- หนังสือ ‘วันนั้นฉันเจอเพนกวิน’ หรือ Penguin Highway เขียนโดย โมริมิ โทมิฮิโกะ เป็นเรื่องราวของอาโอยามะ เด็กชายวัยประถมสี่ ที่คิดโปรเจ็กต์งานวิจัย ‘เพนกวิน ไฮเวย์’ เพื่อไขปริศนาเหตุการณ์ที่มีเพนกวินโผล่มาในเมืองของเขา
- อาโอยามะ มีคุณสมบัติหลายอย่าง ที่น่าจะเป็นต้นแบบของเด็กๆ ในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการมีความสนใจใฝ่รู้ในเรื่องต่างๆ หรือการต่อยอดจากการสนใจใฝ่รู้ และการรู้จักเก็บข้อมูล และการมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในการพัฒนาตนเอง
- เรื่องราวของอาโอยามะและผองเพื่อน เป็นเหมือนไทม์แมชชีนที่พาผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่ ย้อนความทรงจำกลับไปสู่วัยเด็ก ที่เต็มไปด้วยการผจญภัย มิตรภาพ ความรัก ความกล้าหาญ รวมไปถึงการค้นหาและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
ว่ากันว่า ช่วงวัยเด็กคือช่วงชีวิตที่มีความสุขที่สุด อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของคนๆ หนึ่ง และยังเป็นช่วงเวลาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมหัศจรรย์พันลึกมากที่สุด
นั่นอาจเป็นเพราะช่วงวัยเด็กเป็นช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่กลัวที่จะผิดหวังหรือล้มเหลว และเต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ
แม้ว่าบางคนอาจมองว่าเป็นความเพ้อฝัน ไม่เป็นความจริง หรือเป็นความคิดเพ้อเจ้อ แต่นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก ชี้ตรงกันว่า จินตนาการเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็ก ทั้งทางด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการเรียนรู้ถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้ใหญ่ ที่เด็กนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในโลกจินตนาการ
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนังสือ รวมถึงวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนหลายๆ เล่ม จะเต็มไปด้วยจินตนาการที่เหนือจริง ไม่ว่าจะเป็นความเหนือจริงในแบบแฟนตาซี หรือความเหนือจริงแบบอ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์ หรือที่เรียกกันว่า นิยายไซไฟ
มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเพิ่งอ่านจบไปเมื่อไม่นาน เป็นเรื่องราวของเด็กที่เต็มไปด้วยจิตนาการที่เหนือจริง ซึ่งผสมผสานทั้งความแฟนตาซี และอ้างอิงหลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์
และที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้ ชวนให้เราหวนระลึกถึงความเป็นเด็ก ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ความสนใจใฝ่รู้ การผจญภัย มิตรภาพของผองเพื่อน รวมถึงความรักครั้งแรก
หนังสือเล่มที่ว่าก็คือ ‘วันนั้นฉันเจอเพนกวิน’ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Penguin Highway เขียนโดยนักเขียนชาวญี่ปุ่น โมริมิ โทมิฮิโกะ แปลเป็นภาษาไทยโดย หนึ่งฤทัย ปราดเปรียว เป็นเรื่องราวของอาโอยามะ เด็กชายวัยประถมสี่ ผู้ชื่นชอบเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์แบบแฟนพันธุ์แท้ หรืออาจเรียกว่า ‘เด็กเนิร์ด’ ก็ได้
