- ‘เทศกาลเล่นอิสระ : Let ‘s Play Festival’ เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้าร่วม เพื่อนำวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ มาประดิษฐ์เป็นของเล่นอย่างอิสระ โดยปราศจากเสียงชี้นำของผู้ใหญ่ และปลดปล่อยจินตนาการอันไร้ขีดจำกัดออกมาอย่างสร้างสรรค์
- การเล่นเสี่ยงช่วยให้เด็กๆ กล้าเผชิญสิ่งต่างๆ ในชีวิต กล้าลองผิดลองถูก ต่างจากเด็กที่ถูกห้ามอยู่บ่อยๆ มักจะขี้กลัว และส่งผลต่อการตัดสินใจในอนาคต
- เทศกาลครั้งนี้ยังทำหน้าที่ให้ข้อมูล สร้างความเข้าใจใหม่ และปลดล็อกวิธีคิดให้พ่อแม่ผู้ปกครองไปด้วยในตัว ‘การเล่น’ จึงไม่ใช่แค่เด็กที่สนุก เพราะเมื่อพ่อแม่เข้าใจก็เริ่มสนุกกับการส่งเสริมให้ลูกๆ ได้เล่นอิสระอย่างเต็มที่ไปด้วย
ภาพของเล่นจำนวนมากภายในอุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือหนึ่งในไฮไลท์สำคัญของ ‘เทศกาลเล่นอิสระ : Let ‘s Play Festival’ ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้าร่วม เพื่อนำวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ มาประดิษฐ์เป็นของเล่นอย่างอิสระ โดยปราศจากเสียงชี้นำของผู้ใหญ่ ซึ่งไม่เพียงแค่ช่วยให้เด็กๆ มีความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่ยังได้ปลดปล่อยจินตนาการอันไร้ขีดจำกัดออกมาอย่างสร้างสรรค์
เมื่อเด็กได้เล่นสนุกกับวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ โดยมีผู้ใหญ่เว้นระยะอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ การเล่นที่เกิดจากแรงผลักดันภายในของเด็กเริ่มให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ เช่น การนำกล่องกระดาษลังสภาพพังยับเยินที่อาจเป็นขยะสำหรับใครหลายคน มาซ่อมและประดิษฐ์ของเล่นสารพัดรูปแบบที่แสดงถึงเรื่องราวของสิ่งต่างๆ ทั้งห้องครัว สวนสัตว์ โลก และอวกาศ
ส่วนหนูน้อยที่มีใจรักแฟชั่น ภายในเทศกาลก็มีมุมแฟนซีที่มีผ้าสีหลากชนิดมาให้ทุกคนได้ออกแบบชุดกระโปรง กางเกง หมวก และหน้ากากตามต้องการ
แต่หากงานประดิษฐ์ไม่ตอบโจทย์ แน่นอนว่าอีกหนึ่งจุดที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือโซนกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คุณหนูๆ ได้ปีนป่าย ลาก มุด ลอด เพื่อปลดปล่อยพลังอันเหลือล้นกับเพื่อนๆ อย่างมีความสุข ทั้งยังนำมาสู่การเรียนรู้ที่ค่อยๆเกิดขึ้นและสั่งสมในเนื้อตัวของเด็กจนกลายเป็นตัวตนของเขาในวันข้างหน้า
ปลอดภัย เป็นมิตร เข้าถึงทุกคน
“พี่ไม่ไปเล่นกับลูกเหรอ” ทีมงานถามคุณพ่อคนหนึ่งที่รู้จักกันและมาช่วยงานที่จุดลงทะเบียน
“ลูกพี่เล่นเองได้ ปล่อยได้เลย ที่นี่ปลอดภัย” คุณพ่อตอบ เช่นเดียวกับความเห็นของคุณแม่อีกคนที่พาลูกซึ่งเป็นเด็กพิเศษมาเล่นในงาน
“พี่รู้สึกสบายใจ รู้สึกได้ว่าลูกพี่ไม่แปลกแยกเมื่ออยู่ที่นี่”
