- The Holdovers (ฤดูหนาวนี้ไม่ไร้ไออุ่น) เป็นภาพยนตร์อเมริกันบอกเล่าเรื่องราวของครูพอลที่ถูกบังคับให้อยู่เวรในช่วงคริสต์มาสเพื่อดูแลนักเรียนจอมแสบอย่างแองกัสที่ถูกแม่ยกเลิกนัดกะทันหัน ขณะที่เพื่อนๆ ของเขาต่างออกไปเฉลิมฉลองกับครอบครัว
- แม้ครูพอลกับแองกัสจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาก่อน แต่ด้วยสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ทั้งคู่ใช้เวลาร่วมกัน คนสองวัยจึงค่อยๆ ทำความรู้จักกันใหม่อีกครั้งจนค้นพบตัวตนอีกด้านและภูมิหลังอันแสนเจ็บปวดของกันและกัน นำมาสู่มิตรภาพและการเยียวยาบาดแผลในอดีต
- The Holdovers กำกับโดย อเล็กซานเดอร์ เพย์น ที่เคยได้รับรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก Sideways และ The Descendants โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ส่งให้ ดาไวน์ จอย แรนดอล์ฟ (แมรี่) คว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ครั้งที่ 96
“เราไม่บอกกับเด็กที่ถูกทิ้งในวันคริสต์มาสว่าไม่มีใครต้องการเขา”
คำพูดของแมรี่ หัวหน้าเชฟของโรงเรียนบาร์ตันจากภาพยนตร์เรื่อง The Holdovers ปลุกให้ครูพอลได้สติและย้อนกลับมาทบทวนพฤติกรรมของตัวเองหลังจากที่เขาพลั้งปากต่อว่าลูกศิษย์ในวันสำคัญ
[*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์]
The Holdovers บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ครูพอล’ ครูวิชาอารยธรรมโบราณขี้หงุดหงิดแห่งโรงเรียนบาร์ตันที่ถูกบังคับให้อยู่เวรในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปี 1970 เพื่อดูแลเด็กนักเรียนจอมแสบอย่าง ‘แองกัส’ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากที่เขาถูกแม่ยกเลิกนัดกะทันหันเพื่อไปฮันนีมูนกับพ่อเลี้ยง โดยมี ‘แมรี่’ หัวหน้าเชฟที่เพิ่งสูญเสียลูกชายจากสงครามเวียดนามคอยดูแลเรื่องอาหารการกินของทั้งคู่
หากมองแองกัสผ่านสายตาของครูพอล เขาคือเด็กเรียนดีที่บ้านรวยแต่นิสัยเสีย โดยเฉพาะในคาบเรียนสุดท้ายก่อนหยุดคริสต์มาสที่มีการประกาศผลสอบ ปรากฏว่านักเรียนส่วนใหญ่ได้คะแนนไม่ดีนัก พวกเขาจึงอ้อนวอนครูพอลเพื่อขอสอบอีกครั้ง ครูพอลจึงแบ่งรับแบ่งสู้ด้วยการสอนบทเรียนใหม่เพื่อให้ทุกคนกลับมาสอบหลังวันหยุด ทว่าแองกัสที่ได้คะแนนดีที่สุดในห้องกลับช็อตฟีลทุกคนด้วยการขอให้ครูพอลยกเลิกชั้นเรียนเหมือนกับที่ครูส่วนใหญ่ทำ นั่นทำให้ครูพอลตอบโต้ด้วยการสั่งให้ทุกคนไปอ่านหนังสือเอาเอง
ฟากแองกัสเองก็มองว่าครูพอลคือผู้ใหญ่งี่เง่าใจร้ายที่บ้าอำนาจสุดๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่บีบบังคับ โดยเฉพาะการตัดไฟหลายจุดในโรงเรียน ทำให้ทั้งคู่ต้องมาหลบหนาวและใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่ออยู่ด้วยกัน ครูพอลยังคงสไตล์เผด็จการที่คอยกำหนดตารางชีวิตประจำวันให้แองกัสไล่ตั้งแต่การตื่นนอน การออกกำลังกายกลางหิมะ การรับประทานอาหาร และการอ่านหนังสือตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดโดยไม่มีการผ่อนผันใดๆ ทั้งสิ้น
ดังนั้นผมไม่จึงแปลกใจที่ช่วงต้นของภาพยนตร์ จอมแสบอย่างแองกัสจะพยายามท้าทายและแหกกฎเสมอ โดยเฉพาะการแอบใช้โทรศัพท์ในโรงเรียนเพื่อจองโรงแรมสักที่ ทำให้ครูพอลที่คอย ‘จับผิด’ ลูกศิษย์ตลอดเวลารู้สึกโกรธถึงขั้นสั่งกักบริเวณ
