- เวนส์เดย์ แอดดัมส์ (Wednesday Addams) แห่งโรงเรียนเนเวอร์มอร์ ตัวละครเอกจากซีรีส์ Wednesday เด็กสาวหน้านิ่งผู้มีพฤติกรรมและทัศนคติที่ดูพิลึกพิลั่น เธอจึงคุ้นเคยกับความเป็น ‘คนนอก’ มาโดยตลอด
- การถูกตราหน้าให้เป็นคนนอก มีความหมายเท่ากับการถูกผลักไสออกจากพื้นที่ที่ปลอดภัย ปล่อยให้เผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายที่อยู่ข้างนอกแต่เพียงลำพัง
- สิ่งที่เวนส์เดย์ทำ ในการรับมือกับการถูกเฉดหัวออกจากคอก คือวิธีการที่สามารถใช้รับมือกับสถานการณ์การเป็น ‘คนนอก’ ในโลกความเป็นจริงได้
นับตั้งแต่เด็กจนถึงช่วงวัยรุ่น เวนส์เดย์ แอดดัมส์ (Wednesday Addams) คุ้นเคยกับความเป็น ‘คนนอก’ มาโดยตลอด
ด้วยบุคลิกที่นิ่งเฉย ไม่ชอบสุงสิงกับใคร, พฤติกรรมที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า ‘ปากแจ๋ว-ปากแซ่บ’ บวกกับรสนิยมที่ดูพิลึกพิลั่น (ในสายตาคนอื่น) ไม่ว่าจะเป็นการมีแมงป่องเป็นสัตว์เลี้ยง และการชำแหละซากสัตว์เป็นงานอดิเรก ทำให้เวนส์เดย์ ถูกประทับตรา ‘คนนอก’ ภายในเวลาไม่กี่นาทีที่เธอย่างกรายเข้าสังคม หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ
ใช่แล้วครับ ผมหมายถึงเวนส์เดย์ เด็กสาวหน้านิ่งแห่งโรงเรียนเนเวอร์มอร์ ตัวละครเอกจากซีรีส์ Wednesday ซึ่งกลายเป็นซีรีส์ที่มียอดการรับชมสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในช่อง Netflix แซงหน้าซีรีส์ดังอย่าง Stranger Things Season 4 ไปอย่างขาดลอย
นอกเหนือจากความสนุกสนานไม่เหมือนใคร ในแบบฉบับของทิม เบอร์ตัน ผู้กุมบังเหียนซีรีส์ชุดนี้ ที่ผสมผสานความตลกร้าย แฟนตาซี สยองขวัญ และสืบสวนสอบสวน เข้าด้วยกันอย่างกลมกล่อม อีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ที่ทำให้ทุกคนหลงรักเด็กสาวผมเปีย ผู้มาพร้อมแฟชั่นสไตล์โกธิค ก็คือ ความเป็นคนนอกของเธอนั่นเอง
นับตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องใน EP แรก เราจะเห็นได้ว่า ทั้งพฤติกรรม ทัศนคติ บุคลิก หรือแม้กระทั่งรสนิยมทางแฟชั่น เวนส์เดย์ ไม่อาจเข้าพวกกับวัยรุ่นคนอื่นได้เลย ทำให้เธอต้องย้ายโรงเรียนหลายต่อหลายครั้ง
ท้ายที่สุด โกเมซและมอร์ทิเชีย ผู้เป็นพ่อและแม่ของเธอ ตัดสินใจส่งเวนส์เดย์ ไปอยู่โรงเรียนประจำ ชื่อ เนเวอร์มอร์ (Nevermore Academy) สถานที่ที่เหมาะที่สุดสำหรับคนนอก เพราะที่นี่คือแหล่งรวมนักเรียนที่ถูกจัดให้เป็นคนนอกโดยสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หมาป่า แวมไพร์ ไซเรน กอร์กอน รวมถึงเด็กที่มีนิสัยไม่ปรกติธรรมดาทุกรูปแบบ
ลาริสซา วีมส์ ครูใหญ่ของโรงเรียน กล่าวไว้ในเว็บไซต์ของโรงเรียนเนเวอร์มอร์ว่า สถาบันทางวิชาการ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1791 คือสถานที่ที่เปิดรับ ‘คนนอก’ หรือ outcast ทุกรูปแบบ ซึ่งหากเราไล่ดูรายชื่อศิษย์เก่าที่สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน จะมีชื่อของ เอ็ดการ์ แอลลัน โพ รวมอยู่ด้วย
