- ห้องสมุดแห่งบาเบล เรื่องสั้นเขียนโดยนักเขียนชาวอาร์เจนตินานาม ฆอร์เก ลูอิส บอรเกส
- ห้องสมุดแห่งบาเบล คือ ห้องสมุดทรงหกเหลี่ยมต่อกันไปเรื่อยๆ เก็บรักษาหนังสือทุกเล่มที่เคยมีในอดีต มีในปัจจุบัน และจะมีในอนาคต ทั้งหนังสือที่มีความหมายและไม่มีความหมาย
- ผู้ที่อาศัยในห้องสมุดแห่งบาเบล พวกเขามีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ในการอ่านและตรวจสอบหนังสือทุกเล่มที่พวกเขาพบเจอ เพื่อค้นหาข้อความอะไรก็ตามที่แอบซ่อนอยู่ในหน้าหนังสือ
- บางคนเสาะหาหนังสือที่อธิบายทุกอย่างในโลก บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตตามหาหนังสือที่บอกเล่าถึงความหมายของชีวิต ก่อนจะตายไปอย่างไร้ความหมาย เรื่องตลกร้ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเรื่องแต่ง
คุณเคยสงสัยหรือเปล่าว่าเมื่อไรที่เส้นกลายเป็นอักขระ เมื่อไรที่อักขระกลายเป็นคำ เมื่อไรที่คำกลายเป็นประโยคและร้อยเรียงเป็นเรื่องราวในท้ายที่สุด คุณสามารถตอบได้หรือเปล่าว่าขอบเขตและเส้นแบ่งของมันอยู่ที่ไหน
หากมองในแง่นี้ งานเขียนต่างๆ อาจจะเป็นจักรวาลย่อส่วน ที่เราสามารถใช้ศึกษาแนวคิดด้านภววิทยา (ontology) ได้ การที่เราตั้งคำถามว่า เมื่อไรที่แผ่นไม้กลายเป็นเก้าอี้ มีนัยไม่ต่างกับข้อสงสัยที่ว่า เมื่อไรที่ประโยคเลิกเป็นประโยคและกลายเป็นบทประพันธ์
สิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ คือ การนำแนวคิดปรัชญาด้านภววิทยามาหาจุดร่วมกับภาษาและการตีความถ้อยคำต่างๆ ในวรรณกรรม เราสามารถแทนกลุ่มก้อนของอนุภาคเป็นหนึ่งตัวอักษรภาษาอังกฤษ
สมมติว่า เรามีเก้าอี้ที่เก่าคร่ำครึและหนึ่งในขาของมันหักหลุดออกไป เราไม่ได้บอกว่ามันไม่ใช่เก้าอี้อีกต่อไป แต่กลายเป็นเก้าอี้ที่ขาหัก เช่นเดียวกัน หากผมต้องการที่จะเขียนคำว่า material แต่ดันสะกดผิดเป็น meterial ผมก็ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าสิ่งที่ผมเขียนมานั้นไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง มันเปลี่ยนจากศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษที่สะกดผิด ยังคงมีความหมายที่หลงเหลืออยู่ในรูปแบบของตัวอักษรนั้น
เราสามารถผลักดันแนวคิดที่ดูฝืนๆ นี้ให้บ้าบอยิ่งขึ้น ด้วยทฤษฎีบทลิงไม่มีที่สิ้นสุดหรือ Infinite monkey theorem สมมติว่า เรามีลิงจำนวนอนันต์ (infinity จำนวนที่ไม่มีสิ้นสุด) หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับอนันต์ พวกมันแต่ละตัวมีเครื่องพิมพ์ดีดอยู่ตัวละหนึ่งเครื่อง เพื่อกำจัดตัวแปรที่ไม่จำเป็น เราเลยให้ลิงแต่ละตัวเป็นอมตะ ไม่เหนื่อย ไม่หิว และไม่ต้องนอน พวกมันมีหน้าที่ต้องพิมพ์อะไรก็ได้ด้วยพิมพ์ดีด
