- หนังสือ Permission to Feel หรือ โลกที่ผู้คนมีความฉลาดทางอารมณ์ เขียนโดย ดร.มาร์ค แบรกเก็ตต์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์ความฉลาดทางอารมณ์ มหาวิทยาลัยเยล แปลเป็นภาษาไทยโดย ภัทร กิตติมานนท์ สำนักพิมพ์โอ้มายก้อด
- หนังสือเล่มนี้พูดถึงอารมณ์ต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีจุดกำเนิดสำคัญจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ และไม่ว่าลูกจะชอบพฤติกรรมของพ่อแม่หรือไม่ สุดท้ายเขาก็จะซึมซับไปโดยอัตโนมัติ
- ดร.มาร์ค พบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ต่างประสบปัญหาในการควบคุมอารมณ์เมื่อลูกทำในสิ่งที่ชวนขัดใจ ส่งผลให้เด็กหลายคนเติบโตมาพร้อมกับบาดแผลทางใจ ดังนั้นเขาจึงเสนอเครื่องมือที่เรียกว่า ‘เมตาโมเมนต์’ เพื่อช่วยพ่อแม่จัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น
“ในปี 1915 จอห์น บี วัตสัน ประธานสมาคมจิตวิทยาอเมริกา ได้ออกมาเตือนว่าความรักและการปลอบประโลมเด็กมากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อเด็ก และเด็กจะเสียคนเพราะการกอด”
ข้อความสั้นๆ ที่ ‘ดร.มาร์ค แบรกเก็ตต์’ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์ความฉลาดทางอารมณ์ มหาวิทยาลัยเยล ผู้เขียนหนังสือ Permission to Feel หรือ โลกที่ผู้คนมีความฉลาดทางอารมณ์ หยิบยกมาเพื่อที่จะบอกว่าไม่มีแนวคิดใดชี้นำผิดๆ หรือสร้างความเสียหายได้มากกว่าไปกว่านี้อีกแล้ว สะกิดบาดแผลในวัยเด็กของผมให้เจ็บจี๊ดขึ้นมาอีกครั้ง
นั่นอาจเพราะผมเองก็เติบโตมาในบ้านที่เชื่อว่าการเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีคือการทำให้เชื่อฟัง กดดัน บังคับ ร้ายมาร้ายตอบ รวมถึงใช้ความรุนแรงหากลูกไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ลงท้ายด้วยประโยคกึ่งแสดงความเมตตากึ่งชวนให้สำนึกบุญคุณว่า พ่อกับแม่อุตส่าห์เลี้ยงผมให้ซอฟท์ลงกว่าที่พ่อเคยถูกปู่เลี้ยงมาตั้งเยอะ
ไม่เพียงแค่นั้น พ่อแม่มักมองข้ามการชื่นชม การกอด และการบอกรัก โดยเฉพาะการกอดที่พ่อแม่พูดกรอกหูผมมาตลอดว่า “มันเป็นธรรมเนียมฝรั่ง เราเป็นคนไทยอย่ามาดัดจริต”
แม้นักจิตวิทยาหลายคนจะบอกว่า หากเรามีอคติหรือมีภาพจำลบๆ กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว เราก็อาจมองสิ่งที่เกิดขึ้นร้ายแรงกว่าความเป็นจริง แต่สุดท้ายพวกเขาไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเลี้ยงลูกด้วยความรุนแรงเป็นประจำ ผ่านการใช้คำพูดหยาบคาย การข่มขู่ และการใช้กำลังกับมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่เรียกว่าลูก คือเรื่องจริงที่เลวร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย
ดร.มาร์ค บอกว่าสำหรับเด็กคนหนึ่ง ไม่มีสิ่งไหนที่มีอำนาจและอิทธิพลไปกว่าคำว่า ‘ครอบครัว’ โดยหลายครั้งที่เขาถูกเชิญให้ไปบรรยายทักษะในการควบคุมอารมณ์ให้กับพ่อแม่ เขาพบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ต่างประสบปัญหาในการควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้เมื่อลูกทำในสิ่งที่ชวนขัดใจ ซึ่งการตอบโต้ของพ่อแม่ล้วนออกมาในวิธีที่ไม่เหมาะสม เช่น
…ฉันร้องกรี๊ดใส่ลูกสาว ร้องกรี๊ด สุดเสียงเลย
…ผมขู่จะยึดของ
…ผมเงียบ
…ฉันทำให้พวกเขารู้สึกผิดจนยอมทำสิ่งที่ฉันต้องการ
…ผมจะโทษภรรยาที่ไม่ควบคุมเด็กๆ
…ฉันติดสินบนให้ลูกทำตัวดีๆ
“คุณคุ้นเคยกับปฏิกิริยาเหล่านี้ตรงไหนบ้างไหม เมื่ออารมณ์ขึ้น วิธีที่คุณใช้โดยอัตโนมัติคืออะไร เมื่อรู้สึกถูกลูกๆ คุกคาม สวิตช์ความเมตตากรุณาของเราจะถูกปิด…
ผมเล่าให้ผู้ฟังฟังว่า ปฏิกิริยาสุดโต่งหากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน อาจเปลี่ยนโครงสร้างสมองของลูกๆ พวกเขาได้จริงๆ ห้องทั้งห้องเงียบกริบ ทุกคนคำนวณตัวเลขในใจว่าตนเคยอารมณ์เสียและทำตัวไร้สติใส่ลูกๆ มาแล้วกี่ครั้ง และกะขนาดความเสียหายถาวรที่เกิดขึ้นกับจิตใจอ่อนเยาว์ซึ่งไวต่อสิ่งกระตุ้นเหล่านั้นว่ามากน้อยแค่ไหน
มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เหลือเฟือเกี่ยวกับความเสียหายระยะยาวซึ่งเกิดขึ้นจากบาดแผลทางใจในวัยเด็ก เช่น อาจมีภูมิคุ้มกันต่อโรคลดลง ระบบทางเดินอาหารเจ็บปวดและผิดปกติ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ รวบรวมสมาธิไม่ได้ และซึมเศร้า ผลกระทบเหล่านี้สามารถคงอยู่สืบเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ สร้างปัญหาสุขภาพทั้งกายและใจต่อไปอีกยาวนาน”
นอกจากปัญหาที่กล่าวมาแล้ว ดร.มาร์คยังชี้ให้เห็นว่าพ่อแม่คือต้นแบบของลูก ดังนั้นไม่ว่าลูกจะชอบพฤติกรรมของพ่อแม่หรือไม่ สุดท้ายเขาก็จะซึมซับพฤติกรรมของพ่อแม่เข้าไปโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้วงจรการเลี้ยงดูถูกส่งต่อและแสดงออกผ่านคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นอย่างไม่มีวันจบ
“เราได้รับเอาประสบการณ์ทางอารมณ์เข้ามาเหมือนกับอากาศที่เราหายใจ เรานำแบบแผนทางอารมณ์เหล่านั้นติดตัวไปด้วยและมักทำซ้ำๆ ทั้งแบบแผนที่ดีและไม่ดี และในบ้านหลังใหม่ของเรา วงจรก็วนซ้ำ บนรากฐานทางอารมณ์เดียวกันกับที่เราเริ่มต้นชีวิต
พวกเราหลายคนใช้ชีวิตด้วยความพยายามสุดความสามารถที่จะหลีกเลี่ยงชะตากรรมดังกล่าว เราพยายามเต็มที่ที่จะเป็นอะไรก็ได้ ยกเว้น เป็นเหมือนพ่อแม่ของเรา แต่แล้วก็หนีไม่พ้น เมื่อถึงเวลาที่เราได้ยินตัวเองพูดว่า “นิสัยแบบนี้มาจากไหนวะ” ทันใดนั้นเราก็ตระหนักได้ว่าเรานำพ่อแม่ติดตัวมาด้วยตลอดชีวิต
เมื่อผู้ใหญ่สองคนสร้างครอบครัว มีมรดกทางอารมณ์อยู่ในบ้านหลังนั้นแล้วด้วยซ้ำ และแม้ว่าบ้านหลังนั้นจะไม่มีเด็ก หรือมีคุณอยู่คนเดียว อดีตเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ที่ไหนสักแห่งภายในตัวคุณเสมอ”
อย่างไรก็ตาม ดร.มาร์คไม่ได้ต้องการตอกย้ำความสิ้นหวังจากบาดแผลในวัยเด็กที่ส่งผลกระทบต่อคนๆ หนึ่งไปตลอดชีวิต เพราะมีวิธีที่สามารถช่วยให้เราสามารถหลุดออกจากวงจรความรุนแรง ค่อยๆ กลายเป็นพ่อแม่ที่พร้อมจะเป็นต้นแบบที่ดีและมีความฉลาดทางอารมณ์ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘เมตาโมเมนต์’ (Meta-Moment)
ดร.มาร์ค บอกว่า งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันต่างชี้ให้เห็นว่าเด็กๆ จะประสบความสำเร็จได้ดีที่สุดเมื่อพวกเขาได้รับความรักและความห่วงใยที่แสดงออกอย่างเปิดเผยจากพ่อแม่ เขาจึงพัฒนาเครื่องมือที่ชื่อว่า ‘เมตาโมเมนต์’ หรือเครื่องมือในการควบคุมอารมณ์ ซึ่งไม่เพียงแค่พ่อแม่เท่านั้น แต่คนทั่วไปก็สามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวในการสร้างโลกของเราให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
“สำหรับขั้นแรกของการควบคุมอารมณ์นั้น เครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในคลังของเราคือเมตาโมเมนต์ เมื่อเราใกล้จะตอบโต้ในแบบที่ควรหลีกเลี่ยง ให้หยุดหายใจสักหนึ่งหรือสองครั้ง
การหายใจอย่างมีสติช่วยให้เราแตะเบรกการทำงานของระบบตอบสนองต่อความเครียด โดยลดอัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจทางจมูกช่วยได้มาก เมื่อเรานับลมหายใจ หรือท่องวลีที่ทำให้เกิดความสงบขณะที่หายใจไปด้วย เราจะคืนสู่สมดุลและควบคุมตัวเองได้ เนื่องจากสมองส่วนที่ทำงานเป็นหลักจะเปลี่ยนจากก้านสมองมาเป็น motor cortex ที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การหายใจยังช่วยปรับการทำงานของระบบประสาทพาราซิมพาเทติค (ทำให้รู้สึกโล่งสบายผ่อนคลาย) และลดการทำงานของซิมพาเทติค (ระบบประสาทที่ทำให้เราตื่นตัว)
การหยุดเพื่อหายใจขณะถูกท้าทายเป็นเทคนิคเก่าแก่สำหรับการควบคุมการตอบสนองที่เรามีต่อชีวิต แต่นั่นเป็นจุดที่กระบวนการควบคุมอารมณ์เริ่มต้นขึ้น
การหายใจสยบปฏิกิริยาอันรุนแรงได้ และซื้อเวลาให้เราคิดสักหนึ่งหรือสองวินาที แต่เมตาโมเมนต์อย่างเต็มรูปแบบคือกุญแจสำคัญ”
ดร.มาร์ค บอกว่าพอสูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ เราจะมีเวลาชั่วขณะในการเบรกพายุอารมณ์ เพื่อหยุดทบทวนสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช้อารมณ์ชั่ววูบเป็นตัวตัดสิน จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนสำคัญของเมตาโมเมนต์
“การหยุดยังให้โอกาสเราตั้งคำถามบางข้อซึ่งอาจเป็นประโยชน์ เช่น “ฉันเคยรับมือกับสถานการณ์แบบนี้อย่างไรในอดีต” “ตัวตนที่ดีที่สุดของฉัน จะทำอย่างไรในตอนนี้”
บุคคลในอุดมคตินั้นมีคุณสมบัติซึ่งเราใช้อธิบายถึงตัวตนที่ดีที่สุดของเราจากมุมมองของเราเองและมุมมองของผู้อื่น เราอยากให้ผู้อื่นเห็นเราและพบพานเราในรูปแบบใด สำหรับบางคนอาจเป็นคำคุณศัพท์ เช่น มีความเห็นอกเห็นใจ…แต่สำหรับบางคนอาจเป็นรูปภาพหรือวัตถุ เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งเป็นครูใหญ่โรงเรียนมัธยม มีตัวการ์ตูนสเมิร์ฟวางอยู่บนโต๊ะของเธอ เพื่อย้ำเตือนให้เธอเป็นตัวตนที่ดีที่สุดของตัวเอง
การสร้างมโนภาพ ตัวตนที่ดีที่สุด จะหันเหความสนใจของเราออกจาก “ตัวจุดชนวน” ไปสู่คุณค่าของเรา มันช่วยให้เราเลือกวิธีควบคุมอารมณ์ที่เป็นประโยชน์ เช่น การพูดกับตัวเองในเชิงบวก หรือการประเมินใหม่ จากนั้นก็ตอบสนองไปตามนั้น…คุณจะทำอะไรถ้ามีคนที่คุณเคารพนับถือกำลังเฝ้าดูคุณอยู่”
นอกจากนี้ ดร.มาร์ค เชื่อว่าหัวใจสำคัญของการเป็นพ่อแม่ต้นแบบคือการคิดถึงตัวเองตอนเด็กๆ ให้มาก และพ่อแม่ควรแยกบทบาทตัวเองว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางอารมณ์ ไม่ใช่ผู้พิพากษาทางอารมณ์ของลูก เพราะสุดท้ายแล้วพ่อแม่ไม่ควรปิดกั้นลูก รวมถึงตัวเองจากอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ แต่ควรหมั่นทดลองค้นหาวิธีที่จะเผชิญหน้ากับอารมณ์ทุกชนิด โดยเฉพาะอารมณ์ด้านลบที่พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้เท่าทันถึงประโยชน์และโทษของมัน ก่อนจะควบคุมและก้าวผ่านสถานการณ์ต่างๆ อย่างมีสติ
“โปรดจำไว้ว่าลูกๆ ของคุณศึกษาคุณอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่แบเบาะ พวกเขาอ่านน้ำเสียงของคุณทุกโทนเสียง ทุกการแสดงออกเพียงแวบเดียวบนใบหน้า ทุกท่าทีและสัมผัส รวมทั้งเบาะแสจากภาษากาย พวกเขาสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งบอกอะไรมากกว่าที่ถ้อยคำของคุณจะสื่อได้
ลองคิดถึงการที่ชื่อเสียงของเราทำให้เราประพฤติตัวในแบบที่ทำให้ผู้อื่นชื่นชมและเคารพดูสิ เรายินดีที่จะทำตัวให้ดีกว่าที่เราเคยทำเพื่อรักษาชื่อเสียงไว้ ครอบครัวของคุณไม่สมควรได้รับความพยายามแบบเดียวกับที่คุณมอบให้คนอื่นๆ ทั้งโลกอย่างนั้นหรือ คุณอาจลองตอบคำถามนี้ก็ได้ว่า คุณอยากให้ลูกๆ พูดถึงคุณอย่างไรเมื่อพวกเขาโตขึ้น และมองย้อนกลับมา”