- ซีรีส์ School 2017 เล่าเรื่องของราอึนโฮ นักเรียนอันดับ 280 หรือนักเรียนระดับ 6 ของชั้นถูกกดทับจากครูว่าเป็นเด็กไม่ดีและไม่มีคุณค่า เพราะชีวิตม.ปลาย ‘อันดับ’ คือ สิ่งที่ตัดสินนักเรียนจากครูและเพื่อน
- การสอบจึงกลายเป็นแรงกดดันและความหวังของนักเรียนว่า ‘จะต้องเรียนให้เก่ง มีเกรดที่ดี’ ถ้าทำไม่ได้ พวกเขาจะรู้สึกเป็นผู้แพ้และเป็นคนที่ล้มเหลวในระบบการศึกษา เพราะเกรดไม่ดีอาจถูกมองว่าเป็นเด็กเกเรและไม่สนใจการเรียน
- ไม่ต่างกันกับนักเรียนไทย ที่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะระบบการศึกษากดทับพวกเขาจากบ้านหลังที่สองที่ชื่อว่า ‘โรงเรียน’ โรงเรียนเลือกแบ่งห้องเรียนจากความสามารถของนักเรียน รายงานของ PISA Thailand แม้แต่โรงเรียนประถมเล็กๆ ยังแบ่งนักเรียนตามความความสามารถถึง 50% ส่วนในโรงเรียนสาธิตมีการแยกกลุ่มถึงประมาณ 90%
ซีรีส์ตระกูล School คือ ซีรีส์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวในโรงเรียนและปัญหาของวัยเรียน ทั้งเรื่องเรียนและความรักที่อยู่กับวงการซีรีส์เกาหลีมายาวนานตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน
สำหรับ School 2017 เป็นเรื่องลำดับที่ 7 ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการจัดอันดับจากการสอบ เนื่องจากโรงเรียนให้สิทธิพิเศษกับเด็กอันดับแรกก่อนเสมอ และบอกเล่าการต่อสู้ของนักเรียนจนทำลายการสอบจำลองเพื่อบอกว่า “ฉันไม่อยากสอบอีกแล้วและอยากหลุดพ้นจากการสอบนี้สักที!!!”
จากความหวังอันน้อยนิดของนักเรียนที่คิดว่าโรงเรียนจะเป็นพื้นที่ความสุขของพวกเขาที่หาไม่ได้จากที่ไหน เพราะพวกเขาอยากจะหัวเราะ ร้องไห้ สนุก หรือทำกิจกรรม
แต่โรงเรียนกลับกลายเป็นสนามแข่งขันจำลองที่กดดันให้พวกเขาต้องทำทุกอย่างในโรงเรียนให้ดีและถูกมองข้ามถ้าเขาไม่ใช่นักเรียนอันดับต้นของชั้นเรียน ระบบการศึกษาคงลืมไปว่า เด็กนักเรียนเหล่านี้อายุแค่ 18 ปีที่สามารถเรียนรู้และทำผิดพลาดได้
School 2017 เล่าเรื่องของราอึนโฮ นักเรียนอันดับ 280 หรือนักเรียนระดับ 6 ของชั้นถูกกดทับจากครูว่าเป็นเด็กไม่ดีและไม่มีคุณค่า เพราะชีวิตม.ปลาย ‘อันดับ’ คือ สิ่งที่ตัดสินนักเรียนจากครูและเพื่อน
กลายเป็นว่าเด็กที่มีคะแนนสอบอันดับท้ายๆ อย่างราอึนโฮถูกมองว่าเขาเป็นเด็กไม่ดีหรือเกเร ผลสำรวจของ National Youth Policy Institute ระบุว่า เกรดเฉลี่ยคือสาเหตุต้นๆ ที่ทำให้นักเรียนม.ปลายคนหนึ่งถูกเลือกปฏิบัติ อีกทั้งการเลือกปฏิบัติเพราะเกรดเฉลี่ยก็จะสูงขึ้นตามระดับชั้น
ไม่ต่างกันกับนักเรียนไทย ที่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะระบบการศึกษากดทับพวกเขาจากบ้านหลังที่สองที่ชื่อว่า ‘โรงเรียน’
กล่าวคือ โรงเรียนเลือกแบ่งห้องเรียนจากความสามารถของนักเรียน รายงานของ PISA Thailand แม้แต่โรงเรียนประถมเล็กๆ ยังแบ่งนักเรียนตามความความสามารถถึง 50% ส่วนในโรงเรียนสาธิตมีการแยกกลุ่มถึงประมาณ 90%
บนเวที TEDXYouth2020 พื้นที่เล่าเรื่องของนักเล่าเรื่องรุ่นเด็กเมื่อปีที่ผ่านมา ‘แพร’ นักเรียนเกรด 4 ชั้น ม.5 ค้นพบว่า เกรดเฉลี่ย คือ โลกสองด้านที่มอบโอกาสให้คนคนหนึ่งมีชีวิตที่ดี และอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
หมายความว่า ครูจะมอบโอกาสให้กับนักเรียนเกรดดี ทำให้เด็กเหล่านี้มีคุณสมบัติที่พร้อมมากพอที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเลือกเข้าไปเรียนต่อ ขณะที่เด็กเกรดไม่ดีกลับไม่เคยได้รับโอกาสนั้น
อาจเรียกได้ว่าระบบการศึกษาและโรงเรียนกำลังตัดสินนักเรียนคนหนึ่งจากเกรดเฉลี่ยเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้เด็ก ๆ ยังต้องเจอกับการสอบและการแข่งขันอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
“เราแทบบ้าเพราะกังวลช่วงใกล้สอบ รู้สึกว่ามีการแข่งขันอีกนับไม่ถ้วนไล่ล่าอยู่ พวกเขาต้องกัดฟันทนและต่อสู้ให้ผ่านพ้นไปในวัย 18 ปี”
ความคิดของราอึนโฮก่อนสอบจำลองครั้งที่ 3 อธิบายว่าเด็กทุกคนมองว่าคะแนนสอบสามารถเปลี่ยนชีวิตคนหนึ่งได้ จากเด็กที่ครูไม่เคยมองเห็น อาจจะเฉิดฉายขึ้นมาเพราะคะแนนดี กลายเป็นว่าการสอบกำลังขับเคลื่อนความรู้สึกในใจของเด็กและการศึกษาในเกาหลีใต้
นักเรียนเกาหลีใต้จะสอบทั้งหมด 8 ครั้งต่อปี (สอบ 2 ครั้งต่อเทอม เรียนทั้งหมด 4 เทอม) โดยจะสอบทั้งหมด 8 วิชา วันละ 2 – 3 วิชา ระยะเวลา 3 – 4 วันขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียน และทุ่มเทเวลาช่วงปิดเทอมและเวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือเพื่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัยตอน ม.6 เพียงวันเดียว เนื่องจากเกาหลีใต้จะสอบวันเดียว ยื่นคะแนนครั้งเดียว ถ้าไม่ผ่านต้องรอปีต่อไป พวกเขาจึงต้องทำคะแนนให้ดี เพราะคะแนนเดียวสามารถเปลี่ยนชีวิตพวกเขาได้
ไม่ต่างจากนักเรียนไทยที่มีทั้งสอบกลางภาค ปลายภาค และการสอบย่อยในแต่ละวิชา อีกทั้งเมื่อก้าวสู่ ม.6 การสอบจะเพิ่มขึ้นจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้ง GAT / PAT O – NET 9 วิชาสามัญ และความถนัดเฉพาะด้านหรือสอบกับทางมหาวิทยาลัย
ดังนั้น การสอบจึงกลายเป็นแรงกดดันและความหวังของนักเรียนว่า ‘จะต้องเรียนให้เก่ง มีเกรดที่ดี’ ถ้าทำไม่ได้ พวกเขาจะรู้สึกเป็นผู้แพ้และเป็นคนที่ล้มเหลวในระบบการศึกษา เพราะเกรดไม่ดีอาจถูกมองว่าเป็นเด็กเกเรและไม่สนใจการเรียน
ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว พวกเขาอาจไม่เก่งด้านวิชาการ แต่ถนัดงานด้านอื่น เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬาหรือด้านอื่นๆ ที่พวกเขาสนใจ
ราอึนโฮเองก็มุ่งมั่นอยากเรียนด้านศิลปะของมหาวิทยาลัยชื่อดัง แม้ว่าเกรดอันดับ 6 ของเธอจะทำให้ความฝันของเธอดูจะเป็นเรื่องเกินตัวสำหรับนักเรียนคนนี้
สิ่งสำคัญ คือ คุณครูควรจะเข้าใจว่า นักเรียนแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน บางคนอาจไม่ถนัดด้านวิชาการ แต่ถนัดด้านดนตรี ศิลปะ กีฬา หรือด้านอื่นๆ ที่เขาสนใจ รวมถึงระบบการศึกษาควรจะสนับสนุนและสร้างทางเลือกให้กับพวกเขา
‘ครูชิมคังมยอง’ ครูประจำชั้นของราอึนโฮ คือ ตัวแทนของครูที่มองเห็นข้อดีของนักเรียนแต่ละคนพร้อมกับชื่นชมและเข้าใจในสิ่งที่นักเรียนทำ ไม่เคยมองว่าสิ่งที่พวกเขาทำคือปัญหา แต่ในฐานะของครู เขามีหน้าที่สนับสนุนเส้นทางที่นักเรียนตัดสินใจเลือก เพราะคำชมของครูเพียงเล็กน้อยอาจเป็นแรงผลักดันที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้นักเรียนทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด และยังเป็นกำลังใจว่าอย่างน้อยก็ยังมีคนที่คอยอยู่เคียงข้างเขา
นอกจากครูแล้ว อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ต้องมีระบบการศึกษาที่สนับสนุนความถนัดและความหลากหลายของนักเรียนแต่ละคน
ในเกาหลีใต้ กระทรวงศึกษาธิการเริ่มผลักดันนโยบาย ‘Free Semester’ ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนตามหาสิ่งที่ชอบหรือสร้างชมรมตามความสนใจของตัวเองและมองข้ามการสอบ แต่ความจริงเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนระบบการศึกษาที่ขับเคลื่อนด้วยการสอบและค่านิยมในสังคมที่เชื่อว่า การศึกษาจะพัฒนาคนให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน
อีกทั้งการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ นักศึกษาไม่ได้กังวลว่าจะต้องจบภายใน 4 ปีแต่ว่าพวกเขาต้องมั่นใจว่าพร้อมที่จะเดินเข้าสู่การทำงานในสายนั้นจริงๆ ผ่านการฝึกงานและเรียนในมหาวิทยาลัย
ขณะที่นโยบายการศึกษาของไทยในปีงบประมาณ 64 มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนสู่อนาคตมากกว่าการสร้างพื้นที่ให้นักเรียนมองหาความชอบของตัวเองในอนาคต ส่งผลให้เด็กไทยยังคงตั้งคำถามกับการศึกษาว่า พวกเขาชอบอะไรหรือเรียนหนักไปเพื่ออะไร
นอกจาก School 2017 จะเล่าถึงชีวิตเด็กอันดับท้ายแล้ว อีกแง่หนึ่ง เส้นเรื่องในการตามหาคนทำลายการสอบในโรงเรียน เพื่อยกเลิกการสอบ ก็เป็นการชวนตั้งคำถามกับคนดูว่า ‘ถ้าระบบการศึกษาไม่มีการสอบ เด็กๆ จะมีความสุขมากขึ้นไหม?’