- หนังสือ The Last Lecture เขียนโดย แรนดี เพาช์ และเจฟฟรีย์ ซาสโลว์ แปลเป็นภาษาไทยโดย วนิษา เรซ (สำนักพิมพ์อมรินทร์ How to) เล่าถึงชีวิตจริงของแรนดี เพาช์ ศาสตราจารย์วัย 47 ปี แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้ายและมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกินหกเดือน เขาจึงใช้ช่วงเวลาสุดท้ายเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับครอบครัว รวมถึงตอบรับคำเชิญของมหาวิทยาลัยเพื่อขึ้นปาฐกถาครั้งสุดท้ายเพื่อย้ำเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิต
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คำถามไวรัลประเภท “เหตุการณ์อะไรที่ทำให้คุณตระหนักถึง…” ดูจะโด่งดังและชักชวนให้ใครหลายคนเข้าไปแสดงความเห็น ซึ่งหนึ่งในคำถามที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือคำถามที่ว่า “เหตุการณ์อะไรที่ทำให้คุณตระหนักถึงความสำคัญของการมีชีวิต”
ท่ามกลางคอมเมนต์ ผมสังเกตว่าผู้คนมักให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการแชร์ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ ‘ความตาย’ โดยเฉพาะประสบการณ์ที่คนรักต้องจากไป หรือหากใครกำลังเผชิญกับโรคร้ายก็จะแชร์วิธีการรับมือกับความตายในแง่มุมต่างๆ จนผมรู้สึกว่า “…น่าเสียดายที่คนใกล้ตายมักเห็นคุณค่าของชีวิตมากกว่าคนทั่วไป…” และนั่นชวนให้ผมคิดถึงหนังสือเล่มล่าสุดที่เพิ่งอ่านจบ
หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า The Last Lecture บอกเล่าเรื่องจริงของ แรนดี เพาช์ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้าย แถมคุณหมอยังบอกด้วยว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้อีกราว 3 – 6 เดือนเท่านั้น
-1-
ตอนเขียนหนังสือเล่มนี้ แรนดี เพาช์ มีอายุ 47 ปี เขารู้ตัวดีว่าตัวเองจะไม่สามารถร่วมเฉลิมฉลองวันเกิดของภรรยาแสนรักและลูกๆ ในปีถัดไป…ยิ่งคิดแรนดีก็ยิ่งปวดใจ
หลังจากที่หมอแจ้งข่าวร้าย แรนดีรู้ดีว่าตัวเองมีทางเลือกอยู่สองทาง หนึ่งคือการปล่อยตัวเองให้จมอยู่กับความเศร้าไปจนตาย หรือสองคือการยอมรับความจริงอย่างมีสติและก้าวออกจากสนามชีวิตอย่างสง่างามที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าแรนดีเลือกอย่างหลัง ประกอบกับช่วงเวลานั้น แรนดี้ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนให้มาปาฐกถา ‘เลกเชอร์ครั้งสุดท้าย’ ทำให้แรนดีตระหนักถึงเป้าหมายสุดท้ายที่เขาอยากจะทิ้งทวนก่อนจากโลกนี้ไป
