- หนังสือกำลังจะตาย… ประโยคที่ถูกเล่าขานมาหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่การมาของเทคโนโลยี แต่ ณ วันนี้เรายังคงเห็นร้านหนังสือเรียงรายแม้ปริมาณจะลดลงไปบ้าง ยังคงเห็นช่องทางรีวิวหนังสือใหม่ๆ จากแต่ก่อนที่มีเป็นบล็อกหรือคอลัมน์ต่างๆ พัฒนามาเป็นช่องในยูทูป เพจเฟสบุ๊ก
- บทความชิ้นนี้ สิทธิพงศ์ จะพาเราไปทำความรู้จักกับหนังสือบางส่วนที่คนเจน Z (น่าจะ) อ่านกัน
- แม้บทความนี้ไม่ได้อ้างอิงข้อมูลสถิติแห่งชาติ หรือผลทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเราสังเกตบริบทสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เด็กวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Gen Z อ่านหนังสือที่ ‘หนัก’ และ ‘หลากหลาย’
ในโลกยุคปัจจุบัน การเสพข้อมูลข่าวสาร รวมถึงความบันเทิงทั้งหลาย สามารถทำได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ หรือจอคอมพิวเตอร์ ทำให้บทบาทของหนังสือ ทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งความรู้นอกห้องเรียน และในแง่ของการเป็นสื่อความบันเทิง ลดน้อยถอยลง จนถึงขั้นที่เคยมีผู้กล่าวไว้ว่าหนังสือกำลังจะตาย…
แม้ว่าในความเป็นจริง ณ วันนี้ หนังสือยังไม่ตาย และยังคงมีคนรักการอ่านหนังสืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่เป็นกระดาษจริง หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-books) แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าร้านหนังสือหลายแห่ง โดยเฉพาะร้านหนังสืออิสระขนาดเล็ก ทยอยปิดตัวลง ขณะที่ภาพคนเมืองใช้เวลาว่างไปกับการไถหน้าจอโทรศัพท์มือถือ มากกว่าการหยิบจับหนังสือ ก็ชวนให้เราคิดว่าประชากรหนอนหนังสือในโลก หรือเอาแค่ในเมืองไทยก็ได้ มีจำนวนลดน้อยลง
อย่างไรก็ดี หากดูจากงานวิจัยที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ทำร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ กลับให้ข้อมูลที่ตรงกันข้าม โดยผลการสำรวจในปี 2561 พบว่า คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือมากขึ้น เฉลี่ยวันละ 80 นาที เพิ่มขึ้นจาก 66 นาทีต่อวันในปี 2558 และ 37 นาทีต่อวันในปี 2556
โดยกลุ่มวัยรุ่น (อายุ 15 – 24 ปี) เป็นกลุ่มที่ใช้เวลาอ่านหนังสือมากที่สุด ด้วยตัวเลขเฉลี่ย 109 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 94 นาทีต่อวันในปี 2558 และ 50 นาทีต่อวันในปี 2556
แล้วเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ อ่านหนังสืออะไร?
ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนยังเป็นเด็กต่างจังหวัด ต้องบอกเลยว่าผมโชคดีมากที่มีพี่สาวคนโตเป็นคนรักการอ่าน และพี่สาวคนนี้ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผมรักหนังสือมาจนถึงทุกวันนี้
ตอนนั้นผมน่าจะอยู่ในวัย 9 – 10 ขวบ คงจะอยู่ป.3 หรือป.4 ผมเริ่มติดตามพี่สาวไปยืมหนังสือที่หอสมุดประชาชนในอำเภอบ้านเกิด จำได้ว่าหนังสือเล่มแรกๆ ที่อ่าน (ที่ไม่ใช่หนังสือแบบเรียนนะครับ) น่าจะเป็นพวกการ์ตูนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะคำสาปฟาโรห์ หรือเรื่องอื่นๆ ที่เป็นแนวผู้ญิ้งผู้หญิงนั่นแหละครับ
ต่อจากนั้น ผมค่อยๆ อัพสกิลการอ่าน หันมาหยิบจับหนังสือที่เป็นหนังสือจริงๆ ไม่ใช่การ์ตูนที่มีรูปภาพประกอบ หนังสือเล่มแรกๆ ที่อ่าน น่าจะเป็นพวกวรรณกรรมเยาวชน เช่น แมงมุมเพื่อนรัก บ้านเล็กในป่าใหญ่ ดร.ดูลิตเติล เมืองในตู้เสื้อผ้า
