- Like Stars on Earth เป็นภาพยนตร์อินเดียในปี 2007 กำกับและแสดงนำโดยอาเมียร์ ข่าน ซุปเปอร์สตาร์เบอร์ 1 แห่งวงการ Bollywood
- ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดของ อีชาน เด็กชายที่มีปัญหาเรื่องการอ่านการเขียนอันมีผลจากระบบประสาท แต่โชคร้ายที่พ่อและพวกคุณครูต่างคิดว่าอีชานขี้เกียจและโง่ ทั้งยังดุด่าต่อว่าอีชานว่าปัญญาอ่อนเป็นประจำ จนในที่สุดพ่อตัดสินใจส่งอีชานไปอยู่โรงเรียนประจำเพื่อหวังดัดนิสัย
- แต่แล้วในวันที่ยากลำบากที่สุด อีชานได้พบกับครูคนหนึ่งซึ่งฉุดเขาขึ้นมาจากหลุมพรางของความอคติและช่วยจุดไฟแห่งศักยภาพในตัวอีชานให้เปล่งประกายขึ้น
ณ ดินแดนหมู่เกาะโซโลมอนอันห่างไกล ชนเผ่าพื้นเมืองกำลังกระตือรือร้นในการตระเตรียมพื้นที่สำหรับการทำนา
สิ่งที่น่าสนใจคือแทนที่ชาวบ้านจะตัดหรือโค่นทำลายต้นไม้ที่ขวางทาง พวกเขากลับชวนญาติสนิทมิตรสหายมายืนล้อมรอบต้นไม้ และพูดจาดูหมิ่นสาปแช่งมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่นานหลังจากนั้นต้นไม้ก็ค่อยๆ เหี่ยวแห้ง และตายลงในที่สุด
นี่คือบทสนทนาตอนหนึ่งจากภาพยนตร์อินเดียเรื่อง ที่ถูกหยิบยกมาอุปมาในฉากที่ ‘ครูราม’ กำลังชี้ให้พ่อคนหนึ่งเห็นว่าการที่เขาด่าลูกทุกวัน(โดยที่ลูกไม่ได้ทำผิดอะไร) ไม่ต่างอะไรกับการค่อยๆ ปลิดชีพลูกอย่างเลือดเย็น
Like Star on Earth บอกเล่าเรื่องราวของอีชาน อาวาสตี้ เด็กชายชั้นป.3 ที่ประสบภาวะ LD (Learning Disability) หรือภาวะการเรียนรู้บกพร่องที่มีสาเหตุจากการทำงานผิดปกติของสมอง ส่งผลให้เขามีปัญหาด้านการอ่านการเขียน รวมไปถึงปัญหาด้านความคิดที่มักแสดงออกถึงความสับสนและไม่สามารถลำดับเหตุการณ์เหมือนกับคนทั่วไป นำมาสู่ปัญหาการเรียนซ้ำชั้นและกลายเป็นเด็กเจ้าปัญหาของที่บ้านและโรงเรียน
แต่น่าเสียดายที่ไม่มีใครเลยที่ล่วงรู้ความจริงข้อนี้ โดยเฉพาะพ่อกับพวกคุณครูที่ปักใจเชื่อว่าที่อีชานเป็นเด็กขี้เกียจและโง่จนต้องเรียนซ้ำชั้น ทำให้อีชานต้องเผชิญหน้ากับการต่อสู้ทั้งภาวะ LD ภายใน และเสียงเยาะเย้ยถากถางจากโลกภายนอก
ครูหลายคนเพิกเฉยกับความผิดปกติด้านการเรียนรู้ของอีชาน แถมยังใช้วิธีตะคอก ลงโทษ และตีตราเขาให้อับอายขายหน้าเพื่อนๆ เสมอ ทำให้อีชานรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนพ่อก็เลี้ยงดูอีชานด้วยความเผด็จการคือพ่อเป็นใหญ่ในบ้าน ซึ่งหากอีชานเรียนเก่งระดับแถวหน้าของชั้นเหมือนพี่ชาย พ่อก็คงเป็นเผด็จการจอมเมตตาที่สปอยล์ทุกอย่างดั่งใจหวัง ทว่าอีชานกลับโชคร้ายที่ประสบภาวะ LD ทำให้เขาเรียนซ้ำชั้นป.3 ติดกันเป็นปีที่สอง หนำซ้ำยังถูกโรงเรียนไล่ออกเพราะผลการเรียนที่ไม่พัฒนาไปไหน พ่อจึงกลายเป็นเผด็จการที่ใจร้ายเอาแต่ดุด่า แถมยังใช้กำลังตัดสินปัญหาในหลายๆ ครั้ง เช่น ตอนอีชานถูกเพื่อนล้อเลียนจนลามไปสู่การทะเลาะ พ่อกลับแก้ปัญหาด้วยการตบอีชานต่อหน้าคู่กรณีโดยไม่ถามเหตุผลลูกสักคำ
ในบรรดาคำด่าสารพัดที่ได้ยินเกือบตลอดทั้งเรื่อง ผมสังเกตว่า ‘ไอ้ปัญญาอ่อน’ คือคำที่อีชานได้รับบ่อยที่สุด และน่าเสียใจมากขึ้นเมื่อพิจารณาว่าคนที่พูดคำนี้บ่อยๆ ซ้ำๆ คือพ่อกับเหล่าคุณครูในเรื่อง
สำหรับผม ขึ้นชื่อว่าคำพูดของพ่อแม่รวมถึงครูบาอาจารย์มีผลกระทบต่อเด็กคนหนึ่งอย่างมหาศาล เพราะเด็กเป็นเพียงมนุษย์ที่ขาดประสบการณ์แถมยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ดังนั้นเด็กจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของพ่อแม่และครูอย่างสิ้นเชิง
