอธิษฐานเป็นจริงได้ เราไม่อาจเปลี่ยนให้คนที่ไม่ปกติ กลายเป็นคนปกติได้ แต่เราสามารถปฏิบัติต่อเขา แบบเดียวกับที่เราปฏิบัติต่อคนปกติ ซึ่งนั่นจะช่วยให้เขาไม่รู้สึกว่า ตัวเอง ‘ผิดปกติ’ หรือรู้สึกเช่นนั้นน้อยลง
ในช่วงต้นของเรื่องบอกเราว่า อ๊อกกี้ได้รับการเลี้ยงดูแบบ ‘ไม่ปกติ’ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพ่อแม่ทุกคนย่อมต้องทำสิ่งที่เชื่อว่า ‘ดีที่สุด’ ให้กับลูก อ๊อกกี้จึงถูกเลี้ยงให้อยู่แต่ในสังคมที่แวดล้อมด้วยคนที่รักและเข้าใจเขาเป็นหลัก
แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ลูกนกทุกตัวย่อมต้องหัดกระพือปีกเพื่อโบยบินออกจากรัง ทำให้พ่อกับแม่ต้องตัดสินใจว่า จะส่งอ๊อกกี้ไปเรียนในโรงเรียนปกติ (จากเดิมที่เรียนโฮมสกูลอยู่ที่บ้าน) แต่แน่นอนว่า การทำเช่นนั้น จะทำให้อ๊อกกี้ต้องเผชิญกับโลกภายนอก ที่ไม่ได้มีแต่คนที่รักและเข้าใจเขา หากยังมีคนอีกหลายประเภท รวมถึงคนที่พร้อมจะปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อคนที่เขามองว่า ‘ไม่ปกติ’ หรือเพียงแค่ ‘ผิดแผก-แตกต่าง’ จากเขา
และนั่นเป็นฉากหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ที่ชวนให้เราฉุกคิดอะไรหลายๆอย่าง
“เราจะคอยปกป้องลูกตลอดไม่ได้หรอกนะ” แม่กระซิบบอก…
“ก็เลยส่งลูกไปโรงเรียนมัธยมต้นเหมือนส่งลูกแกะไปให้เขาเชือดนิ่มๆ…” พ่อพูดขัดด้วยความโมโห
โรงเรียนไม่ใช่ทุ่งลาเวนเดอร์
ชีวิตในโรงเรียนของเด็กทุกคน ไม่ว่าจะเด็กอเมริกันหรือเด็กไทย ไม่ใช่ทุ่งหญ้าอันงดงามเสมอไป และยิ่งเด็กที่ดู ‘แตกต่าง’ อย่างอ๊อกกี้ เขาต้องเผชิญกับการบูลลี่จากเด็กหลายคน แต่โลกก็ไม่ได้โหดร้ายเกินไปหรอก อ๊อกกี้ มีเพื่อนหลายคนที่ยอมรับความไม่ปกติ และปฏิบัติต่อเขาเยี่ยงคนปกติ ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คือ แจ็ก วิลล์
สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากในหนังสือเล่มนี้คือ การเดินเรื่องแบ่งออกเป็นหลายๆ ภาค โดยที่ในแต่ละภาคจะถูกเล่าโดยตัวละครแตกต่างกัน ซึ่งผมมองว่า ตรงนี้ไม่ใช่แค่เป็น ‘กิมมิก’ หรือลูกเล่นในการเขียนเรื่องเท่านั้น แต่เป็นความตั้งใจของปาลาซิโอ ที่จะสะท้อนมุมมองที่หลากหลายผ่านทางตัวละคร ที่ต่างคนต่างก็มีปมและภูมิหลังแตกต่างกัน
ในภาคที่เล่าเรื่องโดย แจ็ก วิลล์ เด็กน้อยอารมณ์ดีในครอบครัวค่อนข้างยากจน บอกกับเราว่า เขาได้รับการขอร้อง หรือไหว้วานจากผู้อำนวยการโรงเรียน ให้ช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กใหม่ที่กำลังจะย้ายเข้ามาเรียนที่โรงเรียน และเด็กใหม่คนนั้นก็คือ อ๊อกกี้
อาจกล่าวได้ว่า แจ็ก คือตัวแทนของปาลาซิโอ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เพราะในหนังสือเล่าว่า ก่อนที่จะกลายเป็นเพื่อนร่วมชั้นเดียวกัน เขาเคยพบอ๊อกกี้ในร้านขายไอศกรีมมาก่อน เมื่อสมัยยังเด็กๆ ซึ่งการพบเจอใบหน้าที่ไม่ปกติของอ๊อกกี้ ทำให้เขาและน้องชาย ตกใจจนถึงลุกหนีออกจากร้าน (แบบเดียวกับที่ปาลาซิโอเคยทำ) ซึ่งในเวลาต่อมา พี่เลี้ยงได้สอนแจ็กว่า สิ่งที่เขาทำไปนั้น เป็นเรื่องแย่มาก เพราะเป็นการทำร้ายจิตใจคนอื่น แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
“แจ็ก บางครั้งการไม่ตั้งใจทำร้ายคนอื่น ก็ทำร้ายคนอื่นได้เหมือนกัน”
ในช่วงแรกๆ แจ็กอาจจะขัดเขินหรือเกร็งๆ อยู่บ้างที่ต้องทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้กับเพื่อนใหม่ แต่ด้วยนิสัยตลกของอ๊อกกี้ บวกกับความมีจิตใจอ่อนโยนของแจ็ก ทำให้ในที่สุดทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนรักกัน แม้ว่าการทำเช่นนั้น จะทำให้แจ็กต้องกลายเป็น ‘หมาหัวเน่า’ ในสายตาเด็กๆ หลายคนที่ตั้งแง่รังเกียจอ๊อกกี้
แจ๊ก (หรือจริงๆ อาจจะเป็นปาลาซิโอ) บอกกับเราผ่านทางข้อความในหนังสือว่า การที่เขาตอบรับคำขอให้เป็นเพื่อนกับอ๊อกกี้ เพราะเขาคิดว่า แม้กระทั่งเด็กเล็กๆ ที่น่ารักอย่างน้องชายของเขา ยังสามารถทำสิ่งที่ ‘ใจร้าย’ กับอ๊อกกี้ได้ แล้วถ้าเป็นเด็กงี่เง่านิสัยไม่ดีคนอื่นๆ ในโรงเรียนล่ะ จะยิ่งทำสิ่งที่ใจร้ายยิ่งกว่านั้นได้มากแค่ไหน ซึ่งอ๊อกกี้ไม่มีทางรอดแน่ หากไม่มีสิ่งที่คอยปกป้องอย่างเช่น ‘เพื่อน’
ไม่มีใครเป็นศูนย์กลางระบบสุริยะ
อีกตัวละครหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ โอลิเวีย หรือ ‘เวีย’ พี่สาวของอ๊อกกี้ โดยในภาคที่เธอเป็นคนเล่าเรื่อง เริ่มต้นด้วยประโยคสุดแสนประทับใจว่า
ออกัสต์เป็นดวงอาทิตย์ ส่วนฉัน แม่ และพ่อ เป็นดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ คนอื่นๆ ในครอบครัวเราและเพื่อนๆ เป็นดาวเคราะห์น้อยและดาวหางที่ล่องลอยรอบดาวเคราะห์ ซึ่งโคจรรอบดวงอาทิตย์อีกที… ฉันคุ้นเคยกับวิถีของจักรวาลนี้ ฉันไม่เคยรังเกียจมัน เพราะนี่คือสิ่งเดียวที่ฉันรู้จัก
เป็นคำบรรยายที่งดงามแต่แสนเศร้า เวีย เป็นพี่สาวที่รักน้องเป็นที่สุด เธอยินยอมเสียสละทุกอย่าง เพราะเข้าใจดีว่า ด้วยเงื่อนไขความผิดปกติ ทำให้พ่อแม่จำเป็นต้องทุ่มเททุกอย่างให้น้องชายเป็นอันดับแรก แต่เมื่อเธอก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยรุ่นที่ต้องพบเจอปัญหาชีวิตในแบบวัยรุ่น เธอไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งพาหรือปรึกษาใคร เพราะดูเหมือนไม่มีดาวดวงไหนโคจรรอบตัวเธอเลย
แต่ก็อย่างที่ผมบอกไว้แต่แรกล่ะครับ นี่คือหนังสือฟีลกู้ด ไม่ใช่วรรณกรรมสะท้อนสังคมอันขมขื่น สุดท้าย โลกก็ไม่ได้โหดร้ายเกินไปหรอก ไม่ว่าจะสำหรับอ๊อกกี้ หรือเวีย
แม้ว่าในภาคที่ดำเนินเรื่องโดยเวีย ทุกอย่างอาจดูคลี่คลายง่ายดายสักหน่อย ไม่ว่าจะเป็นความไม่เข้าใจระหว่างเวียกับแม่ เวียกับเพื่อน รวมทั้งเวียกับอ๊อกกี้ แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะสิ่งที่ปาลาซิโอบอกกับเราผ่านทางเรื่องเล่าของเวีย ก็คือ ไม่ควรมีใครกลายเป็นศูนย์กลางของจักรวาล จนทำให้คนที่เหลือถูกหลงลืม เหมือนดาวหางที่หลุดออกจากระบบสุริยะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีเด็กที่มีปัญหา (ไม่ว่าจะทางกายหรือทางจิตใจ) ซึ่งไม่แปลกที่พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ จะให้ความสำคัญกับเด็กคนนั้นเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ
จงอย่าหลงลืมเด็กคนอื่นในครอบครัว มิเช่นนั้นแล้ว พ่อแม่อาจต้องพบว่า เด็กคนอื่นที่ไม่มีปัญหา ก็อาจกลายเป็นเด็กมีปัญหาอีกคนในอนาคตได้
จงมีเมตตา..มากกว่าที่จำเป็น
สิ่งที่เป็นสารสำคัญที่สุดที่หนังสือเล่มนี้ต้องการบอกกับเรา ก็คือ ความมีเมตตา
ในช่วงแรกๆ ที่อ๊อกกี้เข้าโรงเรียน เขาได้พบกับมิสเตอร์บราวน์ ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งสอนให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องราวของชีวิตผ่านทางคติพจน์ที่เลือกมาเขียนถึงในแต่ละเดือน
คติพจน์ประจำเดือนกันยายนของมิสเตอร์บราวน์ : เมื่อต้องเลือกระหว่างความถูกต้องกับความมีเมตตา จงเลือกความเมตตา
สารสำคัญนี้ถูกแทรกอยู่ในเรื่องเล่าของทุกตัวละครในหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นอ๊อกกี้ เวีย แจ็ก พ่อ-แม่ รวมทั้งมิสเตอร์ทุชแมน ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้ที่แม้ว่าจะไม่มีภาคที่เล่าเรื่องเป็นของตัวเอง แต่ก็ได้กล่าวสุนทรพจน์ได้อย่างงดงามจับใจในพิธีจบการศึกษาว่า
“ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เมื่อใดก็ตามที่ทำได้ นักเรียนจะพยายามมีใจเมตตาให้มากกว่าที่จำเป็นอีกนิด—โลกจะน่าอยู่ขึ้นมาก”
แน่นอนว่า ความมีเมตตา ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือเยียวยาได้ทุกสิ่ง แต่อย่างน้อย มันก็ช่วยให้เรารู้สึกได้ว่า โลกใบนี้ไม่ได้โหดร้ายเกินไปหรอก