- กุยโดและโจชัว คือสองพ่อลูกชาวยิวที่ถูกทหารนาซีจับตัวไปยังค่ายกักกันแรงงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
- ด้วยความไร้เดียงสา โจชัวมักตั้งคำถามถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และทุกครั้งพ่ออย่างกุยโดจะคอยสรรหาคำโกหกเพื่อหวังให้โจชัวสบายใจและใช้ชีวิตในค่ายอย่างมีความสุข
- มีคำเปรียบว่าหากนักศึกษาที่เรียนวิชาฝรั่งเศสต้องอ่านหนังสือเรื่องเจ้าชายน้อย นักศึกษาที่เรียนภาษาอิตาลีก็ควรชมภาพยนตร์ดีกรีออสการ์เรื่องนี้
ผมเป็นชาวพุทธ และกฎการเป็นชาวพุทธที่ดีคือต้องมีศีล 5
ในจำนวนศีลทั้งห้าข้อ ผมพบว่าศีลที่ยากที่สุดของผมคือศีลข้อสี่ แปลง่ายๆ คือการละเว้นจากการพูดเท็จ ไม่เป็นจริง และคำล่อลวงอำพรางผู้อื่น
แต่ถึงจะนับถือศาสนาไหนหรือไม่นับถืออะไรเลย ผมเชื่อว่าหลายคนไม่ชอบคำโกหก ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่ชอบโกหก และมักอ้างถึงข้อดีของมัน โดยเฉพาะ ‘การโกหกสีขาว’ (White Lie) เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ หรือไม่ก็เพื่อถนอมความรู้สึกและรักษาน้ำใจผู้ฟัง แทนการพูดความจริงที่อาจเกิดผลร้ายต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ฯลฯ
สำหรับผม ไม่ว่าจะโกหกแบบตั้งใจหรือโกหกสีขาว โกหกก็คือโกหก อย่างไรก็ตามการโกหกสีขาวนั้นก็ไม่ได้แย่เสมอไป เพราะบางครั้งคำโกหกอาจให้ความหวังและพลังใจในการใช้ชีวิต เหมือนกับเรื่องราวของกุยโดและโจชัว สองพ่อลูกชาวยิวจากภาพยนตร์เรื่อง Life is Beautiful
‘กุยโด ออริฟิเซ่’ เป็นชาวยิวในเมืองอาเรสโซ ประเทศอิตาลี เขาเป็นคนมองโลกในแง่ดีและยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา ทำให้เสน่ห์ของเขาไปมัดใจ ‘ดอร่า’ ลูกสาวของเศรษฐีจนถึงขั้นแต่งงานมีลูกกันเลยทีเดียว
ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของกุยโดมีชื่อว่า ‘โจชัว’ เกิดในปีค.ศ. 1940 โจชัวเป็นเด็กร่าเริง ช่างพูดช่างเจรจาเหมือนพ่อไม่ผิดเพี้ยน
ในปี ค.ศ.1945 หรือปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารนาซีในฐานะที่เป็นพันธมิตรกับอิตาลี (ฝ่ายอักษะ) ได้บุกเข้าจับกุมชาวยิวทุกคนในเมืองอาเรสโซ ก่อนส่งไปยังค่ายกักกันแรงงาน
แน่นอนว่า กุยโดและโจชัว ไม่อาจเลี่ยงชะตากรรมนี้ พวกเขาถูกทหารนาซีบุกจับกุมถึงบ้านในวันเกิดปีที่ 5 ของโจชัว ซึ่งโจชัวค่อนข้างสับสนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอคำอธิบายกับพ่อยกใหญ่
เช่นนี้ กุยโดจึงเริ่มต้นปฐมบทของ ‘การโกหกสีขาว’ เพื่อปกป้องลูกจากสถานการณ์สุดเลวร้าย โดยไม่สนใจสายตาอันเอือมระอาของเพื่อนชาวยิวด้วยกัน
1
แม้พระเจ้าจะดูโหดร้ายที่จงใจให้ทหารบุกจับกุมชาวยิวในวันเกิดของโจชัว แต่กุยโดไม่อาจปล่อยใจให้หมดอาลัยตายอยากเหมือนชาวยิวคนอื่นและพยายามโฟกัสที่ลูกชายของเขา…ทำยังไงก็ได้ให้โจชัวอยู่ในค่ายนรกนี้อย่างมีความสุข
กุยโดทราบดีว่าของเล่นที่ลูกชอบที่สุดคือ ‘โมเดลรถถัง’ ดังนั้นเขาจึงบอกลูกชายว่าการที่ต้องเดินทางมาค่ายแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการวางแผนเตรียมตัวมาอย่างดีของเขาในฐานะพ่อ เพราะผู้ที่เข้ามาในค่ายนี้จะต้องร่วมเล่นเกมที่มีรางวัลใหญ่คือรถถังของจริง
“มันเป็นเกมอย่างนึงลูก กติกาคือเราทุกคนเป็นผู้เล่น ทุกอย่างถูกวางไว้เป็นระบบ ผู้ชายอยู่ทางนี้ ผู้หญิงอยู่ทางนั้น แล้วก็มีทหารคอยให้กำหนดการต่างๆ มันยากนะลูกไม่ใช่ง่ายๆ ถ้าใครทำผิดกฎจะถูกส่งกลับบ้านทันที ต้องระวังให้มาก แต่ถ้าชนะเราจะได้รถถังที่เป็นรถถังจริงๆ ใหม่เอี่ยมเลยล่ะ”
เดิมที ผมไม่เห็นด้วยกับกุยโด เพราะถ้าผมเป็นพ่อ ผมคงจะบอกความจริงกับลูก ไม่มีอะไรที่ต้องโกหก และยิ่งรู้ความจริงเร็วก็จะได้ช่วยกันคิดว่าควรหาวิธีเอาตัวรอดยังไงในค่ายนรกแห่งนี้
แต่พอทบทวนดูอีกที ผมกลับมองว่ากุยโดทำถูกแล้ว เพราะโจชัวเป็นแค่เด็ก 5 ขวบ ที่ดูยังไงก็ ‘เปราะบาง’ เกินกว่าจะเผชิญหน้ากับความจริงอันโหดร้าย เผลอๆ อาจเสียสติ ทำตัวลนลาน ร้องห่มร้องไห้ หรืออาจทำอะไรที่ขัดหูขัดตาจนถูกทหารนาซีลากไปสังหาร
นอกจากนี้ ผมเชื่อว่าวัยเด็กเป็นวัยแห่งจินตนาการ ดังนั้นหากโจชัวทราบความจริง ความเลวร้ายต่างๆ ในค่ายย่อมทวีความรุนแรงมากขึ้นในความรู้สึก
ดังนั้นในช่วงเวลาที่โจชัวสับสน กุยโดจึงพยายามเบี่ยงเบนอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของลูกให้เป็นไปในทิศทางที่เขาต้องการ ผ่านการสร้างภาพลวงตาเรื่องเกมชิงรถถังซึ่งเป็นดั่งความฝันสูงสุดของโจชัว เพื่อให้โจชัวรู้สึกผ่อนคลายและมองสถานการณ์ในแง่บวก
2
ถึงจะเริ่มมองสถานการณ์ในแง่บวกมากขึ้น แต่พอโจชัวต้องเจอสภาพห้องนอนที่ทั้งเหม็น เบียดเสียด และแออัด หนูน้อยจึงออกอาการงอแงอยากกลับบ้าน กุยโดจึงต้องพยายามหาสิ่งเร้าใหม่ๆ ซึ่งบังเอิญเหลือเกินว่าทหารนาซีได้บุกมาที่ห้องพร้อมโวยวายเสียงดัง เมื่อสอบถามเพื่อนเชลยข้างเตียง กุยโดจึงรู้ว่าทหารนายนี้กำลังต้องการล่ามภาษาเยอรมันเพื่ออธิบายกฎให้ฟัง
แม้จะไม่รู้ภาษาเยอรมันสักคำ แต่ด้วยสัญชาตญาณที่อยากปกป้องโลกอันสวยงามของลูกให้ดำรงต่อไป กุยโดจึงอาสาแปลกฎต่างๆ นั้นเพื่อเอื้อให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาพร่ำบอกโจชัวนั้นดู ‘น่าเชื่อถือ’ และ ‘ชอบธรรม’ ยิ่งขึ้น
“เกมเริ่มแล้ว ทุกคนที่อยู่ที่นี่ต้องเล่น ใครทำถึง 1,000 คะแนนก่อนชนะ รางวัลคือรถถัง 1 คัน ทุกวันเราจะประกาศชื่อคนที่คะแนนนำผ่านทางเครื่องขยายเสียง ใครได้คะแนนน้อยสุดต้องใส่เสื้อคำว่าไอ้งั่ง พวกเราทหารจะเล่นบทดุดัน ใครกลัวจะต้องถูกตัดคะแนน ซึ่งมี 3 กรณีคือ 1.ร้องไห้ 2.อยากหาแม่ 3.หิวและอยากกินของว่าง ดังนั้นอย่าแม้แต่จะคิด…”
ระหว่างที่กุยโดแปลภาษามั่วๆ ตามอำเภอใจ ผมสัมผัสได้ถึงความตื่นเต้นผสมผสานแววตาอันลุกวาวในดวงตาของโจชัว นั่นเพราะก่อนหน้านี้ โจชัวหลงเชื่อคำพูดของพ่อเพียงส่วนหนึ่ง แต่พอเห็นพ่อออกไปแปลภาษาอย่างองอาจ ทำให้เขารู้สึกเชื่อพ่ออย่างสนิทใจ ทั้งยังเกิดความภาคภูมิใจในตัวของพ่อมากขึ้น
3
พออยู่ในค่าย กุยโดก็ต้องเผชิญกับความลำบากทางกายและใจที่เพิ่มขึ้น ทุกวันเขาต้องขนทั่งที่มีน้ำหนักราว 100 กิโลกรัมตั้งแต่เช้ายันเย็น ตกดึกก็ต้องมานั่งตอบคำถามของโจชัวที่นับวันยิ่งแสนรู้มากขึ้น
ตัวอย่างที่ผมชอบ คือตอนโจชัวนำเรื่องราวทั้งหมดไปเล่าให้เพื่อนตัวน้อยในค่ายฟัง ปรากฏว่าไม่มีใครรู้เหมือนเขาสักคน ทั้งยังเตือนโจชัวให้ระวังทหารดุๆ เอาไว้ เพราะทุกคนอาจถูกนำไปเติมเชื้อเพลิงในเตาอบแทนไม้ หรือไม่ก็อาจถูกจับไปทำเป็นสบู่กับกระดุมเสื้อให้พวกทหาร
“แล้วลูกก็เชื่อเหรอ (หัวเราะ) เด็กพวกนี้ร้ายกาจชะมัด พวกนั้นกลัวแพ้ล่ะสิเลยโกหกลูก ไม่มีรถถังเหรอ อย่าไปเชื่อเชียวนะ…ไม่เอาน่าพ่อนึกว่าลูกเป็นเด็กฉลาด กระดุม-สบู่ทำจากคน เป็นไปได้ก็บ้าแล้ว”
แต่ฉากที่ผมชอบที่สุดคงหนีไม่พ้น ตอนที่โจชัวยื่นคำขาดต่อกุยโดว่าจะกลับบ้าน แทนที่จะพยายามปลอบใจลูกหรือหาคำโกหกสวยหรูมาสนับสนุนตัวเองต่อไป กุยโดกลับเลือกที่จะตอบรับ ด้วยการเก็บเสื้อผ้าข้าวของก่อนเดินออกจากห้องท่ามกลางความสับสันของโจชัว
“ทำไมเราจะไปไม่ได้ล่ะ คิดว่าเขาจะทำอะไรเรา บังคับคนให้อยู่ที่นี่เหรอ ไม่หรอกลูก ทำได้ก็เกินไปแล้ว ไปกัน พ่อเก็บของใส่กระเป๋าแล้วไปกันเลย แต่น่าเสียดายคะแนนเรานำอยู่ด้วย เลิกตอนนี้เท่ากับสละสิทธิ์ รถถังของจริงนั่นก็ให้เด็กคนอื่นไป…เรามี 687 คะแนนนำอยู่ด้วย แต่ช่างมันไปกันเถอะ เราจะชนะอยู่แล้ว แต่ทำไงได้ ลูกอยากเลิกแล้วนี่”
คำพูดในลักษณะนี้ สำหรับผมเปรียบได้กับการลูบหลังแล้วตบหัว ซึ่งกุยโดทำมันอย่างแนบเนียน เริ่มจากการทำตามคำขอของโจชัวทันทีโดยไม่โต้แย้ง จนโจชัวถึงกับโพล่งออกมาว่า “เราไปได้จริงๆ เหรอครับ” ต่อมาคือการที่กุยโดซื้อเวลาด้วยการเก็บข้าวของ ก่อนพยายามชักแม่น้ำทั้งห้าด้วยการบ่นเสียดายรางวัลรถถังกับเพื่อนเชลยในห้อง เพื่อโน้มน้าวลูกให้เกิดความรู้สึกในทำนองว่า “พ่อกำลังจะได้รถถังอยู่แล้ว แต่เรากลับเป็นตัวถ่วง” ส่งผลให้โจชัวล้มเลิกความคิดกลับบ้านในท้ายสุด
4
