Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Book
20 January 2023

แบดบอยผู้น่ารัก ‘ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์’

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • ‘ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์’ ตัวเอกในหนังสือเรื่อง ‘การผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์’ หรือ The Adventures of Huckleberry Finn ผู้ไม่ได้เฉียดกรายเข้าใกล้มาตรฐานความเป็นเด็กดีเลย ตรงกันข้าม เขาอาจถูกจัดให้อยู่ในหมวดของ ‘เด็กเลว’ เสียด้วยซ้ำ
  • เรื่องนี้เป็นผลงานการเขียนของ มาร์ก ทเวน (Mark Twain) ซึ่งนอกจากจะเป็นวรรณกรรมเยาวชนชั้นเยี่ยมแล้ว ยังได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดของโลก
  • ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมดทั้งมวล ถูก มาร์ก ทเวน หยิบมาตีแผ่ผ่านทางคำบอกเล่าของตัวละคร ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ ในรูปแบบของการเสียดสี ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ตลกร้าย ซึ่งกลายเป็นเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้

ไม่ว่าจะใช้เกณฑ์ประเมินความเป็นเด็กดีของไทย, อเมริกา หรือประเทศไหนๆ เด็กชายวัย 13 ปี ผู้มีชื่อว่า ‘ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์’ ไม่ได้เฉียดกรายเข้าใกล้มาตรฐานความเป็นเด็กดีเลย ตรงกันข้าม เขาอาจถูกจัดให้อยู่ในหมวดของ ‘เด็กเลว’ เสียด้วยซ้ำ

มาดูกันว่า คุณสมบัติของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ หรือที่คนทั่วไปเรียกเขาว่า ‘ฮัก’ มีอะไรบ้าง

มองจากรูปลักษณ์ภายนอก ฮัก ฟินน์ ไม่ต่างจากคนจรจัด เขาแต่งตัวสกปรกมอมแมม ไม่ชอบใส่รองเท้า สูบยาเส้นเป็นประจำ โกหก-พูดจาหยาบคาย  สบถจนติดปาก ไม่เพียงเท่านั้น เขายังลักเล็กขโมยน้อย (แต่มักอ้างว่าเป็นแค่การหยิบยืม) นิสัยเกียจคร้าน ไม่ชอบไปโรงเรียน ไม่นับถือศาสนา ชอบยิงนกตกปลา ไม่ทำตัวอยู่ในกรอบกฎเกณฑ์และค่านิยมของสังคม

อาจกล่าวได้ว่า คำขวัญวันเด็กประจำปีนี้ที่ว่า ‘รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี’ คือ คุณสมบัติที่ตรงข้ามกับฮักอย่างสิ้นเชิง

แต่หากมองทะลุลงไปถึงจิตใจข้างใน ฮัก ฟินน์ คือ เด็กชายที่จิตใจดี อ่อนโยน มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าคนนั้นจะสีผิวดำหรือขาว ไม่ว่าคนนั้นจะถูกตีตราว่าเป็นแค่ทาส ไม่ใช่คนที่เท่าเทียมกับเหล่าผู้ดีมีอารยะในสังคมยุคค้าทาส

เด็กเลวผู้น่ารักคนนี้ คือ ตัวเอกในหนังสือเรื่อง ‘การผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์’ หรือ The Adventures of Huckleberry Finn ซึ่งนอกจากจะเป็นวรรณกรรมเยาวชนชั้นเยี่ยมแล้ว ยังได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดของโลกอีกด้วย

จากวรรณกรรมเด็กสู่นิยายเสียดสีสังคม

การผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ เป็นผลงานของ มาร์ก ทเวน (Mark Twain) นักเขียนชาวอเมริกัน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1884 โดยในตอนแรก มาร์ก ทเวน ตั้งใจจะเขียนเรื่องราวที่เป็นภาคต่อของ The Adventures of Tom Sawyer หรือ ‘ทอม ซอว์เยอร์ ผจญภัย’ ซึ่งเป็นหนังสือเด็กที่ออกในปี 1876 และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

ทว่า ไปๆ มาๆ เรื่องราวการผจญภัยของฮัก ฟินน์ ค่อยๆ เปลี่ยนร่างแปลงรูป กลายเป็นวรรณกรรมว่าด้วยการข้ามผ่านช่วงวัย (coming of age) ของเด็กเสเพลคนหนึ่ง ผ่านประสบการณ์การพบเจอเรื่องราวที่ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมอเมริกาในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการค้าทาส การเหยียดสีผิว การถือชนชั้นวรรณะ รวมไปถึงค่านิยมแบบลูกผู้ชายชาตรี ที่ยังอ้อยอิ่งตกค้างจากยุคคาวบอยตะวันตกแดนเถื่อน

ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมดทั้งมวล ถูก มาร์ก ทเวน หยิบมาตีแผ่ผ่านทางคำบอกเล่าของตัวละคร ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ ในรูปแบบของการเสียดสี ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ตลกร้าย ซึ่งกลายเป็นเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้

ความดีงามของหนังสือเล่มนี้ อาจสะท้อนได้จากคำชื่นชมจากทุกคนที่ได้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ นักอ่านทั่วไป นักวิจารณ์ หรือแม้แต่นักเขียนระดับมือรางวัลโนเบลอย่าง เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ ยังกล่าวไว้ว่า

“วรรณกรรมอเมริกันสมัยใหม่ทุกเล่ม ล้วนสืบเชื้อสายมาจากหนังสือที่มีชื่อว่า การผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ และนี่คือวรรณกรรมชิ้นเอกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ”

ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ เป็นเด็กข้างถนนที่ได้รับการเลี้ยงดูอุปถัมภ์โดยแม่ม่ายวัตสัน ผู้หมายมั่นจะอบรมบ่มนิสัย ‘ลูกแกะหลงทางผู้น่าสงสาร’ ให้กลายเป็นเด็กดีตามมาตรฐานของผู้ดีมีอารยะ ขณะเดียวกัน พ่อแท้ๆ ของฮัก ซึ่งเป็นตาแก่ใจร้าย ขี้เมาหยำเป ก็ตั้งใจจะทวงลูกชายคืน ไม่ใช่เพราะความรักในตัวผู้สืบสายเลือด หากแต่เพราะหวังทรัพย์สินเงินทองในตัวฮัก (ตรงนี้ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังสือ ทอม ซอว์เยอร์ ผจญภัย ซึ่งเราจะไม่พูดถึงในรายละเอียด)

ในที่สุด ฮักได้หลบหนีออกจากบ้าน โดยจัดฉากว่า ตัวเองถูกโจรฆ่าเพื่อแย่งชิงทรัพย์สิน หลังจากนั้นเขาได้พบกับ จิม ทาสผิวดำ ผู้หลบหนีจากบ้านของมิสวัตสัน น้องสาวของแม่ม่ายวัตสัน เพราะกลัวว่าตัวเองจะถูกขายให้แก่พ่อค้าทาสในราคาแปดร้อยดอลลาร์

เด็กชายทรงอย่างแบด กับทาสผิวดำ ผู้เป็นเหมือนวรรณะล่างสุดของสังคมอเมริกันในยุคนั้น ล่องแพผจญภัยไปด้วยกันในแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ โดยมี ‘อิสระเสรี’ เป็นหางเสือนำทาง

มนุษย์เกิดมาเพื่อเป็น ‘เสรีชน’ มิใช่ ‘ทาส’

สภาพสังคมอเมริกันในยุคของฮัก หรือในยุคของมาร์ค ทเวน เป็นยุคที่การมีทาสในครอบครอง ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพราะคนอเมริกันผิวขาวมองว่า คนแอฟริกันผิวดำที่พวกเขานำมาซื้อขายในฐานะทาส ไม่ได้มีสถานะความเป็น ‘มนุษย์’ เท่าเทียมกับพวกเขา หากแต่เป็นเพียง ‘ทรัพย์สิน’ อย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากปศุสัตว์ ที่พวกเขามีไว้ใช้งานในไร่นา

มาร์ก ทเวน ในวัยเด็ก ก็คงคิดเช่นนั้น จนวันหนึ่ง เขาได้เห็นภาพทาสผิวดำหลายสิบคน ทั้งชายและหญิง ถูกล่ามโซ่มัดไว้ด้วยกัน ระหว่างรอถูกนำตัวขึ้นเรือเพื่อไปส่งที่ตลาดค้าทาส และใบหน้าของทุกคน เป็นใบหน้าที่รันทดหดหู่ที่สุดที่เขาเคยเห็น

ภาพความทรงจำครั้งนั้น เปลี่ยนมุมมองของมาร์ก ทเวน อย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ และทำให้เขาเป็นนักเขียนดังคนแรกๆ ที่แสดงจุดยืนต่อต้านการค้าทาสผ่านทางหนังสือหลายเล่ม โดยเฉพาะหนังสือการผจญภัยของฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์

การอยู่ร่วมกันของตัวละครผิวขาวอย่าง ฮัก และตัวละครผิวดำที่ชื่อ จิม อาจเป็นภาพความแตกต่างทางชนชั้นวรรณะที่เหลือเชื่อในสายตาคนยุคนั้น แต่ในสายตาของมาร์ก ทเวน นี่คือเรื่องราวการผจญภัยของมนุษย์สองคน ที่เป็นเพื่อนกันอย่างเท่าเทียม

การผจญภัยร่วมทุกข์ร่วมสุข ระหว่างล่องแพไปตามลำน้ำที่ทอดยาวหลายร้อยไมล์ ทำให้ฮักค่อยๆมองจิมแตกต่างไปจากเดิม จากที่เป็นแค่ ‘ทรัพย์สิน’ ที่สูญหายของมิสวัตสัน กลายเป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง ที่มีอารมณ์ความรู้สึก รู้จักความรัก ความเกลียดชัง ความทุกข์ ความเจ็บปวด และเหนือสิ่งอื่นใด มีความรักในอิสรภาพ ไม่ต่างไปจากคนอเมริกันผิวขาวผู้เป็นนายทาส

จุดไคลแม็กซ์ของเรื่องในช่วงท้ายของหนังสือ คือตอนที่ฮักตัดสินใจเขียนจดหมายไปถึงมิสวัตสัน เพื่อแจ้งเบาะแสทาสที่หลบหนีไปของเธอ ซึ่งในตอนนั้น ฮักเชื่อว่า นี่คือการตัดสินใจที่ถูกต้อง และถูกหลักทำนองคลองธรรม 

“เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมรู้สึกสบายใจและสะอาดหมดจดจากการได้ล้างบาป”

มโนธรรมสำนึกในจิตใจบอกกับฮักอย่างนั้น แต่เมื่อลองคิดดูอีกที นั่นคือมโนธรรมจริงๆหรือ หรือเป็นแค่ความพยายามหลอกตัวเองกันแน่

ฮัก หวนนึกถึงภาพที่เขากับจิม นั่งอยู่บนแพ ร้องเพลง-หัวเราะร่า นึกถึงคำพูดของจิมที่พร่ำบอกว่า เขาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด และเพื่อนเพียงคนเดียวที่ ‘ไอ้แก่จิม’ มีอยู่บนโลกใบนี้ 

“งั้นก็เอาล่ะ เราจะลงนรก” ว่าแล้ว ฮัก ฟินน์ ก็ฉีกจดหมายฉบับนั้นทิ้ง

วินาทีที่ฮักตัดสินใจช่วยจิมให้หลุดพ้นจากความเป็นทาส คือห้วงเวลาที่เขาตระหนักแล้วว่า จิม ไม่ใช่ ‘ทรัพย์สิน’ ของมิสวัตสัน หรือของใครคนใดคนหนึ่ง แม้แต่ของฮัก ฟินน์ หากแต่เป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง ซึ่งมีอิสระเสรีที่จะเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง

หากจะบอกว่า จิม เป็นทรัพย์สิน เขาก็เป็นทรัพย์สินของตัวเองแต่เพียงผู้เดียว

‘ศักดิ์ศรี’ หรือแค่นามธรรมค้ำคอ

สภาพบ้านเมืองอเมริกาในยุคของฮัก ฟินน์ หรือในยุคของ มาร์ก ทเวน เป็นช่วงหลังจากยุคบุกเบิก หรือยุคแรกที่คนผิวขาวเข้าไปตั้งรกรากสร้างบ้านแปงเมืองในดินแดนอเมริกา แต่ถึงกระนั้น อาวุธปืน ยังคงเป็นตัวเลือกแรกๆ ในการใช้แก้ปัญหา หรือสะสางกรณีพิพาทระหว่างผู้คน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีพิพาทที่เกี่ยวข้องกับ ‘ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย’

ระหว่างเส้นทางการผจญภัย ฮักได้เข้าไปข้องแวะในเหตุการณ์ศึกล้างแค้นของสองตระกูล ซึ่งลงเอยด้วยเหตุการณ์นองเลือดอันแสนเศร้า เพราะหลายคนที่ตายก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ต้นเหตุของความเกลียดแค้นชิงชังระหว่างสองตระกูลคือเรื่องอะไร

“นายอยากฆ่าเขาเหรอ บั๊ก”

“แหม ฉันขอพนันเลยว่าฉันอยาก”

“เขาทำอะไรให้นาย”

“เขาเหรอ เขาไม่เคยทำอะไรให้ฉัน”

“อ้าว งั้นนายอยากจะฆ่าเขาไปทำไม”

“ก็ไม่ทำไมหรอก เพียงแค่คนมันผูกพยาบาทกันเท่านั้น”

“ปัญหามันเกี่ยวกับอะไร บั๊ก ที่ดินเหรอ”

“พระเจ้า ฉันจะไปรู้ได้ไง มันนานเหลือเกินแล้ว”

แน่นอนว่า สภาพสังคมในยุคที่เพิ่งผ่านพ้นความป่าเถื่อน และยังไม่เข้าสู่ความศิวิไลซ์เต็มตัว การพกพาอาวุธปืนเพื่อป้องกันตัว ไม่ถือเป็นเรื่องผิดแต่อย่างใด แม้กระทั่งตัวมาร์ก ทเวน ก็ยังพกพาอาวุธปืนติดตัว ด้วยนิสัยรักการผจญภัย แต่เขาก็กล่าวไว้ว่า

“มนุษยชาติ มีอาวุธที่ทรงพลานุภาพที่สุด นั่นคือ เสียงหัวเราะ”

ด้วยเหตุนี้ เสียงหัวเราะและอารมณ์ขัน จึงแทรกอยู่ในแทบทุกตอนของการผจญภัยของฮัก

เสียงหัวเราะที่เป็นเหมือนการเย้ยหยันบรรทัดฐานศีลธรรมจอมปลอม ค่านิยม-ความเชื่อผิดๆ รวมถึงความหยิ่งทะนงของผู้หลงยึดมั่นในเชื้อชาติสีผิว

เสียงหัวเราะที่เป็นเหมือนการปล่อยวางทุกมายาคติ ปล่อยวางเพื่อทำให้ชีวิตเบาลง เพราะมีแต่ชีวิตที่เบาเท่านั้น ที่สามารถล่องลอยไปได้อย่างอิสระเสรี

เฉกเช่นแพที่ลอยไปตามลำน้ำมิสซิสซิปปี้ของเด็กเลวผู้น่ารัก ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์

Tags:

เด็กมนุษย์สังคมThe Adventures of Huckleberry FinnเสียดสีสังคมComing ageหนังสือ

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Related Posts

  • Book
    ฤดูร้อนเมื่อครั้งประถม ผมได้เป็นอัศวิน: เด็กชายผู้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความกล้าหาญด้วยตัวเอง

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Cover
    Book
    The Wild Robot: ชีวิตที่ลิขิตเอง ไม่ต้องรอโปรแกรมคำสั่ง

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    วันนั้นฉันเจอเพนกวิน: อย่าปิดกั้นจินตนาการของเด็กด้วยคำว่า ‘เพ้อฝัน’

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    รถไฟขนเด็ก – เพราะรักจึงยอมปล่อยมือ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    The Catcher in the Rye : ไม่ต้องมีใครโอบรับใคร ถ้าไม่มีผู้ใดร่วงหล่นจากท้องทุ่ง

    เรื่อง ฌานันท์ อุรุวาทิน

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel