- หนังสือ The Road หรือ ถนนสายอำมหิต ผลงานของ Cormac Mccarthy ที่อ่านจบแล้วอาจจะตั้งคำถามเดียวกับตัวละครว่า “พวกเรายังเป็นคนดีอยู่หรือเปล่า”
- หนังสือเล่าเรื่องราวชะตากรรมอันแสนหดหู่ของสองพ่อลูก และต้องกระเสือกกระสนเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด ในโลกที่กำลังจะถึงกาลอวสาน
- เด็กน้อยถือกำเนิดขึ้นหลังจากวันโลกาวินาศ เขาไม่รู้จัก ‘อารยธรรม’ ด้วยซ้ำ แต่แม้ ‘ความดี’ จะเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้และมองหาตัวอย่างแทบไม่เห็น แต่เด็กน้อยก็ยังเชื่อมั่นในความดีที่พ่อพร่ำสอน และให้ความดี เป็นแสงในใจ ในโลกที่มืดมนและโหดร้าย
“พวกเรายังเป็นคนดีอยู่หรือเปล่า” เด็กชายถาม
“แน่นอน พวกเรายังเป็นคนดี”
“และจะเป็นตลอดไป”
“ใช่ จะเป็นตลอดไป”
บทสนทนาสั้นๆ ของสองพ่อลูก อาจเป็นการสปอยล์ทางอ้อม ถึงเรื่องราวทั้งหมดในหนังสือเล่มเล็กๆ ที่มีชื่อว่า The Road ผลงานของ Cormac Mccarthy หรือ ถนนสายอำมหิต ในฉบับแปลไทยโดย นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์
แม้จะเป็นหนังสือเล่มเล็ก ความหนาเพียงไม่ถึง 260 หน้า แต่หลังจากที่อ่านจบแล้ว ผมเชื่อว่า คำถามเดียวกับที่ลูกชายถามพ่อว่า “พวกเรายังเป็นคนดีอยู่หรือเปล่า” จะค้างคาอยู่ในใจคุณไปอีกนานเท่านาน
(หมายเหตุ – บทความชิ้นนี้ มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องสำคัญของหนังสือ พูดง่ายๆ ว่า สปอยล์นั่นแหละครับ)
เรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งสักแห่งในโลกหลังการล่มสลายของอารยธรรม (ซึ่งไม่ได้มีการให้รายละเอียดว่าเกิดจากอะไร แต่มีหลายอย่างที่ชวนให้ตีความได้ว่า น่าจะเกิดจากสงครามนิวเคลียร์) โลกที่ผู้คนล้มตาย สรรพสัตว์และพันธุ์พืชล้มตาย บ้านเมืองล่มสลาย สีสันหายสาบสูญ และที่สำคัญ ‘ความดีงาม’ ก็ไม่หลงเหลือในโลกใบนี้
ในโลกที่สิ่งมีชีวิตหายากยิ่งกว่ายาก หากคุณอยากจะมีชีวิตรอด ก็มีเพียงแค่เก็บเมล็ดพืชแห้งค้างปี ขุดคุ้ยหาอาหารกระป๋องที่เล็ดรอดสายตาคนอื่น (แม้ว่าจะอยู่ในสภาพบุบบิบสนิมเขรอะ ไม่ต้องพูดถึงว่ามันผ่านพ้นวันหมดอายุไปกี่ปีแล้ว) หรือไม่ก็เข่นฆ่า-จับกินสิ่งมีชีวิตทุกตัวที่พบเห็น ไม่ว่าจะเป็นหมาสักตัว หรือแมวสักตัว
หรือแม้กระทั่งเด็กสักคน
การดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด ในโลกที่กำลังจะถึงกาลอวสาน จะมีใครสนใจอะไรกับสิ่งที่เรียกว่าความดีอีกหรือ
เด็กน้อยนิรนามในเรื่อง ถือกำเนิดขึ้นหลังจากวันโลกาวินาศ เขาจึงไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘อารยธรรม’ เขาแทบไม่เคยเห็นเด็กคนอื่นด้วยซ้ำ และแน่นอน เขาย่อมไม่เคยเห็นโลกในสภาพที่ยังงดงาม โลกที่ยังมีสีเขียวครึ้มของต้นไม้ โลกที่ยังมีนกขับขานบทเพลง โลกที่ยังมีผีเสื้อหลากสีโบยบินดอมดมดอกไม้
แต่เด็กน้อยก็รู้จักสิ่งเหล่านั้น เพราะพ่อของเขาเล่าให้เขาฟังอยู่เสมอ และที่สำคัญ พ่อของเขายังสอนให้เขารู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘ความดี’
สองพ่อลูกไร้นามในเรื่อง คือ ผู้อยู่รอดที่หลงเหลือเพียงน้อยนิด ทั้งคู่เดินเท้าไปตามถนนมุ่งลงใต้ โดยที่เป้าหมายที่เมืองริมฝั่งทะเล เพราะเชื่อว่า ที่นั่นจะอบอุ่นกว่า ที่นั่นน่าจะมีอาหารมากกว่า และที่นั่นอาจจะมีผู้อยู่รอดมากกว่า
ทั้งหมดนั้น อาจเป็นแค่ความเชื่อ อาจเป็นแค่ความหวัง แต่มันก็เป็นพลังที่พาให้ทั้งคู่ยังก้าวเท้าย่ำเดินต่อไปได้ พร้อมกับลมหายใจที่รวยรินริบหรี่ลงทุกวัน
“เราจะไม่เป็นไรใช่ไหมพ่อ”
“ใช่ เราจะไม่เป็นไร”
“จะไม่มีเรื่องร้ายๆเกิดกับเราใช่ไหม”
“ไม่มีหรอก”
“เพราะเรามีแสงในใจ”
“ใช่ เพราะเรามีแสงในใจ”
แสงในใจที่พ่อตอกย้ำพร่ำบอกลูกอยู่บ่อยๆ คือ ‘ความดี’ ซึ่งแทบจะกลายเป็นเรื่องเล่าขานที่ไม่มีอยู่จริง โดยเฉพาะในโลกที่ทุกผู้คนที่พบเจอ พร้อมจะเข่นฆ่ากันเพื่อความอยู่รอด พร้อมจะเข่นฆ่ากันเพื่อกินอีกฝ่ายเป็นอาหาร
แม้ว่าความดีจะเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้และมองหาตัวอย่างแทบไม่เห็น แต่เด็กน้อยก็ยังเชื่อมั่นในความดีที่พ่อพร่ำสอน และให้ความดี (หรือความเชื่อในความดี) เป็นแสงในใจ ที่ฉานฉายส่องนำทางในโลกที่มืดมนและโหดร้าย
“เราจะไม่กินใครใช่ไหม”
“แน่นอนอยู่แล้ว”
“ต่อให้หิวโซแค่ไหน”
“เราจะไม่กินคน… หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่กิน”
“เพราะเราเป็นคนดี”
“ใช่”
“และเรามีแสงในใจ”
“เรามีแสงในใจ ใช่”
งานเขียนของคอร์แมค แมคคาร์ธี ใช้ถ้อยคำที่เรียบง่าย สั้นกระชับ หากงดงามราวบทกวีไฮกุ ทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ไปด้วย เหมือนเราเดินทางไปสองพ่อลูกไร้นาม ท่องไปบนถนนที่รกร้างไร้ผู้คน ไร้สิ่งมีชีวิต มีแค่เพียงความหนาวเหน็บ ที่พยายามจะพรากลมหายใจสุดท้ายไปจากเรา
หลายครั้งหลายตอน ที่หนังสือเล่มนี้พาเราพบเจอแต่ภาพชะตากรรมอันแสนหดหู่ของสองพ่อลูก จนชวนให้รู้สึกอึดอัด แต่พอถึงจุดๆ นั้น เรื่องราวในหนังสือจะพลิกผันคลี่คลาย พร้อมกับบทสนทนาที่ตอกย้ำให้เราระลึกขึ้นได้ว่า เรา-ซึ่งหมายถึงทั้งสองพ่อลูกและคนอ่านอย่างผม ยังไม่สิ้นหวังหรอก เพราะเรามีแสงในใจนี่นา
ในช่วงต้นเรื่อง หนังสือได้เท้าความถึงแม่เด็ก ซึ่งตัดสินใจฆ่าตัวตาย หลังจากสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับความหวังที่ริบหรี่ลงทุกวัน จนเธอมองว่า การจบชีวิตตัวเองเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด หากเทียบกับทางเลือกอื่น ที่มีแค่อดตาย หนาวตาย หรือถูกฆ่าตายเป็นอาหารของคนอื่น
ถึงตอนนี้ ผมอดคิดไม่ได้ว่า หากเราอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น เราจะเลือกทางใด ระหว่างการจบชีวิตตัวเองเสียตั้งแต่เนิ่นๆ หรือพยายามกระเสือกกระสนให้มีชีวิตรอดต่อไป ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่า จะรอดไปได้อีกกี่วัน หรืออาจจะพบจุดจบในสภาพที่เลวร้ายกว่าการฆ่าตัวตายหลายพันเท่า
และในตอนนั้น ผมก็อดคิดอีกไม่ได้ว่า หากในเรื่องนี้ ไม่มีตัวละครที่เป็นลูกชาย เหลือแค่พ่อเพียงคนเดียว เขาอาจตัดสินใจจบชีวิตตัวเองตั้งแต่ต้นเรื่องไปแล้ว
ใช่ครับ ในโลกของวรรณกรรม การมีตัวละครที่เป็นเด็ก คือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความหวัง ในโลกที่รกร้างไร้ชีวิต เด็กคนหนึ่ง คือ ตัวแทนของความหวังและความฝัน ถึงวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
แม้ว่าในเรื่อง จะมีหลายฉากหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่า บทบาทของพ่อคือผู้ปกป้องคุ้มครองลูก จนเผลอคิดไม่ได้ว่า หากไม่มีพ่อแล้ว เด็กชายจะอยู่รอดได้อย่างไร แต่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ จึงได้ตระหนักว่า แท้ที่จริงแล้ว ลูกชายต่างหาก ที่รับบทบาทผู้ปกป้องพ่อ ให้รอดพ้นจากความสิ้นหวังในชีวิต
ระหว่างการเดินทาง มีอยู่หลายฉากที่แสดงให้เห็นว่า นอกจากจะคอยปกป้องหัวใจของพ่อแล้ว เด็กชายนิรนามยังพยายามปกป้องผู้อื่นที่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นเด็กชายอีกคนหนึ่ง หมาจรจัด ชายแก่ใกล้ตาย หรือแม้กระทั่งโจรที่พยายามแย่งชิงข้าวของจากพวกเขา
“ช่วยเขาสิ พ่อ ช่วยเขาเถอะ… เดี๋ยวเขาก็ตายพอดี”
“ยังไงเขาก็ตายอยู่แล้ว”
“เขากลัวมาก พ่อ”
“ลูกไม่ใช่คนที่ต้องคอยห่วงไปหมดทุกเรื่องนี่นา
ใบหน้ามอมแมมนั้นเงยขึ้นทั้งน้ำตา “ใครว่า” เด็กชายตอบ “ผมนี่แหละคือคนที่ต้องห่วง”
ความเป็นห่วงเป็นใยผู้อื่นของเด็กน้อย หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า แสงในใจของเขา คือ สิ่งที่คอยนำทางให้ทั้งคู่ยังคงเดินต่อไปบนถนนสายอำมหิตที่เป็นชื่อเรื่อง
ยิ่งในวันที่ผู้เป็นพ่อ พลัดหลงทางสู่ความมืดมนในจิตใจ เด็กชายก็คอยเป็นแสงส่องนำทางให้เขากลับคืนมา ด้วยคำทักท้วงสั้นๆ ว่า ในเรื่องเล่าของพ่อ คนดีต้องช่วยเหลือคนอื่น แต่ทำไมในชีวิตจริง เราถึงไม่ยอมช่วยเหลือใครเลยล่ะ
สำหรับผู้เป็นพ่อ เรื่องเล่าอาจเป็นแค่คำปลอบประโลม เป็นเหมือนคำโกหกสีขาว ที่แค่ช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นความหดหู่โหดร้ายไปอีกวัน (ไม่ต่างจากคำโกหกของกุยโด ที่ช่วยให้โจชัว ลูกชายของเขา ผ่านพ้นคืนวันอันโหดเหี้ยมในค่ายกักกันนาซี ในภาพยนตร์เรื่อง Life Is Beautiful) แต่สำหรับลูกชายแล้ว ทุกเรื่องที่เขาได้ฟังจากพ่อ จะไม่เป็นแค่เรื่องเล่า หากเขาเชื่ออย่างจริงจัง และลงมือทำให้มันกลายเป็นเรื่องจริง
แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว เมื่อทั้งคู่ไปถึงเมืองชายทะเล ทุกอย่างก็ไม่เป็นไปอย่างที่คิด ไม่มีความอบอุ่น ไม่มีอาหาร ไม่มีคนดีที่เหลืออยู่ และที่เลวร้ายที่สุด ผู้เป็นพ่อกำลังจะสิ้นใจ โลกทั้งใบเหมือนกำลังจะดับมืดลง-แม้กระทั่งเด็กชายก็ยังนึกกังขา
“มันมีจริงหรือ ไอ้แสงในใจเนี่ย”
“มี”
“ไหนล่ะ มองไม่เห็นเลย”
“มีสิลูก อยู่ในตัวลูกไง อยู่ข้างในนั้นตลอด พ่อเห็น”
บทสนทนานั้น ทำให้ผมต้องวางหนังสือลง แล้วพยายามค้นหาแสงที่อยู่ในใจตัวเอง พร้อมสัญญาว่า จะรักษาแสงนั้นให้คงอยู่ต่อไป แม้จะริบหรี่ลงทุกทีก็ตาม