ด้วยบรรยากาศและการออกแบบที่ให้โอกาสเด็กทุกคนเข้าถึงของเล่น และอุปกรณ์การเล่น โดยไม่มีกติกาชวนอึดอัด ทำให้เด็กๆ ที่เข้าร่วมเทศกาลมีความหลากหลาย ทั้งเรื่องสภาพครอบครัว รวมถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
แม้จะให้อิสระในการเล่นอย่างเต็มที่แก่เด็กๆ แต่เพื่อให้กิจกรรมดำเนินไปอย่างราบรื่นจึงมีการออกแบบให้มี Play Worker ที่คอยดูแลความปลอดภัย ดูแลการเล่นต่างๆ ด้วยความห่วงใย แต่ไม่แทรกแซง ทั้งยังทำหน้าที่เล่นเป็นเพื่อนเด็กและพูดคุยกับพ่อแม่ด้วยความเป็นมิตร
นอกจากนี้ภายในงานยังมีซุ้มพยาบาลจากหน่วยพยาบาลในพื้นที่คอยดูแลเด็กๆ ซึ่งพบว่าตลอด 3 วันไม่มีอุบัติเหตุรุนแรง อาจมีบ้างที่หกล้ม แผลถลอก เลือดกำเดาไหล ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนว่า เมื่อเราออกแบบพื้นที่เล่น ออกแบบการเล่นอย่างดีแล้ว แม้การเล่นบางอย่างจะดูน่าหวาดเสียวในสายตาผู้ใหญ่ แต่เด็กๆ กลับปลอดภัยและไม่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงอย่างที่ผู้ใหญ่กังวล แถมยังรู้จักดูแลระมัดระวังตัวเอง
ขณะเดียวกันการเล่นเสี่ยงช่วยให้เด็กผ่านความท้าทายในการเล่น ช่วยสร้างความมั่นใจให้เด็ก เราจะเห็นเด็กหลายคนวนมาเล่นจุดที่ดูเสี่ยงๆ หลายรอบจนกว่าจะพอใจ เมื่อท้าทายตัวเองได้สำเร็จ บางคนอาจจะร้องอวดพ่อแม่ หรือบางคนก็ยิ้มกริ่มไม่บอกใคร แต่ประทับความภาคภูมิใจนั้นลงในใจเรียบร้อยแล้ว จะเห็นว่าการเล่นเสี่ยงยังช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาข้อผิดพลาด โดยเฉพาะการตั้งคำถามว่าเพราะอะไร ทำไม ถึงทำไม่สำเร็จอย่างที่ตั้งเป้าไว้ นำมาสู่การลองใหม่ ปรับใหม่จนกว่าจะเจอทางออก
ซึ่งอาจสรุปได้ว่าการเล่นเสี่ยงช่วยให้เด็กๆ กล้าเผชิญสิ่งต่างๆ ในชีวิต กล้าลองผิดลองถูก ต่างจากเด็กที่ถูกห้ามอยู่บ่อยๆ มักจะขี้กลัว และส่งผลต่อการตัดสินใจในอนาคต
เพราะฉะนั้น เด็กๆ จะรู้สึกปลอดภัยเมื่อผู้ใหญ่วางใจ และเชื่อมั่นในตัวเขา ให้เขาได้เสี่ยงบ้าง ในความเสี่ยงที่ผู้ใหญ่ประเมินแล้วว่าไม่อันตรายจนเกินไป
ง่ายๆ ทำได้จริง พ่อแม่เห็นแนวทาง
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในเทศกาลเล่นอิสระคือ เด็กๆ ต่างสนุกตั้งแต่งานเริ่มจนงานเลิก ลืมหิว ลืมเหนื่อย และที่สำคัญลืมเกม ลืมโทรศัพท์กันไปเลย เพราะพวกเขาเพลิดเพลินกับการประดิษฐ์ของเล่นที่ทำจากวัสดุรอบตัว ซึ่งล้วนแต่มีอยู่ในบ้านแทบทุกหลัง บางชิ้นแทบไร้ราคา แต่เมื่ออยู่ในเทศกาลครั้งนี้กลับมีมูลค่ามหาศาล เพราะเล่นสนุกและเกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าของเล่นราคาแพงบางชิ้น
ดังนั้นต่อให้วัสดุรอบตัวหลายอย่างจะมีสภาพไม่สมบูรณ์ แต่ก็ไม่ได้ลดทอนความสนุกและจินตนาการของเด็กๆ ลงเลย เราจึงเห็นการเล่นที่เด็กครีเอทเอง ทั้งการนำลูกแก้วมาปล่อยลงรางพลาสติกที่เด็กๆ สามารถปรับทิศทางของรางตามใจชอบ, กาบหมากที่พ่อแม่เคยเอามาลากเล่นตอนเด็กๆ วันนี้เอามาให้เด็กๆ ลากกันทั่วงาน ทั้งยังมีการดัดแปลงหาวัสดุอื่นมาลากแทน, กิจกรรมฟองสบู่ ที่ทำจากสบู่อาบนำ้ หรือจะเป็นกองทราย 1 กองที่ เด็กๆ มาช่วยกันเนรมิตเรื่องราวมากมายให้เกิดขึ้นบนกองทราย
ขณะเดียวพ่อแม่ผู้ปกครองที่มาเข้าร่วมเทศกาลครั้งนี้แสดงความเห็นตรงกันว่าได้ปลดล็อกความคิดหลายอย่าง เช่น ของเล่นที่ดีต้องราคาแพง, ไม่รู้จะเล่นอะไรกับลูก และไม่มีพื้นที่ลูกจะเล่นอย่างไร ฯลฯ เพราะทุกข้อจำกัดเรื่องเล่นกับลูกถูกคลี่คลายแล้วที่เทศกาลเล่นอิสระ
เสน่ห์ คือ Play Worker
เสน่ห์อีกอย่างที่สำคัญมากในเทศกาลเล่นอิสระครั้งนี้คือ Play Worker หรือ ‘ผู้ดูแลการเล่น’ ที่ประจำอยู่ในลานเล่นตามจุดต่างๆ ด้วยชุดที่ชัดเจน ต่างไปจาก Staff ทั่วไป พร้อมป้ายห้อยคอที่บอกว่า ‘พร้อมคุย’ คนกลุ่มนี้คือคนที่ผ่านการฝึกอบรมเรื่องการเป็น Play Worker มาแล้ว ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเล่นของเด็กๆ ในลานเล่น เป็นผู้สร้างโอกาสให้เกิดการเล่นอย่างมีความสุข สนุก ส่งเสริมพัฒนาการตามวัย และปลอดภัย อย่างเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ทั้งยังทำหน้าที่ ‘พร้อมคุย’ กับพ่อแม่ที่มีคำถามเรื่องพัฒนาการของลูก หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูก และยัง ‘พร้อมคุย’ ทันทีอย่างเข้าใจและเป็นมิตร เมื่อเห็นคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใหญ่กระทำสิ่งใดที่ขัดขวางการเล่นอย่างมีความสุขของเด็ก
“ผมรู้สึกหงุดหงิดกับพ่อแม่ที่คอยกำกับโน่นนี่กับลูกจัง” คุณพ่อคนหนึ่งคุยกับทีมงาน “เมื่อชั่วโมงที่แล้วผมก็เป็นอย่างพ่อแม่พวกนี้แหละ แต่พอผมได้คุยกับ Play Worker และเข้าใจได้ว่าเราควรปล่อยให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ ผมก็ปลดล็อกเลยนะ ผมเลยหงุดหงิดกับพ่อแม่ที่ยังเป็นแบบนั้น”
ดังนั้นปลายทางของพ่อแม่หลายคนจึงไม่ใช่แค่พาลูกมาร่วมเทศกาล แต่เทศกาลครั้งนี้ยังทำหน้าที่ให้ข้อมูล สร้างความเข้าใจใหม่ และปลดล็อกวิธีคิดให้พ่อแม่ผู้ปกครองไปด้วยในตัว ‘การเล่น’ จึงไม่ใช่แค่เด็กที่สนุก เพราะเมื่อพ่อแม่เข้าใจก็เริ่มสนุกกับการส่งเสริมให้ลูกๆ ได้เล่นอิสระอย่างเต็มที่ไปด้วย
อาจกล่าวได้ว่าเทศกาลนี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองรุ่นใหม่ ในฐานะคนจัดงานจึงอยากเห็นการสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ดีดีแบบนี้อย่างทั่วถึง และพื้นที่แบบนี้ควรเป็นสวัสดิการของประชาชนทุกคน เพราะสิ่งนี้สามารถพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนของเราได้
เทศกาลเล่นอิสระ : Let ‘s Play Festival จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19. พย. 2566 ณ อุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์ โดยเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ร่วมกับ กทม. สำนักทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) (สำหรับผู้ที่สนใจอบรม play worker ติดต่อที่เพจ Let’s play more เล่นเปลี่ยนโลก) |