แน่นอนว่าพวกมันอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ ผลงานของพวกมันจะประกอบไปด้วยงานเขียนไร้สาระที่สร้างขึ้นจากประโยคที่ไม่มีความหมาย นานๆ ทีอาจจะมีคำเช่น banana โผล่ขึ้นมาท่ามกลางมหาสมุทรของตัวอักษรไร้ความหมาย เพียงเพราะเป็นความบังเอิญตามหลักความเป็นไปได้ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ตรงนั้นเองที่เป็นจุดสำคัญของทฤษฎีบทนี้ หากเราให้เวลาพวกลิงสักพักหนึ่ง (สักพักหนึ่งในที่นี้ อาจยาวนานเท่ากับหรือมากกว่าอายุไขของห้วงจักรวาลก็เป็นได้ – ใครจะรู้) ในที่สุดพวกมันก็จะสามารถเขียนผลงานที่อย่างน้อยก็อ่านออกและ ‘มีความหมาย’
และเมื่อเวลาผ่านไป ฝูงลิงจำนวนอนันต์ ก็จะสามารถเขียนผลงานระดับครูอย่าง พี่น้องคารามาซอฟ (หนึ่งในวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมผลงานของฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้) ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่ใช่ด้วยความสามารถ แต่ด้วยเวลาและความเป็นไปได้
อย่างที่ผมเขียนไว้ว่า เราสามารถลองสมมติว่าหนึ่งตัวอักษร คือ อนุภาคกลุ่มก้อนหนึ่ง ในสเกลระดับนี้ เราสามารถแทนมันเป็นอะตอมหนึ่งอะตอมได้ด้วยซ้ำ ผมคิดว่ายังมีอะไรน่าสนใจให้พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกอย่าง แต่ตอนนี้ผมจะพูดถึงเรื่องหลักของบทความนี้ก่อน
หากเราจำกัดความยาวของงานเขียนของพวกลิงให้เหลือสี่ร้อยสิบหน้า และโยนงานเขียนที่ซ้ำกันทุกตัวอักษรทิ้งไป นำมาเย็บเล่มเป็นหนังสือและรวมพวกมันเอาไว้ในสถานที่เดียวกัน สถานที่นั้น คือ ห้องสมุดแห่งบาเบล
ห้องสมุดแห่งบาเบล เป็นเรื่องสั้นความยาวแค่ประมาณเก้าหน้า เขียนโดยนักเขียนชาวอาร์เจนตินานาม ฆอร์เก ลูอิส บอรเกส มีเรื่องสั้นไม่มากนักที่ต้องใช้คำเกริ่นนำความยาวห้าร้อยกว่าคำเพื่ออธิบายแนวคิดของมันให้ดูน่าสนใจ
ความจริงแล้วผมสามารถเขียนสรุปเรื่องสั้นนี้ในหนึ่งประโยคได้ว่า ห้องสมุดแห่งบาเบล คือ ห้องสมุดที่เก็บรักษาหนังสือทุกเล่มที่เคยมีในอดีต มีในปัจจุบัน และจะมีในอนาคต ทั้งหนังสือที่มีความหมายและไม่มีความหมาย ซึ่งอธิบายแก่นของเรื่องได้ไม่ชัดเจนนัก
ห้องสมุดแห่งบาเบลนั้นมีการออกแบบเป็นห้องทรงหกเหลี่ยมต่อกันไปเรื่อยๆ กำแพงสี่ด้านของห้องจะเป็นชั้นหนังสือสูงใหญ่ชิดเพดาน อีกสองด้านเป็นทางเดินไปยังห้องอื่นๆ และบันไดเดินขึ้นลงไปชั้นต่างๆ ตรงกลางห้องคือช่องว่างระบายอากาศทรงหกเหลี่ยมซึ่งสามารถมองลงไปยังชั้นล่างหรือมองขึ้นไปเห็นชั้นบนได้ (เกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ : ผู้ที่เสียชีวิตในห้องสมุดจะถูกคนอื่นๆ ที่มาพบเจอโยนลงช่องระบายอากาศนี้ ด้วยขนาดของห้องสมุด ร่างของผู้ตายจะร่วงหล่นไปเรื่อยๆ และเน่าเปื่อยเป็นผุยผงก่อนที่จะตกถึงพื้น)
