- The Catcher in the Rye หรือ จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใคร ร่วงหล่น อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง ความหยาบคาย และ ‘ความเฟก’ ของตัวละคร จนกลายเป็นหนังสือที่ถูกเก็บซ่อนให้พ้นจากสายตาของเด็กๆ มากที่สุดเล่มหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้มีความหมายมากกว่าที่เห็น
- บางทีพวกเราทุกคนก็ล้วนอยากจะเป็นใครที่คอยรับเด็กๆ ที่ร่วงหล่น หากพวกเขาไม่ได้หวาดกลัวว่ามันจะทำให้เด็กๆ ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวร่วงหล่นจากหน้าผา
- หากมีใครพบคนที่วิ่งออกมาจากท้องทุ่ง ก็เพียงแค่บอกเส้นทางที่ถูกต้องแก่พวกเขา ถ้าพวกเขาจะล้ม ก็ต้องปล่อยให้เขาล้ม และถ้าพวกเขาจะเติบโต ก็ต้องปล่อยให้พวกเติบโต
จินตนาการว่าคุณเป็นวัยรุ่นอายุสิบเจ็ดปี คุณอาศัยอยู่ในหอพักนักเรียน ห่างไกลจากบ้านและครอบครัวเป็นสิบๆ กิโลเมตร ไม่มีใครสามารถบังคับให้คุณทำอะไรได้ ไม่มีใครตามรังควานคุณได้ คุณครูจะไม่พูดกรอกหูให้คุณส่งการบ้านหรือทำคะแนนสอบให้ดีขึ้น เพราะว่าคุณเพิ่งจะถูกไล่ออก และพ่อแม่ของคุณจะไม่ดุด่าคุณสักคำ เพราะไม่มีโทรศัพท์มือถือในยุคห้าศูนย์ และต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจดหมายจะส่งไปถึงมือของพวกเขา ที่สำคัญคือคุณมีเงินที่เก็บออมเอาไว้อยู่ก้อนหนึ่ง
คุณมีอิสระมากเท่าที่จะมีได้ในโลกใบนี้ คุณจะทำอะไร? หรือคุณจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร? (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาก่อนหน้าที่จดหมายจากโรงเรียนจะส่งไปถึงบ้านของคุณ)
คุณจะไม่ไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุด ไม่ไปหาอาหารอร่อยๆ กินสักมื้อ ไม่ไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ เพื่อปลอบใจตัวเองที่โดนไล่ออก และเชื่อได้เลยว่า คุณคงจะไม่มานั่งพะวงเรื่องที่ว่าจะมีหรือไม่มีที่เรียนหรอก คุณจะไม่ทำอะไรพวกนี้หรอกถ้าคุณเป็นเด็กวัยรุ่นอายุสิบเจ็ดปี
คุณอาจจะไปผับสักแห่ง โกหกอายุของตัวเอง และพยายามจะสั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่คุณอาจจะไปมีเรื่องกับรูมเมตของคุณเป็นการอำลาส่งท้าย หรือบางทีคุณอาจจะไปหาเพื่อนสาวเพื่อนหนุ่มและพยายามจู๋จี๋กับพวกเขา
ก็ไหนๆ คุณก็ถูกไล่ออกจากโรงเรียนแล้วนี่ จะไปสนอะไรอีกล่ะ
คุณอาจจะทำสิ่งเหล่านี้หรือไม่ทำก็ได้ ผมไม่รู้หรอก แต่ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ โฮลเดน คอลฟีลด์ ตัวเอกในหนังสืออื้อฉาวเรื่อง The Catcher in the Rye เลือกที่จะทำในช่วงเวลาสองสามวันแห่งอิสรภาพ หากคุณอ่านเรื่องราวของเขา คุณคงจะได้รับข้อคิดสักสองสามข้อ แต่จะเป็นข้อคิดที่ดีหรือไม่ก็คงขึ้นอยู่กับตัวคุณ
The Catcher in the Rye หรือชื่อภาษาไทยคือ จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใคร ร่วงหล่น เป็นหนึ่งในนิยายจำพวกที่อาจจะทำให้คุณหงุดหงิดเล็กน้อยเวลาที่หยิบมันขึ้นมาดูในร้านหนังสือ เพราะที่ด้านหลังนั้นไม่มีเรื่องย่อเขียนเอาไว้แม้แต่ตัวเดียว (อย่างน้อยก็ไม่มีในฉบับภาษาไทยเล่มที่ผมอ่าน) ซึ่งผมคิดว่ามันก็ดีแล้วที่เป็นอย่างนั้น มันเป็นนิยายจำพวกที่ไม่มีเนื้อเรื่องย่อจะดีเสียกว่า เพราะถ้ามีคนคงจะไม่หยิบมันขึ้นมาอ่านแน่ๆ
หากต้องเขียนเรื่องย่อให้นิยายเล่มนี้ ผมก็ไม่รู้จะเขียนอย่างไรโดยไม่ให้มันคลุมเครือหรือน่าเบื่อ
โฮลเดน คอลฟีลด์ เพิ่งถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพนเซย์ ช่วงเวลาสองคืนอันยาวนานแห่งอิสรภาพในนิวยอร์กซิตี้ ถูกใช้ไปกับการหลีสาว ดื่มจนเมาหัวราน้ำและผลาญเงินไปกับอะไรต่อมิอะไรตั้งแต่ตั๋วละครเวทีไปจนถึงโสเภณี แต่เมื่อช่วงเวลานี้จบลง สิ่งที่เราทุกคนจะได้เรียนรู้นั้นอาจกลับเป็นสิ่งที่แสนล้ำค่าในชีวิตของคนๆ หนึ่ง
หากมีใครเขียนสรุปเรื่องย่อของหนังสือเล่มนี้ออกมาประมาณนี้ เชื่อว่า หลายๆ คน ไม่มีทางหยิบหนังสือที่ฟังดูน่าเบื่อ และโคตรจะเฟกแบบนี้แน่ (บางทีผมอาจจะทำให้คุณไม่อยากอ่านนิยายเล่มนี้แล้วก็ได้)
และที่น่าขำที่สุด แม้แต่ตัว โฮลเดน ตัวเอกในหนังสือเล่มนี้ ก็ไม่มีวันหยิบหนังสือที่มีเรื่องย่อแบบนี้ขึ้นมาอ่านแน่ เพราะสิ่งที่เขารังเกียจที่สุด ก็คือ ความเฟก ความดัดจริต เสแสร้งแกล้งวางท่า ซึ่งเจ้าตัวมองว่า ผู้ใหญ่หลายๆ คน (อาจเป็นส่วนใหญ่ด้วย) มักจะมีคุณสมบัติที่ว่านี้
ต้องสารภาพตามตรงว่า ครั้งแรกที่ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมรู้สึกว่าเนื้อหาของมันนั้นน่าเบื่อเสียส่วนใหญ่ โฮลเดนใช้เวลาเกือบทั้งหมดของเขาไปกับการตำหนิวิจารณ์ผู้คนที่เขารู้จัก สุงสิงกับผู้หญิงและพะวงว่าแฟนเก่าของเขาได้ไปมีเซ็กส์กับรูมเมตของเขารึเปล่า และมันคือเนื้อหาส่วนใหญ่ที่คุณจะได้อ่านในนิยายเล่มนี้
แม้แต่สิ่งที่ทำให้ผมสนใจนิยายเล่มนี้ตั้งแต่แรกซึ่งก็คือชื่อนิยายที่ฟังดูน่าสนใจ ความจริงแล้วก็เป็นแค่วรรคหนึ่งของบทกวีที่ว่า “ถ้าใครสักคนจะคอยรับใครอีกคนที่โผล่พ้นจากท้องทุ่ง” ซึ่งโฮลเดนบังเอิญไปได้ยินมาและเก็บมาคิดเป็นเรื่องราวไร้แก่นสาร
ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเนื้อหาบางส่วน บทสนทนาบางตอน และการพรรณนาบางครั้งบางคราวของโฮลเดนที่ยังคงเกาะติดอยู่กับผมหลังจากที่อ่านจบมานานกว่าหนึ่งปี
ต่างจากวรรณกรรมขึ้นหิ้งตลอดกาลอย่าง เจ้าชายน้อย ที่คุณจะเจอข้อคิดดีๆ จากแทบทุกหน้าของหนังสือ เพราะ The Catcher in the Rye คือหนังสือที่คุณต้องตั้งใจอ่านทุกๆ หน้า แล้วคุณจะพบว่า ตัวละครสักตัวในหนังสือ อาจจะพูดอะไรลึกซึ้งที่คุณสามารถขบคิดถึงความหมายของมันไปได้อีกนาน
อีกหนึ่งความแตกต่างที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ก็คือ มุมมองที่สังคมมีต่อนิยายทั้งสองเรื่องนี้ เจ้าชายน้อย เป็นหนึ่งในนิยายที่พ่อแม่และครูแทบทุกคนเห็นด้วยว่า เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ควรจะอ่านสักครั้งในชีวิต แต่ในทางกลับกัน The Catcher in the Rye เป็นหนังสือที่พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมาก เรียกร้องให้ถอดออกจากห้องสมุดของโรงเรียนหลายสิบครั้ง (นับเพียงแค่ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว) เหตุผลก็มีอยู่หลายข้อ เช่น การใช้ภาษาหยาบคาย ประเด็นต่างๆ ในเรื่องที่ผู้ปกครองเห็นว่าไม่เหมาะสม และที่สำคัญคือความกังวลที่ว่า นิยายเล่มนี้จะทำให้เยาวชนเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ไม่เอาไหน
สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ก็คือ หนึ่งในเนื้อหาสำคัญของหนังสือทั้งสองเล่ม (ที่ถูกสังคมให้คุณค่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง) กลับเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือ การเติบโตของคนๆ หนึ่ง และสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการเติบโตนั้น
โฮลเดนเป็นเด็กชายวัยรุ่นแบบที่พบได้ทั่วๆ ไป เขาไม่สนใจเรื่องการเรียนแม้แต่น้อย ตอนที่ถูกคุณครูวิชาประวัติศาสตร์ต่อว่าเรื่องผลการเรียนเขาก็เอาแต่พูดว่า “ครับๆ ผมเข้าใจดี” พยายามไม่ให้ครูของเขาอารมณ์เสียไปมากกว่านั้น แต่ในใจกลับคิดแต่เรื่องที่ว่าพวกเป็ดหายไปไหนในฤดูหนาวเมื่อทะเลสาบกลายเป็นน้ำแข็ง
หนึ่งในคำพูดติดปากของเขาคือการว่าใครต่อใครว่าเป็น “คนเฟกๆ” ไม่เป็นที่ชัดเจนนักว่าโฮลเดนจัดประเภทคนเฟกๆ ของเขาด้วยเกณฑ์อะไรบ้าง
หากคุณชอบถกเถียงเรื่องละครเวที คุณคือคนเฟกๆ หากคุณเขียนบทหนังให้ฮอลลีวูด คุณก็คือคนเฟกๆ และดูเหมือนว่าถ้าคุณเป็นคนที่มีกาลเทศะ คุณก็อาจจะเป็นคนเฟกๆ ได้เหมือนกัน
โฮลเดนเป็นคนเช่นนี้ เขาไม่ใช่ตัวเอกในนิยายที่มีเสน่ห์หรือน่านับถือ แต่เป็นหนึ่งในตัวละครที่เป็นมนุษย์ที่สุดเท่าที่ผมเคยอ่านมา
ในตอนหนึ่งของนิยายที่ดูจะไม่สลักสำคัญ โฮลเดนหวนระลึกถึงความทรงจำวัยเด็กของเขา เขานึกถึงพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่เขามักจะไปกับน้องสาวบ่อยๆ เขาคิดลอยๆ ขึ้นมาว่า
…สิ่งที่ดีที่สุดในพิพิธภัณฑ์นั้นคือทุกสิ่งทุกอย่างคงอยู่ในตำแหน่งเดิมของมันเสมอ ไม่มีใครขยับเขยื้อนไปไหนเลย คุณจะไปที่นั่นเป็นแสนๆ ครั้งก็ยังได้ สิ่งเดียวที่จะเปลี่ยนไปก็คือคุณนั่นเอง คุณจะเปลี่ยนไป ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง…
คำพรรณนาหนึ่งย่อหน้านี้เป็นคำใบ้ที่ทำให้ผมเริ่มมองนิยายเรื่องนี้เปลี่ยนไป และเมื่อกลับมาอ่านใหม่อีกรอบ อะไรๆ ก็เริ่มกระจ่างชัดขึ้นมา
The Catcher in the Rye เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง เหตุการณ์น่าเบื่อไร้แก่นสาร และตัวละครหยาบคายที่จะไม่ทำให้คุณเห็นใจพวกเขานัก
หากคุณตั้งใจอ่าน จะสังเกตได้ไม่ยากเลยว่าคนที่เฟกที่สุดในเรื่องนี้ ก็คือตัวโฮลเดนเอง ตลอดทั้งเรื่องเขาจะทำแต่สิ่งที่เด็กวัยเขาไม่ทำ หรือก็คือทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเขา ‘เป็นผู้ใหญ่’ มันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยเยาว์ ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความรับผิดชอบที่เขายังไม่พร้อมจะรับเอาไว้
อาจจะเป็นเพราะอย่างนี้ โฮลเดนถึงนึกภาพตัวเขายืนอยู่ที่ขอบหน้าผา คอยรับเด็กๆ นับพันคนที่ร่วงหล่นลงมาจากทุ่ง ถ้าหากว่า ‘การร่วงหล่น’ ของพวกเขาคือการเผชิญหน้ากับการเติบโตและโลกที่ไม่ใจดีกับพวกเขานัก ผู้ที่จะคอยรับพวกเขาไว้ไม่ให้ร่วงหล่นก็คือ ผู้ใหญ่ที่จะปกป้องเด็กๆ เหล่านั้น
และบางที พวกเราทุกคนก็ล้วนอยากจะเป็นใครที่คอยรับเด็กๆ ที่ร่วงหล่น ไม่เช่นนั้นพวกเขาคงไม่พยายามปิดซ่อนนิยายเล่มนี้จากสายตาของเยาวชน หากพวกเขาไม่ได้หวาดกลัวว่ามันจะทำให้เด็กๆ ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวร่วงหล่นจากหน้าผา
ไม่เช่นนั้น โฮลเดนคงจะไม่พยายามลบคำสบถที่ใครสักคนเขียนเอาไว้บนผนังโรงเรียนน้องสาวของเขา
และถ้าไม่ได้เป็นเช่นนั้น พวกคุณครูคงจะไม่คอยตักเตือนโฮลเดนถึงอนาคตของเขา หนึ่งในนั้นพูดกับเขาว่าหากเป็นแบบนี้ต่อไปตัวเขาจะร่วงหล่นลงไปเรื่อยๆ
บางทีเราอาจจะคิดว่า นิยามของการเป็นผู้ใหญ่ที่ดีคือ คนที่คอยปกป้องเด็กๆ จากความสกปรกของสังคม บางที การคอยรับใครเอาไว้ อาจจะทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าในฐานะผู้ที่เติบโตแล้ว เด็กๆ ควรจะได้วิ่งเล่นในท้องทุ่งโดยไม่ต้องรับรู้ถึงหุบเหวแสนอันตราย ที่วันหนึ่งพวกเขาจะต้องดำดิ่งลงไป
แต่บางที การทำอย่างนั้นอาจไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะความพยายามซ่อนอะไรไว้จากสายตาของใครก็ตาม ย่อมทำให้สิ่งนั้นยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น
หลักฐานก็คือ การที่คุณกำลังอ่านบทความเกี่ยวกับนิยายที่เคยถูกสังคมประนามว่าทำให้เยาวชนเสื่อมเสีย และทำให้มันกลายเป็นหนังสือที่ถูกเก็บซ่อนให้พ้นจากสายตาของเด็กๆ มากที่สุดเล่มหนึ่ง
นี่อาจจะเป็นความเฟกที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน เพราะถ้าหากโลกนี้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง สิ่งที่เปลี่ยนไปก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใด นอกจากตัวเราเอง
คำสบถที่เขียนอยู่ที่ไหนสักแห่งในรั้วโรงเรียน ก็คงจะอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่ก่อนที่เราจะรู้ความหมายของมัน สิ่งที่ไม่น่ามองมีอยู่รอบตัวเราตั้งแต่เด็กๆ เพียงแค่เราไม่ได้เรียนรู้ที่จะมองมันอย่างที่ผู้ใหญ่เขามอง
ความจริงแล้วไม่ได้มีใครร่วงหล่น และด้วยเหตุนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีใครที่คอยโอบรับใคร
ในช่วงสุดท้ายของนิยาย โฮลเดนแอบไปเยี่ยมน้องสาวของเขาที่บ้าน เขาเล่าเรื่องเพ้อฝันเกี่ยวกับการเป็นผู้คอยรับเด็กๆ ไม่ให้ร่วงหล่นจากท้องทุ่งกว้างใหญ่ และเขาก็ถูกน้องสาวเถียงกลับมาในทันที
เธอบอกว่าเขาฟังผิด จริงๆ แล้วมันต้องเป็น “หากมีใครพบคนที่วิ่งออกมาจากท้องทุ่ง” ต่างหาก
ความจริงแล้ว มันคงจะเป็นเช่นนั้น ไม่มีหน้าผา ไม่มีใครต้องร่วงหล่นไปที่ไหน มีแค่เด็กตัวเล็กๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ในทุ่งที่มีรวงข้าวไรย์สูงท่วมหัวของพวกเขา
พวกคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่ ไม่จำเป็นต้องคอยรับใครที่ร่วงหล่นลงมาจากไหน เพียงแค่ในบางครั้งบางคราว อาจจะมีเด็กสักคนวิ่งเล่นหลงทิศหลงทาง เพราะเขาตัวเล็ก สูงไม่พ้นยอดข้าวในท้องทุ่ง จึงมองโลกได้ไกลไม่เท่าผู้ใหญ่
หากมีใครพบคนที่วิ่งออกมาจากท้องทุ่ง ก็เพียงแค่บอกเส้นทางที่ถูกต้องแก่พวกเขา ถ้าพวกเขาจะวิ่ง ก็ปล่อยให้พวกเขาวิ่ง ถ้าพวกเขาจะล้ม ก็ต้องปล่อยให้เขาล้ม
และถ้าพวกเขาจะเติบโต ก็ต้องปล่อยให้พวกเติบโต…เป็นเช่นนั้น