- That Christmas เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสัญชาติอังกฤษ บอกเล่าเรื่องราวความวุ่นวายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสต์ของเมืองเวลลิงตันออนซีผ่านมุมมองของหลากหลายตัวละครที่ล้วนแต่เชื่อมโยงและเติมเต็มซึ่งกันและกัน
- ตัวละครที่นำเสนอได้น่าสนใจคือคู่ฝาแฝดอย่าง แซม กับ ชาร์ลี ที่เป็นตัวแทนของ ‘เด็กดี’ และ ‘เด็กดื้อ’ ตามค่านิยมของสังคม โดยภาพยนตร์ชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เป็นปัญหาคือมายาคติและการด่วนตัดสินคุณค่าของเด็กจากการกระทำที่รับรู้เพียงผิวเผิน
- ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้เป็นผลงานการเขียนบทของ Richard Curtis (Love, Actually) และได้ Simon Otto หัวหน้าฝ่ายแอนิเมชันตัวละครของภาพยนตร์ไตรภาค How to Train Your Dragon มารับหน้าที่ผู้กำกับ
[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์]
“ผมคิดเสมอว่าคริสต์มาสเป็นเหมือนแว่นขยายความรู้สึก ถ้าเรารู้สึกเป็นที่รักและมีความสุข คริสต์มาสจะทำให้เรามีความสุขและรู้สึกเป็นที่รักมากกว่าเดิม แต่ถ้าเรารู้สึกโดดเดี่ยวและไม่มีใครรัก แว่นขยายนี้ก็จะทำให้เรื่องแย่ๆ พวกนั้นแย่หนักกว่าเดิม”
แม้คำพูดของลุงซานต้าใจดีจากภาพยนตร์แอนิเมชันสัญชาติอังกฤษเรื่อง That Christmas (2024) อาจเป็นโควตที่ใครหลายคนนำมาพูดถึงในโลกโซเชียล แต่สำหรับผมสิ่งที่ถูกใจที่สุดคือการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ตั้งคำถามถึงนิยามความเป็น ‘เด็กดี’ ที่ผู้ใหญ่หลายคนมักใช้เป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคุณค่าของเด็กคนหนึ่ง
That Christmas บอกเล่าเรื่องราวความวุ่นวายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสของเมืองเวลลิงตันออนซี โดยมีตัวละครต่างๆ สลับหมุนเวียนกันมาสร้างสีสัน ซึ่งตัวละครที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษคือคู่ฝาแฝด ‘แซม’ และ ‘ชาร์ลี’
แซม (แฝดพี่) ถือเป็นตัวแทนของเด็กดีในแบบที่ผู้ใหญ่หลายคนยึดถือ เธอเป็นเด็กเรียบร้อยและเชื่อฟังผู้ใหญ่ สวนทางกับ ชาร์ลี (แฝดน้อง) ที่มีนิสัยซุกซน เชื่อมั่นในตัวเองและเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ (ที่อาจขัดใจผู้ใหญ่บ่อยๆ)
แม้จะมีนิสัยต่างกันแต่ทั้งสองคนก็รักกันมาก ในมุมมองของแซม เธอค่อนข้างเป็นกังวลที่ชาร์ลีมักจะทำเรื่องซนๆ เหนือความคาดคิด ไล่ตั้งแต่การแอบไปตัดขนสุนัขของคนอื่นมาทำเป็นหนวด การทำกับดักหิมะถล่มใส่คุณนายฮอร์ตัน การเหยียบกระโปรงแกล้งเพื่อนขณะแสดงละครเวที หรือจะเป็นการลอบเข้าไปปล่อยไก่งวงในฟาร์มของมิสเตอร์เยอร์เรลล์จนหมดเล้า และนั่นทำให้แซมเตือนชาร์ลีว่าขืนยังซนแบบนี้…ลุงซานต้าจะไม่ให้ของขวัญกับเธอ!
แน่นอนว่าลุงซานต้าเองก็รับรู้เรื่องราวของฝาแฝดต่างสไตล์คู่นี้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ลุงซานต้าแตกต่างจากผู้ใหญ่คนอื่นคือการที่เขามองเด็กๆ ด้วยความเข้าใจ และไม่ด่วนตัดสินว่าชาร์ลีเป็นเด็กไม่ดี
“ไม่ เธอไม่ได้ร้าย แต่ก็ซนซะเหลือเกิน” ลุงซานต้าเถียงกวางคู่ใจ หลังจากที่เจ้ากวางบอกว่าในบรรดาฝาแฝดทุกคู่ จะมีแฝดคนหนึ่งที่เป็น ‘ตัวร้าย’ เสมอ
ไม่เพียงเท่านั้น ลุงซานต้ายังทดสอบความเชื่อของตัวเอง รวมถึงพิสูจน์ความดีในตัวของชาร์ลี ด้วยการนำของขวัญที่เตรียมไว้ให้แซมมาใส่ในถุงเท้าของชาร์ลี และเมื่อชาร์ลีตื่นขึ้นมากลางดึก เธอรู้สึกดีใจมากพร้อมกับกอดของขวัญไว้แนบอก แต่พอมองไปที่ถุงเท้าอันว่างเปล่าของพี่สาว และนึกขึ้นได้ว่าแซมต่างหากที่อยากได้กีตาร์เป็นของขวัญ เธอจึงตัดสินใจนำของขวัญต่างๆ ไปวางไว้ให้แซมแทนที่จะเก็บไว้เอง นั่นทำให้ลุงซานต้าที่ตามมอนิเตอร์อยู่ประทับใจมาก
เช้าวันถัดมา เมื่อชาร์ลีเห็นแซมมีความสุขกับของขวัญ เธอก็พลอยยินดีไปด้วย ขณะเดียวกันก็พบว่าลุงซานต้าเองได้ย้อนกลับมาเซอร์ไพรส์เธอด้วยของขวัญชุดใหญ่ โดยเฉพาะเข็มกลัดสุดเก๋ที่มีตัวอักษร Officially Nice เพื่อยืนยันว่าอย่างน้อยก็มีลุงซานต้าคนหนึ่งที่เชื่อมั่นว่าเธอเป็นเด็กดีอย่างแท้จริง
ไม่เพียงเท่านั้น ระหว่างที่แซมมาช่วยน้องสาวจัดเตียงให้เรียบร้อย แซมบังเอิญพบกับสมุดบันทึกของชาร์ลีที่ตั้งชื่อว่า ‘ปฏิบัติการช่วยให้แซมมีความสุข’ โดยเนื้อหาระบุถึงปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องที่แซมเข้าใจผิดมาตลอดว่าเป็นเพียงเรื่องซนๆ ของชาร์ลี เธอจึงรู้สึกซาบซึ้งใจในเจตนาของน้องสาว และเมื่อสบโอกาส แซมจึงบอกกับพ่อแม่ว่าชาร์ลีนั้นเป็นเด็กที่วิเศษแค่ไหน
“ทำไมซานต้าให้ของขวัญเธอเพียบเลยล่ะ เพราะเขารู้ว่าชาร์ลีไม่ได้ซนไงคะ เธอเป็นเด็กดี ที่จริงเธอทำได้ดีกับทุกอย่างเลยด้วย และมันเป็นเพราะเธอรักหนูมาก ทำไมชาร์ลีเหยียบกระโปรงนิชาตอนเล่นละคร…เพราะนิชาใจร้ายกับหนูตลอด แถมเรียกหนูว่าแฝดน่าเบื่อ ชาร์ลีทำหิมะถล่มใส่คุณนายฮอร์ตันทำไม…เพราะหนูชอบบัดดี้หมาของเธอและเธอก็ใจร้ายกับมันมากเลย
ตอนเธอปล่อยไก่งวงของเยอร์เรลล์…ใช่เธอทำค่ะ เธอทำเพราะตอนคริสต์มาสไก่งวงที่น่าสงสารต้องตาย เพราะเราต้องกินมันในวันที่มีอาหารอื่นๆ อยู่เต็มโต๊ะ เป้าหมายของหนูในปีหน้าคือเป็นเหมือนชาร์ลีให้มากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง…และเลิกคิดไปเองในแง่ลบทั้งหมดนี้กันได้แล้ว”
หลังจากชมภาพยนตร์จบ ผมรู้สึกว่าหนึ่งในแมสเสจสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการชวนให้เรากลับมาตั้งคำถามตัวโตๆ ถึงความคิดความเชื่อของผู้ใหญ่ที่ว่าเด็กดีจะต้องมีคุณลักษณะต่างๆ (ตามที่ผู้ใหญ่กำหนด) ซึ่งหลายครั้งต้องยอมรับว่านิยามคำว่า ‘เด็กดี’ ของผู้ใหญ่หลายคน โดยเฉพาะพ่อแม่และคุณครูมักกดทับจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และทำลายความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็กให้พังทลายลง
ผมมองว่าการเป็น ‘เด็กดี’ ไม่ควรผูกติดกับการเชื่อฟังหรือทำตามกรอบเพียงอย่างเดียว แต่ควรเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงตัวตน ความคิด และความตั้งใจในแบบของเขาเอง โดยไม่ถูกตัดสินหรือกดดันให้เปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้ากับความต้องการของผู้ใหญ่
ที่สำคัญ ผู้ใหญ่ควรตระหนักว่าเด็กไม่ใช่ผ้าขาวที่รอให้พ่อแม่มาแต่งแต้มสีสัน แต่เป็นมนุษย์ตัวจิ๋วที่มีความแตกต่างหลากหลาย เด็กทุกคนจึงมีคุณค่าในแบบของตัวเอง