ผู้ที่อยู่อาศัยในโลกของห้องสมุดแห่งบาเบล สำนึกรู้ว่าพวกเขามีหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ในการอ่านและตรวจสอบหนังสือทุกเล่มที่พวกเขาพบเจอ เพื่อค้นหาข้อความอะไรก็ตามที่แอบซ่อนอยู่ในหน้าหนังสือ พวกเขาหลายคนทึกทักไปเองว่าข้อความเหล่านั้น คือ ประกาศิตของโลก
บางคนเสาะหาหนังสือที่จะอธิบายทุกอย่างในโลกอย่างบ้าคลั่ง บางคนก็ใช้เวลาทั้งชีวิตตามหาหนังสือที่บอกเล่าถึงความหมายของชีวิต ก่อนจะตายไปอย่างไร้ความหมายในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องตลกร้ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเรื่องแต่ง
ตัวเอกที่เป็นผู้เล่าเรื่องนั้นเขียนเอาไว้ว่า บิดาของเขาได้พบเจอหนังสือที่เขียนด้วยตัวอักษร MCV ซ้ำๆ กัน ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย หรือหนังสือที่อัดแน่นไปด้วยถ้อยคำไร้สาระ ทว่าหน้าก่อนสุดท้ายเขียนเอาไว้ว่า Oh time, thy pyramids.
นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผู้คนหลงใหลในห้องสมุด
ผมคิดว่ามันคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะหลงใหลในห้องสมุดที่บันทึกทุกอย่างเอาไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งในห้องสมุดนั้น มีหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดในอดีตของคุณ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแม่นยำ และหากจะพูดให้ถูกต้อง จะมีหนังสือที่เล่าเรื่องของคุณเป็นล้านๆ เล่ม แต่ละเล่มแตกต่างแค่การเรียบเรียง การเลือกใช้คำ หรือแม้แต่การเขียนผิด และแน่นอนว่าจะมีหนังสือที่อ้างว่า มันบอกเล่าเรื่องราวในอนาคตของคุณ แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องหลอกหลวงทั้งหมด
หากคุณสนใจในแนวคิดนี้ โชคดีที่เราไม่จำเป็นต้องจินตนาการอย่างเดียว คุณสามารถไปที่เว็บไซต์ libraryofbabel.info เพื่อลองเล่นกับห้องสมุดบาเบลฉบับย่อได้
ยกตัวอย่างเช่นหนังสือเล่มที่ 29 บนชั้นที่สามของผนังหมายเลขสาม ในห้องหนึ่งที่มีหมายเลขห้องยาวเกินไปที่จะเขียน ถ้าคุณเปิดไปหน้าที่ 231 สิ่งที่เขียนอยู่คือวลี it was a pleasure to burn. ซึ่งเป็นวลีเปิดของนวนิยายเรื่อง ฟาเรนไฮต์ 451
ห้องสมุดแห่งบาเบลเป็นผลงานเรื่องสั้นเรื่องโปรดของผม ทุกครั้งที่ผมกลับไปอ่านเรื่องนี้ผมมักจะเจอแง่คิดใหม่ๆ ที่ซ่อนอยู่ระหว่างย่อหน้าต่างๆ แก่นเรื่องของมันหลากหลายจนไม่อาจสรุปได้ด้วยคำเกริ่นความยาวเพียงห้าร้อยกว่าคำ
ห้องสมุดแห่งบาเบลอาจบอกเล่าถึงสัญญะและความหมาย ซึ่งเกิดจากสิ่งที่ไม่มีความหมายผ่านความนึกคิดและการตีความของมนุษย์
ในเวลาเดียวกัน มันก็อาจจะพูดถึงความขัดแย้งของความเป็นไปได้ไร้ขีดจำกัดที่เกิดจากกฏเกณฑ์ที่ผูกมัดตัวอักษรเหล่านั้นไว้ หรือความเป็นระเบียบที่เกิดจากความยุ่งเหยิงของอักขระและถ้อยคำ หรือทั้งหมดนั้น
ในตอนหนึ่งของเรื่องสั้น ตัวเอกพรรณนาเอาไว้ว่า
“เนื่องด้วยการรังสรรค์อันงดงามของชั้นหนังสือ, ด้วยความพิศวงของเหล่าตำรา, และด้วยขั้นบันไดอันไม่จบสิ้นนั้น ไม่อาจเป็นอย่างอื่นได้นอกจากผลงานของพระผู้เป็นเจ้า”
ในสายตาของผม ประโยคนี้อธิบายแนวคิดการให้เหตุผลเรื่องการออกแบบ (Design Argument) อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ แนวคิดที่ว่าพระเจ้าย่อมมีอยู่จริงเพราะสิ่งสวยงามและมหัศจรรย์ต่างๆ ในโลกละเอียดซับซ้อนและประเสริฐเกินกว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ มันฟังดูน่าขบขันเมื่ออยู่ในบริบทของห้องสมุดที่เกิดขึ้นจากความบังเอิญและความเป็นไปได้ล้วนๆ แต่เมื่อเราลองพิจารณาดูแล้วสิ่งนี้ไม่ได้ต่างกับความเป็นจริงในโลกของเราเลย
กลับมาที่ทฤษฎีลิงพิมพ์ดีด เมื่อเราแทนหนึ่งอักษรเป็นหนึ่งอะตอม เราก็สามารถพูดได้ว่า สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่และมีความหมายต่อเรา ย่อมเกิดมาจากความบังเอิญของจักรวาล หากเราปล่อยให้ลิงนับล้านล้านตัวเรียงอะตอมอย่างมั่วซั่ว เมื่อเวลาผ่านไปหลายพันล้านปีก็อาจเกิดดวงดาว ดาวเคราะห์ หรือชีวิตขึ้นได้ ส่วนเหล่าตัวอักษรที่ร้อยเรียงกันอย่างไร้ความหมายก็คือสิ่งต่างๆ ที่เรามองไม่เห็นและไม่สามารถเข้าใจได้
ในแง่นี้ห้องสมุดแห่งบาเบลคือห้วงจักรวาล และพวกเราทุกคน มิใช่อื่นใด หากแต่เป็นแค่ประโยคสั้นๆ ที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์สุ่ม ไม่ใช่ด้วยเจตนาของใคร (นี่ไม่ใช่การเขียนโจมตีความเชื่อทางศาสนาใดๆ เป็นแค่การตีความของผม)
สรุปแล้ว ผมคิดว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้ เป็นห้องสมุดในตัวของมันเอง ผมอาจจะกำลังมองหาความหมายในประโยคที่ไม่มีความหมายโดยนัย เหมือนกับบรรณารักษ์ในห้องสมุดแห่งบาเบลที่มองหาประกาศิตในตัวอักษร MCV แต่ในท้ายที่สุด สิ่งที่ล้อมรอบพวกเราคือหนังสือนับล้านที่เราอ่านไม่ออก
ความหมายของชีวิตและการมีอยู่อันนับไม่ถ้วน สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับเราที่จะเสาะหาหนังสือเล่มที่ต้องการและตีความมันในแบบของตัวเราเอง
แท้จริงแล้วภาพลวงตาของความหมาย อาจจะเป็นผลลัพธ์ของเสรีภาพที่เราไม่เคยรู้ว่าเรามี