- TK Park เป็นมากกว่าห้องสมุด นอกจากการให้บริการหนังสือ ยังมีพื้นที่การเรียนรู้ให้ใช้สอยมากมาย เพื่อมุ่งสู่การเป็นต้นแบบพื้นที่พัฒนาศักยภาพคนไทย และมัดใจคนทุกเจเนอเรชัน
- กิจกรรมครอบคลุมในทุกช่วงวัย วัยเด็กเน้นการเรียนรู้ เสริมสร้างพัฒนาการที่เหมาะสม กลุ่มคนทำงาน เน้นกิจกรรมส่งเสริมการคิด สร้างแรงบันดาลใจ ผู้สูงอายุเน้นเรื่อง Digital literacy ให้ความรู้เรื่องของเทคโนโลยีในปัจจุบัน
- หนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือ การลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ โดยการขยายพื้นที่การเรียนรู้ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ที่ส่งเสริมระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด
TK Park เป็นมากกว่าห้องสมุด
“…เราถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อจะเป็นต้นแบบพื้นที่การเรียนรู้ แล้วก็ส่งต้นแบบนี้ไปให้กับเครือข่ายพื้นที่การเรียนรู้ที่มีอยู่ทั่วประเทศ แล้วเป้าหมายไกลๆ ของเรา ก็คือ การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ให้กับประชาชน มุ่งการเรียนรู้ตามอัธยาศัยเพื่อส่งเสริม Life Long Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต…”
กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park เล่าถึงจุดเริ่มต้นของพื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้ ซึ่งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร และขยายพื้นที่ไปทั่วประเทศ ก่อนจะเข้าถึงบทสนทนาหลักๆ ถึงแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการนำทีเคปาร์คสู่การเป็น ‘ต้นแบบพื้นที่พัฒนาศักยภาพคนไทย มัดใจคนทุกเจเนอเรชัน’
โดยมีหนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือ การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ ผ่านการขยายพื้นที่การเรียนรู้ทั้งในรูปแบบของออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด สนับสนุนการพัฒนาสื่อและการให้บริการในรูปแบบห้องสมุดชุมชนทั่วประเทศ เพื่อปลูกฝังและเสริมสร้างนิสัยรักการอ่าน สร้างกิจกรรมและการเรียนรู้ที่หลากหลาย
“ทีเคพาร์คเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ห้องสมุดและหนังสือเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง แต่อุปกรณ์ที่เราใช้ เราโฟกัสที่การอ่าน การคิด การทำ ทั้งหมดนี้คือ Life Long Learning ที่เราส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
เราเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่กระตุ้นให้ผู้คนเข้ามาเรียนรู้ และกระตุ้นให้คนอื่นอยากจะเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นได้ แล้วมันอาจจะกระตุ้นให้พาร์ตเนอร์คนอื่นมาร่วมทำกับเราด้วย ช่วยกันผลักดันพัฒนาและสร้างสรรค์พื้นที่แหล่งเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของคนทุกวัย”
‘Self-Learning’ ห้องสมุดมีชีวิตที่ชวนทุกคนออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ ทีเคพาร์ค (TK Park) ว่า จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของทุกคนที่แสวงหาความรู้อย่างไร้ขีดจำกัด ในรูปแบบของ ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ ที่ให้บริการหนังสือครบครัน สื่อที่หลากหลาย และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้กับบรรยากาศสร้างสรรค์ที่ทันสมัย โดยมุ่งสร้างพื้นที่ และสร้างการเรียนรู้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนทุกคน ทุกช่วงวัย
“ในการส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ เราต้องบอกอย่างนี้ว่า จริงๆ แล้ว เราเรียนรู้ทั้งในระบบของการศึกษาภาคปกติ หรือภาคบังคับก็ตามแต่ มันเป็นแค่ช่วงสั้นๆ ของชีวิต แต่ว่าช่วงที่เหลือของชีวิตเรา รัฐก็มีหน้าที่ที่จะซัพพอร์ตการเรียนรู้ต่อหลังจากที่จบการศึกษาแล้ว ไม่ว่าจะจบระดับมัธยมฯ จะจบระดับมหาวิทยาลัย หรือระดับไหนก็ตามแต่ หรือไม่จบอะไรเลยก็ตามแต่ รัฐก็มีหน้าที่ที่จะซัพพอร์ตการเรียนรู้ของประชาชน ในรูปแบบของ Self-Learning นี่แหละ”
จากแนวคิดการทำงานของ TK Park จึงเกิดเป็น Living library ‘ห้องสมุดที่มีชีวิต’ เพื่อจะเป็นพื้นที่การเรียนรู้ตามอัธยาศัยสำหรับผู้คน ซึ่งก็จะกระจายไปตามหัวเมืองทั่วประเทศ ตอบโจทย์การเรียนรู้ ที่นอกเหนือจากการอ่านแล้ว ยังสร้างแรงดึงดูดให้คนอยากเข้ามาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
“ทีเคพาร์คเป็นที่ที่เข้ามาแล้วอยากจะกระตุ้นให้คนอยากจะรู้อะไรเพิ่ม สำหรับกลุ่มคนที่เขาอยากจะเรียนรู้ เขาก็จะได้เรียนรู้ แต่ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่กลุ่มที่อยากเรียนรู้ ความท้าทายอยู่ที่กลุ่มที่ไม่อยากจะเรียนรู้อะไรมากกว่า แต่ก็ยังโชคดีว่ากลุ่มที่ไม่อยากจะเรียนรู้อะไร เราคิดว่าไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่ในสังคม สังเกตได้จากเวลาเราวัดสถิติเรื่องของการอ่าน คนกลุ่มที่แบบขี้เกียจอ่าน กลุ่มที่ไม่อยากจะเรียนรู้ ก็ยังเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ใหญ่มากนัก แต่ก็เป็นกลุ่มที่เราทิ้งไม่ได้
เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่ก็คือ ทำให้คนที่เขารักการเรียนรู้ เขาได้รับการต่อยอด เราเป็นตัวที่ช่วยเสริมเขา แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือกระตุ้นให้คนที่เขาไม่อยากเรียนรู้อะไรเขาอยากจะเรียนรู้ด้วย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ก็ผ่านกิจกรรม ทำเวิร์กชอป ก็จะเป็นพื้นที่ที่เหมือนเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของความรู้”
‘Learning Space’ พื้นที่เรียนรู้ของคนทุกวัยที่ไม่หยุดไว้แค่การอ่าน
ในส่วนของพื้นที่ให้บริการของ TK Park ใจกลางกรุงเทพมหานคร บนชั้น 8 ของเซ็นทรัลเวิลด์ มีทั้งหมด 11 โซนด้วยกัน นอกจากพื้นที่ที่ให้บริการหยิบยืมหนังสือมาอ่านกันแล้ว ก็ยังมีพื้นที่การเรียนรู้ให้ได้ใช้สอยมากมาย มีทั้งโซนสำหรับเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน รวมไปถึงผู้สูงวัย ประกอบไปด้วย
ห้องสมุดมีชีวิต ให้บริการค้นคว้าข้อมูล แลกเปลี่ยนความรู้ ด้วยหนังสือและสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ วารสาร สื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ทั้งไทยและสากล และเกมสร้างสรรค์ต่างๆ
Mind Room จุดนัดพบเพื่อจุดประกายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ที่สนใจเรียนรู้ตามแนวทาง ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ เช่น สถาปัตยกรรม ศิลปะการแสดง แฟชั่น ภาพยนตร์ ดนตรี
ห้องเงียบ พื้นที่มุมสงบสำหรับผู้ที่ต้องการใช้สมาธิในการอ่านและการค้นคว้าหาข้อมูล สาระ ความรู้ จากหนังสืออ้างอิง
ห้องเด็ก เด็กๆ สามารถเรียนสนุกได้ในบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่เหมาะกับวัย ทั้งในสระน้ำความรู้ (Reading Pool) บ้านต้นไม้ และบันไดรักการอ่าน โดยมีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ที่น่าสนใจให้ได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน เช่น กิจกรรมฝึกทักษะการเรียนรู้แบบบูรณาการ พัฒนาสมองรูปแบบ Brain-Based Learning
ห้องสมุดดนตรี มุมสื่อสร้างสรรค์ทางดนตรีที่มีทั้ง หนังสือ, iPod, TK Music Library และเครื่องดนตรีให้ลองสัมผัส พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ได้ ร้อง เล่น ฟัง และค้นคว้าข้อมูลทางด้านดนตรีทุกประเภทจากทุกมุมโลก เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางด้านดนตรี
ศูนย์การเรียนรู้อเนกประสงค์ พื้นที่อเนกประสงค์สำหรับทุกการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการสัมมนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ รวมถึงการเรียนรู้เชิงสาระบันเทิง (Edutainment) ทั้งการแสดงดนตรี ละครเวที และศิลปะการแสดงแขนงต่างๆ
ห้องสมุดไอที พื้นที่สำหรับส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ด้านไอที พร้อมด้วยหนังสือและสื่อความรู้ IT ที่หลากหลาย รวมทั้งให้บริการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อการฝึกฝนทักษะด้านไอทีด้วยตนเอง
ลานสานฝันพื้นที่ เปิดกว้างสำหรับทุกวัย ในการแสดงความสามารถ ผลงาน ความคิด และกิจกรรมสร้างสรรค์ทุกประเภท ทั้งการร้องเพลง เล่นละคร การเต้นรำและสารพันกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อต่อยอดการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง พร้อมด้วยอุปกรณ์แสง เสียง ที่ได้มาตรฐาน
ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องจัดฉายภาพยนตร์ หนังสั้น แอนิเมชั่น เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ทักษะผ่านประสบการณ์จริงกับภาพยนตร์คุณภาพ ทั้งของไทยและต่างประเทศ และผลงานสร้างสรรค์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่โดยไร้ขีดจำกัดทางจินตนาการ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากรเพื่อเพิ่มพูนภูมิปัญญา
ศูนย์อบรมไอที พื้นที่ฝึกอบรมไอที ด้วยหลักสูตรการฝึกอบรมที่หลากหลายเปิดกว้างสำหรับเยาวชน บุคคลทั่วไป จนถึงผู้สูงอายุ เน้นการปฏิบัติจริงตั้งแต่การใช้งานคอมพิวเตอร์หรือการใช้งานอินเทอร์เน็ตขั้นพื้นฐาน จนถึงการทำแอนิเมชั่น
และ ซาวด์ รูม ห้องบันทึกเสียงมาตรฐานสากลในระบบดิจิทัล เพื่อรองรับการสร้างสรรค์สื่อคุณภาพหลากหลายประเภท เช่น ซ้อมดนตรี บันทึกเสียง ตลอดจนจัดทำหนังสือเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตา
“การเรียนรู้มันก็ต้องมีทั้งการอ่าน มานั่งทำงานร่วมกัน ได้ฝึกกระบวนการคิด แล้วก็ต้องมาทำอะไรสักอย่าง มา express (แสดงออก) ด้วย พื้นที่อย่างลานสานฝันเป็นพื้นที่ที่เขาจะได้มา express ตัวเอง ผ่านการแสดงต่างๆ อย่างเด็กจิ๋วก็จะมีการแสดงออกของพวกเขา ไปจนกระทั่งกลุ่มที่เป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งก็น่าจะเป็นกลุ่มของเยาวชนก็จะมีการแสดงออกที่เยอะหน่อย จัดดนตรี จัดสัมมนา จัดทอล์ก เวิร์กชอป ต่างๆ นานา”
‘ปั้นทักษะ ปลุกไอเดีย’ กับหลากหลายกิจกรรมกระตุ้นการเรียนรู้
ด้านกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ผอ.กิตติรัตน์ อธิบายว่าจัดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีธีม (Theme) ที่แตกต่างกันแต่จะครอบคลุมในทุกช่วงวัย โดยสำหรับวัยเด็กจะเน้นเรื่องของการเรียนรู้ เสริมสร้างพัฒนาการที่เหมาะสม กับ ‘กิจกรรมเล่านิทานผลิบาน’ ที่เป็นการเล่านิทานนานาชาติพร้อมเวิร์กชอป สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ จากวัสดุเหลือใช้ และ ‘กิจกรรม Play Matters’ ที่เปลี่ยนพื้นที่อุทยานการเรียนรู้ให้กลายเป็นพื้นที่เล่นที่มีมากกว่าความสนุก
สำหรับวัยรุ่น หรือวัยทำงาน เน้นในเรื่องการ Upskill หรือค้นหาแรงบันดาลใจ กับ ‘กิจกรรม TK Park เปิดตำราวิชา แนะให้แนว’ ที่เด็กๆ ค้นพบความถนัดและความสนใจ ก่อนเลือกเส้นทางอาชีพ และวางเป้าหมายชีวิตของตัวเองในอนาคต ‘กิจกรรมบอร์ดเกมคลับ TK Board Game Club’ กับการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนที่สนใจมาร่วมเรียนรู้และเล่นบอร์ดเกม พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมอง เรียนรู้ทักษะใหม่จากเกม ‘กิจกรรม TK Music Weekend’ ที่ส่งเสริมและเชื่อมโยงการเรียนรู้เกี่ยวกับดนตรี ในรูปแบบสาธิตงานดนตรีจากศิลปินมืออาชีพ พร้อมการพูดคุยให้ความรู้ทางด้านการสร้างสรรค์ผลงานดนตรี เทคนิคการร้อง การแต่งเพลง ประสบการณ์ด้านดนตรี เพื่อจุดประกายความฝันให้เด็กรุ่นใหม่ และสำหรับผู้สูงอายุ เน้นการให้ความรู้กับเรื่องของเทคโนโลยีในปัจจุบันกับ ‘กิจกรรม Digital Guide’ ที่แนะนำการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
ตัวอย่าง กิจกรรม TK Park เปิดตำราวิชา แนะให้แนว ตอน Into the Future ชวนเด็กมัธยมทั่วประเทศมาพัฒนาทักษะที่เหมือนจะไกลตัว มาทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ด้วยการฝึกทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ติดเครื่องมือ เติมทักษะ เตรียมพร้อมสู่โลกอนาคต กับนักจัดกระบวนการการเรียนรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ผ่านประสบการณ์ ด้วย 5 รูปแบบกิจกรรมออนไลน์สดๆ พร้อมกันทั่วประเทศ Talk, Workshop, Toolkit, Exhibition, Corner (https://www.facebook.com/NaaeHaiNaew)
“กลุ่มของคนทำงานและผู้สูงอายุ ก็มีอีกหลายกิจกรรมเข้ามาตอบโจทย์ อย่างเช่น กลุ่มของคนทำงานก็จะมีเวิร์กชอปที่เป็น Article เรื่องของงานเขียน ส่งเสริมการคิด ผู้สูงอายุก็จะมีเรื่องของ Digital literacy (ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล) เรื่องของการใช้โปรแกรมต่างๆ ให้เขารู้สึกว่าเขาสามารถที่จะคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและสามารถจะใช้งานได้ ก็มีอีกหลายกิจกรรมซึ่งไปกระตุ้นให้เขาเกิดการต่อยอดทางความคิดได้
แล้วกลุ่มผู้สูงอายุเราจะมีกลุ่มที่พูดคุยกันเรื่องประวัติศาสตร์ ย่านเมือง ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ให้เขาได้มารำลึกความหลัง ความทรงจำ แล้วก็ส่งต่อเรื่องราวเหล่านั้นให้คนอื่นด้วย คนรุ่นใหม่ก็สามารถที่จะเข้ามาฟัง แล้วบางเวิร์กชอปก็เป็นการบูรณาการ ซึ่งหลายๆ ครั้งเราก็จัดในพื้นที่นั้นๆ นะ อย่างที่บอกว่าทีเคเราทำต้นแบบแค่ที่นี่ที่เดียว แต่เราสเกลไปทั่วประเทศ แล้วเครือข่ายเราก็มีอยู่ทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการอ่าน คิด และลงมือทำ”
ขยายพื้นที่การเรียนรู้ ส่งเสริมระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด
นอกจากกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ทุกช่วงวัยแล้ว ทีเคปาร์คยังมีกิจกรรมที่สร้างพื้นที่การเรียนรู้ขยายไปทั่วประเทศอีกด้วย
“อย่างเช่นเราทำเรื่องของการใช้ Design Thinking ร่วมกับ UNDP (โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) แล้วก็ทาง Fab Cafe ด้วย เป็นการทำเวิร์กชอป ทำ Global Goals Jam ก็คือมีประเด็นทางสิ่งแวดล้อมแล้วก็ลงไปทำกับพื้นที่ เช่นเราไปทำกับพื้นที่กระบี่ เราก็เอาเด็กนักเรียนชั้นมัธยมมาร่วมกับกลุ่มคนที่เขาทำในประเด็นของการประมง ให้น้องๆ คิดว่าน่าจะมีประเด็นไหนที่เขาช่วยแก้ไขปัญหาได้ สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับชาวประมงอย่างนี้ นักเรียนก็มาคุยกับชาวประมง กับอบจ. คุยกับคนที่อยู่ในพื้นที่ แล้วมาสร้างโซลูชันใหม่ๆ ให้กับพื้นที่ โดยอาศัยพื้นที่ของทีเคพาร์คนี่แหละเป็นศูนย์กลางของการสร้างโอกาสใหม่ๆ ขึ้นมา อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราคิดว่า เราไม่ได้แค่ส่งเสริมเรื่องของการอ่านอย่างเดียว เราส่งเสริมเรื่องของการคิด การลงมือทำด้วย เป็น 3 อย่าง ที่เราพยายามผลักดันอยู่”
ในส่วนของกิจกรรม Global Goals Jam ที่ได้ร่วมมือกับ Fab Cafe เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการด้าน STEAM และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลเทคโนโลยี รวมทั้งร่วมกับ School of Change Maker พัฒนาทักษะโค้ชเพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับเยาวชนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อให้เยาวชนลงมือระดมความคิด และร่วมแก้ไขปัญหาที่ชุมชนตัวเองประสบอยู่ให้ได้อย่างยั่งยืน
“เราทำเรื่องของ Global Goals Jam ทำเรื่องของ Solution Lab เราทำหน้าที่เหมือนเป็น facilitator (ผู้นำกระบวนการเรียนรู้) ให้เขาคิดประเด็นมาแล้วเราช่วย facilitate (อำนวยความสะดวก) เอาประเด็นนี้มาสร้าง solution (วิธีการแก้) ร่วมกับน้องๆ ร่วมกับ สเต็กโฮลเดอร์ – Stakeholder (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ช่วยเชิญคน ช่วยหาองค์ประกอบมาให้ครบแล้วน้องๆ ก็สร้าง solution Idea ขึ้นมา น้องๆ มีการทดสอบไอเดียแล้วเอาไอเดียนี้ไปใช้ต่อ
คำว่า Solutions Lab ใช้ตั้งแต่ระดับปัญหาของน้องๆ ด้วยกันเอง บางทีปัญหาเรื่องของการบูลลี่ เรื่องของ Generation Gap ระหว่างผู้สูงอายุกับเด็ก จะหา Solution กันยังไงบ้าง
จนไปถึงเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่การเรียนรู้ อย่างที่เราใช้กระบวนการเดียวกันไปทำกับห้องสมุดประชาชนที่เชียงใหม่ เพราะว่าพอพูดถึงห้องสมุดมีเยอะแยะเลย แล้วห้องสมุดของทางภาครัฐเองไม่ได้มีแต่ทีเค มีห้องสมุดประชาชน ซึ่งเยอะกว่าเราอีก เราก็ไปกระตุ้นว่าถ้าเขาอยากจะเปลี่ยน ต้องทำยังไงบ้าง แล้วก็เข้าไปช่วยทำกระบวนการ อันนี้ร่วมกับหลายพาร์ทเนอร์มาก
พอทำกระบวนการได้มาซึ่งไอเดียแล้วก็ทดสอบไอเดีย อย่างเช่นตัวห้องสมุดทั่วๆ ไป ปกติเขาก็จะมีแต่หนังสือ ก็ไปให้เขาดูว่า คนในพื้นที่อยากจะเห็นอะไรอีกบ้าง อยากทำอะไรอีกบ้าง เช่น อยากทำเรื่องของการฉายหนัง เรื่องของกิจกรรมต่างๆ เราก็ facilitate ได้ไอเดียแล้วก็ทดสอบในพื้นที่ ส่งต่อไอเดียให้กับกศน. เอาไปศึกษาต่อ ทำความร่วมมือว่าเขาจะเอาไอเดียนี้ไปกระจายกับพื้นที่อื่นได้ยังไงบ้าง เพราะฉะนั้น อย่างที่บอกว่าเราส่งเสริมการอ่าน การคิด การลงมือทำ การอ่านก็ห้องสมุด การคิดก็ผ่าน solution Lab ผ่าน Global Goals Jam อะไรพวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำพวก workshop ต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นสิ่งหลักๆ ที่ทีเคพาร์คทำทุกวันนี้”
สำหรับผลลัพธ์จากการขยายตัวของ TK Park ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ มองว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่การเรียนรู้นี้มากขึ้น ทั้งการอ่านหนังสือ ร่วมเวิร์กชอป หรือใช้เป็น co-working space พื้นที่ทำงาน
“การที่เราขยายไปหลายๆ จังหวัด เราพยายามจะให้โลเคชั่นมันอยู่ใกล้โรงเรียนด้วยให้เด็กได้มาอ่านนั่งหนังสือ มาเล่นบอร์ดเกม ซึ่งบอร์ดเกมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กลุ่มวัยรุ่นก็ชอบกัน อย่างที่โคราชเด็กก็จะมาจับกลุ่มเล่นบอร์ดเกมเต็มเลย หรือบางทีเข้ามาใช้ WiFi บ้าง มารอพ่อแม่ มานั่งทำการบ้าน”
“หรือใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาเราก็ทำกิจกรรมสำหรับเด็กโตหน่อย ทำกิจกรรมอย่าง Human library ก็คือห้องสมุดมนุษย์ เป็นการกระตุ้นคนแทนที่จะเรียนรู้ในหนังสืออย่างเดียว แต่ได้เรียนรู้จากคนด้วยกัน ยิ่งคนที่มีความคิดต่างแล้วไปกระตุ้น แล้วก็เอา Know How ทางด้านการทำ Human library ว่า จะไปช่วยลดความขัดแย้งในพื้นที่ได้ยังไงบ้าง วิธีการที่ว่ามันคืออะไร ไปสอนผู้คนที่นั่น
เพราะฉะนั้นแล้วทีเคค่อนข้างที่จะมีความหลากหลาย กระตุ้นการเรียนรู้ของผู้คน ถ้าไม่อยากอ่านก็มาฟัง ไม่อยากฟังก็มาดู ไม่อยากดูก็มาทำ คือทำทุกสิ่งที่กระตุ้นให้คนอยากจะเรียนรู้
เราก็พยายามเอา know how ที่มันใช่ คนเขาอยากได้ เราก็เก็บข้อมูล จากการยืมหนังสือ จากที่เขา feedback กลับมาหาเรา หลายๆ ช่องทาง แล้วก็ดูว่าคนสนใจประเด็นเรื่องของอะไรบ้าง”
จากการขยายพื้นที่การเรียนรู้ของ TK Park นี้ ก็เพื่อเป้าหมายที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการเป็นต้นแบบสร้างให้ทุกพื้นที่คือ การเรียนรู้ เน้นการให้คนเกิดการใฝ่รู้ สนใจเรียนรู้ ตลอดทุกช่วงวัย
นอกจากจะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นมากกว่าห้องสมุดแล้ว ในส่วนของออนไลน์ ก็มีบริการ TK Read ห้องสมุดดิจิทัลสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่มีอีบุ๊กภาษาไทยจากสำนักพิมพ์ชั้นนำ, อีแมกกาซีน, หนังสือเสียง, และคอร์สออนไลน์ รวมถึง Libby, by Overdrive อีบุ๊กภาษาอังกฤษ และ Press Reader หนังสือและนิตยสารจากทั่วโลกให้บริการ
“ออนไลน์ อย่างแอปพลิเคชัน My TK เป็นการสมัครสมาชิก เพื่อเข้าสู่ฐานข้อมูลหนังสือเล่มที่มีอยู่ทั่วประเทศ เราพยายามจะเชื่อมโยง สมมติน้องอยากจะอ่านหนังสืออะไรก็ตามแต่ พอพิมพ์เข้าไป มันจะลิสต์ออกมาเลยว่าหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ยะลา กรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันตัวนี้ยังยืมได้แค่ที่กรุงเทพฯ เรากำลังทำระบบที่เชื่อมโยงการยืมไปทั่วประเทศเลย สามารถยืมจากที่ไหนก็ได้ นั่นหมายถึงว่าคนต่างจังหวัดเขาก็จะสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลหนังสือของทั่วประเทศได้
วิธีการก็คือเข้าไปจองหนังสือแล้วก็สั่งบุ๊กเดลิเวอรี่ได้ แล้วก็มีความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยทำให้ค่าส่งถูกลงหน่อย ตอนนี้เรากำลังทำการเชื่อมระบบไปทั่วประเทศ ก็จะเปรียบเสมือนเรามีห้องสมุดขนาดยักษ์ ซึ่งมีหนังสือเป็นล้านเล่ม เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีโควิดหรือไม่มีโควิด ถ้ายังรักการอ่าน รักการเรียนรู้ มาสมัครสมาชิกของทีเคก็สามารถที่จะเข้าถึงหนังสือทั้งหนังสือเล่มและอีบุ๊กได้อย่างง่ายดายครับ”
รวมทั้งได้ร่วมมือกับองค์กรภาคท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในการสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ในจังหวัดต่างๆ เปิดบริการไปแล้ว 31 แห่งใน 24 จังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งสนับสนุนการพัฒนาสื่อและการให้บริการในรูปแบบห้องสมุดชุมชน ร่วมกับหน่วยงาน อาทิ ห้องสมุดพร้อมปัญญา กรมราชทัณฑ์, ห้องสมุดมีชีวิตในค่ายทหาร 19 แห่ง สมาคมแม่บ้านทหารบก, ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี 103 แห่ง สังกัดสำนักงาน กศน., ห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียนในรูปแบบตู้คอนเทนเนอร์ 76 แห่ง ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง, ศูนย์การเรียนรู้ตำบล 200 แห่ง และ บ้านหนังสือ 15 แห่ง สังกัดกรุงเทพมหานคร
“แน่นอนว่าปลายทางเราก็อยากจะพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ศักยภาพคนไทย ให้เขาเก่งขึ้น มีศักยภาพในการทำอาชีพที่ดีขึ้น เรียนรู้ได้เร็วขึ้น ปรับตัวได้เก่งขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเอาต้นแบบนี้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพราะว่ามันเป็นการเรียนรู้แบบ Self-Learning อย่างหนึ่ง อย่างที่ว่าไปมันไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรมากมาย แล้วเราก็ทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบจ.) เทศบาล แล้วก็พาร์ทเนอร์อีกมากมายที่เป็นระดับตำบล ชุมชน หน่วยงานรัฐ หรือแม้กระทั่งเอกชน”
ล่าสุดทีเคพาร์คได้ขยายเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้เต็มรูปแบบจำนวน 31 แห่งในพื้นที่ 24 จังหวัดทั่วประเทศ และร่วมมือกับหน่วยงานภาคีพัฒนาแหล่งเรียนรู้ระดับชุมชนรวมกว่า 300 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์การเรียนรู้ในระดับตำบล 200 แห่ง ห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียนรวม 76 แห่งใน 76 จังหวัด และห้องสมุดมีชีวิตในค่ายทหาร 20 แห่ง ทั้งนี้ในโอกาสครบรอบ 17 ปี สถาบันอุทยานการเรียนรู้มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้แห่งอนาคต ตั้งเป้าดึงเทคโนโลยีในการให้บริการและผลักดันให้เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทย
“เราหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ของผู้คนได้ เพราะค่าใช้จ่ายมันน้อยมาก ยิ่ง TK Read นี่อ่านฟรีเลย แค่บางเล่มคิวยาวหน่อย เราหวังว่าจะช่วยให้คนไทยรักการเรียนรู้ และปรับตัวเข้ากับอุปสรรคใหม่ๆ Challenge (ความท้าทาย)ใหม่ๆ ที่เข้ามาในชีวิตเราได้” กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park กล่าวทิ้งท้าย