- “ย่าบอกว่า เราไม่อาจรักอะไรที่เราไม่เข้าใจ เราไม่อาจรักคนหรือพระเจ้าได้ หากเราไม่เข้าใจคนผู้นั้น ไม่เข้าใจพระเจ้า“
- ลิตเติลทรี (The Education of Little Tree) หนึ่งใน 50 วรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยม แต่งโดย ฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์ (Forrest Carter) เป็นเสมือนอัตชีวประวัติวัยเด็กของผู้แต่งที่มีสายเลือดอินเดียนแดง เล่าเรื่องราวของ ลิตเติลทรี ที่อาศัยอยู่กับปู่เป็นลูกครึ่งสก็อต – เชโรกี และย่าผู้เป็นชนเผ่าเชโรกีเต็มตัว
- แม้ว่าเรื่องราวของลิตเติลทรีจะทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสวิถีชีวิตคนชนเผ่า แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนได้ค้นพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นจากจินตนาการล้วนๆ ส่วนคาร์เตอร์มีชื่อจริงว่า อาซา เอิร์ล คาร์เตอร์ (Asa Earl Carter) มีปูมหลังเคยเป็นสมาชิก Ku Klux Klan กลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงที่เชื่อว่า คนขาวเท่านั้นที่เป็นเผ่าพันธุ์บริสุทธิ์
จะมีวรรณกรรมเยาวชนสักกี่เรื่อง ที่ทำให้ผู้อ่านน้ำตาซึมแทบทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาอ่าน
จะมีวรรณกรรมเยาวชนสักกี่เรื่อง ที่สอดแทรกปรัชญาแง่คิดการใช้ชีวิตและความผูกพันระหว่างคนกับธรรมชาติได้อย่างบริสุทธิ์ใสซื่อ งดงาม และลึกซึ้ง
จะมีวรรณกรรมเยาวชนสักกี่เรื่อง ที่เขียนจั่วหัวว่าวรรณกรรมเยาวชนเผ่าเชโรกี ที่เป็นเหมือนอัตชีวประวัติวัยเด็กโดยผู้แต่งที่มีสายเลือดอินเดียนแดง
และจะมีวรรณกรรมเยาวชนสักกี่เรื่อง ที่ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในหนังสือยอดเยี่ยมของโลก ก่อนที่จะถูกหยิบลงจากชั้นหนังสือแนะนำลงไปตั้งกองกับพื้น หลังจากมีการขุดคุ้ยเรื่องราวชีวิตของผู้แต่ง ที่ต่างจากเรื่องราวในหนังสือราวฟ้ากับเหว
ผมกำลังพูดถึงวรรณกรรมเยาวชนที่มีชื่อว่า ลิตเติลทรี หรือ The Education of Little Tree ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน 50 วรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยม ที่เด็กทุกคนควรหามาอ่านก่อนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่
The Education of Little Tree เขียนโดย ฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์ (Forrest Carter) ส่วนฉบับภาษาไทย แปลโดย กรรณิการ์ พรมเสาร์ โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า ลิตเติลทรี พร้อมคำโปรยใต้ชื่อเรื่องว่า ‘วรรณกรรมเยาวชนเผ่าเชโรกี’
เชโรกี หรือ เชอโรคี (Cherokee) คือ ชนเผ่าอินเดียนแดงเผ่าหนึ่งในอเมริกา จัดเป็นหนึ่งในชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุด มีวัฒนธรรมสูงที่สุด รวมทั้งมีภูมิปัญญา ศรัทธาความเชื่อในเรื่องความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ระหว่างคนกับธรรมชาติ
เรื่องราวของลิตเติลทรี เป็นเหมือนบันทึกความทรงจำวัยเด็กของฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์ ผู้กลายเป็นเด็กกำพร้าทั้งพ่อและแม่ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ทำให้ต้องไปอาศัยอยู่ในหุบเขากลางป่ากับปู่และย่า ซึ่งเรียกเขาว่า ลิตเติลทรี
ลิตเติลทรีใช้ชีวิตอยู่กับปู่ ซึ่งเป็นลูกครึ่งสก็อต – เชโรกี และย่าผู้เป็นชนเผ่าเชโรกีเต็มตัว ท่ามกลางธรรมชาติบริสุทธิ์ หาเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่เล็กๆน้อยๆ แต่ก็มีธุรกิจหลัก คือ การต้มเหล้าข้าวโพดขายให้แก่ร้านขายของชำในเมือง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในขณะนั้น
การใช้ชีวิตในหุบเขาของหนูน้อยลิตเติลทรี นอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์อันอบอุ่น ระหว่างลิตเติลทรีกับปู่และย่าแล้ว ยังสอดแทรกแง่มุมปรัชญาชีวิตที่ลึกซึ้ง ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ คนกับคน คนขาวกับคนอินเดียนแดง และชาวคริสเตียนกับคนนอกศาสนา