“การเลกเชอร์ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่คนหลายๆ คนที่ผมรักจะได้เห็นผมในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่…เป็นโอกาสที่ผมจะได้คิดจริงๆ ว่าอะไรที่มีความหมายที่สุดสำหรับผม ว่าจะผนึกให้ผู้คนจดจำผมในแบบไหน และได้ทำประโยชน์เท่าที่ผมจะสามารถทำได้ขณะที่กำลังจะจากไป”
ในการเลกเชอร์ครั้งสุดท้ายต่อหน้าผู้คนกว่าสี่ร้อยชีวิต แรนดีได้พูดถึงประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่เด็กจนปัจจุบัน โดยหัวข้อที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษคือเรื่องความฝันที่เขาเคยอยากเป็นนักอเมริกันฟุตบอล
แรนดีบอกว่าแม้ตัวเขาจะไม่สามารถก้าวสู่การเป็นนักอเมริกันฟุตบอลอาชีพได้ แต่การไล่ล่าความฝันอันล้มเหลวในครั้งนั้นกลับกลายเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิต เพราะเขาได้พบกับโค้ชร่างยักษ์ที่มีชื่อว่า จิม แกรห์ม
โค้ชแกรห์มเป็นผู้ฝึกสอนที่มีวิธีการสอนแหวกแนวไม่เหมือนใคร อย่างเช่นวันแรกของการฝึกซ้อม แทนที่โค้ชจะเอาลูกบอลมาแจกให้เด็กๆ ได้แสดงศักยภาพหรือทักษะเฉพาะตัว เขากลับมุ่งเน้นเรื่องทัศนคติของผู้เล่น
“มีคนกี่คนอยู่บนสนามฟุตบอลในหนึ่งเกมและมีกี่คนที่ได้จับลูกฟุตบอล…ดังนั้นเราจึงจะมาเรียนรู้สิ่งที่คนอีกยี่สิบเอ็ดคนจำเป็นต้องทำ” โค้ชแกรห์มกล่าว
ในการฝึกพื้นฐานอันเข้มข้น แรนดีดูจะเหนื่อยมากกว่าเพื่อนร่วมทีม เพราะนอกจากเขาจะตัวเล็กที่สุดแล้ว โค้ชก็มักเคี่ยวกรำเขาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการฝึกซ้อมท่าเดิมซ้ำๆ จนกว่าจะถูกใจ แถมหลังฝึกเขามักถูกทำโทษให้วิดพื้นจนผู้ช่วยโค้ชต้องเข้ามาปลอบใจ
“หลังจากที่ผมถูกปล่อยตัวในที่สุด ผู้ช่วยโค้ชคนหนึ่งเดินเข้ามาปลอบใจ “โค้ชแกรห์มเคี่ยวเธอหนักเลยสิวันนี้…นั่นเป็นสิ่งที่ดีมากนะ เมื่อเราทำอะไรพลาดและไม่มีใครเตือนเราเลย นั่นแปลว่าเขาหมดความหวังในตัวเราแล้ว” คำสอนนั้นติดอยู่ในหัวผมตลอดชีวิต เมื่อคุณพบว่าคุณทำอะไรพลาดทำอะไรไม่ได้เรื่อง และไม่มีใครเตือนคุณเลย นั่นไม่ใช่สถานการณ์ที่ดีสำหรับคุณ บางครั้งคุณอาจไม่อยากได้ยินคำติ แต่บ่อยไปที่คนที่ติเตียนคุณนั้น แท้จริงแล้วคือคนที่บอกว่าเขายังรักคุณนะ เขายังเป็นห่วงคุณอยู่ และเขาอยากช่วยให้ชีวิตคุณดีขึ้น” แรนดี กล่าว
พอได้ฟังคำพูดของผู้ช่วยโค้ช แรนดีก็มุ่งมั่นทำตามคำสอนของโค้ชแกรห์ม และได้เรียนรู้ว่าถ้าฝึกหนักพอ สิ่งที่เขาทำไม่ได้ในวันนี้ก็จะทำได้ในวันพรุ่งนี้ และเมื่อเขาสามารถทำตามคำสั่งของโค้ชได้ เขาก็สัมผัสถึงความภาคภูมิใจในตัวเอง
“ปัจจุบันคนชอบพูดถึงการให้ความเชื่อมั่นในตัวเองแก่เด็กๆ แต่นี่มิใช่สิ่งที่ใครมอบให้แก่กันได้ มันเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องสร้างเอง โค้ชแกรห์มสอนเราในสถานการณ์ที่ไม่มีการเอาอกเอาใจ เรื่องความเชื่อมั่นในตัวเองน่ะหรือ โค้ชรู้ดีว่ามีเพียงวิธีเดียวที่จะสอนให้เด็กๆ พัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง นั่นคือมอบภารกิจอะไรสักอย่างที่เด็กทำไม่ได้ และให้เด็กๆ ฝึกฝนอย่างหนักจนเขาทำได้ และคุณก็มอบภารกิจใหม่ไปเรื่อยๆ”
ในฐานะที่ตอนเด็กๆ ผมเคยมีความฝันอยากเป็นนักบาสเกตบอลทีมชาติ ผมรู้สึกเห็นด้วยกับบทเรียนที่แรนดีได้รับจากโค้ชของเขา เพราะสิ่งที่มากกว่าทักษะทางด้านกีฬา คือทัศนคติที่ดีและทักษะชีวิต เช่น การมีวินัย การมีน้ำใจนักกีฬา การทำงานเป็นทีม และการรู้จักอดทนอดกลั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21
-2-
นอกจากประสบการณ์เรื่องอเมริกันฟุตบอล ผมถูกใจกับหัวข้อที่แรนดีพูดถึงวิธีการใช้ชีวิตที่เขาทดลองแล้วได้ผลกว่า 30 หัวข้อ โดยผมขอเลือกสองหัวข้อที่ชื่นชอบที่สุด
หัวข้อแรกคือเรื่อง ‘อย่าบ่นและจงทำงานให้หนักขึ้น’ โดยแรนดีพูดถึงนักกีฬาคนโปรดตลอดกาลอย่าง แจ๊คกี้ โรบินสัน (1919-1972) นักเบสบอลอาชีพผิวสีคนแรกในอเมริกา เขาต้องอดทนกับการถูกเหยียดผิวในยุคที่สังคมมองว่า ‘คนขาวคือชนชั้นสูง ส่วนพวกผิวสีคือชนชั้นทาส’
“เขารู้ว่าเขาต้องเล่นให้เก่งกว่าคนผิวขาว และเขารู้ว่าต้องฝึกให้หนักกว่า นั่นคือสิ่งที่เขาทำ เขาตั้งปฏิญาณที่จะไม่บ่น แม้คนดูจะถ่มน้ำลายใส่เขาก็ตาม
ผมเคยมีภาพของแจ๊คกี้ โรบินสัน แขวนไว้ในห้องทำงาน…สิ่งที่สอนใจจากเรื่องราวของพวกเขาคือการพร่ำบ่นไม่ใช่กลยทุธ์ที่ดี เราทุกคนมีเวลาและพลังงานที่จำกัด เวลาที่เราใช้ไปในการตีโพยตีพายนั้นไม่ช่วยให้เราก้าวไปสู่เป้าหมายได้ และก็ไม่ทำให้เรามีความสุขขึ้นด้วย…ผมเชื่อว่าหากเราเอาพลังงานแค่หนึ่งในสิบที่ใช้ไปในการบ่นมาแก้ปัญหา เราจะพบว่าเรื่องราวต่างๆ ออกมาดีอย่างไม่น่าเชื่อ” แรนดีพูดถึงไอดอลของเขา
เรื่องถัดมาคือ ‘การขอโทษที่ไม่เต็มใจแย่กว่าไม่ขอโทษเสียอีก’ ส่วนตัวผมรู้สึกชื่นชอบชื่อของหัวข้อนี้มาก อาจเป็นเพราะการขอโทษที่ผมได้รับส่วนมากมักจะเป็นคำขอโทษประเภท “เราขอโทษนะแต่…” ซึ่งฟังแล้วให้ความรู้สึกแก้ตัวมากกว่าการขอโทษและรู้สึกผิดจริงๆ
แรนดีมองว่าการขอโทษไม่ใช่เรื่องของการสอบตกหรือสอบผ่าน และหากเปรียบการขอโทษกับเกรดนั้น การแสดงออกที่ต่ำกว่า A หมายความว่าเราทำได้ไม่ดีพอ
“การขอโทษที่ถูกต้องมีองค์ประกอบสามส่วน 1.สิ่งที่ฉันทำลงไปไม่ถูกต้อง 2.ฉันเสียใจมากที่ทำให้คุณเสียใจ 3.ฉันจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง แน่นอนว่าคนบางคนอาจจะเอาเปรียบคุณตอนที่คุณถามถึงข้อที่สาม แต่คนส่วนใหญ่จะซาบซึ้งที่คุณพยายามจะทำให้เรื่องราวดีขึ้น พวกเขาอาจแนะนำให้คุณแก้ไขในเรื่องเล็กๆ ง่ายๆ และบ่อยครั้งพวกเขาเองนั่นแหละที่จะช่วยลงมือทำให้ทุกอย่างดีขึ้น
นักศึกษามักถามผมว่า “ถ้าหากเราขอโทษและอีกฝ่ายไม่ขอโทษกลับล่ะ” ผมก็จะบอกเขาว่า “นั่นไม่ใช่สิ่งที่พวกคุณสามารถควบคุมได้ ดังนั้นอย่าให้มันทำลายความตั้งใจของคุณ” ”
-3-
แม้การปาฐกถาทั้งหมดจะคล้ายกับการที่คนใกล้ตายคนหนึ่งมาแชร์เทคนิคการมีชีวิตที่ดี แต่แรนดีบอกว่าแท้จริงแล้วเขานำกลยทุธ์ ‘หันหัวหลอก’ ในอเมริกันฟุตบอลมาปรับใช้ โดยการหันหัวหลอกที่แรนดีพูดถึงมีอยู่สองประเภทคือการที่ผู้เล่นคนหนึ่งหันหน้าไปทางซ้ายเพื่อหลอกคู่ต่อสู้ว่าจะวิ่งไปทางนั้น แต่ความจริงแล้วเขาเตรียมจะวิ่งไปทางขวาต่างหาก ส่วนการหันหัวหลอกอีกประเภทคือการที่เราถูกสอนเรื่องหนึ่งแต่กลับไม่รู้ตัวว่าเรากำลังถูกสอน
แรนดีมีลูกน้อยสามคนคือ ‘ดีแลน’ ลูกชายคนโตวัยห้าขวบ ‘โลแกน’ ลูกคนกลางอายุสองขวบ และ ‘โคลอี้’ ลูกสาวคนสุดท้องวัยเพียง 1 ขวบ ดังนั้นสิ่งที่แรนดีสื่อว่าหันหัวหลอกคือการเลกเชอร์ครั้งสุดท้ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อผู้ฟังสี่ร้อยกว่าชีวิตเท่านั้น แต่รวมถึงลูกๆ ทั้งสามของเขา
“สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ก็คือว่าเวลาพ่อแม่สอนอะไรลูก แล้วถ้าเรื่องนั้นได้รับการยอมรับจากสังคมภายนอกด้วย มันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายนะ ถ้าผมสามารถทำให้กลุ่มผู้ฟังหัวเราะหรือปรบมือในเวลาที่เหมาะสม ก็อาจทำให้สิ่งที่ผมจะบอกลูกของผมมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น”
แรนดีมองว่าเมื่อเขาไม่สามารถเปลี่ยนไพ่ที่จั่วมาได้ เขาก็ควรบริหารการเล่นไพ่ที่มีอยู่ในมืออย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการเลกเชอร์ครั้งสุดท้ายจะเป็นดั่งตำราให้กับลูกๆ ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม หากไม่นับเรื่องการเลกเชอร์ครั้งสุดท้าย แรนดีได้ปรึกษาบรรดานักจิตวิทยา เพื่อนฝูง รวมถึงคนที่สูญเสียพ่อแม่ไปเมื่อพวกเขายังเล็ก ซึ่งทั้งหมดแนะนำให้แรนดีหาวิธีที่ทำให้เด็กๆ รู้ว่าพ่อนั้นรักพวกเขามากแค่ไหน เพราะเมื่อเด็กได้รู้ว่าพ่อแม่รักพวกเขามากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งทำให้พวกเขาสัมผัสถึงความรักของพ่อแม่ได้ดีเท่านั้น
“สิ่งที่เด็กๆ ต้องการเหนือสิ่งอื่นใด คือเขาจำเป็นต้องรู้ว่าพ่อแม่รักเขามาก และพ่อแม่ของเขาก็ไม่จำเป็นต้องมีชีวิตอยู่เพื่อให้เขารับรู้ข้อนี้…”
นอกจากนี้แรนดีได้รับคำแนะนำว่าเขาไม่ควรบอกลูกแค่ว่า “พ่อรักลูก” แต่ควรบอกเล่าถึงความทรงจำและความประทับใจพิเศษที่เขามีต่อลูกคนนั้นๆ ผ่านการถ่ายวิดีโอกับลูกๆ การเขียนบันทึก ซึ่งผมขอยกตัวอย่างจดหมายที่แรนดีเขียนไว้ให้กับดีแลนที่เป็นลูกคนโต
“ผมชื่นชมความรักและความสามารถในการเข้าใจผู้อื่นในตัวลูกคนนี้ ถ้าหากเด็กคนหนึ่งเจ็บปวด ดีแลนจะเดินเอาของเล่นหรือผ้าห่มไปให้เขา อีกคุณลักษณะหนึ่งที่ผมเห็นในตัวดีแลนก็คือ เขาเป็นคนช่างคิดช่างวิเคราะห์ไม่ต่างจากพ่อของเขาเลย เขารู้แล้วว่าคำถามนั้นสำคัญกว่าคำตอบ เด็กหลายคนจะถามว่า ‘ทำไม ทำไม ทำไม’ แต่กฎข้อหนึ่งในบ้านเราคือ คุณไม่มีสิทธิตั้งคำถามที่มีแค่คำเดียว ดีแลนเข้าใจแนวคิดนี้ดีมาก เขาชอบที่จะตั้งคำถามเต็มประโยค และความอยากรู้อยากเห็นของเขาโตเกินอายุอย่างมาก ผมยังจำได้ดีที่ครูอนุบาลของดีแลนบอกว่า ‘เวลาที่อยู่กับดีแลน คุณจะพบว่าตัวเองกำลังนึกคิดว่า ฉันอยากเห็นจังเลยว่าเด็กคนนี้จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แบบไหน’ …”
-4-
สิ่งที่ผมชื่นชมคือถึงแรนดีจะรักลูกมากแค่ไหน แต่เขากลับไม่มีความคิดที่จะชี้นำหรือบังคับให้ลูกเป็นในแบบที่เขาต้องการ
แรนดีบอกว่าการที่พ่อแม่กำหนดความฝันให้ลูกอาจจะหยุดยั้งการพัฒนาของลูกได้ โดยเฉพาะหากความฝันของพ่อแม่ไม่ใช่สิ่งที่ลูกต้องการ
“ผมมองเรื่องนี้ว่า หน้าที่ของพ่อแม่คือการสนับสนุนให้ลูกพัฒนาความสุขในการมีชีวิต และมีแรงกระตุ้นอย่างใหญ่หลวงที่จะก้าวไปตามความฝันของเขาเอง
สิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อแม่สามารถทำให้ได้ก็คือ การช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาเครื่องมือส่วนตัวขึ้นมาชุดหนึ่งสำหรับภารกิจทำความฝันให้เป็นจริง
จากการได้พบนักศึกษาจำนวนมากในชั้นเรียนที่ผมสอน ผมสังเกตว่าพ่อแม่สมัยนี้ไม่ตระหนักเลยว่าคำพูดของตัวเองมีอำนาจมากแค่ไหน แน่นอนว่าสิ่งนี้ต้องขึ้นอยู่กับอายุและความมั่นคงในตัวเองของเด็กด้วย แต่บางครั้งคำกล่าวโดยไม่ตั้งใจของพ่อแม่อาจทำให้เด็กรู้สึกเหมือนถูกกระแทกด้วยรถขุดดินคันโต…ชีวิตของเขาจะเป็นชีวิตของเขาเอง ผมแค่ขอให้ลูกๆ หาหนทางของตัวเองด้วยความกระตือรือร้นและความมุ่งมั่น ผมต้องการให้พวกเขารู้สึกว่าผมอยู่ตรงนั้นกับพวกเขาเสมอ ไม่ว่าเขาจะเลือกเส้นทางใดก็ตาม”