พอเริ่มเข้าช่วงวัยรุ่น ในช่วงรอยต่อจากวัยเด็กก่อนจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ หนังสือที่ผมอ่านเริ่มขยับขยายแนวและมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมังงะบู๊ล้างผลาญ นิยายผจญภัยลืมโลกอย่างเพชรพระอุมา นิยายสืบสวนอย่าง เชอร์ล็อค โฮล์มส หรือ แอร์กูล ปัวโรต์ ไปจนถึงการท่องยุทธภพผ่านตัวหนังสือในนิยายกำลังภายใน ไม่ว่าจะเป็นมังกรหยก เล็กเซียวหงส์ หรือฤทธิ์มีดสั้น
เมื่อกวาดตามองอย่างเร็วๆ จะเห็นว่า หนังสือที่ผมอ่านในช่วงเป็นวัยรุ่น มีแต่แนวบันเทิงประโลมโลกย์ ขณะที่หนังสือที่จัดว่าเป็นแนวหนักๆ ไม่ว่าจะเป็นพวกปรัชญา ศาสนา วิทยาศาสตร์ หรือวรรณกรรมเข้มข้น ไม่ได้เฉียดกรายเข้ามาอยู่ในสายตาของผมเลย กว่าที่จะหยิบจับหนังสือแนวหนักๆเหล่านี้ ก็เป็นช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย หรือช่วงวัยแสวงหา ทั้งความรู้และความหมายของชีวิต
ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการที่เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ เข้าถึงสื่อต่างๆ รวมถึงหนังสือ ได้ง่ายกว่าเด็กวัยรุ่นยุคก่อน ทำให้ผมพบว่า เด็กวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Gen Z อ่านหนังสือที่ ‘หนัก’ และ ‘หลากหลาย’ กว่าวัยรุ่นในสมัยผม (Gen X)
แน่นอนว่า บทความชิ้นนี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางวิชาการใดๆ ได้ อีกทั้งข้อมูลที่ได้ ยังจากการพูดคุยกับวัยรุ่นแค่ไม่กี่คน ซึ่งย่อมไม่ใช่ตัวแทนของวัยรุ่นทั้งหมดในประเทศไทย และตัวผมเองก็ไม่ใช่ตัวแทนของคน Gen X ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็พอจะทำให้เราได้เห็นว่า บนชั้นหนังสือของเด็ก Gen Z แตกต่างจากเด็ก Gen X ไม่มากก็น้อย
บนชั้นหนังสือของเด็กวัยรุ่น ระดับชั้นมัธยมปลาย หรือระบุเฉพาะเจาะจงลงไปก็คือ ม.5 สายศิลป์ – ภาษาจีน เรียงรายไปด้วยหนังสือที่หลากหลาย ไล่ตั้งแต่มังงะเลือดสาด นิยายไลท์โนเวล นิยายสืบสวนสอบสวน วรรณกรรมชั้นครูของโลก หนังสือปรัชญาตะวันตก ปรัชญาการเมือง และเรื่องราวชวนเข้าใจยากอย่าง ฟิสิกส์ควอนตัม
แต่จะให้กล่าวถึงหนังสือทุกเล่มบนชั้นก็คงไม่ไหว ผมเลยขอให้พวกเขาช่วยกันเลือกหนังสือ 7 เล่ม ที่อยากแนะนำให้อ่าน และนี่คือหนังสือ 7 เล่ม ที่พวกเขาเลือกหยิบลงมาจากชั้น
1.บ้านเล็กในป่าใหญ่
วรรณกรรมคลาสสิกกึ่งอัตชีวประวัติของลอรา อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ช่วงชีวิตวัยเด็กของเธอ ในกระท่อมน้อยกลางป่าลึก มลรัฐวิสคอนซิล สหรัฐอเมริกา ในช่วงปลายทศวรรษ 1870 หรือเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ผ่านการอพยพย้ายบ้านหลายครั้ง จนได้ไปลงหลักปักฐานในเมืองเดอร์สเม็ต มลรัฐเซาธ์ดาโกต้า
หนังสือชุดบ้านเล็ก ซึ่งมีทั้งหมด 10 เล่ม ครองใจนักอ่านทั่วโลก ด้วยงานเขียนที่สะท้อนประวัติศาสตร์ยุคบุกเบิกดินแดนตะวันตกของอเมริกา รวมถึงค่านิยมการต่อสู้ชีวิต ความรักในครอบครัว และวิถีชีวิตชาวไร่ชาวนา
วัยรุ่น Gen Z ที่เลือกหนังสือเล่มนี้ บอกกับผมว่า เขาซึมซับหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่แบเบาะ โดยแม่ของเขาอ่านหนังสือเรื่องนี้ให้เขาฟังทุกคืนก่อนนอน และอาจพูดได้ว่า บ้านเล็กในป่าใหญ่ คือ ประตูบานแรกที่เปิดให้เขาก้าวเข้าสู่โลกแห่งหนังสือ
2.เจ้าชายน้อย
วรรณกรรมสุดรักของนักอ่านทั่วโลก ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ งานเขียนที่โด่งดังที่สุดของอองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี นักเขียนชาวฝรั่งเศส และว่ากันว่า เป็นหนึ่งในหนังสือที่เด็กทุกคนควรอ่านก่อนจะโตเป็นผู้ใหญ่