“ครูบอกว่าดูแลผมเหรอ ครูเป็นผู้คุมเรือนจำหรือพ่อบ้าน ไม่มีใครอยู่ที่นี่เลย โอเคไหม มีแค่คนขี้แพ้สองคนและแม่ผู้น่าสงสาร ดังนั้นหยุดไร้สาระเรื่องนี้สักที ครูเมินผม ผมก็จะเมินพวกคุณทั้งคู่ด้วย…การได้อยู่กับครูก็ไม่ต่างอะไรกับถูกลงโทษครั้งใหญ่”
แม้การพยายามแอบหนีออกนอกโรงเรียนจะเป็นเรื่องที่ผิดกฎระเบียบและดูอันตรายสำหรับเด็กมัธยม แต่ผมเข้าใจความรู้สึกของแองกัสดีว่าการเป็นนักเรียนคนเดียวที่ไม่ได้กลับบ้านในช่วงคริสต์มาสมันแย่แค่ไหน แถมยังต้องมาติดแหงกอยู่กับครูพอลที่เอาแต่บังคับและปฏิบัติตัวราวกับเป็น ‘หุ่นยนต์ตำรวจ’
จุดเปลี่ยนสำคัญของภาพยนตร์คือการที่ครูพอลพาลูกศิษย์กับแมรี่ไปปาร์ตี้คริสต์มาสที่บ้านเจ้าหน้าที่โรงเรียนคนหนึ่ง แต่ครูพอลกลับสั่งให้แองกัสกลับโรงเรียนเร็วกว่าที่คิด ทำให้แองกัสที่ปิ๊งเด็กสาวคนหนึ่งเข้าอย่างจังถึงขั้นหัวเสียและอดไม่ได้ที่จะตัดพ้อครูพอลว่า นี่เป็นสิ่งดีๆ สิ่งเดียวที่เขามีนับตั้งแต่ถูกกักตัว
“เธออยากให้ครูเตือนความจำเธออีกครั้งไหม มันไม่ใช่ความผิดครูที่เธอต้องติดอยู่ที่นี่ เธอคิดว่าครูอยากอยู่ดูแลเธอนักหรือไง ไม่เลย ครูคอยสวดภาวนาให้แม่ของเธอรับโทรศัพท์หรือให้พ่อของเธอนั่งเฮลิคอปเตอร์ เรือดำนำ้ หรือไม่ก็ขี่จานบินมารับเธอที่นี่”
สิ้นเสียงของครูพอล ผมสัมผัสได้ถึงสายตาที่ทั้งเจ็บปวดและเคว้งคว้างของแองกัส เพราะคำพูดของพอลไม่ต่างอะไรกับการจี้แผลใจของเด็กที่ถูกครอบครัวปฏิเสธในเทศกาลที่สำคัญที่สุดของปี เช่นเดียวกับแมรี่ที่ตระหนักว่าครั้งนี้ครูพอลใช้คำพูดแรงเกินไป เธอจึงตัดสินใจเตือนเขาด้วยน้ำเสียงจริงจัง
“เราไม่บอกกับเด็กที่ถูกทิ้งในวันคริสต์มาสว่าไม่มีใครต้องการเขา คุณเป็นบ้าอะไรของคุณเนี่ย”
ตกดึกคืนนั้น ครูพอลนอนทบทวนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตัวเองด้วยท่าทีสำนึกผิด ซึ่งผมมองว่าแม้ครูพอลจะเก่งวิชาการ แต่ที่ผ่านมาเขากลับเป็นได้แค่ ‘ผู้สอน’ ไม่ใช่ ‘ครู’ ของลูกศิษย์
หลังจากรู้ว่าตัวเองทำพลาดไป สิ่งที่ครูพอลตัดสินใจทำทันทีคือการปรับปรุงตัวให้เป็นคนที่มี Empathy มากขึ้นด้วยการทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างการตกแต่งต้นคริสต์มาสและปฏิบัติต่อเขาอย่างเป็นกันเอง เพื่อชดเชยความรู้สึกของการเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญกับครอบครัว ทั้งยังมอบของขวัญชิ้นสำคัญคือ การจัดทริปทัศนศึกษาที่เมืองบอสตันตามคำขอของแองกัส
ที่เมืองบอสตัน คนสองวัยได้ทำความรู้จักกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น แองกัสได้รู้ว่าครูพอลไม่ใช่คนใจร้ายอย่างที่เขาคิด แถมยังมีแผลใจเช่นเดียวกัน โดยตอนหนึ่งครูพอลผู้ซึ่งพร่ำสอนให้นักเรียนทุกคนพูดความจริง เขากลับโกหกเพื่อนคู่อริสมัยเป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ดที่บังเอิญเจอกันว่าตอนนี้เขาสอนหนังสือที่ต่างประเทศ
ซึ่งครูพอลสารภาพกับแองกัสภายหลังว่า แท้จริงแล้วเขาไม่มีวุฒิปริญญาตรีด้วยซ้ำ เพราะถูกกล่าวหาว่าขโมยผลงานวิทยานิพนธ์ของเพื่อนคนนี้ ทั้งที่เพื่อนต่างหากที่ขโมยผลงานของครูพอล แต่ด้วยความที่เพื่อนเป็นลูกของคนที่บริจาคเงินให้มหาวิทยาลัย ทำให้ครูพอลถูกไล่ออก แต่โชคดีที่ครูใหญ่คนก่อนของโรงเรียนบาร์ตันรับเขามาเป็นครู