(หมายเหตุ – เอ็ดการ์ แอลลัน โพ เป็นกวีและนักเขียนนิยายชาวอเมริกันที่มีตัวตนอยู่จริง แม้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกงานเขียนแนวสยองขวัญและอาชญากรรม สืบสวน-สอบสวน แต่คนส่วนใหญ่มองว่า โพ เป็นนักเขียนเพี้ยนๆ ที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวของความตาย หรือพูดง่ายๆ ว่า เขาคือ ‘คนนอก’ คนหนึ่ง)
คนนอก หรือ outcast เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกคนที่ถูกกันออกจากกลุ่ม คนที่ไม่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานของกลุ่ม ซึ่งบางครั้ง เราอาจเรียกคนนอกด้วยคำอื่นๆ เช่น พวกนอกรีต หมาหัวเน่า หรือ คนนอกคอก
โดยส่วนตัวแล้ว ผมค่อนข้างติดใจกับคำว่า คนนอกคอก เพราะมันสื่อให้เห็นถึงชะตากรรมแสนทุกข์เข็ญของผู้ถูกตราหน้าให้เป็นคนนอก ถูกผลักไสออกจากคอก ที่มีนัยยะสื่อถึงความปลอดภัย ด้วยความที่มีรั้วรอบขอบชิด
การถูกตราหน้าให้เป็นคนนอก จึงมีความหมายเท่ากับการถูกผลักไสออกจากพื้นที่ที่ปลอดภัย ปล่อยให้เผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายที่อยู่ข้างนอกแต่เพียงลำพัง
สาเหตุที่ทำให้คนๆ หนึ่ง ถูกขับไล่ไสส่งออกจากกลุ่ม (cast out) ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากพฤติกรรม หรือทัศนคติ ที่ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐาน หรือข้อบังคับของกลุ่ม จนทำให้บุคคลนั้นถูกสมาชิกในกลุ่มมองว่า ไม่ได้เป็นพวกพ้องเดียวกัน หรือไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกลุ่ม
อย่างไรก็ดี ในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานหลายหมื่นปี นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน และมีกฎระเบียบข้อบังคับเพื่อธำรงรักษาความเป็นกลุ่ม หลายครั้งที่คนๆ หนึ่งถูกผลักไสให้กลายเป็นคนนอกกลุ่ม มีสาเหตุเพียงเพราะชาติกำเนิด
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ‘จัณฑาล’ ในสังคมอินเดีย ซึ่งมีสาเหตุเพียงเพราะเกิดมาจากบิดามารดาที่ต่างวรรณะ ส่งผลให้ผู้เป็นจัณฑาล อยู่ในสถานภาพที่ต่ำสุด ยิ่งกว่าวรรณะล่างสุด คือ วรรณะศูทร ในระบบ 4 วรรณะของอินเดีย (อันประกอบด้วย พราหมณ์, กษัตริย์, แพศย์ และศูทร)
หรือกลุ่มคนที่มีชื่อเรียกว่า ‘บุราคุมิน’ ในสังคมญี่ปุ่นยุคเอโดะ อันหมายถึงกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่สกปรก เพราะคลุกคลีอยู่กับซากศพและเลือด อาทิ สัปเหร่อ คนชำแหละเนื้อ คนฟอกหนัง
ทั้งจัณฑาลและบุราคุมิน ถือเป็นคนนอกในระดับต่ำสุด จนแทบไม่เหลือความเป็นคนเสียด้วยซ้ำ
แม้ว่าในยุคปัจจุบัน จารีตเกี่ยวกับการแบ่งชนชั้นจะถูกยกเลิกไปแล้ว ทว่า การเลือกปฏิบัติต่อคนที่สืบสายเลือดจากชนชั้นวรรณะ ‘คนนอก’ ยังคงมีอยู่
ย้อนกลับมาที่เรื่องราวความเป็นคนนอกของเวนส์เดย์ เรื่องราวน่าจะจบลงด้วยดี เมื่อเธอได้อยู่ในสถานที่ที่เหมาะกับเธอ (จะมีที่ไหนเหมาะกับ ‘คนนอก’ ยิ่งไปกว่า โรงเรียนสำหรับคนนอก อีกล่ะ) แต่กลับกลายเป็นว่า แม้กระทั่งในสังคมของคนนอก เวนส์เดย์ก็ยังคงถูกตราหน้าว่าเป็น ‘คนนอก’ อยู่ดี
เป็นคนนอก ในสายตาของคนนอก มันจะยิ่งช้ำชอก สักแค่ไหน
โรแวน ลาสโลว์ นักเรียนคนหนึ่งของโรงเรียนเนเวอร์มอร์ อาจจะตอบคำถามนี้ เพราะเขาเป็นคนหนึ่งที่ถูกขับไล่ไสส่งออกจากกลุ่ม จนถึงกับต้องเอ่ยปากว่า
“ฉันไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า มันจะเป็นไปได้จริงๆ ไอ้การที่ต้องเป็นคนนอก ในโรงเรียนที่เต็มไปด้วยคนนอก”
ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เปราะบางทางอารมณ์ การถูกกีดกันออกจากกลุ่ม จะส่งผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างรุนแรง ทำให้สูญเสียความมั่นใจ และรวมไปถึงบ่อนทำลายการเคารพและเห็นคุณค่าในตัวเอง (self esteem)
ซีรีส์เรื่องนี้ ไม่ใช่ซีรีส์แนวดรามา หรือมุ่งเน้นปมปัญหาจิตวิทยาวัยรุ่น เวนส์เดย์จึงสามารถรับมือกับการถูกผลักให้เป็น ‘คนนอก’ ในโรงเรียนของคนนอก ได้อย่างไม่ลำบาก (ในขณะที่โรแวนทำไม่ได้) โดยอาศัยทัศนคติแบบ ‘ฉันไม่แคร์’ บวกกับความปากแจ๋ว-ปากแซ่บ และมิตรภาพจากเพื่อนดีๆ อย่างเช่น อีนิด ซินแคลร์ เด็กสาวมนุษย์หมาป่า และ ยูจีน ออตทิงเกอร์ เด็กหนุ่มผู้รักผึ้งเหมือนลูก
แม้ว่าเรื่องราวในซีรีส์ Wednesday จะเป็นโลกสมมติ ทว่า สิ่งที่เวนส์เดย์ทำ ในการรับมือกับการถูกเฉดหัวออกจากคอก คือวิธีการที่สามารถใช้รับมือกับสถานการณ์การเป็น ‘คนนอก’ ในโลกความเป็นจริงได้ ไม่ว่าจะเป็น การมีความมั่นใจในตัวเอง, การยอมรับในสิ่งที่ตัวเองแตกต่างจากคนอื่น เพื่อเปลี่ยนมันให้กลายเป็นจุดแข็ง, การให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริงๆ และการเลือกคบเพื่อนกลุ่มเล็ก ที่มีนิสัยใจคอคล้ายๆกัน อยู่ด้วยแล้วสบายใจมากกว่า
แม้โลกที่อยู่พ้นไปจากรั้วรอบขอบชิด อาจจะดูเวิ้งว้าง-ไม่ปลอดภัยเท่าภายในคอกอันแข็งแกร่ง แต่หากเรามีความมั่นใจในตัวเอง และมีเพื่อนที่คอยเดินเคียงข้างกัน การเป็นคน ‘นอกคอก’ ก็ไม่ช้ำชอกสักเท่าไหร่หรอก
อ้างอิง
How to deal with being an outcast https://viableoutreach.com/how-to-deal-with-being-an-outcast-tips-for-social-rejects/
5 tips for when you feel like an outsider or like you don’t belong https://www.life-with-confidence.com/feel-like-an-outsider.html
Burakumin : Japanese social class https://www.britannica.com/topic/burakumin