ในหนังสือเล่มเล็กเล่มนี้ เราจะได้พบกับข้อคิดคำคมที่ลึกซึ้งไม่แพ้หนังสือปรัชญา อาทิ “สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น” หรือ “เวลาที่เธอเสียไปให้กับดอกกุหลาบของเธอ ทำให้ดอกกุหลาบนั้นมีค่ามากขึ้น” และ “เธอต้องรับผิดชอบต่อทุกสิ่ง ที่เธอสร้างสัมพันธ์ด้วย”
คงไม่เกินเลย หากเราจะกล่าวว่า เจ้าชายน้อย ไม่ใช่แค่วรรณกรรมเยาวชน แต่เป็นวรรณกรรมของมนุษยชาติ
3.เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ดาดาว
ผลงานของวินทร์ เลียววาริณ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ที่มีความหลากหลาย ทั้งการท่องอวกาศ หุ่นยนต์ และปรัชญา โดยแฝงกลิ่นอายความเป็นไทย เหมือนเช่นชื่อหนังสือ ซึ่งมาจากนิราศสุพรรณบุรี ของสุนทรภู่
หนังสือเล่มนี้ ได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งใน 88 หนังสือดีวิทยาศาสตร์ไทยด้วยครับ
4.เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม
วรรณกรรมเยาวชนของญี่ปุ่น ผลงานของโมริ เอโตะ แปลโดย วิยะดา คาวางุจิ เป็นเรื่องราววิญญาณดวงหนึ่ง ซึ่งได้รับรางวัลให้มาเกิดใหม่ในร่างของ “โคบายาชิ มาโคโตะ” เด็กหนุ่มวัยมัธยมที่เพิ่งฆ่าตัวตายไป โดยที่ดวงวิญญาณผู้โชคดี (หรือโชคร้าย) ไม่มีข้อมูลใดๆเกี่ยวกับมาโคโตะเลย พูดง่ายๆว่า เขาต้องมาเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตใหม่ พร้อมกับการค้นหาอดีตที่ผ่านมาในชีวิตของมาโคโตะ ก่อนที่เขาจะตัดสินใจฆ่าตัวตาย
แม้ว่าพล็อตเรื่องจะฟังดูหม่นเศร้า แต่วรรณกรรมเรื่องนี้ ได้รับการขนานนามว่า วรรณกรรมโลกสดใส และเป็นนิยายแนวตลกหัวใจอบอุ่น
ใครที่ชอบอะนิเมะ ขอบอกว่า เรื่องนี้ถูกสร้างเป็นอะนิเมชั่นภาพสวยในชื่อ Colorful แถมกวาดรางวัลมาถึง 3 รางวัลใหญ่ รวมทั้ง Excellent Animation of The Year
5.ความจริงไม่ใช่อย่างที่เห็น
หนังสือ Reality Is Not What It Seems ความจริงไม่ใช่อย่างที่เห็น แปลโดยปิยบุตร บุรีคำ ผลงานเขียนของคาร์โล โรเวลลี ผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นสตีเฟน ฮอว์กิง คนต่อไป เป็นเหมือนประวัติศาสตร์ฉบับย่อของฟิสิกส์ควอนตัม ซึ่งว่ากันว่า คือ องค์ความรู้ล่าสุดที่ช่วยให้เราเข้าใจจักรวาลมากขึ้น ตั้งแต่อะตอม แรงโน้มถ่วง บิ๊กแบง และหลุมดำ
และเมื่อเราเข้าใจมากขึ้นแล้ว เราจะค้นพบว่า ความจริงไม่ใช่อย่างที่เห็น
หรือยิ่งไปกว่านั้น เราอาจค้นพบว่า แม้กระทั่งความจริง ก็ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงแค่สนามควอนตัมเท่านั้น
6.Animal Farm
นิยายเสียดสีการเมืองผลงานของ จอร์จ ออร์เวล ซึ่งมีฉบับแปลไทยออกมาหลายสำนวน เป็นเรื่องราวของการปฏิวัติต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ โดยมีสัตว์ในฟาร์มเป็นตัวเดินเรื่อง ทำให้โทนของเรื่องดูสนุกสนานราวกับวรรณกรรมเยาวชน แต่โดยสาระแล้ว เสียดสีการเมืองอย่างเข้มข้น
7.ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย
Norwegian Wood ผลงานที่โด่งดังที่สุดของ ฮารุกิ มูราคามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่น ผู้ครองใจนักอ่านทั่วโลก
แม้ว่าเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ จะเป็นภาพสะท้อนของคน Gen X แต่แก่นหลักของเรื่อง คือ ความรัก ความสัมพันธ์ฉาบฉวย และการค้นหาความหมายของชีวิตอันเปลี่ยวเหงา ที่แปลกแยกจากสังคมอันวุ่นวาย ทำให้หนังสือเล่มนี้ กลายเป็นหนังสือในดวงใจของคน Gen Z ได้ไม่ยาก
แน่นอนครับ หนังสือ 7 เล่ม ที่หยิบลงมาจากชั้นหนังสือของคน Gen Z ไม่ได้เป็นข้อสรุปที่ชี้วัดใดๆ แต่อย่างน้อย ก็พอจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราตั้งข้อสังเกตได้ว่า วัยรุ่นยุคนี้ ยังคงรักการอ่านหนังสือ และดีไม่ดี อาจจะรักการอ่านมากกว่าเด็กในรุ่นก่อนๆ ด้วย