- บ้านเล็กในป่าใหญ่ (Little House in the Big Woods) เขียนโดย ลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ เป็นวรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกที่เล่าเรื่องราวชีวิตของเด็กหญิงลอร่า ที่เติบโตมากลางป่าใหญ่ในอเมริกายุคบุกเบิก
- หนังสือเล่าอัตชีวประวัติของ ‘ลอร่า’ ตั้งแต่วัยเด็ก และครอบครัวของเธอ ที่อาศัยอยู่ในกระท่อมไม้ซุงกลางป่ารัฐวิสคอนซิน โดยพ่อแม่ของเธอทำหน้าที่ปกป้อง เลี้ยงดู และอบรมสั่งสอนลูกๆ ผ่านเรื่องเล่าและการใช้ชีวิตจริง โดยสอดแทรกข้อคิดเกี่ยวกับความอดทน ความขยัน และคุณค่าของครอบครัว
- ครอบครัวที่อบอวลไปด้วยความรัก ความอบอุ่น ความเข้าอกเข้าใจกัน จะทำให้เด็กมีความเชื่อมั่นในความเป็นครอบครัว ที่เป็นเหมือนที่พักพิงที่แสนปลอดภัย ทั้งทางกายและจิตใจ
สุภาษิตโบราณบทหนึ่งของแอฟริกา กล่าวไว้ว่า ‘It takes a village to raise a child’ หรือ ‘ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านในการเลี้ยงเด็กแค่คนเดียว’ สุภาษิตดังกล่าวได้กลายเป็นวลีที่ใช้กันแพร่หลายในแวดวงวิชาการ ว่าด้วยการเลี้ยงเด็กให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มากมาย
ไม่มีใครปฏิเสธว่า การที่เด็กคนหนึ่ง จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ โดยไม่ล้มเหลว หรือแหลกสลายไประหว่างทางเสียก่อน จำเป็นต้องพึ่งพาทั้งครอบครัว และปัจจัยแวดล้อมภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน เพื่อนที่โรงเรียน ครูอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ ร้านค้าในละแวกใกล้เคียง หรือแม้กระทั่งศูนย์การค้าทันสมัยใจกลางเมือง
ถึงกระนั้น ครอบครัวก็ยังถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดอยู่ดี เพราะนอกจากจะเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างแรกที่เด็กคนหนึ่งพบเจออยู่ทุกวันแล้ว ครอบครัว หรือบ้าน ยังเป็นเหมือนเซฟโซน ที่พักพิง ทั้งทางกายและจิตใจ ในวันที่เด็กคนหนึ่งต้องซมซานกลับมาหลังจากเจ็บปวดบอบช้ำจากโลกภายนอก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมากลางป่าดิบแดนเถื่อน ซึ่งเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ที่สุด ยังอยู่ห่างออกไปหลายไมล์ นั่นหมายความว่า บ้าน หรือครอบครัว แทบจะกลายเป็นโลกทั้งใบของเธอ การที่เด็กคนนี้ จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ‘บ้าน’ จึงกลายเป็นปัจจัย หรือตัวแปรที่สำคัญที่สุดอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้
ลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ (สะกดตามที่ใช้ในฉบับแปลไทย สำนวนของสุคนธรส) คือ เด็กผู้หญิงคนนั้น เด็กผู้หญิงที่เติบโตมาในบ้านที่อยู่กลางป่าลึก และเติบโตขึ้นมากลายเป็นนักเขียนหญิง และสุภาพสตรีที่ชาวอเมริกันรักมากที่สุดคนหนึ่ง
ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึงลอร่า ผู้แต่งหนังสือชุด ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ หรือ Little House Series ซึ่งเป็นหนึ่งในวรรณกรรมเด็กที่ได้รับความนิยม และเป็นที่รักของคนทั่วโลกมากที่สุด
หนังสือในชุดนี้ซึ่งมีทั้งหมด 7 เล่ม เป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ และอัตชีวประวัติของลอร่า ตั้งแต่วัยเด็กที่เธอเติบโตขึ้นมากลางป่าใหญ่ในรัฐวิสคอนซิน ก่อนจะอพยพย้ายถิ่นฐานหลายครั้ง ตั้งแต่รัฐแคนซัส มินเนโซตา ดาโกตา ก่อนจะพบรักและลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวกับ แอลแมนโซ ไวล์เดอร์ และย้ายไปยังรัฐมิสซูรีในเวลาต่อมา
เรื่องราวทั้งหมดในวรรณกรรมชุดนี้ เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ในยุคสมัยที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของอเมริกา ยังเป็นป่าดงพงไพร ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ เต็มไปด้วยสัตว์ป่า ชนพื้นเมืองอินเดียนแดง แก๊งโจรปล้นชิงทรัพย์ และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานา การที่ใครสักคนจะเติบโตผ่านพ้นวัยเด็กจนเป็นผู้ใหญ่ได้ ก็ถือเป็นเรื่องยากแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และกลายเป็นคนที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในแบบอย่างอเมริกันชนที่ดีงาม
แล้วอะไรที่หล่อหลอมให้เด็กหญิงลอร่า อิงกัลส์ กลายเป็นหญิงสาวที่ดีงาม ทั้งความเป็นกุลสตรี ความเฉลียวฉลาดใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา ความกล้าหาญ อดทน และจิตใจที่แข็งแกร่งไม่แพ้เหล่าโคบาลในถิ่นตะวันตกแดนเถื่อน
เด็กหญิงเล็กๆคนหนึ่ง อาศัยอยู่ในบ้านเล็กทาสีเทาทำด้วยไม้ซุงทั้งต้น อยู่ในป่าใหญ่ในรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา รอบบ้านเป็นป่ามืดครึ้ม… ไม่มีถนน ไม่มีผู้คน มีแต่ต้นไม้และสัตว์ปา ซึ่งอาศัยอยู่ตามสุมทุมพุ่มไม้…
และนั่นคือ คำบอกเล่าจากปากของลอร่า ในบทแรกของหนังสือที่มีชื่อว่า ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ ซึ่งบ้านเล็กที่ทำจากไม้ซุง คือสถานที่ที่เธออาศัยอยู่ร่วมกับพ่อ แม่ พี่สาวคนหนึ่งชื่อแมรี่ กับน้องสาวตัวเล็กชื่อแครี่ และสุนัขพันธุ์บูลด็อกชื่อแจ็ค ที่เป็นเหมือนหน่วยอารักขาความปลอดภัยให้กับบ้านเล็กหลังนี้
พ่อ มักจะออกจากบ้านแต่เช้า เพื่อไปทำไร่ไถนาในพื้นที่ที่ถางไว้ หรือไม่ก็เข้าป่าล่าสัตว์ เพื่อหาเนื้อสัตว์มาเป็นอาหารให้แก่ทุกคนในครอบครัว ในช่วงฤดูหนาว เมื่อพ่อกลับมาถึงบ้าน จะเป็นเวลาที่แสนสนุกสนานและอบอุ่นของครอบครัว โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังอาหารเย็น ที่พ่อมักจะเล่าเรื่องราวการผจญภัยที่พบเจอ รวมถึงเรื่องสนุกสนานสมัยวัยเด็กของพ่อให้ลูกๆ ฟัง
นอกจากความสนุกสนานน่าตื่นเต้นแล้ว เรื่องราวที่พ่อเล่าให้ลอร่าและแมรี่ฟัง มักสอดแทรกแง่คิดคำสอน โดยไม่ได้ยัดเยียด บังคับ หรืออ้างหลักศีลธรรมความดี ตรงกันข้าม แง่คิดที่ได้จากเรื่องเล่าของพ่อ บ่งบอกถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า ส่งผลดีผลเสียต่อชีวิตของเราอย่างไร
พ่อเล่าให้ลอร่ากับแมรี่ฟังว่า ตอนเป็นเด็ก ปู่มอบหน้าที่ให้พ่อต้อนวัวไปเลี้ยงในป่า พอตกเย็นก็ให้ต้อนกลับคอกตั้งแต่ก่อนค่ำ เพราะกลางคืนจะมีสัตว์ป่าดุร้ายออกมาหากิน ด้วยความที่ยังเด็กและมีนิสัยซุกซน พ่อจึงปล่อยฝูงวัวให้หากินเอง แล้วเถลไถลเข้าป่าลึกเพื่อชมนกชมไม้ตามประสาเด็ก
พอได้เวลาต้อนวัวกลับคอก พ่อหาวัวไม่เจอสักตัว จึงต้องเดินตามหาเข้าไปในป่าลึก พอได้ยินเสียงนกฮูกร้อง ฮูก ฮูก หูก็ฝาดได้ยินเป็นเสียงคนร้องถามว่า ใคร ใคร (who who) พ่อกลัวจนวิ่งหนีออกจากป่ากลับมาถึงบ้าน และพบว่า ฝูงวัวเดินกลับมารออยู่หน้าคอกตั้งแต่ตอนเย็นแล้ว
หรือตอนที่พ่อเล่าเรื่องพี่ชาร์ลีย์ ลูกชายของลุงเฮนรี ตอนนั้น พ่อกับลุงเฮนรีตกลงแลกเปลี่ยนแรงงานกัน ซึ่งถ้าเป็นศัพท์ในบ้านเราก็จะใช้คำว่าลงแขก คือ สลับการไปช่วยลงแรงเกี่ยวข้าวในนา พอถึงเวลาที่ข้าวในนาของลุงเฮนรีสุกและสมควรแก่การเก็บเกี่ยว พ่อจึงพาครอบครัวไปค้างที่บ้านลุงเฮนรี เพื่อช่วยลงแรงเกี่ยวข้าวให้กับครอบครัวนั้น
พี่ชาร์ลีย์ อายุได้ 11 ขวบแล้ว ซึ่งถือว่าโตพอที่จะช่วยพ่อแม่ทำงานในนาได้แล้ว แต่ลุงเฮนรีกับป้าปอลลี่ รักและโอ๋ลูกมาก จึงไม่ได้ให้พี่ชาร์ลีย์มาช่วยลงแรงเกี่ยวข้าว ครั้นพอจำเป็นต้องเรียกให้มาช่วย พี่ชาร์ลีย์กลับดื้อไม่ยอมช่วยทำงาน
ที่ร้ายกว่านั้น ขณะที่ผู้ใหญ่กำลังทำงานอยู่ในนา พี่ชาร์ลีย์ที่วิ่งเล่นอยู่ไกลๆ กลับร้องตะโกนราวกับว่า กำลังถูกสัตว์ป่าทำร้าย หลอกให้พ่อกับลุงเฮนรี ต้องวิ่งมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น และพบว่า ถูกพี่ชาร์ลีย์หัวเราะเยาะใส่และพูดว่า “ผมหลอกเล่น”
ครั้งสุดท้ายที่พี่ชาร์ลีย์ส่งเสียงร้องให้ช่วย ผู้ใหญ่ทุกคนไม่สนใจ เพราะคิดว่าเป็นการหลอกเล่นของเด็กนิสัยไม่ดี กว่าจะรู้ว่าคราวนี้เป็นเรื่องจริง พี่ชาร์ลีย์ก็ถูกฝูงต่อรุมต่อยจนปูดบวมไปทั้งตัว ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ลอร่าและเราที่เป็นคนอ่านได้ตระหนักถึงข้อเสียที่คนๆ หนึ่งจะได้รับจากการโกหก โดยไม่จำเป็นต้องยกหลักศีลธรรมขึ้นมาอ้าง
ขณะที่พ่อ คือ ตัวแทนของความกล้าหาญ อดทน ขยันขันแข็ง แม่ก็คือ ตัวแทนของความอบอุ่น เรียบร้อย และเป็นความเบิกบานที่อ่อนหวานของบ้าน
แทบทุกตอนที่แม่ถูกกล่าวถึงในหนังสือ คนอ่านจะรู้สึกได้ถึงความอบอุ่น ที่มาจากสูตรอาหารที่ชวนให้น้ำลายสอ ซึ่งล้วนแล้วจะมาจากผลผลิตการเกษตร หรือเนื้อสัตว์ที่หาได้จากในป่า และความใส่ใจในการสอนมารยาทที่ดีงาม แม้ว่าบ้านที่ลอร่าอยู่จะเป็นแค่บ้านหลังเดียวกลางป่าไร้ผู้คน
ในตอนที่ครอบครัวของลอร่า อพยพย้ายถิ่นฐานออกจากป่าในรัฐวิสคอนซิน เพื่อไปสร้างบ้านใหม่ในรัฐแคนซัส ขณะที่พักค้างแรมกลางทุ่งกว้างระหว่างทาง แม่ไม่ลืมที่จะเตือนให้ลอร่ารักษามารยาทบนโต๊ะอาหาร แม้ว่าตอนนั้น จะไม่มีโต๊ะสักตัวก็ตาม
“รับประทานอาหารดีๆ ลอร่า” แม่ว่า “ต้องระวังกิริยามารยาทหน่อย ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ห่างไกลจากคนอื่นๆเขาตั้งร้อยไมล์ก็ตาม”
เวลาที่ไม่ได้อยู่ในครัว แม่มักจะนั่งอยู่หน้าเตาผิง เย็บชุนผ้าอยู่ตลอดเวลา หรือไม่ก็หาเศษผ้าที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้ว มาประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาให้ลอร่าและแมรี ซึ่งคุณสมบัตินี้ นอกจากจะช่วยส่งเสริมเรื่องการประหยัดแล้ว ยังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในยุคสมัยที่ไม่ได้มีร้านสะดวกซื้ออยู่ทุกหัวมุมถนน
นอกจากนี้ แม่ ผู้เคยทำงานเป็นครูมาก่อน ยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ลอร่าเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียน โดยในช่วงแรกๆ ที่ครอบครัวของลอร่า ยังตั้งถิ่นฐานอยู่ในป่า หรือในทุ่งกว้าง ที่ห่างไกลจากความเจริญ แม่จะรับหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือให้กับลูกๆ
จนเมื่อครอบครัวของเธอ ได้ลงหลักปักฐานในเมืองดี สเม็ท รัฐเซาธ์ดาโกต้า ลอร่าได้เข้าเรียนที่โรงเรียนในเมือง อีกทั้งยังปลีกเวลาว่างมาทำงานเป็นครู ระหว่างที่ยังเรียนต่อไปด้วย และแม้ว่าสุดท้าย ลอร่าจะไม่จบการศึกษาระดับมัธยมปลาย เพราะเธอลาออกไปสร้างครอบครัวกับแอลแมนโซ ไวล์เดอร์ ชายหนุ่มที่มีพื้นฐานมาจากครอบครัวชาวนา แต่การรู้หนังสือและความรักในการอ่านที่เธอได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เธอกลายเป็นนักเขียนที่สามารถเล่าเรื่องให้อย่างสนุกสนาน อบอุ่น และน่าประทับใจ
เรื่องราวทั้งหมดในชีวิตของลอร่า อิงกัลส์ ไวล์เดอร์ ถูกนำมาเขียนเป็นหนังสือชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่ ซึ่งกลายเป็นวรรณกรรมเด็กที่ได้รับความนิยมทั้งในอเมริกาและทั่วโลก และตัวลอร่าเองก็กลายเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ชาวอเมริกันรักมากที่สุด
แน่นอน ไม่มีชีวิตของใครที่ไม่เคยมีเรื่องด่างพร้อย ลอร่าเองก็เช่นกัน นักวิชาการบางคนกล่าวว่า ลอร่ามีอคติต่อชนพื้นเมืองอินเดียนแดงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะจากคำกล่าวของเธอในหนังสือที่ว่า อินเดียนแดงที่ดี คือ อินเดียนแดงที่ตายแล้ว แต่นักวิชาการอีกหลายคนก็แย้งว่า ทัศนคติดังกล่าวเป็นสิ่งธรรมดาในยุคสมัยนั้น ไม่ต่างจากทัศนคติเรื่องการมีทาส ที่เคยถือเป็นเรื่องปกติในยุคสมัยหนึ่ง
อย่างไรก็ดี เรื่องราวชีวิตของลอร่า อิงกัลส์ ไวล์เดอร์ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ครอบครัวมีบทบาทอย่างไร ในการวางรากฐานให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม
ในหนังสือชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่ เราจะเห็นว่า พ่อ คือ ผู้ที่สอน (ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านการแสดงให้เห็น) ให้ลอร่ารู้จักความกล้าหาญ ความรักครอบครัว และความมุมานะไม่ยอมแพ้ต่อความยากลำบาก
แต่ที่สำคัญที่สุด พ่อคือคนที่ให้ความรักแก่ลอร่าอย่างสม่ำเสมอ แม้จะเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งวัน แต่เมื่อมาถึงบ้าน พ่อต้องอุ้ม โอบกอด และเล่นกับลูกๆ ก่อนจะเล่าเรื่องราวสนุกๆ ให้ฟัง และตบท้ายด้วยการสีไวโอลินกล่อมนอน
ขณะที่แม่ คือต้นแบบของลูกๆ ทั้งในด้านการเป็นสุภาพสตรี ที่เพียบพร้อมด้วยมารยาท ความเป็นแม่ และการเป็นผู้ใฝ่รู้รักการศึกษา จนอาจกล่าวได้ว่า หากไม่มีแม่ โลกวรรณกรรมก็คงไม่มีนักเขียนชื่อ ลอร่า อิงกัลส์ ไวล์เดอร์
บ้านเล็กในป่าใหญ่ ไม่เพียงแต่เป็นวรรณกรรมเด็กที่แสนอบอุ่น และน่าประทับใจเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องราวที่บอกให้เรารู้ว่า ครอบครัวที่อบอวลไปด้วยความรัก ความอบอุ่น ความเข้าอกเข้าใจกัน จะทำให้เด็กมีความเชื่อมั่นในความเป็นครอบครัว ที่เป็นเหมือนที่พักพิงที่แสนปลอดภัย ทั้งทางกายและจิตใจ ซึ่งจะทำให้เด็กคนนั้น เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ในการก้าวออกไปเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ นอกบ้านได้อย่างแข็งแกร่ง