- Survival of the thickest เป็นซีรีส์คอมเมดี้ปนดราม่า ที่เล่าถึง ‘เมวิส หรือ เมฟ’ หญิงสาวผิวดำหุ่นพลัสไซส์ (plus size) ผู้ทุ่มชีวิตตัวเองให้กับการเป็นแฟนที่แสนดีพร้อมซัพพอร์ตทุกอย่าง แต่ดันมาโดนแฟนหนุ่มนอกใจ
- แม่ของเมวิส พูดจาทำร้ายจิตใจลูกต่างๆ นานา และหักความมั่นใจของลูกด้วยคำว่า ‘หวังดี’
- หลายครั้งที่พ่อแม่ก็ไม่ได้เป็นบ้านที่อบอุ่นให้กับลูก แม้ว่า ลูกอาจจะเติบโตเข้มแข็งได้ด้วยตัวเองก็จริง แต่ก็อาจพังทลายได้ง่ายกว่าใครเพราะไม่เคยมีพ่อแม่ช่วยก่อร่างสร้างโครงที่แข็งแกร่งมาจากข้างในตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
ซีรีส์คอมเมดี้ปนดราม่าดูเพลินดูง่ายโดย Netflix ที่มีความยาวไม่มากเล่าถึง ‘เมวิส หรือ เมฟ’ หญิงสาวผิวดำหุ่นพลัสไซส์ (plus size) ที่ทุ่มชีวิตตัวเองให้กับการเป็นแฟนที่แสนดีพร้อมซัพพอร์ตทุกอย่าง แต่ดันมาโดนแฟนหนุ่มนอกใจแบบคาตาคาบ้าน! เธอตัดสินใจเลิกกับเขาทันทีหลังจากมีความสัมพันธ์กันมาถึง 5 ปี ซึ่งแฟน(เก่า)ของเธอเคยพูดถึงการแต่งงานบ่อยมาก แต่ที่ผ่านมาแหวนก็ไม่เคยได้ลงนิ้วซักกะที
สาววัย 38 ที่มีความฝันอยากแต่งงานมีลูกสร้างครอบครัวอย่างเมฟ จึงตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตโสดอีกครั้ง
ขณะที่เธอพยายามจะเอาตัวรอดกับปัญหาชีวิตที่ถาโถมเข้ามา ก็มีความโชคดีคือเธอมีแก๊งเพื่อนสนิทคอยซัพพอร์ต เธอเลยมุ่งมั่นกลับมาทำตามฝันในอาชีพการเป็นสไตลิสต์แฟชั่นซึ่งเธอหลงใหลตั้งแต่เด็กแทน แลัวก็ได้กลับมาเรียนรู้การรักและภูมิใจในตัวเองอีกครั้ง
แล้วเมื่อเมฟได้เจอเข้ากับหนุ่มคนใหม่ ชายหนุ่มเพอร์เฟคมากและถึงแม้จะอาศัยอยู่คนละประเทศ แต่ทั้งสองก็สนุกกัน เธอสบายใจกับความสัมพันธ์ระยะไกลนี้ ชีวิตความรักของเธอกำลังไปได้สวย
แต่อยู่ๆ แม่ของเมฟก็ดันโผล่มา บอกว่าผู้ชายเขาไม่จริงจังหรอก เดี๋ยวเขาก็กลับไปอยู่ประเทศของเขาแล้ว พร้อมกับคำพูดร้ายๆ ต่างๆ นานา บอกว่าเธอไม่ได้ชีวิตในความเป็นจริง เอาแต่เรื่อยเปื่อยไม่มั่นคง ส่วนพ่อก็บอกให้เธอให้อภัยแฟนที่นอกใจ เพราะคนเราทำผิดพลาดกันได้ พ่อคบกับแม่มา 45 ปีแล้ว พ่อก็เคยเผลอนอกใจแม่ แต่แม่ก็ให้อภัยพ่อ
เมื่อเราได้ดูก็อึ้งอยู่ไม่น้อยเหมือนกันกับความคิดเหล่านี้
แม้มันจะดีที่จะให้อภัยกันแต่ความรู้สึกไว้ใจมันไม่มีทางกลับมาได้ง่ายๆ แน่
ส่วนในกรณีของแม่ก็ทำให้เรารู้สึกมีประสบการณ์ร่วมมากเพราะเราก็ถูกแม่หักความมั่นใจ ทำลายความสุขไปหลายต่อหลายครั้ง
ทำไมบางครั้งพ่อแม่ถึงแสดง “ความรู้สึกห่วงใยลูก” ในรูปแบบนี้กันล่ะ พ่อแม่จะรู้มั้ยว่าสิ่งที่พวกเขาพูดมันทำให้ลูกรู้สึกแย่แค่ไหน มันเหมือนการผลักลูกให้ตกหน้าผามากกว่าโอบกอดและระวังหลังให้ลูก
ซึ่งเมฟก็รู้สึกแย่เช่นกัน เธอเริ่มหวั่นใจ คิดมาก ตั้งคำถามว่าเราทำผิดอะไร
เธอเล่าให้เพื่อนฟังว่าตอนที่เธอเป็นเด็ก เธอเคยโดนเด็กรุ่นเดียวกันตะโกนด่าแบบเหยียดผิว พอเธอกลับบ้านไปเล่าให้พ่อกับแม่ฟัง พวกเค้าก็ไม่ให้กำลังใจหรือปลอบใจใดๆ พวกเค้าทำเหมือนสิ่งที่เธอเจอเป็นเรื่องปกติที่เธอสมควรรับให้ได้
ซึ่งเพื่อนก็ถามว่า “เธออยากให้แม่พูดกับเธอว่าอะไร”
ตอนแรกเมฟก็พูดว่า ไม่รู้เหมือนกันสินะ แม้กระทั่งตอนนี้เธอยังรู้สึกว่ามันยากเลยที่จะจัดการความรู้สึกที่เจอ และเธอคิดว่าสมัยนั้นพวกเขาก็คงไม่รู้ว่าควรทำตัวยังไง
แต่เมื่อเธอเริ่มเมาและอยู่คนเดียว เธอก็ระบายออกมาโดยการทำเป็นเหมือนคุยโทรศัพท์กับแม่ว่า “แม่คะ บางครั้งหนูอยากให้แม่พูดดีๆ กับหนูหน่อย อย่างตอนนั้นที่มีเด็กพูดหยาบคายใส่หนู หนูเข้าใจว่าเราเป็นคนดำ เป็นชาวแคริบเบียน พ่อแม่เป็นผู้อพยพและแม่พยายามสอนให้หนูเป็นคนเข้มแข็ง แต่บางครั้งหนูแค่อยากได้คนปลอบใจ และให้กำลังใจ อย่างตอนลูก้า(แฟนหนุ่มคนปัจจุบัน) หนูแค่อยากให้แม่พูดว่า ‘โชคดีกับลูก้านะ’ เพราะแม้ว่าหนูจะพยายามปฏิเสธ ความเห็นของแม่ก็สำคัญกับหนูมาก”
แม้คำพูดของเมฟจะไม่เคยถูกส่งถึงแม่ แม่จะไม่มีวันเข้าใจและพยายามทำดีกับเธอแต่เธอก็ยังมีตัวเองและเพื่อนๆ ที่เข้าใจแล้วช่วยให้เธอผ่านความรู้สึกเหล่านี้มาได้
เรารู้สึกว่าหลายต่อหลายครั้งพ่อแม่ก็ไม่ได้เป็นบ้านที่อบอุ่นให้กับลูก แม้ว่าพวกเค้าจะให้เงิน ให้ชีวิต ให้ที่อยู่กับลูก ลูกอาจจะเติบโตเข้มแข็งได้ด้วยตัวของเค้าเองก็จริง แต่พวกเค้าก็อาจพังทลายได้ง่ายกว่าใครเพราะไม่เคยมีพ่อแม่ช่วยก่อร่างสร้างโครงที่แข็งแกร่งมาจากข้างในตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เค้าจะเป็นเพียงผู้พยายามรอดชีวิตที่เข้มแข็งตลอดไป
แน่นอนเราแอบหวังว่าวันหนึ่ง พ่อแม่ทั้งหลายจะเข้าใจและเห็นใจ ปฏิบัติกับลูกด้วยความใจดีบ้าง มันคงจะเป็นเรื่องที่งดงามและสบายใจ แต่เราก็เชื่อว่า ‘ผู้รอดชีวิตทั้งหลาย’ รวมถึงตัวเราเองก็จะสามารถก้าวผ่านความรู้สึกไม่มั่นใจและเป็นผู้ที่สร้างโครงสร้างข้างในของตัวเองได้อย่างสง่างามเช่นกัน