- วินนีเดอะพูห์ หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า ‘หมีพูห์’ เป็นตัวละครจากหนังสือ วินนีเดอะพูห์ (Winnie-the-Pooh) เขียนโดย เอ.เอ. มิลน์ (A.A. Miln) และวาดภาพประกอบโดย อี.เอช. เชปเพิร์ด (E.H. Shepard) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1926 ในประเทศอังกฤษ
- เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ ก็คือ ความเรียบง่าย ความไร้เดียงสา และความสงบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนกำลังโหยหา หลังจากที่เพิ่งผ่านพ้นความสับสนอลหม่านและความรุนแรง จากสงครามโลกครั้งที่ 1 มาหมาดๆ
- ทว่าในปี ค.ศ.2000 ความลับที่ซุกซ่อนอยู่ในเรื่องราวแสนน่ารักก็ถูกเปิดเผยผ่านรายงานการแพทย์เรื่อง ‘พยาธิวิทยาในป่า 100 เอเคอร์ฯ’ ดร.ซาราห์ เชีย ระบุว่า ตัวละครสุดแสนน่ารักในป่าแห่งนี้ ล้วนเป็นผู้บกพร่องทางจิต ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เมื่อคืน ผมฝัน… ในความฝันนั้น ผมรู้ตัวว่าฝัน แต่ไม่รู้ว่ากำลังอยู่ที่ไหน น่าจะเป็นป่าละเมาะที่ใดที่หนึ่ง มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเต็มไปหมด
ตอนนั้นเอง ผมเห็นเงาดำๆ ของตัวอะไรสักอย่าง เดินออกจากเงามืดตรงเข้ามาหา ผมไม่ได้รู้สึกกลัว ได้แต่ยืนมองดูร่างๆ นั้นเดินใกล้เข้ามาเรื่อยๆ แล้วผมก็จำได้ว่า ร่างนั้นคือ หมีตัวสีเหลืองที่มีชื่อว่า วินนี เดอะพูห์
ใช่แล้วครับ เจ้าหมีน่ารักไร้เดียงสาที่เป็นขวัญใจของเด็กๆ ทั่วโลกนั่นล่ะครับ แต่ไม่รู้ทำไมในความฝันค่ำคืนนั้น ผมไม่ได้รู้สึกว่า หมีพูห์ร่าเริงเหมือนที่เคย แววตาของมันดูหม่นเศร้าราวกับมีความลับอะไรบางอย่าง
เรามาช่วยกันค้นหาความลับนั้นกันครับ
รักนะ..เจ้าหมีโง่
วินนีเดอะพูห์ หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า ‘หมีพูห์’ เป็นตัวละครจากหนังสือ วินนีเดอะพูห์ (Winnie-the-Pooh) ที่เขียนโดย เอ.เอ. มิลน์ (A.A. Miln) และวาดภาพประกอบโดย อี.เอช. เชปเพิร์ด (E.H. Shepard) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1926 ในประเทศอังกฤษ
จุดเริ่มต้นของวินนีเดอะพูห์ มาจากนิทานที่มิลน์เล่าให้ลูกชาย คริสโตเฟอร์ โรบิน มิลน์ (Christopher Robin Miln) ฟังทุกคืนก่อนนอน โดยที่ตัวละครทุกตัวในนิทาน ล้วนจินตนาการสร้างสรรค์ขึ้นมาจากตุ๊กตาของคริสโตเฟอร์ ยิ่งไปกว่านั้น คริสโตเฟอร์ โรบิน ยังกลายเป็นตัวละครหลักในนิทานด้วย และเป็นมนุษย์เพียงคนเดียวในป่า 100 เอเคอร์ ซึ่งเป็นฉากสถานที่หลักของนิทานเรื่องนี้
