- ชิซูกุ สึกิชิมะ คือเด็กสาววัยมัธยมต้นที่ชอบอ่านหนังสือและแต่งกลอนเป็นชีวิตจิตใจ แต่น่าเสียดายที่เธอกลับไม่สามารถค้นพบความชอบของตัวเอง กระทั่งวันหนึ่งที่เธอพบกับเพื่อนร่วมชั้นอย่าง เซจิ อามาซาวะ เด็กหนุ่มผู้มีฝันอยากเป็นช่างทำไวโอลิน ทั้งยังมองเห็นศักยภาพบางอย่างในตัวชิซูกุ และนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชิซูกุเปิดใจให้กับความฝันของตัวเอง
โตขึ้นอยากเป็นอะไร?
คำถามตอนเด็กที่ผมฟังทีไรเป็นต้องอึดอัดใจไปทุกครั้ง อาจเพราะผมเป็นแค่เด็กที่ไม่มีความฝันหรือแพสชันในชีวิต แถมผลการเรียนก็ธรรมดา ส่วนกิจกรรมไม่ต้องพูดถึง
ผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองต้องมีแพสชัน จนกระทั่งวันรวมญาติที่พวกผู้ใหญ่ต่างจับกลุ่มคุยโวโอ้อวดว่าลูกตัวเองเก่งแบบนั้นแบบนี้ ตั้งใจติวพิเศษเพื่อจะสอบเข้าวิศวะบ้าง บัญชีบ้าง ซึ่งไม่ว่าถ้อยคำเหล่านั้นจะจริงหรือไม่ แต่ก็พอจะทำให้พ่อแม่ผมนึกเปรียบเทียบผมกับหลานๆ เหล่านั้น
เช่นนี้ ผมผู้ไร้แพสชันจึงกลายเป็นลูกที่เฉื่อยแฉะในสายตาพ่อแม่ และพ่อแม่ก็มักพยายามเร่งเร้าให้ผมพบกับแพสชันอะไรสักอย่างในชีวิต
ทว่าพอความฝันแรกอย่างการเป็นครูผู้นั่งรถไฟจากกรุงเทพไปสอนหนังสือเด็กในชนบทห่างไกลถูกเหยียบย่ำด้วยจำนวนเงินและความมีหน้ามีตาในสังคม ชีวิตของผมจึงเคว้งอีกครั้ง ต่างกับเพื่อนบางคนที่พ่อแม่สนับสนุนเต็มที่โดยเอาความชอบของลูกเป็นที่ตั้ง
แต่อีกมุมผมก็เข้าใจว่าพ่อแม่อาจมองว่าผมคือ ‘สินทรัพย์’ ที่ลงทุนไปแล้ว สมควรให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ดังนั้นผมจึงหรี่สวิตช์สมองซีกขวาและใช้สมองซีกซ้ายมากขึ้น
ชีวิตที่ไร้แพสชันของผมจึงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ กระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยและเริ่มเอาเวลาว่างมาเขียน Blog เพื่อความสนุกสนาน ปรากฏว่าทำไปทำมาเพื่อนๆ รวมถึงอาจารย์ต่างชื่นชมและสนับสนุนให้ผมหันมาเอาดีด้านการเขียน ซึ่งจุดนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมขยับเข้าไปใกล้กับคำว่าแพสชันมากขึ้นตราบจนปัจจุบัน
แม้จะไม่ใช่เรื่องเดียวกันทีเดียว แต่ผมมักนึกเปรียบเปรยชีวิตตัวเองกับ ‘ชิซูกุ สึกิชิมะ’ สาวน้อยมัธยมจากภาพยนตร์อนิเมะขึ้นหิ้งอย่าง Whisper Of The Heart เพราะชิซูกุเองก็เริ่มต้นจากการไม่มีแพสชัน และใช้ชีวิตโดยปราศจากความฝันและแผนการใดๆ ในอนาคต
ชิซูกุเป็นเด็กม.3 ที่จะต้องสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายในไม่ช้า แต่ดูเหมือนว่าสิ่งสำคัญที่สุดของเธอคือการอ่านหนังสือจากห้องสมุดให้ครบ 20 เล่ม นอกจากนี้ชิซูกุยังดูสนุกสนานกับการแต่งกลอนไฮกุ รวมถึงเนื้อเพลง Take Me Home, Country Roads เวอร์ชันญี่ปุ่นให้เหล่าเพื่อนๆ น้องๆ นำไปแสดงบนเวที
ชีวิตของชิซูกุดำเนินต่อไปเช่นนี้ เธอไม่ได้ไปเรียนพิเศษเพื่อสอบเข้าม.ปลายอย่างเพื่อนคนอื่น ทั้งยังไม่รู้สึกว่าตัวเองจะต้องรีบอ่านหนังสือสำหรับการสอบคัดเลือกที่นับถอยหลังเข้ามาเรื่อยๆ
แต่แล้วใครจะรู้ว่าไลฟ์สไตล์แบบเรื่อยเปื่อย อย่างการเดินตามแมวจรจัดจะนำพาชิซูกุไปพบกับร้านขายของเก่าของคุณตาคนหนึ่ง ซึ่งในภายหลังชิซูกุก็พบว่าหลานของคุณตาคนนั้นคือ ‘เซย์จิ อามาซาวะ’ เพื่อนร่วมชั้นของเธอ
ด้วยความที่ร้านขายของเก่ามีของน่าตื่นตาตื่นใจมากมาย ทำให้ชิซูกุมักแวะมาพูดคุยกับคุณตาและเซย์จิอยู่บ่อยครั้ง ไม่นานนักชิซูกุก็ทราบว่าเซย์จิหลงใหลในการทำไวโอลิน เธอจึงรู้สึกยินดีที่เขาได้พบกับความฝันของตัวเอง
“ฉันอยากทำไวโอลินมาก มีโรงเรียนสอนทำไวโอลินที่เมืองเครโมนาในอิตาลี ฉันอยากไปเรียนที่นั่น แต่พ่อแม่ฉันค้านหัวชนฝา มีแค่คุณตาที่อยู่ข้างฉัน ไม่รู้ว่าฉันจะได้ไปไหม ฉันทะเลาะกับพ่อแม่ทุกวัน แล้วถึงจะได้ไปก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองมีพรสววรค์ไหมถ้ายังไม่ได้ลอง”
สิ้นเสียงของเซย์จิ ผมมองว่าตัวเองก็ไม่ต่างกับชิซูกุที่ค่อนข้างตื่นเต้นตาลุกวาวไปกับแพสชันและสกิลการทำไวโอลินของเซย์จิ เหมือนกับว่าใจหนึ่งก็เอาใจช่วยให้เขาได้ไปเรียนอิตาลีตามความฝัน เพราะพ่อแม่ของเซย์จิก็คล้ายๆ กับพ่อแม่รุ่นเก่าหลายคนที่ให้ค่ากับอาชีพแค่ไม่กี่อาชีพตามค่านิยมในสังคม
ผมมองว่าคนที่ค้นพบแพสชันหรือหาตัวเองเจอตั้งแต่เด็ก (มีข้อแม้ว่าพ่อแม่ต้องสนับสนุนและไม่ขัดขวาง) ถือว่าโชคดีมากๆ ที่จะได้ทุ่มเทเวลากับสิ่งที่ตัวเองรักและมีความสุขไปกับมันอย่างเต็มที่ เหมือนกับเซย์จิที่ภายหลังพ่อแม่อนุญาตให้เขาออกไปไล่ล่าความฝัน
ส่วนอีกใจก็รู้สึก ‘กลัว’ เหมือนกับชิซูกุ ซึ่งกลัวในที่นี้คือ การได้เห็นเพื่อนมีแพสชันที่แน่วแน่ ต่างกับเราที่ดูอนาคตมืดมนเพราะยังไม่รู้ว่าจะเอายังไงกับชีวิตมากกว่าการอยู่ไปวันๆ
อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมของผมในวัยเลข 3 นำหน้า ผมกลับคิดว่าการไม่มีแพสชันก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลหรือกดดันให้ตัวเองรู้สึกแย่ เพราะบางครั้งแพสชันไม่ใช่เรื่องการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ แต่อาจเป็นการค้นพบเรื่องราวแสนธรรมดาที่เรา ‘มองข้าม’ มาโดยตลอด
อย่างกรณีของชิซูกุ เธอมักแต่งกลอนและเขียนเนื้อเพลงอย่างสนุกสนาน ทั้งยังดูภูมิใจในยามที่ผลงานตัวเองถูกชื่นชม แต่เธอกลับไม่เคยมองว่าสิ่งนี้คือแพสชัน ดังนั้นฉากที่เซย์จิบอกชิซูกุว่าเธอมีพรสวรรค์ในการแต่งกลอนจึงคล้ายกับการปลดล็อกความคิดให้ชิซูกุได้ค้นพบแพสชันด้านการเขียนที่เธอมีอยู่แล้วในตัวเอง
“เขา (เซย์จิ) จะไปค้นหาว่าตัวเองมีพรสวรรค์พอไหม งั้นฉันก็จะทำด้วย (เขียนนิยาย) ถ้าเขาทำได้ฉันก็ต้องทำได้” ชิซูกุสัญญากับตัวเอง
หลังจากค้นพบแพสชันของตัวเอง ใจของชิซูกุก็ลุกโชนไปด้วยไฟแห่งความมุ่งมั่นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เธอตั้งเป้าหมายว่าระหว่างที่เซย์จิไปฝึกงานที่อิตาลีสองเดือน เธอจะต้องเขียนนิยายเรื่องแรกให้สำเร็จเช่นกัน
ระหว่างที่เขียนนิยาย ชิซูกุแทบจะทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับตัวละครและเรื่องราวแฟนตาซีต่างๆ จนทำให้ผลการเรียนร่วงลงไปอย่างเห็นได้ชัด แต่โชคดีที่พ่อของเธอไม่เพียงไม่ร้อนรนเหมือนกับครูหรือพ่อแม่คนอื่นที่ต่างเข้มงวดให้ลูกเตรียมสอบเข้าม.ปลาย พ่อทำแค่เพียงเรียกเธอมาคุย ทั้งยังสนับสนุนให้เธอได้ลองทำตามสิ่งที่ใจของเธอปรารถนา
“ไม่ว่าลูกจะไปห้องสมุดทำไม พ่อก็ชื่นชมที่ลูกตั้งใจนะ (พ่อหันไปหาแม่แล้วบอกว่าปล่อยให้ลูกได้ทำตามความต้องการเถอะ) เอาล่ะชิซูกุ เชื่ออะไรก็ทำไปเลย แต่มันไม่ง่ายนะที่จะเลือกทางเดินเอง ลูกต้องยอมรับผลของมันด้วย” พ่อกล่าว
ขณะเดียวกันเวลาว่าง ชิซูกุก็จะแวะไปหาคุณตาของเซย์จิที่ร้านขายของเก่า ซึ่งคุณตาบอกชิซูกุว่าถ้าชิซูกุเขียนนิยายเสร็จขอให้เขาได้อ่านมันเป็นคนแรก ทำให้ชิซูกุรู้สึกซาบซึ้งใจแต่เธอก็ไม่มั่นใจนักว่านิยายเรื่องนี้จะออกมาดีอย่างที่เธอต้องการ
“มันก็เหมือนช่างฝีมือนั่นแหละ อย่าคิดว่าจะออกมาดีตั้งแต่ครั้งแรก เอาล่ะ! ตาจะให้หนูดูของบางอย่าง มันเรียกว่า ‘หินไมก้า’ ดูตรงรอยแยกนะ มันเรียกว่า ‘เบริล’ พบมากในมรกต หนูกับเซย์จิก็เหมือนหินก้อนนี้ ขรุขระ ไม่ได้เจียระไน ยังดิบ ซึ่งตาชอบอัญมณีแบบนี้
