- Vaathi เป็นภาพยนตร์อินเดียแนวแอคชันดรามาในปี 2023 บอกเล่าเรื่องราวของบาลา ครูผู้ช่วยไฟแรงจากโรงเรียนเอกชนที่ถูกส่งไปสอนหนังสือในโรงเรียนชนบทอันห่างไกล
- จุดเด่นของภาพยนตร์คือการตีแผ่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จิตวิญญาณของความเป็นครู รวมถึงการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างนักธุรกิจการศึกษากับนักการเมือง
- ท่ามกลางความยากลำบากต่างๆ นานา ครูบาลาคือครูที่เปี่ยมด้วยเมตตาและมี Empathy นอกจากความรู้แล้ว เขายังคอยให้กำลังใจและผลักดันเด็กทุกคนให้ก้าวไปถึงฝั่งฝันของตัวเองให้ได้
[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน]
ผมเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเอกชนชื่อดังที่พ่อแม่หลายคนใฝ่ฝันอยากจะให้ลูกเข้าเรียน ตอนนั้นผมไม่เข้าใจว่าทำไมชายผู้แสนประหยัดอย่างพ่อถึงยอมเสีย ‘แป๊ะเจี๊ยะ’ ร่วมแสนให้กับโรงเรียนที่อีกสิบสองปีจากนั้นผมจะต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าเพื่อไปให้ทันเคารพธงชาติ
พ่อบอกผมเพียงสั้นๆ ว่าอยากให้ผม ‘เก่งภาษาอังกฤษ’ และ ‘มีสังคมที่ดี’ ซึ่งคำว่าสังคมที่ดีในความหมายของพ่อไม่ใช่การที่ทุกคนในโรงเรียนเป็นคนดี แต่หมายถึงการ ‘ซื้อโอกาส’ ให้ผมได้อยู่ท่ามกลางลูกเถ้าแก่และลูกของผู้มีอำนาจในสังคมเพื่อที่ว่าในอนาคตพวกเราอาจได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังคิดแบบเด็กๆ ว่าทำไมพ่อต้องพยายามมากมายอะไรขนาดนี้ ทั้งๆ ที่ตัวของพ่อเองก็จบแค่โรงเรียนวัดที่ไม่มีชื่อเสียงหรือโด่งดังเลยสักนิด
ผมคิดถึงเรื่องเหล่านี้อีกครั้ง หลังจากได้ชมภาพยนตร์อินเดียเรื่อง Vaathi ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารจัดการโรงเรียนรัฐ จนเกิดเป็นช่องโหว่ให้สมาคมโรงเรียนเอกชนอาสาเข้ามาช่วยแก้ปัญหาผ่านการส่งครูไปช่วยอุดรอยรั่วในโรงเรียนที่ขาดแคลน โดยหารู้ไม่ว่านี่คือแผนซ้อนแผนที่ตั้งใจจะทำให้คุณภาพของโรงเรียนรัฐยิ่งตกต่ำลง เนื่องจากครูที่ถูกส่งไปช่วยตามโรงเรียนรัฐขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นเพียงครูผู้ช่วยชั้นปีสาม ซึ่ง ‘ครูบาลา’ พระเอกหนุ่มของเรื่องก็เป็นหนึ่งในนั้น
ประเด็นที่ผมรู้สึกอินมากๆ อย่างแรกคือเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดย Vaathi ฉายให้เห็นภาพการบริหารจัดการโรงเรียนรัฐที่ล้มเหลวของกระทรวงศึกษาธิการ(อินเดีย) ส่งผลให้บรรดาพ่อแม่ชนชั้นกลางต่างพาลูกเข้าไปสมัครเรียนในโรงเรียนเอกชนที่แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าต้องจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ แต่พอนึกถึงครูที่มีคุณภาพและคอนเนกชั่นทางสังคม พวกเขาจึงต้องกัดฟันเพื่ออนาคตของลูกไม่ต่างอะไรกับพ่อของผม