โดยส่วนตัวแล้ว ตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบเป็นครั้งแรก ผมรู้สึกว่าลิตเติลทรี คือ บ้านเล็กในป่าใหญ่ ในเวอร์ชั่นชนพื้นเมืองอินเดียนแดง ทั้งสไตล์การเล่าเรื่องแบบเรียบง่าย กึ่งบันทึกความทรงจำวัยเด็ก บวกกับฉากหลังของเรื่องที่แม้ว่าจะไม่ใช่ยุคเดียวกัน แต่ก็ไม่ห่างจากกันมาก เพราะยังเป็นช่วงเวลาที่ยังมีการบุกเบิกจับจองที่ดินในแดนเถื่อน ที่ยังมีตัวละครชนพื้นเมืองอินเดียนแดงเป็นตัวละครหลัก
อย่างไรก็ดี ลิตเติลทรี มีแง่คิดที่ผู้อ่านพบเจอได้ชัดเจนกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะแง่คิดเหล่านั้น มาจากวิถีภูมิปัญญาแบบชนพื้นเมืองที่อิงกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ซึ่งแตกต่างจากวิถีชีวิตของคนเมืองอย่างชัดเจน
ในตอนที่ปู่พาลิตเติลทรีเข้าไปในป่าเพื่อวางกับดักล่าสัตว์เป็นอาหาร ปู่บอกกับเด็กน้อยด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า
“จงเอาเท่าที่จำเป็น เมื่อเจ้าล่ากวาง จงอย่าเลือกตัวที่ดีที่สุด ให้เลือกตัวที่เล็กและเชื่องช้า เพื่อกวางเหล่านี้จะได้เติบโตแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ และมีเนื้อให้เรากินสม่ำเสมอ เสือดำปาโก้รู้กฎข้อนี้ดี หลานเองก็จงจำไว้” แล้วปู่ก็หัวเราะ “แต่เจ้าผึ้งทีบิเท่านั้น ที่เก็บสะสมไว้มากกว่าที่มันจะใช้หมด…มันก็เลยถูกหมีกับแรคคูนและเชโรกีขโมย คนที่สั่งสมและปรนเปรอตัวเองมากกว่าที่จะแบ่งปันผู้อื่นก็เหมือนกัน พวกนี้จะถูกช่วงชิงเป็นเหตุให้เกิดสงคราม….”
แม้ว่าจะอ่านหนังสือไม่ออก แต่ปู่ก็รักหนังสือและมักจะหยิบยืมหนังสือจากห้องสมุดมาให้ย่าอ่านให้ปู่กับลิตเติลทรีฟังเป็นประจำ ซึ่งหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือของเชคสเปียร์ หรือไม่ก็ประวัติศาสตร์ของประเทศอเมริกา
แต่ถึงอย่างนั้น ปู่ก็มักจะมีปัญหาในเรื่องถ้อยคำ โดยปู่บอกว่า ถ้ามีคำน้อยลง ในโลกนี้คงไม่มีปัญหามากเท่านี้ และปู่เห็นว่า สิ่งที่สำคัญกว่าถ้อยคำที่พูด ก็คือ เสียง (หรือน้ำเสียง) ที่ทำให้คนฟังรู้สึกได้ เช่นเดียวกับการฟังเสียงดนตรี
พูดถึงเรื่องถ้อยคำแล้ว มีอยู่ตอนหนึ่งที่ผมชอบมาก ก็คือเวลาที่ปู่บอกรักย่า จะใช้คำว่า I kin ye ซึ่งคำว่า kin แปลว่า ญาติพี่น้อง แต่สำหรับปู่กับย่าแล้ว คำนี้ยังแปลว่าเข้าใจอีกด้วย ดังนั้น เมื่อปู่กับย่ามีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ปู่กับย่าจึงมีความรัก
ย่าบอกว่า เราไม่อาจรักอะไรที่เราไม่เข้าใจ เราไม่อาจรักคนหรือพระเจ้าได้ หากเราไม่เข้าใจคนผู้นั้น ไม่เข้าใจพระเจ้า
แม้ว่าเรื่องราวของลิตเติลทรี จะสอดแทรกแง่มุมดีๆ ของชีวิต แต่ก็ยังมีอีกหลายด้านของชีวิตที่ถูกนำมาตีแผ่ เสียดสี อย่างเจ็บแสบ และทำให้เราอดหัวเราะออกมาไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องราวของนักการเมือง นักเทศน์ หรือแม้กระทั่งสาธุคุณผู้นำศาสนา ซึ่งดูจะกลายเป็นตัวร้ายที่น่ารังเกียจในหนังสือเล่มนี้
เรื่องราวอันแสนน่ารัก ใสซื่อ และแฝงด้วยแง่คิดต่างๆ มากมาย ทำให้ลิตเติลทรี กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับของ New York Times Best Seller List คว้ารางวัลหนังสือยอดเยี่ยม Abby Award Winner ในปี 1991 รวมทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยม 50 เล่ม ที่เด็กควรอ่านก่อนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่
โอปราห์ วินฟรีย์ นักแสดงและพิธีชื่อดัง ผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสตรีผู้ทรงอิทธิพลของโลก ยกย่องหนังสือเล่มนี้ว่ามีคุณค่าทางจิตวิญญาณอย่างยิ่ง ในช่วงแนะนำหนังสือเมื่อปี 1994
ทว่า ในอีก 13 ปีต่อมา โอปราห์ วินฟรีย์ ประกาศว่าเธอขอถอดหนังสือเล่มนี้ออกจากหนังสือแนะนำ และพูดว่าเธอทนให้หนังสือเล่มนี้ อยู่บนชั้นหนังสือในบ้านของเธอไม่ได้อีกต่อไป
เกิดอะไรขึ้นกับวรรณกรรมเยาวชนคนดีเล่มนี้?
ในช่วงหลังจากที่หนังสือ ลิตเติลทรี ได้รับความนิยมอย่างสูง นักประวัติศาสตร์หลายคน ได้ค้นพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นบันทึกความทรงจำวัยเด็กอย่างที่ฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์ ผู้แต่งกล่าวอ้าง พูดง่ายๆ ว่า เป็นนิยายที่แต่งขึ้นจากจินตนาการล้วนๆ เพราะเมื่อค้นประวัติของคาร์เตอร์แล้ว ไม่เคยมีการระบุว่าเขากำพร้าพ่อหรือแม่แต่อย่างใด
สิ่งที่ชวนอึ้งยิ่งกว่านั้น ก็คือ ฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์ มีชื่อจริงว่า อาซา เอิร์ล คาร์เตอร์ (Asa Earl Carter) ซึ่งมีปูมหลังเคยเป็นสมาชิก Ku Klux Klan ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงที่เชื่อว่า คนขาวเท่านั้นที่เป็นเผ่าพันธุ์บริสุทธิ์
อาซา เอิร์ล คาร์เตอร์ เคยทำงานด้านการเมือง โดยเป็นคนร่างสุนทรพจน์ให้กับ จอร์จ วอลเลซ (George Wallace) ผู้ว่าการรัฐอลาบามา โดยสุนทรพจน์ที่เขาร่างขึ้น สนับสนุนการแบ่งแยกเชื้อชาติอย่างชัดเจน และที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น เขาเคยก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง ที่แยกสาขามาจากกลุ่ม Ku Klux Klan โดยสมาชิกกลุ่มที่คาร์เตอร์ก่อตั้ง เคยก่อเหตุพยายามทำร้ายแนท คิง โคล (Nat King Cole) นักร้องเพลงแจ๊ซ ชาวอเมริกันแอฟริกัน รวมถึงลักพาตัวและทำร้ายร่างกายคนอเมริกันผิวสีจนบาดเจ็บสาหัส และแม้ว่าตัวคาร์เตอร์จะรอดพ้นข้อกล่าวหาในคดีนี้ แต่สมาชิกในกลุ่ม 4 ใน 6 คนที่ก่อเหตุ ก็ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง และต้องโทษจำคุก 20 ปี
หลังจากนั้นคาร์เตอร์ลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐอลาบามา ด้วยการชูนโยบายแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิวอย่างสุดโต่ง แต่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในพื้นที่ไม่มีใครสนับสนุนเรื่องนี้ ทำให้เขาได้คะแนนเสียงรั้งท้ายในการชิงชัย
สุดท้าย อาซา เอิร์ล คาร์เตอร์ เลิกเล่นการเมือง เปลี่ยนชื่อเป็น ฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์ และหันมาประกอบอาชีพนักเขียน และเขาไม่เคยยอมรับว่า ฟอร์เรสต์ คาร์เตอร์ และอาซา เอิร์ล คาร์เตอร์ คือ คนๆ เดียวกัน
ผมเพิ่งอ่านหนังสือลิตเติลทรี จบเป็นรอบที่ 3 และเป็นการหยิบมาอ่านครั้งแรก หลังจากที่ค้นพบข้อมูลอันน่าตกใจเกี่ยวกับตัวผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ ผมถามตัวเองว่า รู้สึกอย่างไรกับหนังสือเล่มนี้
มีนักวิจารณ์หนังสือหลายคนที่พยายามชี้ว่า หนังสือเรื่องลิตเติลทรีอาจเป็นความพยายามลบล้างความผิดในใจของคาร์เตอร์ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่เห็นด้วย และมองในทางตรงข้ามว่า สุดท้ายแล้วลิตเติลทรีก็เป็นแค่การกระทำอันเสแสร้งของคนที่เปื้อนเลือด ทั้งที่มือและหัวใจ
ผมยอมรับว่า ในการอ่านลิตเติลทรีครั้งล่าสุด ผมยังเสียน้ำตาให้กับความผูกพันอันแสนอบอุ่นของลิตเติลทรี กับปู่ ย่า และตัวละครอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวิลโลว์จอห์น หรือแม้กระทั่งหมาล่าเนื้ออย่างบลูบอยและริงเกอร์ และเมื่ออ่านจบแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังคงวางอยู่บนชั้นหนังสือของผม
แต่ถ้าถามว่า จะหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านซ้ำอีกครั้งหรือไม่ ผมก็ยังไม่มีคำตอบ