- การหยิบหนังสือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องได้สอดแทรกเรื่องราวของหนังสือเข้าไว้ในชีวิตของตัวละคร เช่น ซีรีส์ Because This Is My First Life หนังสือได้เป็นส่วนหนึ่งในความสัมพันธ์ของพระเอกและนางเอก
- ซีรีส์เกาหลีที่เพิ่งจบไปอย่าง Hometown Cha – Cha – Cha ก็ใช้หนังสือ ‘วอลเดน’ เขียนโดยเฮนรี่ เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) สะท้อนคาแรกเตอร์สันโดษของตัวละคร ‘หัวหน้าฮง’
- นอกจากเกาหลี ญี่ปุ่นและจีนก็มีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรง ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งมาจากหลักคำสอนของขงจื๊อ ปราชญ์ชาวจีน ที่เชื่อว่า การจะเป็นคนดีได้ ประการแรกต้องได้รับการศึกษาก่อน ไม่ว่าจะการศึกษาจากสถาบัน หรือการศึกษาด้วยตนเอง
เมื่อพูดถึงซีรีส์เกาหลียอดฮิต Hometown Cha – Cha – Cha เป็นอีกหนึ่งชื่อที่ผุดขึ้นมาในใจหลายๆ คน โดยเฉพาะสาวๆ ที่ถูกตกด้วยรอยยิ้มใสซื่อของหัวหน้าฮง (รับบทโดย คิมซอนโฮ นักแสดงชาวเกาหลีใต้)
แต่เดี๋ยวก่อนนะครับ อย่าเพิ่งเข้าใจผิด บทความนี้ ไม่ใช่การรีวิวซีรีส์เกาหลี แต่เราจะพูดถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นพร็อพประกอบฉากในซีรีส์อารมณ์ดีเรื่องนี้แล้ว ยังเป็นหนังสือที่บ่งบอกนิยามความเป็นตัวตนของหัวหน้าฮง หรือ ฮงดูชิก พระเอกของเรื่องได้ดีที่สุด
ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงหนังสือเรื่อง ‘วอลเดน’ ของเฮนรี่ เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) ซึ่งเป็นหนังสือที่หัวหน้าฮง หยิบขึ้นมาอ่านหลายครั้งในช่วงต้นๆ ของซีรีส์ ราวกับผู้สร้างต้องการย้ำว่า หนังสือเล่มนี้ คือ กุญแจเปิดประตูให้คนดูได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของหัวหน้าฮง
วอลเดน คือ หนังสือกึ่งอัตชีวประวัติของธอโร บอกเล่าเรื่องราวในช่วงเวลา 2 ปี 2 เดือน ที่เขาใช้ชีวิตเพียงลำพังในบ้านที่ปลูกเองกับมือ ณ ริมบึงวอลเดน ในเมืองคองคอร์ด มลรัฐแมสซาชูเซ็ทส์ สหรัฐอเมริกา และหาเลี้ยงชีพด้วยการใช้แรงงานของตน ไม่ว่าจะเป็นการทำการเกษตร หรือรับจ้างทั่วไป
เพื่อไม่เป็นการเปิดเผยเนื้อเรื่องสำหรับคนที่ยังไม่ได้ชมซีรีส์ เราจะไม่บอกว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้หัวหน้าฮง ผู้มีความรู้ – การศึกษาระดับดีเยี่ยม เลือกใช้ชีวิตนอกกรอบ ด้วยการทำงานรับจ้างทั่วไปในหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ แทนที่จะทำงานที่มั่นคง หรือมีค่าตอบแทนสูงให้สมกับวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา แต่ในหนังสือวอลเดน บอกให้เรารู้อย่างชัดเจนตั้งแต่บทแรกๆ ว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ธอโร ตัดสินใจเดินออกนอกกรอบ ด้วยการทำใช้ชีวิตเยี่ยงฤาษีกลางป่าลึก
ธอโร เขียนไว้ในหนังสือวอลเดนว่า เขาเข้าไปอาศัยอยู่อย่างสันโดษกลางป่าลึกเพียงลำพังคนเดียว เพื่อค้นหาความหมายที่แท้จริงของชีวิตว่า แท้ที่จริงแล้วคนเราเกิดมาทำไม และการใช้ชีวิตที่แท้จริงควรเป็นเช่นไร