สำหรับผม ฉากสำคัญที่ทำให้ปีศาจการศึกษาเผยตัวออกมา คือซีนที่โรงเรียนพระเอกจัดงานเฉลิมฉลองแก่นักเรียนชั้นม.5 หลังสอบเลื่อนชั้นผ่าน 100% มากกว่าอัตราเฉลี่ยของโรงเรียนเอกชนซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 75% ทำให้ประธานสมาคมโรงเรียนเอกชนถึงกับควันออกหู พร้อมเดินทางมาต่อว่าลูกจ้างอย่างครูบาลาโทษฐานที่ทำผลงานเกินหน้าเกินตาและผิดต่อจุดประสงค์ในการทำลายชื่อเสียงโรงเรียนรัฐ
“อยากได้การศึกษาที่ดีก็ต้องจ่าย…
ค่าธรรมเนียมศูนย์ การศึกษาศูนย์
ค่าธรรมเนียมสูง การศึกษาสูง
นี่คือสมัยนิยมตอนนี้…ใครที่อยากเรียนก็ต้องจ่ายเพราะเงินเท่านั้นที่ซื้อความรู้ได้”
ไม่ว่าจะในจอหรือนอกจอ นี่คือความจริงอันแสนเจ็บปวด โดยเฉพาะในประเทศไทยที่หลายคนต้องกล้ำกลืนฝืนทนกับความอยุติธรรมนี้ และน่าแปลกที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่รัฐบาล ปัญหาคุณภาพทางการศึกษากลับดูถอยหลังลงคลองมากขึ้นทุกที ทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณปีละหลายแสนล้านบาท แต่กลับบริหารเม็ดเงินจำนวนนี้อย่างไร้ประสิทธิภาพ ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโรงเรียนตามชนบทถูกถ่างให้กว้างขึ้น
ด้วยความที่บ้านของผมเป็นบ้านกึ่งบริษัททำให้ผมมีโอกาสได้คลุกคลีกับลูกของคนงานวัยเดียวกันซึ่งเรียนโรงเรียนวัดแถวบ้าน ผมพบว่าแม้เขาจะหัวดีเรียนหนังสือได้เป็นอันดับต้นๆ ของชั้น แต่พอผมเห็นแบบเรียนวิชาภาษาอังกฤษของเพื่อน ผมกลับรู้สึกเศร้าใจแทนเพราะขณะที่เพื่อนกำลังฝึกท่อง ABC ผมกลับเรียนไปถึงเรื่องการใช้กิริยา 3 ช่อง นอกจากนี้หลังจากที่เพื่อนเริ่มเรียน Grammar ในปีถัดๆ ไปโดยมีผมคอยเป็นติวเตอร์ให้ในวันเสาร์ สิ่งที่ผมจำได้ไม่รู้ลืมคือคำพูดเพื่อนที่ว่า “ทำไมนายถึงสอนรู้เรื่องกว่าครูที่โรงเรียนอีก”
ดังนั้น ผมมองว่าหากระบบการศึกษาไทยจะดีขึ้นได้ การเมืองจะต้อง ‘โปร่งใส’ ก่อน เพราะเงินนับแสนล้านบาทไม่ใช่น้อยๆ ที่จะจัดหาครูเก่งๆ และทำให้การศึกษากลายเป็นเรื่องของความเสมอภาค นอกจากนี้หากใครเป็นสาวกโซเชียลจะเห็นว่าไม่กี่สัปดาห์ก่อน กระแสเรื่องแบบเรียนที่ค่อนข้างล้าหลังไม่เข้ากับยุคสมัยของน้องๆ ชั้นประถมกลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง พร้อมกับบทสรุปที่ชวนให้ตั้งคำถามต่อไปยังกระทรวงศึกษาธิการว่าแท้จริงแล้วมีอะไรไม่ชอบมาพากลอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้หรือไม่
อีกหนึ่งประเด็นใน Vaathi ที่ผมสนใจคือเรื่อง ‘จิตวิญญาณความเป็นครู’ โดยตัวของครูบาลาแม้จะเป็นครูจากศูนย์ฝึกโรงเรียนเอกชน แต่กลับมีความมุ่งมั่นตั้งใจกว่าครูผู้ช่วยด้วยกัน เพราะตอนไปถึงโรงเรียนในชนบท ครูบาลาเป็นเพียงคนเดียวที่พยายามไปเกลี้ยกล่อมพร้อมกับชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อให้บรรดาพ่อแม่ยอมส่งลูกกลับมาเรียนหนังสือ เนื่องจากพ่อแม่เหล่านี้ส่วนมากมีฐานะยากจนจึงจำเป็นต้องให้ลูกออกมาทำงานจุนเจือครอบครัว
เมื่อปัญหาหนึ่งจบ ครูบาลาก็ต้องเผชิญปัญหาต่อไปเรื่อยๆ ทั้งการที่นักเรียนแบ่งแยกกันตามชนชั้นวรรณะ หรือการถูกสมาคมโรงเรียนเอกชนจ้องเล่นงานครั้งแล้วครั้งเล่าจนเกือบจะถอดใจ
ท่ามกลางอุปสรรคปัญหาทั้งหมด ผมชื่นชอบฉากที่เด็กนักเรียนทะเลาะกันเรื่องที่นั่ง เนื่องจากเด็กที่เกิดในวรรณะสูงไม่อนุญาตให้เพื่อนที่วรรณะต่ำกว่ามานั่งด้วยกัน
แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยการขึ้นเสียงใส่เด็กๆ ครูบาลากลับใช้วิธีการแบ่งคลาสสอนเด็กตามวรรณะ โดยกลุ่มหนึ่งให้เรียนเรื่องอัตราความเร็ว ส่วนอีกกลุ่มเรียนเรื่องความเร็ว ก่อนประกาศให้มีการสอบบทเรียนทั้งสองในวันรุ่งขึ้นทำเอานักเรียนบ่นกันระงมว่าครูบาลาไม่ยุติธรรมเอาซะเลย
ฟากครูบาลาก็ถือโอกาสนี้สอนเด็กๆ ให้เห็นถึงอคติเรื่องวรรณะที่เป็นเหมือนกำแพงที่คั่นกลางชีวิตของพวกเขามากกว่า 17 ปี
“ถ้าได้งานดีหลังเรียนจบแล้วหัวหน้าเธอเป็นคนต่างวรรณะจะทำยังไง จะลาออกไหม ทุกวันนี้ครูมาอยู่นี่ ครูวรรณะอะไรว่ามา ไม่อยากรู้เหรอ เพราะว่าครูเป็นคนสอนหนังสือและพวกเธอต้องการครู พวกเธอเลยไม่อะไรกับวรรณะครู…ทำไมน่ะเหรอ ก็เพราะความต้องการของเราไม่รู้วรรณะ เช่นเดียวกันไม่มีใครที่ไม่เป็นที่ต้องการ พอรู้อย่างนี้แล้วเธอจะลืมความต่างเล็กๆ พวกนั้น”
แน่นอนว่าภายหลังจากที่ครูบาลาพูดประโยคนี้ พวกนักเรียนสองกลุ่มพากันสำนึกผิดและขอร้องให้ครูบาลาสอนอีกรอบ แต่ครูบาลาแทบจะปฏิเสธในทันที ทำให้นักเรียนสองกลุ่มจับกลุ่มติวกันเองจนเป็นที่มาของมิตรภาพอันแน่นแฟ้นในภายหลัง
สาเหตุที่ผมประทับใจฉากนี้มากก็เพราะครูบาลาคือครูที่เปี่ยมด้วยเมตตาและมี Empathy เขารู้ว่าเด็กแต่ละคนแต่ละวรรณะรู้สึกยังไง ดังนั้นเขาจึงใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา ทั้งยังสามารถทำให้เด็กทั้งสองกลุ่มกลายเป็นมิตรที่ดีต่อกันในที่สุด ซึ่งหากเรื่องนี้เกิดในบ้านเรา ผมเชื่อว่าครูหลายคนจะเลือกวิธีการขึ้นเสียงด้วยความฉุนเฉียวมากกว่าจะคิดหาวิธีอธิบายด้วยเหตุผล
ผมมองว่าการที่ครูบาลาได้ใช้เมตตาและปัญญาในการสอนหนังสือ คือการสื่อให้เราเห็นว่า แม้ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย ครูสามารถผลักดันเด็กคนหนึ่งให้ก้าวไปถึงฝั่งฝันของตัวเองได้
ซึ่งในภาพยนตร์ นอกจากความรู้แล้วครูบาลายังคอยให้กำลังใจและผลักดันเด็กทุกคนเสมอ โดยเฉพาะฉากท้ายเรื่องที่ครูบาลาถูกตำรวจทำร้ายกลั่นแกล้งจนต้องย้ายกลับไปอยู่บ้าน เขาก็ยังหาวิธีสอนผ่านวิดีโอและลักลอบเข้าหมู่บ้านมากับคณะละครเพื่อไขข้อสงสัยทางวิชาการให้กับเด็กๆ ทำให้นักเรียนทุกคนตั้งใจเรียนสุดฤทธิ์เพื่อตอบแทนครูที่เปรียบเสมือนเทพเจ้าของพวกเขา
แม้ผมจะได้เรียนในโรงเรียนที่ครูมีคุณภาพในการสอน แต่ก็มีหลายครั้งที่ผมตั้งเครื่องหมายคำถามถึงจิตวิญญาณความเป็นครู เพราะยุคนั้นผมต้องเผชิญกับปัญหา ‘ครูกั๊กวิชา’ ถึงขั้นที่โรงเรียนออกกฎว่าหากพบว่าครูในโรงเรียนแอบไปสอนพิเศษให้นักเรียนเป็นการส่วนตัวจะมีบทลงโทษถึงขั้นไล่ออก แต่ถึงอย่างนั้นพวกคุณครู โดยเฉพาะครูวิชาคณิตศาสตร์กลับไม่เกรงกลัวสักนิด ทั้งยังชักชวนให้เพื่อนๆ ของผมหลายคนมาเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนตามร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง ซึ่งดูเหมือนครูจะเอาแนวข้อสอบมาสอนพวกนั้นก่อน ทำให้เวลาสอบจริงเพื่อนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่สอบผ่านแบบแลนด์สไลด์ ทั้งยังได้คะแนนในลำดับต้นๆ ของห้อง
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าปัจจุบันยังมีครูดีๆ ที่เปี่ยมด้วยหัวจิตหัวใจของความเป็นครูแบบครูบาลาอยู่ แต่ครูประเภทนี้อาจมีไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนเด็กนักเรียนนับล้านทั่วประเทศ ดังนั้นวิธีการที่ดีกว่าการรอคุณครูฮีโร่หรือพระเอกขี่ม้าขาว น่าจะเป็นการที่รัฐบาลจริงจังกับการแก้ปัญหาทางการศึกษาและบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง พร้อมจัดทำนโยบายที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพทางการศึกษาและการพัฒนาครูให้ดียิ่งขึ้นเพื่อให้โรงเรียนทุกแห่งมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากโคลนติดล้อที่ฉุดรั้งระบบการศึกษาและถ่วงความเจริญของประเทศชาติมานานหลายทศวรรษ
เหมือนท่อนหนึ่งในเพลงประกอบของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่น่าจะเป็นบทสรุปของความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับธุรกิจการศึกษา และความสำคัญของสิทธิการศึกษาที่สร้างโอกาสและความเท่าเทียม
“แผ่นดินสั่นไหวโดยการกระทำของผู้มีอำนาจ สั่นลงไปถึงกระดูกสันหลัง
เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้อิสระเสรี การศึกษากลายเป็นเลือดใหม่ ความรู้เป็นของฟรี แต่มันถูกขายโดยคนต่ำช้า
จำไว้ การศึกษาคือสิทธิโดยกำเนิด เธอต้องยอมรับการศึกษา เธอต้องปูทางสายใหม่”