จากนิทานก่อนนอน กลายเป็นหนังสือขายดีทั่วประเทศ และต่อยอดกลายเป็นหนังสือขายดีไปทั่วโลก ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 50 ภาษา รวมถึงภาษาไทย ซึ่งมีการหยิบมาแปลซ้ำหลายครั้งในชื่อที่แตกต่างกัน โดยครั้งแรกที่เราได้เห็นหมีพูห์ เวอร์ชั่นภาษาไทย เจ้าหมีตัวนี้ถูกตั้งชื่อว่า หมีปุ๊กลุก ในหนังสือชื่อ หมีปุ๊กลุกผจญภัย ขณะที่สำนวนแปลไทยฉบับล่าสุด เป็นของสำนักพิมพ์ แพรวเยาวชน ในชื่อ วินนีเดอะพูห์ แปลโดย ธารพายุ
อย่างไรก็ดี ภาพจำของหมีพูห์ หมีหน้าตาน่ารักตัวสีเหลืองอ๋อย สวมเสื้อสีแดง คือ วินนีเดอะพูห์ ที่ถูกดัดแปลงรูปลักษณ์ใหม่ในอะนิเมชั่นของวอลท์ดิสนีย์ ซึ่งแตกต่างจากหมีพูห์เวอร์ชั่นหนังสือของ เอ.เอ. มิลน์ ที่ดูไม่ต่างจากตุ๊กตาหมีเท็ดดี้แบร์ทั่วไป มีขนยาวสีน้ำตาลอมทอง และแน่นอน-ไม่ได้สวมเสื้อผ้าใดๆ
แต่ไม่ว่าจะมีหน้าตาแบบบไหน ใส่เสื้อหรือไม่ใส่ เจ้าหมีอ้วนปุ๊กลุกผู้ชอบกินน้ำผึ้งเป็นชีวิตจิตใจ ก็เป็นที่รักของคนทั้งโลก
ด้วยความไร้เดียงสาแบบเด็กๆ บวกกับความทึ่มๆโง่ๆ ซึ่งเจ้าตัวเองก็ยอมรับแต่โดยดี
“บางคนมีสมอง บางคนไม่มี เรื่องมันก็เท่านั้น” พูห์ว่า
ความโง่แบบไร้เดียงสาของหมีพูห์ ทำให้ตัวละครตัวนี้ รวมถึงผองเพื่อนของหมีพูห์ในหนังสือ กลายเป็นที่รักของนักอ่านตั้งแต่ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรก
นักวิจารณ์คนหนึ่งกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ อัดแน่นด้วยความสนุกสนานอย่างเหลือเชื่อ และเป็นความไร้สาระที่สุดแสนจะร่าเริง
นอกเหนือจากความใสซื่อและเรียบง่ายแล้ว เรื่องราวการผจญภัยในป่า 100 เอเคอร์ ในหนังสือเล่มนี้ ยังชวนให้ระลึกถึงภาพชีวิตชนบทที่แสนสงบ โดยป่า 100 เอเคอร์ ของหมีพูห์และผองเพื่อน ก็จำลองมาจากป่าแอชดาวน์ นอกกรุงลอนดอน อันเป็นสถานที่ที่มิลน์และคริสโตเฟอร์ โรบิน ไปเที่ยวเล่นอยู่บ่อยๆ ในช่วงพักร้อน
อาจกล่าวได้ว่า มนต์เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ ก็คือ ความเรียบง่าย ความไร้เดียงสา และความสงบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนกำลังโหยหา หลังจากที่เพิ่งผ่านพ้นความสับสนอลหม่านและความรุนแรง จากสงครามโลกครั้งที่ 1 มาหมาดๆ
แต่ถ้าถามว่า แล้วมีอะไรอีกในหนังสือเล่มนี้ นักวิจารณ์ต่างพากันส่ายหน้า ขณะที่บางคนกล่าวว่า ไม่มีสัญญะใดๆ ซุกซ่อนอยู่ในหนังสือเล่มนี้ (เหมือนเช่นที่ไม่มีสิ่งใดอยู่ในมันสมองอันน้อยนิดของหมีพูห์)
ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ไม่มีอะไรในป่า 100 เอเคอร์ จริงหรือ?