“ฉันไปสู่ไพรพฤกษ์เพราะปรารถนาที่จะอยู่อย่างสุขุม ที่จะเผชิญแต่ข้อเท็จจริงอันเป็นแก่นสารของชีวิตเท่านั้น และดูซิว่าจะสามารถเรียนรู้ในสิ่งที่มันสอนให้ได้หรือไม่ เพื่อที่ว่าเวลาจะตาย ฉันจะได้ไม่พบว่าตัวเองยังไม่ได้มีชีวิตอยู่เลย”
ซึ่งก็ดูเหมือนว่า ธอโรจะค้นพบคำตอบของคำถามข้อนี้แล้วว่า ชีวิตที่แท้จริง คือ ชีวิตที่เรียบง่ายที่สุด ลดทอนสิ่งฟุ่มเฟือยทิ้งไปให้มากที่สุด และดำรงชีวิตสอดล้องกับธรรมชาติที่สุด
“ความฟุ่มเฟือยหรูหราส่วนใหญ่ และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เรียกกันว่าความสะดวกสบายแห่งชีวิตนั้น, ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งไม่จำเป็นเท่านั้น, แต่ยังเป็นอุปสรรคต่อการยกระดับมนุษยชาติด้วย”
แม้ว่าธอโรจะใช้ชีวิตอย่างสันโดษและสมถะในระดับที่เข้มข้นกว่าหัวหน้าฮงค่อนข้างมาก แต่ในส่วนอื่นๆ ของชีวิต จะเห็นได้ว่าทั้งคู่มีอะไรที่คล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง
ขณะที่ในเนื้อเรื่องของซีรีส์ Hometown Cha – Cha – Cha บอกกับเราว่า หัวหน้าฮงจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโซล ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของเกาหลี ทางด้านธอโร ก็จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับไอวี่ลีกของอเมริกา
นอกจากนี้ ทั้งธอโรและหัวหน้าฮง เลือกที่จะใช้ชีวิตนอกกรอบเหมือนๆ กัน คือ แทนที่จะเข้าทำงานตามระบบ หรืองานที่ตรงกับสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา ทั้งคู่กลับเลือกงานรับจ้างทั่วไป เพียงเพื่อหารายได้เพียงพอต่อการยังชีพเท่านั้น
ในซีรีส์ เราจะเห็นว่า หัวหน้าฮง มีทักษะความสามารถในการทำงานหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นช่างทาสี ซ่อมแซมบ้าน ซ่อมรถ ทำอาหาร ทำสบู่ – เทียนหอม รวมถึงงานประมงจับปลา ทางด้านธอโรเองก็มีความเป็นพหูสูตรไม่แพ้กัน หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ธอโรไปช่วยพี่ชาย ทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง หลังจากนั้น เขาไปทำงานในโรงงานผลิตดินสอ ซึ่งธอโรได้ปรับปรุงและพัฒนาดินสอจนได้รับประกาศนียบัตรรับรองว่า เป็นดินสอคุณภาพดีเยี่ยม แต่หลังจากนั้นแล้วธอโรกลับประกาศว่า เขาจะไม่ทำดินสออีกต่อไป โดยให้เหตุผลว่า “ทำไมจะต้องทำด้วย ฉันจะไม่ทำซ้ำในสิ่งที่ได้ทำมาแล้ว”
ไม่เพียงเท่านั้น ธอโรยังมีความชำนาญในด้านการต่อเรือ เพาะปลูก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสำรวจและรังวัด ซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจพื้นที่ธรรมชาติ ก่อนที่จะเข้าไปใช้ชีวิตกลางป่าลึกในช่วงหนึ่งของชีวิต
อย่างไรก็ดี สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างธอโรและหัวหน้าฮง ก็คือ ขณะที่ฮงดูชิกเป็นที่รักของทุกคนในหมู่บ้านกงจิน ด้วยจิตใจที่อ่อนโยนและมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยม แต่ธอโรมีเพื่อนสนิทเพียงแค่ไม่กี่คน แม้ว่าทุกคนที่รู้จักจะรักเขา แต่น้อยคนที่จะเข้าถึงและสามารถสนิทสนมกับเขาได้
ขณะที่ธอโรเองก็ดูจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการคบค้าสมาคมกับเพื่อนฝูงสักเท่าไหร่ เพราะนิสัยที่รักสันโดษอย่างยิ่งของเขา
“ฉันพบว่า ตนมีความสุขที่ได้อยู่คนเดียวเป็นส่วนใหญ่ การอยู่ในหมู่คณะ, แม้แต่ที่ดีที่สุด, ในไม่ช้าก็จะเหนื่อยหน่ายอ่อนล้า ฉันรักที่จะอยู่คนเดียว ฉันไม่เคยพบเพื่อนที่น่าคบหาเท่าความสันโดษ”
นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดแตกต่างอย่างชัดเจน ก็คือ ธอโรมีความเป็น ‘คนเถื่อน’ หรือผู้ใช้ชีวิตในพงไพรใกล้ชิดธรรมชาติ ในระดับที่ลึกซึ้งเข้มข้นยิ่งกว่าหัวหน้าฮง ซึ่งยังคงใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอารยะ แม้จะเป็นชุมชนชาวบ้านต่างจังหวัดที่มีความศิวิไลซ์น้อยกว่าในเมืองหลวงอย่างกรุงโซลก็ตาม
ขณะที่ฮงดูชิก ผูกมิตรจนเป็นที่รักของทุกคนในหมู่บ้าน ตั้งแต่เด็กน้อยจนถึงคุณยายสูงวัย ธอโร ก็ผูกมิตรกับสัตว์ป่านานาชนิดในป่าริมบึงวอลเดน ไม่ว่าจะเป็นหนู นก เป็ดป่า แรคคูน แมว หรือแม้กระทั่งสัตว์ตัวเล็กกระจ้อยร่อยอย่างเช่น มด
บทสรุปของเรื่องราวในซีรีส์ Hometown Cha – Cha – Cha หัวหน้าฮง ยังคงปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านริมทะเลต่อไป แต่บทสรุปของเรื่องราวในหนังสือวอลเดน ธอโร ตัดสินใจออกจากป่า กลับไปใช้ชีวิตในเมืองอีกครั้ง
“ฉันจากไพรพฤกษ์มาด้วยเหตุผลดีพอๆ กับที่ฉันไปที่นั่น บางทีเป็นเพราะฉันรู้สึกว่า ฉันยังมีชีวิตอีกหลายอย่างที่จะต้องใช้…”
“ฉันเรียนรู้เรื่องนี้, อย่างน้อย, ก็ด้วยการทดลองของตัวเอง รู้ว่าหากบุคคลหนึ่งก้าวไปข้างหน้าอย่างเชื่อมั่นตามทิศทางแห่งความฝันของเขา และมุ่งมั่นในการใช้ชีวิตอย่างที่ตนฝันใฝ่นั้น เขาจะประสบความสำเร็จอย่างชนิดที่ไม่อาจคาดหวังได้ในยามสามัญ”
ขงจื๊อ ผู้วางรากฐานวัฒนธรรมการอ่านในเอเชีย
สำหรับหนอนหนังสือแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจในซีรีส์ Hometown Cha – Cha – Cha ก็คือ ฉากภายในบ้านของหัวหน้าฮง ที่มีผนังด้านหนึ่งอัดแน่นไปด้วยหนังสือเรียงรายเต็มชั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตัวละครหัวหน้าฮง เป็นคนที่รักหนังสือคนหนึ่ง
แต่จะว่าไปแล้ว การหยิบเอาหนังสือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เลย ซีรีส์เกาหลีหลายเรื่อง ได้สอดแทรกเรื่องราวของหนังสือเข้าไว้ในชีวิตของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ When The Weather Is Fine ซึ่งตัวเอกของเรื่องเปิดร้านหนังสือเล็กๆ ในเมืองชนบท หรือซีรีส์ Because This Is My First Life ซึ่งหนังสือได้เป็นส่วนหนึ่งในความสัมพันธ์ของพระเอกและนางเอก
พูดง่ายๆ ว่า การอ่านหนังสือ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม (Pop Culture) ในแบบเกาหลีไปแล้ว
ปรากฎการณ์ความคูลของการอ่านหนังสือในเกาหลี ไม่ใช่เรื่องใหม่ และว่ากันจริงๆ แล้ว ความเป็นหนอนหนังสือ หรือวัฒนธรรมการอ่าน ได้ฝังรากลึกในเกาหลีมาช้านานแล้ว