อาโอยามะ เป็นเด็กฉลาด ใฝ่รู้ ชอบจดบันทึกทุกเรื่องราวที่พบเจอ รวมทั้งชอบทำโครงการวิจัยในหัวข้อที่ตัวเองสนใจ ไม่ว่าจะเป็น บันทึกจักรวรรดิซูซูกิ ซึ่งเป็นหัวข้อเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าวชอบบุลลี่เพื่อนของเด็กนักเรียนร่วมชั้น ที่ชื่อซูซูกิ หรือโครงการวิจัยพี่สาว เพื่อทำความเข้าใจและศึกษารายละเอียดของพี่สาวคนสวยที่อาโอยามะแอบชอบ
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของอาโอยามะ คือ เขาเป็นเด็กที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ทำให้มีความกล้าทำอะไรหลายอย่างที่แม้แต่ผู้ใหญ่ยังไม่กล้าทำ แต่บางครั้ง เขาก็ดูจะมั่นใจในตัวเองมากเกินไป จนกลายเป็นเด็กอวดฉลาดอยู่สักหน่อย
“ผมหัวดีมาก แถมยังขยันหาความรู้อีกต่างหาก เพราะฉะนั้น โตไปผมต้องได้ดีแน่นอน” นั่นคือ ประโยคแรกของหนังสือเรื่องนี้ ที่บอกให้เรารู้ว่า อาโอยามะเป็นเด็กอวดฉลาดแค่ไหน
ความมหัศจรรย์ของเรื่อง เริ่มต้นเมื่อจู่ๆ ก็มีเพนกวินฝูงหนึ่ง ปรากฎตัวขึ้นในเมืองที่อาโอยามะอาศัยอยู่ ด้วยความที่ชอบจดบันทึก สเก็ตช์ภาพ และขยันค้นหาความรู้เพิ่มเติม ทำให้อาโอยามะรู้ว่า เพนกวินเหล่านั้น เป็นเพนกวินอาเดลี หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า พีโกซิลิส อาเดอเล ซึ่งอาศัยอยู่แถบขั้วโลกใต้และหมู่เกาะในพื้นที่ดังกล่าว
แต่สิ่งที่อาโอยามะและชาวเมืองทุกคนไม่รู้ ก็คือ เพนกวินเหล่านี้ โผล่มาอยู่ที่เมืองเล็กๆ แสนเงียบสงบของพวกเขาได้อย่างไร
อาโอยามะ จึงคิดโปรเจ็กต์งานวิจัยเพื่อไขปริศนาเพนกวินฝูงนี้ โดยตั้งชื่อว่า ‘เพนกวิน ไฮเวย์’ (Penguin Highway) ซึ่งเป็นคำที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เรียกเส้นทางที่เพนกวินใช้เป็นประจำ ในการเดินทางจากทะเลขึ้นบก
การทำงานวิจัยที่ดี มักต้องอาศัยคนเก่งหลายๆ คนมาช่วยกัน อาโอยามะ จึงชักชวนเพื่อนสนิท ชื่อ อุจิดะ มาร่วมทำงานวิจัยเรื่องนี้ ก่อนที่ฮามาโมโตะ เด็กหญิงร่วมชั้นเรียนผู้เฉลียวฉลาด (ถึงขนาดที่อาโอยามะยอมรับว่า มีสติปัญญาในระดับเดียวกับเขา) จะมาร่วมทีมอีกคนหนึ่งในเวลาต่อมา
ความแฟนตาซีของเรื่องนี้ เพิ่มทวีคูณเมื่ออาโอยามะ ค้นพบว่า เพนกวินเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งมีชีวิตจริง แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้าง หรือเสกขึ้นโดยคนๆ หนึ่ง และคนๆ นั้นก็คือ พี่สาวคนสวยที่เขาแอบหลงรักนั่นเอง
พี่สาวในเรื่อง เป็นตัวละครลึกลับไร้ชื่อ เธอทำงานเป็นพนักงานที่คลินิกทำฟัน ซึ่งอาโอยามะไปใช้บริการเป็นประจำ พี่สาว เป็นคนสวย จิตใจดี ชอบพูดคุยเล่น รวมทั้งคอยช่วยเหลืออาโอยามะอยู่เสมอๆ (แม้ว่าบางครั้งจะเรียกอาโอยามะว่า เจ้าเด็กแก่แดดก็เถอะ) ทำให้เจ้าตัวถึงกับตั้งปณิธานไว้ในใจว่า เมื่อโตขึ้น เขาจะแต่งงานกับพี่สาวแสนสวยคนนี้
แม้ว่าเรื่องราวจะดูพิลึกพิลั่นขึ้นเรื่อยๆ แต่อาโอยามะกลับไม่ถอดใจ หรือรู้สึกหวาดกลัว เขาจดบันทึกเก็บข้อมูลรายละเอียดทุกอย่างที่พบเจอ จนได้ข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น พี่สาว สามารถเสกนกเพนกวินขึ้นจากน้ำอัดลมกระป๋องได้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทุกครั้ง นอกจากเพนกวินแล้ว พี่สาวยังสามารถเสกสัตว์ชนิดอื่น เช่น ค้างคาว ขึ้นมาได้ด้วย และที่สำคัญ การเสกเพนกวิน หรือสัตว์ชนิดอื่น มีความเกี่ยวพันกับสุขภาพของพี่สาว เพราะหลังจากที่พี่สาวเสกเพนกวินขึ้นมา เธอจะมีสุขภาพอ่อนแอลงจนต้องหยุดงาน
อ่านมาถึงตอนนี้ ผมอดคิดไม่ได้ว่า หนังสือเล่มนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนผลงานของสตูดิโอจิบลิ ผู้สร้างอะนิเมชั่นเปี่ยมด้วยเวทมนตร์และความอบอุ่นหัวใจอย่าง My Neighbor Totoro, Spirited Away, Kiki’s Delivery Service, Howl’s Moving Castle และอีกหลายๆ เรื่อง ซึ่งหากเป็นงานจิบลิ ก็คงพอเดาได้ว่า ตอนสุดท้าย จะมีการเฉลยว่า แท้ที่จริงแล้ว พี่สาวคนสวย คือ แม่มดที่มาจากโลกแห่งมนตรา
แต่เรื่องราวไม่ใช่อย่างนั้น เพราะผลงานของ โมริมิ โทมิฮิโกะ มักจะมีความเป็นไซไฟเจือปนอยู่ในความแฟนตาซีอยู่ด้วย ทำให้พี่สาวคนสวย ไม่ได้เป็นแม่มดที่ถูกสาปให้มาอยู่ในโลกมนุษย์ แต่เธอเป็นอะไรที่เหนือจินตนาการยิ่งกว่านั้น
ในช่วงกลางเรื่อง ฮามาโมโตะ ได้พาอาโอยามะและอุจิดะ ไปพบกับวัตถุลึกลับที่เป็นงานวิจัยของเธอ เธอเรียกสิ่งนั้นว่า ทะเล เป็นวัตถุทรงกลมโปร่งใสที่เหมือนจะประกอบด้วยน้ำ แต่วัตถุทรงกลมปริศนานี้ ซึ่งอยู่ในป่าลึกนอกเมือง สามารถลอยอยู่สูงจากพื้น อีกทั้งยังสามารถยืดและหดมวลของตัวเองได้ คล้ายกับปรากฎการณ์น้ำขึ้นน้ำลง
ต่อมา เด็กทั้งสามคน จึงได้ค้นพบว่า ทะเล นกเพนกวิน สัตว์ประหลาด และพี่สาวคนสวย มีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง
ผมจะไม่เฉลยบทสรุปเรื่องราวปริศนาเหนือจริงของหนังสือเล่มนี้ เพราะสิ่งที่ตั้งใจหยิบมาเขียนถึงในบทความชิ้นนี้ คือ ตัวตนของอาโอยามะ พระเอกของเรื่องนี้
นอกจากจะเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์ จับใจคนอ่านจนอยู่หมัดแล้ว อาโอยามะ ยังมีคุณสมบัติหลายอย่าง ที่น่าจะเป็นต้นแบบของเด็กๆ ในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการมีความสนใจใฝ่รู้ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยการสืบค้นหนังสือในห้องสมุด หรือค้นหาทางอินเทอร์เน็ต, การจดบันทึกเพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งไม่ใช่แค่สักแต่ว่าจดอย่างเดียว อาโอยามะ ยังรู้จักสรุปแยกแยะเป็นหัวข้อ เพื่อให้มองเห็นภาพรวมทั้งหมดอีกด้วย, ความชื่นชอบในการทำงานวิจัย เพื่อต่อยอดจากการสนใจใฝ่รู้และการรู้จักเก็บข้อมูล และการมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในการพัฒนาตนเอง
ด้วยคุณสมบัติทั้งสี่ข้อ ที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ทำให้อาโอยามะ เป็นเด็กฉลาดคนหนึ่ง ซึ่งเจ้าตัวก็มักจะชมตัวเองบ่อยๆ แต่เขาก็ไม่ได้พอใจเพียงแค่นี้ อาโอยามะ มุ่งมั่นจะเป็นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ฉลาดที่สุดคนหนึ่ง จนถึงขนาดคว้ารางวัลโนเบลมาครอบครอง
ฟังดูอาจเป็นเรื่องน่าขำ แต่มันคือเป้าหมายที่สามารถไปถึงได้ หากมีการเริ่มต้นทำตั้งแต่วันนี้ เหมือนอย่างที่อาโอยามะ พูดไว้ว่า
“แพ้คนอื่นไม่ใช่เรื่องน่าอาย แพ้ตัวเองคนเมื่อวานต่างหากที่น่าอาย ในแต่ละวัน ผมเรียนรู้เรื่องราวของโลกนี้เพื่อให้เก่งกว่าเมื่อวาน.. มีเวลาอีก 3,880 วัน กว่าจะอายุยี่สิบปี เท่ากับว่า ผมจะเก่งขึ้นอีก 3,880 วัน ลองคิดดูว่า เมื่อวันนั้นมาถึง ผมจะเก่งขนาดไหน ผมเองยังนึกภาพไม่ออกเลย”
คุณสมบัติทั้งหมดทั้งมวลของอาโอยามะ ส่วนหนึ่งต้องยกให้เป็นความดีความชอบของพ่อ ตัวละครที่แม้จะออกมาแค่ไม่กี่ฉาก แต่ก็บอกให้เรารู้ว่า พ่อแม่มีส่วนสำคัญมากแค่ไหน ต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของเด็กคนหนึ่ง
ตอนหนึ่งในเรื่อง ขณะที่อาโอยามะ กำลังพบทางตันในการไขปริศนาของเพนกวิน เขาก็นึกถึงกฎ 3 ข้อ ที่พ่อเคยสอนให้นำมาใช้ในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง
1 ย่อยปัญหาให้เล็กลง : เพื่อลดความยากของปัญหาลง จากเรี่องที่ยากแสนยาก กลายเป็นเรื่องที่ยากพอประมาณหลายๆเรื่อง จากนั้น ค่อยๆแก้ไปทีละเรื่อง
2 มองปัญหาจากมุมอื่น : เพื่อให้รู้จักมองหาทางเลือกอื่นในการแก้ปัญหา
3 ลองหาปัญหาอื่นที่คล้ายคลึง : เพื่อศึกษาเปรียบเทียบ และอาจนำแนวทางการแก้ปัญหานั้นมาปรับใช้ได้
นอกจากกฎ 3 ข้อแล้ว พ่อยังสอนแนวทางแก้ปัญหาอื่นๆ ให้กับอาโอยามะ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การรู้ว่าปัญหาคืออะไร
ในเรื่อง พ่อได้ยกตัวอย่างให้อาโอยามะฟังว่า เวลาที่เรากลับบ้านแล้วเปิดไฟในห้อง แต่ไฟไม่ติด ปัญหาคืออะไร อาโอยามะตอบว่า สวิตช์ไฟน่าจะเสีย พ่อบอกว่า อาจเป็นการตั้งสมมติฐานที่ผิด เพราะหากเราปักใจเชื่อว่า สวิตช์ไฟเสีย เราจะพยายามแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนสวิตช์ไฟใหม่ ซึ่งจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ในกรณีที่ไฟไม่ติด เพราะไฟดับทั้งเมือง
ดังนั้น ก่อนที่จะพยายามหาแนวทางแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม เราต้องแน่ใจว่า เรามองปัญหาได้ถูกจุด ซึ่งในกรณีนี้ อาจตรวจสอบด้วยการลองเปิดสวิตช์ไฟในห้องอื่น หากไฟในห้องอื่นติด ก็อาจอนุมานได้ว่า สวิตช์ไฟในห้องแรกมีปัญหา
แต่หากเปิดไฟในห้องอื่นๆ แล้ว ก็ไม่ติดเหมือนกัน เราอาจไปชะเง้อมองที่บ้านเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน เพื่อดูว่าบ้านเพื่อนบ้านตกอยู่ในความมืดเหมือนกันหรือเปล่า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เราน่าจะได้ข้อสรุปใหม่ว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สวิตช์ไฟเสีย หากแต่เพราะกระแสไฟฟ้าดับทั่วเมืองต่างหาก
แน่นอนว่า การอ่านหนังสือสักเล่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือที่เป็นนิยาย สิ่งที่ผู้อ่านต้องการ ไม่ได้มีแค่ข้อคิด หรือความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ อารมณ์ความรู้สึกที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนั้น
เรื่องราวของอาโอยามะและผองเพื่อน เป็นเหมือนไทม์แมชชีนที่พาผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่ ย้อนความทรงจำกลับไปสู่วัยเด็ก ที่เต็มไปด้วยการผจญภัย มิตรภาพ ความรัก ความกล้าหาญ รวมไปถึงการค้นหาและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะ หรือการกีฬา
ท้ายที่สุด ผมก็ได้เรียนรู้ว่า จริงๆ แล้ว คุณสมบัติทั้งหมดทั้งมวลในตัวอาโอยามะ คือคุณสมบัติเด็กทุกคนมีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเด็กคนนั้น รวมถึงผู้เป็นพ่อแม่ จะทำให้คุณสมบัติเหล่านั้น ได้รับการปลดปล่อยออกมามากน้อยแค่ไหน