ส่วนครูพอลเองก็เห็นตัวตนอีกด้านของแองกัส ผ่านฉากที่เขารู้ว่าแองกัสต้องการมาบอสตันเพราะอยากไปเยี่ยมพ่อที่โรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งระหว่างนั้นเขาก็พบว่าแองกัสเองก็กินยา ‘ลิเบรียม’ หรือยาที่ใช้รักษาความผิดปกติจากความวิตกกังวลเหมือนกัน ทำให้ครูพอลรู้สึกเห็นอกเห็นใจแองกัสมากขึ้น
ผมสังเกตว่าสายตาของครูพอลที่มองแองกัสเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะฉากสำคัญของเรื่องที่แองกัสสะอึกสะอื้นกลางร้านอาหารหลังเผยความกลัวในใจว่า สักวันเขาอาจกลายเป็นคนที่ป่วยทางจิตเหมือนพ่อ
“ไม่เลย แองกัส ฟังนะ เธอไม่ใช่พ่อของเธอ ไม่มีใครที่เป็นเหมือนพ่อตัวเองได้ ครูก็ไม่เหมือนพ่อ ไม่ว่าพ่อของครูจะพยายามยัดเยียดครูมากแค่ไหนก็ตาม
ครูพบว่าโลกใบนี้ขมขื่นและอยู่ยาก ดูเหมือนโลกก็รู้สึกแบบนี้กับครูเหมือนกัน ซึ่งครูคิดว่าเธอและครูต่างมีสิ่งนี้ แต่อย่าเข้าใจผิด เธอมีความท้าทาย เธอเป็นคนไม่ธรรมดา ก้าวร้าวและโกรธง่ายมากๆ แต่เธอไม่ใช่พ่อของเธอ เธอเป็นลูกผู้ชายที่เป็นตัวของเธอเอง ไม่สิ เธอเป็นแค่เด็ก เธอเพิ่งเริ่มต้นและเธอฉลาด เธอยังมีเวลาที่จะพลิกสถานการณ์
ชาวกรีกมีคำพูดว่าทุกๆ ก้าวที่คุณทำคือการหลีกเลี่ยงโชคชะตา สิ่งเหล่านี้คือขั้นตอนที่นำเธอไปสู่ชะตากรรมนั้น แต่นั่นเป็นเพียงแนวคิดวรรณกรรม เพราะในชีวิตจริง อดีตของเธอไม่ได้เป็นตัวกำหนดชะตากรรม”
หลังชมภาพยนตร์จบ ผมมีโอกาสได้อ่านความเห็นของ David Hemingson ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่าน Metro Philadelphia ซึ่งน่าจะเป็นบทสรุปว่าแท้จริงแล้วแก่นแท้ของภาพยนตร์เรื่องนี้คือความรักและความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
“แองกัสมีความลับที่น่าอับอาย โดยเฉพาะสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นความลับที่น่าอับอายของพ่อ ซึ่งเขากลัวว่ามันคือชะตากรรมของเขา(ในอนาคต)
แมรี่มีภาระที่ใหญ่ที่สุด เธอมีภาระที่คาดไม่ถึงจากการสูญเสียเคอร์ติส (ลูกชาย) และเธอไม่สามารถมูฟออนจากโรงเรียนนี้ไปได้เพราะมันเป็นที่สุดท้ายที่เธออยู่กับเขา ดังนั้นเธอจึงติดอยู่ที่นั่น
ส่วนพอลโกหกนักเรียนของเขามาตลอดอาชีพการงานของเขาเกี่ยวกับการเป็นนักวิชาการ ดังนั้นคนเหล่านี้แต่ละคนจึงแตกสลาย ทั้งสามคนรักษาซึ่งกันและกันและตกหลุมรักกัน แต่ในลักษณะที่เป็นธรรมชาติและเหมาะสมกับเวลา ฉันพยายามอย่างมากที่จะไม่ไปไกลเกินไป แต่ไกลพอที่เราจะเข้าใจว่าทําไมพวกเขาถึงห่วงใยกัน และความผูกพันนั้นจะเปลี่ยนแปลงพวกเขาที่เหลือไปตลอดชีวิตได้อย่างไร”
สำหรับผม The Holdovers ถือเป็นตำราชีวิตอีกเล่มที่ย้ำเตือนว่า Don’t judge a book by its cover. หรืออย่าให้คุณค่าใครผ่านเปลือกที่เราเห็น เพราะในชีวิตจริงเราต่างเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ต่างคนต่างมีเรื่องราว มีปมปัญหา และมีสิ่งต่างๆ ที่ซุกซ่อนในใจมากมาย
บางทีถ้าเราลองมองลึกเข้าไปในใจของคนที่เราไม่ชอบ เราอาจค้นพบตัวตนอีกด้านที่อ่อนไหว บอบช้ำ และต้องการความเข้าอกเข้าใจจากใครสักคนเช่นเดียวกัน