ในเกาหลี โดยเฉพาะในกรุงโซล มีร้านหนังสือขนาดใหญ่มากมาย ทั้งร้านที่เป็น chain store, franchise หรือร้านอิสระ ทั้งร้านที่ขายหนังสือมือสอง หนังสือภาษาต่างประเทศ และร้านที่เน้นแต่หนังสือการ์ตูน หรือคอมิกส์ ทั้งแบบขายและให้เช่าอ่าน
ร้านหนังสือขนาดใหญ่หลายร้านในเกาหลี กลายเป็นจุดแฮงค์เอาท์ หรือสถานที่นัดพบเจอของหนุ่มสาวชาวเกาหลี เพราะนอกจากหนังสือที่อัดแน่นเรียงรายบนชั้นวางแล้ว ภายในร้าน ยังมีสินค้าอย่างอื่นจำหน่าย รวมไปถึงคาเฟ่ให้นั่งจิบกาแฟ และดื่มด่ำกับเบเกอรี่อร่อยๆ
คาเฟ่เก๋ๆ หลายแห่ง ก็ใช้หนังสือเป็นจุดขาย โดยวางคอนเซ็ปต์ร้านเป็น book cafe ที่มีหนังสือให้อ่านมากมายภายในร้าน ซึ่งเป็นอะไรที่โดนใจบรรดาหนอนหนังสือ ที่สามารถนั่งละเลียดอ่านหนังสือ พร้อมจิบกาแฟอุ่นๆ ลำพังคนเดียวโดยไม่ขัดเขิน
จากผลการสำรวจที่ทำไว้เมื่อปี 2019 พบว่า ชาวเกาหลี อ่านหนังสือโดยเฉลี่ยปีละ 7.5 เล่ม ซึ่งถือว่า สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในเอเชีย
อะไรทำให้วัฒนธรรมการอ่านในเกาหลี แข็งแรงขนาดนี้?
อันที่จริง ในภูมิภาคเอเชีย ไม่ได้มีแค่เกาหลีเท่านั้นที่รักในการอ่านอย่างจริง ญี่ปุ่นและจีนก็ได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรงเช่นกัน
โดยในญี่ปุ่น การอ่านหนังสือบนรถไฟ เป็นภาพที่เราเห็นจนชินตามาช้านาน ทั้งหนังสือนิยาย เรื่องสั้น นิตยสาร หนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือการ์ตูน ที่เรียกกันว่า มังงะ ขณะที่ตัวเลขผู้อ่านหนังสือในญี่ปุ่น สูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียและของโลก
ส่วนในจีน นับตั้งแต่การเปิดประเทศกลายเป็นจีนยุคใหม่ วัฒนธรรมการอ่านของแผ่นดินใหญ่ ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้จากการสร้างห้องสมุดขนาดใหญ่ในหลายเมือง จนทำให้ห้องสมุดหลายแห่งในจีน ได้รับการโปรโมทเป็นห้องสมุดที่สวยติดอันดับโลก และกลายเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ไปโดยปริยาย
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ชาติเอเชียตะวันออกทั้ง 3 ชาติ มีวัฒนธรรมการอ่านหนังสือที่เข้มแข็ง ก็คือ การให้ความสำคัญกับการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักคำสอนของขงจื๊อ ปราชญ์ชาวจีน ผู้เคยมีชีวิตอยู่เมื่อกว่า 2,500 ปีที่แล้ว
ขงจื๊อเชื่อว่า การจะเป็นคนดีได้ ประการแรกต้องได้รับการศึกษาก่อน ไม่ว่าจะการศึกษาจากสถาบัน หรือการศึกษาด้วยตนเอง
จีน รวมทั้งญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งล้วนได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนมาตั้งแต่ยุคโบราณ ต่างรับมรดกตกทอดจากหลักคำสอนของขงจื๊อ ทำให้ประเทศเหล่านี้ ให้ความสำคัญกับการศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบ และส่งผลให้หนังสือ ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อสำคัญของการเรียนรู้ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คน นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน