- ‘บรัดเล่ย์ เด็กเกเรหลังห้องเรียน’ เขียนโดย หลุยส์ ซัคเกอร์ แปลเป็นภาษาไทยโดย ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ บอกเล่าเรื่องราวของ ‘บรัดเล่ย์ ชอล์กเกอร์ส’ เด็กชายวัยประถม ผู้ได้ชื่อว่า เป็นเด็กที่มีคนเกลียดมากที่สุดในโรงเรียน เพราะเขาสร้างปัญหาไม่เว้นในแต่ละวัน
- เด็กที่สร้างปัญหาเหมือนบรัดเล่ย์ ล้วนมีสาเหตุซ่อนอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมก้าวร้าว พวกเขาไม่ได้ต้องการการลงโทษหรือการเพิกเฉย แต่ต้องการความเข้าใจ การยอมรับ การรับฟัง และโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
- ถ้าคุณอยากได้มิตรภาพ จงเริ่มต้นด้วยการให้ความรัก ไม่ใช่ความเกลียดชัง ถ้าคุณอยากเข้าใจคนอื่น จงรับฟังสิ่งที่เขาพูด อย่าด่วนตัดสินหรือชี้นำ และคนทุกคนล้วนมีสิ่งดีๆ อยู่ในตัว พยายามมองหาแล้วคุณจะมองเห็น
ในห้องเรียนทุกห้องของทุกโรงเรียน มีทั้งเด็กที่ตั้งใจเรียนและเด็กที่เกเรไม่สนใจเรียน อาจจะมีเด็กสักคนที่หัวดี นิสัยดี เป็นที่รักของครูและเพื่อนๆ ทุกคนในห้อง และแน่นอน จะต้องมีเด็กที่เกเร ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ได้เป็นที่รัก ทั้งของครูและเพื่อนๆ ในห้อง
แต่เชื่อเถอะครับ เด็กทุกคน ไม่มีใครอยากถูกเพื่อนๆ รังเกียจ ไม่มีใครอยากถูกครูว่ากล่าวตักเตือนหรือถูกลงโทษ ถ้าเลือกได้ ทุกคนล้วนอยากเป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ และคุณครู
บางครั้ง เด็กบางคนก็ทำตัวเกเร เป็นอันธพาลประจำห้อง อาจเพื่อสร้างเกราะกำบังไม่ให้คนอื่นมองเห็นความอ่อนแอ-เปราะบางของตัวเอง
เอาจริงๆ ก็ไม่ใช่แค่เด็กหรอกครับ ผู้ใหญ่หลายคนก็เป็นเช่นนั้น ดูจากเพื่อนของเราก็ได้ คนที่ทำตัวห่ามๆ หรือมีภาพลักษณ์ที่ดูก้าวร้าว มักจะเป็นคนแรกที่ร้องไห้เวลาพบเจอเรื่องสะเทือนใจ
ในหนังสือเรื่อง ‘บรัดเล่ย์ เด็กเกเรหลังห้องเรียน’ ซึ่งเขียนโดย หลุยส์ ซัคเกอร์ แปลเป็นภาษาไทยโดย ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ บอกเล่าเรื่องราวของบรัดเล่ย์ ชอล์กเกอร์ส เด็กชายวัยประถม ผู้ได้ชื่อว่า เป็นเด็กที่มีคนเกลียดมากที่สุดในโรงเรียน ซึ่งก็ไม่แปลกที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะบรัดเล่ย์สร้างปัญหาในโรงเรียนอยู่เสมอ ไม่สนใจสิ่งที่ครูสอน ไม่เคยทำการบ้าน อีกทั้งยังชอบรังแก แสดงนิสัยก้าวร้าวใส่เพื่อน
เราคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า เด็กซนคือเด็กฉลาด แต่หากเด็กที่ซนเกินไปจนถึงขั้นเป็นปัญหาของเพื่อนๆ ในห้อง และสร้างความหนักใจให้กับครู จะยังถูกนับเป็นเด็กฉลาดหรือเปล่า เรื่องนั้นอาจจะต้องถกกันอีกนาน แต่ที่แน่ๆ การที่เด็กคนหนึ่งทำตัวเป็นปัญหาตลอดเวลา ย่อมมีสาเหตุอะไรบางอย่าง
คำโปรยบนหน้าปกหนังสือเล่มนี้ เขียนไว้ว่า
“จริงๆ แล้ว เด็กที่สร้างปัญหาไปวันๆ อาจต้องการแค่ใครสักคนที่เข้าใจเขาเท่านั้นเอง”
แต่น่าเศร้าที่คนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่ครูหรือเพื่อนร่วมห้อง แต่ยังรวมถึงพ่อแม่และผู้ปกครองด้วย มักเลือกใช้วิธีที่พวกเขาคิดว่าง่ายกว่าในการรับมือกับเด็กที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการดุด่า ลงโทษให้หลาบจำ หรือท้ายสุด เพิกเฉยเหมือนเด็กคนนั้นไม่มีตัวตน
ในฉากแรกที่เปิดตัวบรัดเลย์ ทำให้เรามองเห็นภาพว่า เขาเป็นเด็กที่ถูกเกลียดชังมากแค่ไหน ด้วยคำบรรยายว่า
บรัดเล่ย์ ชอล์กเกอร์ส นั่งอยู่ที่โต๊ะตัวเองตรงหลังห้อง-เก้าอี้ตัวสุดท้าย แถวสุดท้าย ไม่มีใครนั่งข้างหน้าหรือข้างๆ เขา ดูแล้ว ราวกับว่าเขาเป็นเกาะ
ถ้าเลือกได้ เขาอยากจะนั่งในตู้เก็บของ แล้วเขาก็จะปิดประตู จะได้ไม่ต้องฟังครูเอ๊บเบลสอน เขาว่าครูคงไม่สนใจหรอก ครูอาจจะชอบเสียด้วยซ้ำ รวมทั้งคนอื่นๆ ในห้องด้วย ทุกคนคงจะมีความสุขมากขึ้นถ้าเขาเข้าไปนั่งในตู้เก็บของ
ในช่วงชีวิตวัยเรียน เราทุกคนย่อมเคยพบเห็นเพื่อนบางคนที่เป็นเด็กหลังห้อง หรือดีไม่ดี เราเองอาจเป็นเด็กหลังห้องด้วยก็ได้ ถึงกระนั้น เด็กหลังห้องทุกคนย่อมมีพวกพ้องเด็กเกเรนั่งอยู่ข้างๆ ช่วยกันส่งเสียงเอะอะโวยวายรบกวนการเรียนการสอน
ทว่า บรัดเล่ย์ คือ เด็กเกเรที่โดดเดี่ยวอย่างแท้จริง ทั้งครูเอ๊บเบลและเพื่อนร่วมห้อง ไม่รู้จะรับมือกับความเกเรของบรัดเล่ย์อย่างไร จึงเลือกใช้วิธีเพิกเฉย ไม่ใส่ใจ ทำราวกับเขาไม่มีตัวตนอยู่ในห้อง
น่าเศร้ามั้ยล่ะครับ…
ตอนที่เจฟฟ์ ฟิชกิ้น เด็กจากวอชิงตัน ดี.ซี. ที่เพิ่งย้ายมาเรียนในโรงเรียนเดียวกับบรัดเล่ย์ ครูเอ๊บเบล พยายามหาที่ให้เจฟฟ์นั่ง ซึ่งก็ไม่เหลือที่ว่างในห้องเลย ยกเว้นที่ข้างๆ บรัดเล่ย์ เด็กๆ ในห้องแย่งกันส่งเสียงทักท้วง ไม่ให้ครูส่งเพื่อนใหม่ไปนั่งใกล้ๆ บรัดเล่ย์ แต่สุดท้าย ด้วยข้อจำกัดเรื่องสถานที่ ครูเอ๊บเบลจำเป็นต้องให้เจฟฟ์ไปนั่งข้างๆ บรัดเล่ย์ แต่ก็ไม่วายพูดออกมาว่า
“ครูเสียใจนะ แต่ไม่มีโต๊ะตัวอื่นว่างแล้ว”
เจฟฟ์เป็นเด็กอัธยาศัยดี เขาพูดกับบรัดเล่ย์ว่า “ฉันไม่รังเกียจที่ต้องนั่งข้างนายหรอก จริงๆนะ” แต่บรัดเล่ย์ คิดอยู่สักครู่หนึ่ง ก่อนจะตอบกลับมาว่า “เอาเงินมาหนึ่งดอลลาร์ ไม่งั้นฉันถ่มน้ำลายใส่หน้านายแน่”
แม้ว่าจะเริ่มต้นอย่างตะกุกตะกัก และดูยังไม่เข้าใจกัน แต่นั่นคือ จุดเริ่มต้นแห่งมิตรภาพของเด็กทั้งสอง
บรัดเล่ย์ รู้ดีว่าเด็กๆ คนอื่นในห้องต่างรังเกียจเขา ในเมื่อทุกคนเกลียดเขา เขาก็เกลียดเด็กพวกนั้นเช่นกัน และนั่นทำให้บรัดเล่ย์ไม่เคยแยแสหรือใส่ใจว่า คนอื่นๆ จะคิดอย่างไรกับเขา
แต่ไม่ใช่กับเจฟฟ์ เพราะเจฟฟ์คือคนแรกที่พูดกับเขาว่า “ฉันไม่รังเกียจที่ต้องนั่งข้างนายหรอก จริงๆ นะ” และคำพูดนั้นฝังอยู่ในใจบรัดเล่ย์นับตั้งแต่วันแรกที่ทั้งคู่พบหน้ากัน
แน่นอนว่า การผูกมิตรกับเด็กที่ไม่เคยรู้จักมิตรภาพ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยที่สุด การแสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่ได้มีความรู้สึกรังเกียจกัน ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และน่าจะทำให้ทั้งสองฝ่ายเปิดใจให้กันได้ง่ายขึ้น
……………..
นอกจากเจฟฟ์แล้ว ตัวละครสำคัญที่เข้ามาช่วยให้บรัดเล่ย์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ก็คือ ครูคาร์ล่า เดวิส ครูสาวสวยที่เพิ่งย้ายเข้ามาทำงานในตำแหน่งครูที่ปรึกษาของโรงเรียน พร้อมภาพลักษณ์พี่สาวใจดี แตกต่างจากครูคนอื่นๆ
ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์เท่านั้น คาร์ล่ายังมีทัศนคติที่แตกต่างจากครูคนอื่นๆ ในโรงเรียน เธอเชื่อว่าหน้าที่ของการเป็นครูที่ปรึกษาไม่ใช่การสั่งสอน บอกกล่าว หรือชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม หากแต่เป็นการช่วยให้เด็กค้นพบวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง
ทุกครั้งที่มีเด็กมาพูดคุยในห้องครูที่ปรึกษา คาร์ล่า จะเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จัก เพื่อเป็นเพื่อนกับเด็กคนนั้น ด้วยการขอให้เด็กเรียกเธอว่า คาร์ล่า แทนที่จะเรียกว่าครูเดวิส
ที่สำคัญ คาร์ล่า ย้ำกับเด็กๆ เสมอว่า เธอไม่ใช่คนที่จะให้ความช่วยเหลือเด็กๆ แต่เพียงฝ่ายเดียว เธอเองก็ต้องการความช่วยเหลือจากเด็กๆเช่นกัน
ตอนที่บรัดเล่ย์ ถูกส่งมาพบครูที่ปรึกษา คาร์ล่าบอกกับบรัดเล่ย์ว่า
“ฉันยังหวังว่าเธอจะช่วยสอนอะไรให้ฉันด้วย”
“คุณเป็นครูนะ ไม่ใช่ผม” บรัดเล่ย์ ตอบกลับเสียงกระด้าง
“แล้วไงล่ะ ไม่เห็นเป็นไรเลย ครูสามารถเรียนรู้จากนักเรียน ได้มากกว่าที่นักเรียนจะเรียนรู้จากครูอีกนะ”
อีกสิ่งหนึ่ง ที่คาร์ล่าแตกต่างจากครูคนอื่นๆ คือ เธอเลือกที่จะรับฟังมากกว่าพูด ตั้งใจฟังทุกคำพูดของเด็กๆ แม้จะเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ เธอไม่เคยด่วนตัดสิน หรือพยายามยัดเยียดความคิดที่ถูกต้องแบบผู้ใหญ่ให้กับเด็ก เธอเพียงแค่รับฟังอย่างตั้งใจ
อ่านมาถึงตอนนี้ ผมเลยอดคิดไม่ได้ว่า การรับฟังต่างหาก คือหัวใจสำคัญของการสื่อสาร และเป็นขั้นตอนสำคัญที่นำไปสู่ความเข้าใจ ขณะที่หลายคนเน้นย้ำไปที่การพูด เพื่อพยายามถ่ายทอดสารที่ต้องการนำเสนอ จนหลงลืมไปว่า ถ้าไม่มีการรับฟังอย่างตั้งใจ เราจะรับรู้หรือเข้าใจสิ่งที่คนอื่นต้องการถ่ายทอดได้อย่างไร
จริงๆ แล้ว เด็กที่สร้างปัญหาไปวันๆ อาจต้องการแค่ใครสักคนที่เข้าใจเขาเท่านั้นเอง และคาร์ล่า เดวิส ครูที่ปรึกษา ผู้ดูเหมือนสาววัยรุ่นที่ไม่อยู่ในขนบของครูที่ดีตามแบบฉบับ ก็รู้ว่าหากเธอต้องการเข้าใจบรัดเล่ย์ เธอต้องเริ่มต้นด้วยการรับฟังทุกอย่างที่เขาพูด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่คนอื่นๆ อาจไม่เคยทำมาก่อน
ซึ่งทุกครั้งที่การพูดคุยกับครูที่ปรึกษาจบลง คาร์ล่าจะกล่าวขอบคุณเด็กๆทุกคนที่แบ่งปันเรื่องสนุกสนานให้แก่เธอ ก่อนจะยื่นมือออกไปเพื่อขอจับมือกับเด็กคนนั้น
แน่นอน เด็กเกเรอย่างบรัดเล่ย์สะดุ้งโหยง เพราะไม่คิดว่าครูจะพูดขอบคุณเขา แถมยังยื่นมือมาให้จับแบบเพื่อนอีก เขาไม่ตอบอะไร เอามือล้วงกระเป๋าแล้วก้าวออกจากห้องไป เพื่อแสดงให้ครูเห็นว่า เขาไม่แยแสหรอกที่ครูพยายามมาทำดีกับเขา
แต่พอพบกันบ่อยครั้ง บรัดเล่ย์เองต่างหาก ที่เป็นฝ่ายทวงถาม หากคาร์ล่าลืมพูดขอบคุณเมื่อการพูดคุยจบลง
ในการพูดคุยทุกครั้ง คาร์ล่าจะให้บรัดเล่ย์เป็นคนเลือกว่าอยากคุยกันในเรื่องอะไร (หรือกระทั่งไม่อยากคุยเลย เธอก็ยินดีที่จะนั่งเงียบๆ เป็นเพื่อนเขาจนหมดชั่วโมง) ซึ่งครั้งหนึ่ง บรัดเล่ย์เสนอหัวข้อพูดคุยเรื่องสัตว์ประหลาดจากต่างดาว
“ฉันคิดว่ายังมีดาวอีกนับพันล้านดวงเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ อีกนับหมื่นล้านชนิด บางชนิดอาจโง่มาก และบางชนิดอาจฉลาดกว่าเราก็ได้… แต่ฉันไม่คิดว่าสิ่งมีชีวิตต่างดาวเหล่านั้นเป็นสัตว์ประหลาดสักตัวเดียว”
“สักตัวเดียวก็ไม่หรือ”
“ใช่จ้ะ” คาร์ล่ายืนยัน “ฉันคิดว่าทุกคนมีความดีอยู่ในตัว ทุกคนสามารถจะมีความสุข เศร้า และเหงาได้
บางครั้งคนมักคิดว่า ใครอีกคนเป็นสัตว์ประหลาด นั่นเป็นเพราะพวกนั้นมองไม่เห็นความดีที่ซ่อนอยู่ในใจของคนๆ นั้น… พวกนั้นเรียกเขาว่าสัตว์ประหลาด คนอื่นๆ ก็เริ่มเรียกตาม หลังจากนั้นสักพักเขาก็เริ่มเชื่อคำพูดของคนพวกนั้น เขาเชื่อว่าตัวเองเป็นสัตว์ประหลาดจริงๆ”
บรัดเล่ย์วาดรูปสัตว์ประหลาดมีหัวใจสีแดง ซึ่งแทน ‘ความดี’ ในตัวสัตว์ประหลาด ที่รอให้คนมาเห็น แล้วเขาเอ่ยถามคลาร่าว่า สัตว์ประหลาดจะเลิกเป็นสัตว์ประหลาดได้อย่างไร
…………..
หนังสือเรื่อง บรัดเล่ย์ เด็กเกเรหลังห้องเรียน เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลต่างๆมากมาย รวมทั้ง Teacher’s Pick หรือหนังสือที่คุณครูแนะนำ ของเว็บไซต์ Amazon อีกทั้งยังเป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลจากการโหวตของผู้อ่านที่เป็นเด็กๆ
ต่อให้ได้รางวัลต่างๆ มากมาย แต่หนังสือเล่มนี้ก็คงปราศจากคุณค่า หากมันไม่ได้ช่วยให้เราเรียนรู้สิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจคนอื่น โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหา และสิ่งสำคัญที่ผมได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้ ก็คือ
ถ้าคุณอยากได้มิตรภาพ จงเริ่มต้นด้วยการให้ความรัก ไม่ใช่ความเกลียดชัง ถ้าคุณอยากเข้าใจคนอื่น จงรับฟังสิ่งที่เขาพูด อย่าด่วนตัดสินหรือชี้นำ และคนทุกคนล้วนมีสิ่งดีๆ อยู่ในตัว พยายามมองหาแล้วคุณจะมองเห็น
สุดท้าย คำถามที่บรัดเล่ย์ถามว่า สัตว์ประหลาดจะเลิกเป็นสัตว์ประหลาดได้อย่างไร ผมเชื่อว่า ทุกคนน่าจะค้นพบคำตอบแล้วล่ะครับ ถึงแม้จะไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็ตาม