โง่เขลา แต่เข้าใจโลก
เบนจามิน ฮอฟฟ์ (Benjamin Hoff) เป็นชาวอเมริกัน ผู้หลงรักธรรมชาติ และปรัชญาตะวันออก เขาเติบโตมาในเมืองพอร์ทแลนด์ มลรัฐโอเรกอน ดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องไลฟ์สไตล์แบบฮิปสเตอร์ ซึ่งหล่อหลอมให้เขามีทัศนคติที่อาจจะดู ‘หลุดกรอบ’ และเป็นตัวของตัวเอง
อาจเรียกได้ว่า ฮอฟฟ์ คือ พหูสูตรตัวจริง เขาจบการศึกษาด้านศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะแบบเอเชีย แต่ก็เคยศึกษาด้านสถาปัตย์ กราฟฟิกดีไซน์ และดนตรี เขาผ่านงานมาหลากหลายแขนง ทั้งคนจัดสวน ช่างภาพ นักข่าว นักดนตรี นักแต่งเพลง และนักเขียน
หนังสือผลงานของฮอฟฟ์ที่โด่งดังที่สุด คือ The Tao of Pooh หรือฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า เต๋าแบบหมีพูห์ ซึ่งเป็นหนังสือที่หยิบยกเรื่องราวในหนังสือวินนีเดอะพูห์ มาตีความในเชิงปรัชญาลัทธิเต๋า
เต๋า คืออะไร เต๋า คือ การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย สอดคล้องกับธรรมชาติและความจริง โดยแก่นแท้ของเต๋า เชื่อว่า สัจธรรมที่แท้จริง ไร้รูปลักษณ์ ไร้นาม ดังนั้น การใช้ถ้อยคำ หรือใช้ความคิด ไม่อาจพาเราเข้าถึงแก่นแท้ของเต๋าได้ มีเพียงการลงมือกระทำเท่านั้น ที่จะพาเราไปถึงจุดๆ นั้น
และนั่นจึงไม่แปลกที่หมีพูห์ จะเป็นหมีที่มีความสุขที่สุดในโลก แม้มันจะมีสมองอันน้อยนิด แต่มันก็ไม่เคยคิดมาก และใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง
“ฉันโง่และถูกหลอก” มันว่า “และฉันเป็นหมีที่ไม่มีสมองเลย”
“นายเป็นหมีที่ดีที่สุดในโลกนี้ทั้งโลก” คริสโตเฟอร์ โรบิน ปลอบ
“เหรอ” พูห์ พูดอย่างมีความหวัง แล้วมันก็หน้าบานขึ้นทันใด
“จะยังไงก็แล้วแต่เถอะ” มันว่า “จวนถึงเวลาอาหารกลางวันแล้ว
ดังนั้น มันจึงกลับบ้านไปหาอะไรกิน
นี่แหละ เต๋าแบบหมีพูห์
ใดๆ ในป่าล้วนแหว่งวิ่น
นอกเหนือจากการตีความในเชิงปรัชญาแล้ว วินนีเดอะพูห์ ยังถูกชำแหละถึงก้นบึ้งของจิตใจ โดยผลที่ได้ ซึ่งชวนให้ตกตะลึงอย่างยิ่ง ระบุว่า ทุกตัวละครในป่า 100 เอเคอร์ ล้วนมีความบกพร่องทางจิต
ฟังดูอาจเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่มันคือข้อมูลที่มีงานวิจัยทางการแพทย์รองรับ
ดร.ซาราห์ เชีย กุมารแพทย์ชาวแคนาดา พร้อมคณะ ได้ตีพิมพ์รายงานการแพทย์ที่มีชื่อว่า ‘พยาธิวิทยาในป่า 100 เอเคอร์ : มุมมองต่อการพัฒนาการทางระบบประสาทของ เอ.เอ. มิลน์’ ในปี 2000 ระบุว่า ตัวละครสุดแสนน่ารักในป่า 100 เอเคอร์ ล้วนเป็นผู้บกพร่องทางจิต ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ในรายงานระบุว่า หมีพูห์ เป็นตัวละครที่มีความบกพร่องทางจิตมากกว่า 1 อย่าง โดยที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ อาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder-ADHD) อาการย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder-OCD) รวมทั้งอาจจะมีอาการพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอาการสมาธิสั้น
ส่วนตัวละครอื่นๆ ก็ล้วนแหว่งวิ่นไม่แพ้กัน อย่างเช่น พิกเลต หมูตัวเล็กสีชมพู ก็ถูกระบุว่า เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder-GAD) ส่วนอียอร์ เจ้าลาแสนหดหู่ ก็มีอาการซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia) ขณะที่แรบบิต กระต่ายเจ้าความคิด ก็ถูกดร.เชีย ตีความว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นพวกหลงตัวเอง (Narcissism) จากพฤติกรรมเจ้ากี้เจ้าการ และชอบบงการให้เพื่อนๆ ทำตามแผนของตัวเองอยู่เสมอ
แน่นอนว่า การที่ตัวละครอันเป็นที่รักของคนทั่วโลก ถูกตีความว่า เป็นผู้บกพร่องทางจิต ย่อมก่อให้เกิดกระแสโกรธเกรี้ยวอย่างรุนแรง
“เราได้รับจดหมายแปลกๆ เข้ามาเยอะเลยค่ะ” ดร.เชีย กล่าว “บางฉบับเขียนมาต่อว่าเราว่า ผลาญเงินงบประมาณไปเปล่าๆ บางคนก็โกรธ หาว่าเราจาบจ้วงตัวละครที่แสนน่ารักพวกนี้”
สุดท้าย ดร.เชีย กล่าวย้ำสิ่งสำคัญที่สุด โดยบอกว่า บรรดาตัวละครเหล่านี้ ล้วนสามารถหายเป็นปรกติ หากได้รับการบำบัดตั้งแต่เนิ่นๆ
ทว่า ผู้ให้กำเนิดตัวละครเหล่านี้ กลับไม่ได้รับการบำบัดใดๆ และนั่นอาจเป็นต้นเหตุของความหม่นเศร้าที่ผมเห็นในแววตาของหมีพูห์
เบื้องหลังวรรณกรรมเยาวชน มีความมืดหม่นและหยาดน้ำตา
เอ.เอ. มิลน์ รอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 1 กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย แต่ไม่มีใครรู้เลยว่า จิตใจและจิตวิญญาณของเขาบาดเจ็บและบอบช้ำอย่างรุนแรง
มิลน์ มีอาการป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง หรือ Post Truamatic Stress Disorder-PTSD) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับคนที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ ภัยพิบัติ ถูกทำร้าย หรือพบเจอเรื่องราวที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างหนัก
อาการป่วยทางจิตของผู้มีอาการ PTSD มีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ ซึมเศร้า แยกตัวจากสังคม โกรธง่าย นอนไม่หลับ ฝันร้าย ไปจนถึงเห็นภาพหลอนซ้ำๆ
หลายคนเชื่อว่า ภาพลักษณ์ของอียอร์ คือ ตัวแทนของมิลน์ ซึ่งจ่อมจมระทมทุกข์กับความบอบช้ำทางจิตใจ และการเขียนหนังสือวินนีเดอะพูห์ คือ หนึ่งในความพยายามบำบัดความหม่นเศร้าของเขา
สิ่งที่น่าเศร้ากว่านั้น ก็คือ ความบอบช้ำทางจิตใจของมิลน์ ยังส่งผลไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อลูกชายของเขา คริสโตเฟอร์ โรบิน ซึ่งเป็นมนุษย์เพียงคนเดียวในป่า 100 เอเคอร์
มิลน์และแดฟเน อยากได้ลูกสาวมาตลอด พวกเขาตั้งชื่อลูกไว้ล่วงหน้าว่า โรสแมรี ทว่า เด็กที่เกิดมาเป็นผู้ชาย แต่ถึงกระนั้น ทั้งคู่ก็ดูเหมือนจะยึดติดกับความอยากได้ลูกสาว พวกเขาเลี้ยงดูคริสโตเฟอร์ โรบิน ราวกับเป็นเด็กผู้หญิง
ภาพลักษณ์ของคริสโตเฟอร์ โรบิน ที่เราเห็นทั้งในหนังสือและในอะนิเมชั่นของดิสนีย์ ซึ่งเป็นเด็กผู้ชายผมสีบลอนด์ ทรงผมเหมือนเด็กผู้หญิง ในชุดเครื่องแต่งกายที่ดูกำกวมว่าเป็นของเด็กชายหรือเด็กหญิง คือ ภาพลักษณ์จริงของคริสโตเฟอร์ โรบิน หรืออีกนัยหนึ่ง โรสแมรี ที่พ่อกับแม่วาดฝันไว้
คริสโตเฟอร์ โรบิน ยอมรับว่า ตัวเขาเองปลาบปลื้มกับชื่อเสียงที่ได้รับจากการเป็นคริสโตเฟอร์ โรบิน ในหนังสือวินนีเดอะพูห์ แต่ขณะเดียวกัน เขาต้องถูกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนกลั่นแกล้ง ทั้งจากความมีชื่อเสียง และภาพลักษณ์ที่ดูนุ่มนิ่มราวกับเด็กผู้หญิง
ความรู้สึกทั้งรักทั้งชังต่อความเป็น ‘คริสโตเฟอร์ โรบิน’ ค่อยๆ สั่งสมจนกลายเป็นปมที่ทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวจนย่อยยับ
“อาจพูดได้ว่า พ่อขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในชีวิต ด้วยการเหยียบบ่าผมตั้งแต่วัยแบเบาะ” คริสโตเฟอร์ โรบิน เขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขา “พ่อขโมยสิ่งดีๆ ไปจากชื่อของผม แล้วทิ้งไว้แต่ชื่อเสียงที่กลวงเปล่า”
จนกระทั่งในช่วงสุดท้ายของชีวิต ดูเหมือนว่า คริสโตเฟอร์ โรบิน จึงสามารถสางปมขัดแย้งในใจเขาได้ เขายกลิขสิทธิ์วินนีเดอะพูห์ให้กับทางสำนักพิมพ์ บริจาคตุ๊กตาทุกตัวให้กับห้องสมุดนิวยอร์ก และถึงกับเอ่ยปากว่า สามารถอ่านหนังสือวินนีเดอะพูห์ โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจอีกแล้ว
ไม่มีใครรู้ว่า อะไรทำให้คริสโตเฟอร์ โรบิน สามารถเยียวยาความแตกร้าวในจิตใจเขาได้ แต่ผมอยากจะเชื่อว่า สิ่งนั้นคือความใสซื่อและเรียบง่ายที่เขาเคยรู้จัก เมื่อครั้งยังท่องเที่ยวในป่า 100 เอเคอร์ กับผองเพื่อนตุ๊กตาทั้งหลาย โดยเฉพาะเจ้าหมีพูห์ตัวอ้วนปุ๊ก
ตอนนั้นเอง ผมนึกไปถึงคำพูดของดร.เชีย ที่กล่าวไว้ว่า
“ถึงแม้ตัวละครในหนังสือเล่มนี้ล้วนแล้วแต่แหว่งวิ่น แต่เหนือสิ่งอื่นใด แก่นแท้ของหนังสือ คือ ความรัก การยอมรับ และการให้อภัย และนั่นคือตัวอย่างที่ดีที่เราทุกคนควรจะเป็น”