แต่การทำไวโอลินหรือเขียนนิยายมันต่างออกไป อัญมณีอยู่ในตัวหนู หนูต้องหาให้เจอแล้วเจียระไนมันออกมา ต้องใช้ทั้งเวลาและความพยายาม เห็นหินก้อนใหญ่ๆ ข้างนอกไหม ถ้าเอามาเจียระไนจะรู้ว่ามันไม่มีค่าเลย ชิ้นเล็กกว่าที่อยู่ข้างในมันบริสุทธิ์กว่า อาจจะมีอัญมณีที่ดีกว่าข้างในตรงที่เราไม่เห็นก็ได้” คุณตากล่าว
ผมค่อนข้างประทับใจกับประโยคนี้ของคุณตา เพราะเขาได้แนะนำชิซูกุทางอ้อมว่าการมีแพสชันโดยปราศจาก Grit (ความพากเพียรไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค) ย่อมไม่เพียงพอที่จะนำเราไปสู่จุดหมายที่หวังได้ ดังนั้นหากมีความหลงใหลแต่ไม่อดทนพากเพียรก็ยากจะประสบความสำเร็จ
เมื่อได้พลังใจจากพ่อและคำแนะนำจากคุณตา ชิซูกุจึงมุ่งมั่นเขียนนิยายชนิดหามรุ่งหามค่ำ ก่อนแล้วเสร็จภายในสองเดือนตามตั้งใจ ทว่าพอนำไปให้คุณตาอ่านตามสัญญา ชิซูกุกลับตัดพ้อตัวเองว่านิยายของเธอไม่ดีเท่าไหร่โดยเฉพาะครึ่งหลังของเรื่องที่ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล
“ขอบใจนะ หนูเขียนได้ดีมาก ใช่มันอาจไม่ไหลลื่น มีจุดที่ทื่อ และยังไม่ได้เจียระไน แต่มันก็เหมือนกับไวโอลินของเซย์จิ หนูให้ตาได้ดูอัญมณีที่เพิ่งตัดออกมาจากก้อนหิน หนูทำอย่างตั้งใจ หนูยอดเยี่ยมมาก ไม่ต้องรีบนะ ค่อยๆ เจียระไนเถอะ”
สิ่งสำคัญที่ผมชื่นชมแอนิเมชันของจิบลิเรื่องนี้ คือการไม่ยัดเยียดให้ชิซูกุเก่งหรือประสบความสำเร็จในการเขียนนิยายครั้งแรก แถมยังใช้นิยายมาเป็นบทเรียนที่สอนให้เธอรู้ว่า การจะไปถึงจุดหมายปลายทางหรือเก่งในสิ่งที่ชอบนั้น ไม่สามารถเนรมิตได้ชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากการทุ่มเทฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและไม่ย่อท้อ (Grit) เหมือนกับที่คุณตาแนะนำให้ชิซูกุค่อยๆ เจียระไนอัญมณี (พัฒนาทักษะด้านการเขียน) ของเธอ
Whisper of the heart เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันแนว Coming of Age ในปีค.ศ.1995 ดัดแปลงจากมังงะชื่อเดียวกันของ อาโออิ ฮิอิรางิ กวาดรายได้ทั่วญี่ปุ่นเป็นอันดับหนึ่งในปีนั้น ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 10 แอนิเมชันที่ดีที่สุดตลอดกาลของสตูดิโอจิบลิ (Ghibli Studio) |