เมื่ออีชานได้ยินคำว่าปัญญาอ่อนบ่อยเข้า แน่นอนว่าเขาก็ค่อยๆ เชื่อโดยอัตโนมัติว่าตัวเองปัญญาอ่อนและไร้ค่าจริงๆ โดยเฉพาะตอนที่พ่อส่งเขาไปเรียนโรงเรียนประจำ ทำให้ความภาคภูมิใจและนับถือตัวเองของอีชานแหลกสลายลงอย่างสิ้นเชิง
ประเด็นถัดมาคือการที่ภาพยนตร์พยายามนำเสนอว่าครูที่ดีสามารถยกระดับศักยภาพของเด็กได้ ผ่านบทบาทของครูราม ครูสอนศิลปะอัตราจ้างที่โรงเรียนประจำซึ่งเคยประสบภาวะ LD มาก่อนแถมยังสังเกตเห็นพฤติกรรมแปลกๆ ของอีชานจนเขารู้สึกถึงเงาสะท้อนของตัวเองในอดีต ครูรามจึงเริ่มต้นสร้างแรงจูงใจให้อีชานด้วยการนำเรื่องราวของบุคคลสำคัญของโลก เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, โทมัส เอดิสัน หรือ วอล์ต ดิสนีย์ ฯลฯ มาเล่าให้ฟังว่าทั้งหมดต่างมีปัญหาเรื่องการอ่านการเขียน แถมยังเคยถูกคนตราหน้าว่าโง่และไม่เอาไหนมาก่อน แต่พวกเขากลับเอาชนะคำดูถูกเหล่านั้นด้วยความทุ่มเทพยายามจนทั้งโลกพากันยกย่องเชิดชู
“…ครูเองก็มีปัญหาเรื่องการอ่านเขียนตอนยังเด็ก พ่อครูไม่เคยเข้าใจครู เขาหาว่าครูมีข้ออ้างหลีกเลี่ยงการเรียนหรือไม่ยอมเชื่อฟัง ครูคิดเสมอว่าครูจะล้มเหลวในชีวิต ไอ้เด็กปัญญาอ่อนนี่จะสำเร็จอะไรได้บ้าง แต่ไม่ว่าครูจะเป็นอะไร ครูก็อยู่ตรงหน้าเธอแล้ว” ครูรามบอกอีชานด้วยสีหน้าจริงจัง
สิ่งที่ผมประทับใจคือครูรามเป็นคนเดียวที่อาสาครูใหญ่มาช่วยติวอีชานเป็นพิเศษนอกเวลาเรียน โดยใช้วิธีการสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori Educational Principles) หรือการเรียนที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลางและให้โอกาสเด็กได้เลือกทำกิจกรรมการเรียนรู้ตามความสนใจ เช่น เวลาสอนอีชานบวกลบเลข ครูรามจะพาอีชานไปที่ลานอัฒจันทร์กว้างๆ เพื่อให้อีชานบวกลบเลขด้วยการก้าวขึ้นลงบันไดอย่างสนุกสนาน หรือการเขียนตัวอักษรภาษาอังกฤษ ครูรามที่รู้ว่าอีชานมีความสามารถพิเศษด้านศิลปะก็นำสีน้ำหลายๆ สีมาให้อีชานใช้เขียนจำแนกตัวอักษรที่เขามักจำสลับกัน
ผมมองว่าแม้อีชานจะถูกพ่อและคุณครูที่โรงเรียนเก่า ‘ล่วงละเมิดทางวาจา’ จนเผชิญกับความเศร้าหมองหดหู่ใจ แต่พอได้เจอครูราม…ผู้ให้เกียรติและเห็นว่าเด็กทุกคนล้วนมีศักยภาพในแบบของตัวเอง ผ่านการเจียระไนและชื่นชมอีชานบ่อยๆ ทำให้อีชานค่อยๆ รู้สึกว่าตัวเขามีคุณค่า ทั้งยังตระหนักได้ว่าความพยายามของเขากำลังนำชีวิตไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นพลังใจอันเข้มแข็งที่ช่วยให้อีชานกลับมามีชีวิตชีวาและตั้งใจฝึกฝนทักษะด้านการอ่านการเขียน รวมถึง ‘ศิลปะ’ ที่เขารักอย่างสุดจิตสุดใจ
นอกจากกิจกรรมทั้งหมดแล้ว ฉากที่น่าประทับใจที่สุดคงหนีไม่พ้นฉาก สุดท้ายของเรื่องที่ครูรามจัดงานแข่งขันวาดภาพกลางแจ้งภายในโรงเรียน โดยมีนักเรียนและครูทุกระดับชั้นเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อเปิดโอกาสให้อีชานได้แสดงศักยภาพที่แท้จริงให้ผู้คนตระหนัก แต่ที่ประทับใจมากกว่าการที่อีชานได้รางวัลชนะเลิศคือตอนที่หนูน้อยกำลังเดินไปที่เวทีแล้วสะดุดล้ม ปรากฏว่าครูรามโผล่มาประครองเขาไว้ได้ทัน ทำให้ผมฉุกคิดได้ว่าบางทีภาพยนตร์อาจกำลังต้องการสื่อสารกับผู้ชมว่า
ครูที่ดีไม่ใช่ครูที่เอาไม้บรรทัดของตัวเองมาตัดสินหรือวัดค่าเด็ก แต่เป็นครูที่คอยประคับประคอง อยู่เคียงข้าง และผลักดันเด็กคนหนึ่งให้ก้าวไปสู่ฝั่งฝันในแบบที่เขาต้องการ