นอกจากการหาอุบายให้ลูกมีกำลังใจจะอยู่ในค่ายกักกันต่อแล้ว กุยโดยังพยายามพิสูจน์ให้โจชัวเห็นว่าเรื่องที่ฟังมาจากคนอื่นนั้นไม่เป็นความจริง เช่น เรื่องของการสังหารเด็กในค่ายจนไม่มีเด็กอีกแล้ว (ยกเว้นโจชัว) โดยการพาโจชัวไปดูบรรดาลูกๆ ของทหารนาซีที่กำลังเล่นซ่อนหาอย่างสนุกสนาน ทำให้โจชัวมีสีหน้าผ่อนคลายมากขึ้น หรือตอนท้ายเรื่องที่ฝ่ายอักษะแพ้สงคราม ทำให้ทหารนาซีพากันระบายอารมณ์ด้วยการสังหารเชลย กุยโดจึงต้องตัดสินใจพาโจชัวไปแอบในตู้ไม้เล็กๆ ท่ามกลางเสียงปืน และสุนัขทหารที่วิ่งไล่กัดเชลยอย่างบ้าคลั่ง
“โจชัวมาดูนี่ลูก ดูสิเขาโกรธกันใหญ่เลย พวกนั้นกำลังตามหาลูก ที่วุ่นวายกันอยู่นี่เพราะลูกคนเดียว ลูกเป็นคนสุดท้ายที่ยังหาไม่เจอ พรุ่งนี้เช้าเกมเลิกจะมีการแจกรางวัล ถ้าคืนนี้ซ่อนไม่ให้ใครเจอ ลูกจะได้ 60 คะแนน ตอนนี้เรามี 940 บวกอีก 60 เราก็จะได้ที่1 และชนะเกมนี้ ทุกคนถึงตามหาลูกไง ดังนั้นคืนนี้ลูกจะพลาดไม่ได้และเป็นคืนตัดสิน เข้าไปซ่อนในตู้เร็วเข้า เดี๋ยวพ่อกลับมาจะล่อพวกนั้นไปอีกทาง”
เมื่อถูกโกหกด้วยสิ่งเร้าเดิม เพิ่มเติมคือระยะเวลาที่แน่ชัด ทำให้โจชัวตั้งใจซ่อนตัวอยู่นิ่งๆ ในตู้ใบนั้นจนรอดชีวิต ส่วนกุยโดแม้จะเป็นตัวแทนของการคิดบวก แต่ภาพยนตร์ก็แสดงให้เห็นว่าการคิดบวกที่มาพร้อมกับการโกหกย่อมมี ‘ราคา’ ที่ต้องจ่าย
หลังชมภาพยนตร์จบ ผมมองว่าสำหรับเด็ก พ่อแม่คือบุคคลที่สำคัญและมีอิทธิพลที่สุด ดังนั้นแม้จะเห็นกุยโดโกหกโจชัวตลอดทั้งเรื่อง แต่หากบวกลบคูณหารกับความปรารถนาดีที่มอบให้โจชัวแล้ว ต้องยอมรับว่ากุยโดเป็นพ่อที่รู้จักลูกดี รู้ว่าลูกมีความรู้สึกนึกคิดยังไง ทำให้เมื่อเจอเหตุพลิกผันจนต้องไปอยู่ในค่ายกักกัน กุยโดสามารถปรับจูนความคิดของโจชัวผ่านการใช้ทฤษฎีแรงจูงใจ (Theories of Motivation) หรือการกระตุ้นโจชัวให้เกิดแพสชันที่จะเล่นเกมชิงรถถังซึ่งเป็นสุดยอดความฝัน รวมถึงคอยอัพเดทคะแนนของเขากับลูกทุกคืน เพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นใจและมีความหวังว่าอีกไม่นานก็สำเร็จ อีกไม่นานก็ได้นั่งรถถังกลับบ้าน
ดังนั้น Life is Beautiful จึงไม่ใช่แค่การบอกว่าชีวิตทุกชีวิตคือสิ่งสวยงาม แต่มุมมองในการดำเนินชีวิตต่างหากที่จะทำให้เรามีชีวิตที่งอกงาม
Life is Beautiful เป็นภาพยนตร์สัญชาติอิตาลี ที่คว้ารางวัลออสการ์ในปี ค.ศ. 1998 ได้ถึง 3 สาขา คือ รางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม, รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม และรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม โดยได้ ‘โรแบร์โต เบนิญญี’ มารับบท ‘กุยโด’ รวมถึงกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตัวเอง |