- คนแต่ละคน ต่างมีระดับความสูงของขุนเขาที่ตรงกับใจเรา บางคนอาจชื่นชอบขุนเขาที่สูงเทียมฟ้า เป็นสถานที่ลี้ลับที่ปกคลุมด้วยเมฆหมอกอันหนาวเหน็บ แต่บางคนอาจพึงพอใจแค่เนินเขาเตี้ยๆ ที่มีทุ่งหญ้าอันเต็มไปด้วยดอกไม้นานาพันธุ์
- แปดขุนเขา (Le otto montagne) บันทึกความทรงจำช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของ เปาโล คนเญตติ (Paolo Cognetti) นักเขียนและนักปีนเขาชาวอิตาลี เล่าเรื่องราวการตามหา ‘ขุนเขา’ ของแต่ละตัวละคร
- บรูโน เพื่อนวัยเด็กของเปาโล เขาค้นพบขุนเขาและระดับความสูงที่เหมาะสมกับตัวเขาแล้วบรูโนพึงพอใจที่จะใช้ชีวิตอยู่บนภูเขาลูกเดิม สร้างครอบครัว ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และทำชีสขาย
เราแต่ละคนมีระดับความสูงของภูเขาที่ตนโปรดปราน มีทิวทัศน์ที่คล้ายคลึงกับตัวเราและเป็นที่ที่เราอยู่แล้วรู้สึกสบายใจ
ของแม่นั้น แน่นอนว่า เป็นป่าที่ระดับความสูง 1,500 เมตร มีต้นสน ต้นลาร์ช และพุ่มบลูเบอร์รี่ซึ่งขึ้นในร่มเงาของพวกมัน มีต้นจูนิเพอร์ ต้นกุหลาบป่า และมีกวางโรแอบซ่อนอยู่
ส่วนผมชอบภูเขาที่อยู่ถัดจากนั้นขึ้นไป มีทุ่งหญ้า ลำธาร ที่ลุ่มสนุ่น สมุนไพรที่ขึ้นบนเขาสูง และสัตว์กำลังเล็มหญ้า
สูงจากระดับนี้ขึ้นไปไม่มีพืชพรรณ หิมะปกคลุมทุกอย่างจนถึงต้นฤดูร้อน และสีที่โดดเด่น คือสีเทาของหิน เป็นลายริ้วด้วยควอตซ์ และแต้มสีเหลืองของไลเคน โลกของพ่อเริ่มต้นที่นั่น
ขุนเขา คือ ความใฝ่ฝัน
แปดขุนเขา (Le otto montagne) คือ หนังสือนิยายที่เป็นประหนึ่งบันทึกความทรงจำช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของ เปาโล คนเญตติ (Paolo Cognetti) นักเขียนและนักปีนเขาชาวอิตาลี หนังสือเล่มนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2016 ได้รับรางวัล Premio Strega 2017 ของอิตาลี และรางวัล Prix Mèdicis ètranger 2017 ของฝรั่งเศส แปลเป็นภาษาไทยโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ และตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่านอิตาลี
ต่อให้หนังสือเล่มนี้ ไม่เคยคว้ารางวัลใดๆ เลย เรื่องราวที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นความรักระหว่างคนกับคน หรือความผูกพันระหว่างคนกับขุนเขา บวกกับความงดงามของธรรมชาติ ที่บรรยายอย่างใส่ใจในละเอียด ละเมียดละไมในความรู้สึก ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้ กลายเป็นหนึ่งในหนังสือในดวงใจของใครหลายคน นับตั้งแต่วันแรกที่ตีพิมพ์
ในหนังสือเล่มนี้ พูดถึงมิตรภาพระหว่างเด็กชายสองคน คือ ปิเอโตร กวัสติ เด็กชายชาวมิลาน ผู้หลงรักในขุนเขา กับบรูโน กุลเยลมินา เด็กชายชาวชนบท ผู้เกิดและเติบโตในขุนเขาบ้านเกิด มิตรภาพที่ยังคงอยู่จนถึงช่วงเวลาที่ทั้งคู่เติบใหญ่และใช้ชีวิตบนเส้นทางที่แตกต่างกัน
ขณะที่ปิเอโตร เดินทางท่องไปทั่วโลก ปีนป่ายขุนเขาหลายลูก ทั้งเทือกเขาแอลป์และหิมาลัย บรูโน ไม่เคยจากขุนเขาบ้านเกิดไปไหนเลย แม้ว่าเขาจะติดใจเรื่องราวเกี่ยวกับทะเลที่อ่านในหนังสือ รวมถึงเคยประกาศไว้ตั้งแต่วัยเด็กว่า จะไม่ยอมอยู่ที่ขุนเขาลูกนี้ไปตลอด
ขุนเขาที่บรูโนกล่าวถึง คือ ขุนเขาลูกสำคัญที่สุด และเป็นฉากหลักของหนังสือเล่มนี้ คือ ‘เกรน็อน’ ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกขานขุนเขาทุกลูกที่อยู่ใกล้หมู่บ้านกรานา (เกรน็อน แปลว่า ขุนเขาของกรานา)
ที่นี่เป็นบ้านของปิเอโตรและบรูโน บ้านที่ทั้งคู่ช่วยกันสร้างมันขึ้นมากับมือ บ้านที่ผนังก่อด้วยหิน หลังคาด้านนอกมุงด้วยไม้ลาร์ช ส่วนด้านในมุงด้วยไม้สน บ้านที่มีเตาผิงแสนอบอุ่น บ้านที่เป็นที่พักพิงแห่งจิตวิญญาณ แม้ว่าจะเป็นบ้านในนิยามความหมายที่แตกต่างกันของทั้งคู่
ปิเอโตร ทำงานเป็นนักทำสารคดี ทำให้เขาได้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก บ้านบนขุนเขาเกรน็อน เป็นเหมือนที่พักพิงชั่วคราว ในยามที่เขาเหนื่อยล้าจากการผจญโลก รวมถึงการปีนป่ายขุนเขาลูกแล้วลูกเล่า แต่สำหรับบรูโน บ้านบนขุนเขาที่หนาวเหน็บ เป็นทั้งบ้าน ที่ทำงาน ที่ก่อร่างสร้างครอบครัว รวมทั้งเป็นเรือนตายของชีวิต
ขุนเขาที่ปรากฎในหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่ทางภูมิศาสตร์ หากแต่ยังมีนัยยะหมายถึงความใฝ่ฝัน ความปรารถนา หรือจุดมุ่งหมายในชีวิต ที่ต้องอาศัยความบากบั่นเดินขึ้นไปจากระดับพื้นราบ หรือระดับน้ำทะเล
ข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ เขียนไว้ว่า…
คนแต่ละคน ต่างมีระดับความสูงของขุนเขาที่ตรงกับใจเรา บางคนอาจชื่นชอบขุนเขาที่สูงเทียมฟ้า เป็นสถานที่ลี้ลับที่ปกคลุมด้วยเมฆหมอกอันหนาวเหน็บ แต่บางคนอาจพึงพอใจแค่เนินเขาเตี้ยๆ ที่มีทุ่งหญ้าอันเต็มไปด้วยดอกไม้นานาพันธุ์
เช่นเดียวกัน ความฝันในชีวิตของคนเราก็เช่นกัน บางคนอาจมีความฝันที่สูงจนเหมือนจะสุดสอย ต้องใช้ความมานะพยายามอย่างสูง เพื่อที่จะไปให้ถึงความฝันนั้น แต่ใครอีกคนอาจมีความฝันที่เรียบง่าย ธรรมดา เช่น ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ทำกิจวัตรประจำวันที่เหมือนกันทุกวัน
แน่นอนว่า ความฝันของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และไม่ว่าจะเป็นความฝันใด ก็ไม่มีถูกหรือผิด และก็เป็นอย่างที่คนเญตติเขียนไว้ว่า “เราแต่ละคนมีระดับความสูงของภูเขาที่ตนโปรดปราน มีทิวทัศน์ที่คล้ายคลึงกับตัวเราและเป็นที่ที่เราอยู่แล้วรู้สึกสบายใจ”
ความฝันก็เช่นกัน
ขุนเขาของบรูโน
บรูโน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของเรื่อง คือ คนที่ค้นพบขุนเขาที่เหมาะกับตัวเองตั้งแต่วัยเด็ก เขาเป็นเด็กที่เกิดในหมู่บ้านกรานา หมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขา แม้ว่าการศึกษาของเขาจะไม่สูงนัก แต่บรูโนเรียนรู้ทุกสิ่งที่เขาควรจะต้องเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ การทำชีส และการสร้างบ้าน
ปิเอโตร ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง (หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ตัวผู้เขียนนั่นเอง) ได้พบและผูกมิตรกับบรูโนตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเขาย้ายบ้านจากมิลานมาอยู่ในหมู่บ้านกรานา มิตรภาพระหว่างปิเอโตรและบรูโน ซึ่งก่อตัวขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่ง บนขุนเขา ที่เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแอลป์ กลายเป็นความผูกพันที่คงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่ากาลเวลาจะพาให้ทั้งสองคนแยกย้ายไปใช้ชีวิตของตน และสุดท้าย กาลเวลาก็พาทั้งสองคนกลับมาพบกันบนขุนเขาลูกเดิม
ปิเอโตร เคยพูดไว้ว่า บรูโน คือ ด้านตรงข้ามของตัวเขา ด้วยความที่มีนิสัยและบุคลิกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่จริงๆ แล้ว บรูโน อาจจะเป็นอีกตัวตนหนึ่งของปิเอโรก็เป็นได้ และในห้วงเวลาที่ปิเอโตร ทิ้งขุนเขาไปใช้ชีวิตในเมือง บรูโน ได้เข้ามาใกล้ชิดสนิทสนมกับพ่อของปิเอโร และกลายเป็นเหมือนตัวแทนของปิเอโตร ในการประคับประคองความสัมพันธ์ฉันท์พ่อลูกที่เริ่มมึนตึง เหินห่างและหมางเมิน
หากถามว่า ระดับความสูงของขุนเขาที่เหมาะสมกับบรูโนอยู่ตรงไหน คงต้องตอบว่า ทุกระดับตั้งแต่พื้นราบขึ้นไปจนถึงยอดเขา เพียงแต่ขอให้เป็นขุนเขาที่ชื่อว่าเกรนอน ขุนเขาที่เขาถือกำเนิด เติบโต และใช้ชีวิตจวบจนวันตาย
บรูโน ไม่ใช่คนทะเยอทะยาน แม้ว่าเขาจะมีวิชาชีพการก่อสร้างติดตัว แม้ว่าในวัยเด็ก เขาเคยบอกว่า ไม่อยากอยู่บนขุนเขาลูกนี้ไปตลอดหรอก แต่พอเติบใหญ่ เขากลับไม่ต้องการไปหางานทำในเมือง ทั้งที่รู้ว่าเป็นงานที่มีรายได้ดีกว่า
บรูโนพึงพอใจที่จะใช้ชีวิตอยู่บนภูเขาลูกเดิม สร้างครอบครัว ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และทำชีสขาย เขาค้นพบขุนเขาและระดับความสูงที่เหมาะสมกับตัวเขาแล้ว
ถึงแม้ว่าท้ายที่สุด ความฝันของบรูโนจะพังทลายลง ธุรกิจผลิตชีสขายล้มเหลว ชีวิตครอบครัวล่มสลาย แต่เขาก็ไม่ทอดทิ้งขุนเขาเกรน็อน แม้ในช่วงเวลาที่พายุหิมะรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีของอิตาลี บรูโนไม่ยอมลงสู่พื้นราบอันอบอุ่น เขาเกิดบนภูเขา และเขาเลือกที่จะตายบนภูเขา
ขุนเขาของปิเอโตร
ระหว่างที่เดินอยู่ในหุบเขาแห่งหนึ่ง บนเทือกเขาหิมาลัย ปิเอโตร ได้พบและพูดคุยกับผู้เฒ่าชาวเนปาลคนหนึ่ง ปิเอโตรบอกกับชายคนนั้นว่า เขาออกท่องโลกเพื่อจะได้ค้นพบขุนเขาที่สวยงามในที่ต่างๆ ของโลก ผู้เฒ่าคนนั้นจึงพูดขึ้นว่า
“เข้าใจละ คุณกำลังท่องไปบนแปดขุนเขา”
หลังจากนั้น ผู้เฒ่าชาวเนปาล ได้วาดรูปวงกลม พร้อมลากเส้นผ่าศูนย์กลางแยกเป็น 8 แฉก ซึ่งก็คือสัญลักษณ์มันดาลา โดยที่จุดศูนย์กลางของวงกลม คือ ขุนเขาพระสุเมรุ ส่วนที่ปลายเส้นรัศมีทั้ง 8 คือ ที่ตั้งของขุนเขาทั้งแปด
(ตามคติความเชื่อของชาวอินเดีย ทั้งศาสนาพราหมณ์ ฮินดู พุทธ และรวมถึงศาสนาเชน เชื่อว่า ขุนเขาพระสุเมรุ คือ ศูนย์กลางของจักรวาล ส่วนคำว่า มันดาลา หรือ มลฆล ก็คือ จักรวาล หรืออาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อ)
“แล้วเราก็พูดกันว่า ใครได้เรียนรู้มากกว่ากัน คนที่ท่องไปทั้งแปดขุนเขา หรือคนที่ไปถึงยอดเขาพระสุเมรุ”
แม้ว่าปิเอโตรจะค้นพบระดับความสูงของขุนเขาที่เหมาะกับตัวเอง แต่เขายังไม่พบขุนเขาลูกนั้น (หรือเขาเลือกที่จะไม่พบเจอขุนเขาลูกนั้น) เขาจึงได้แต่เดินทางท่องโลก ท่องไปบนขุนเขาทั้งแปด
อย่างที่ปิเอโตรเคยกล่าวไว้ว่า แต่ละคนต่างมีระดับความสูงของขุนเขาที่เหมาะกับตัวเอง ระดับความสูงของเขาสูงกว่าแม่ แต่ต่ำกว่าพ่อ ระดับความสูงของพ่อ คือ ยอดสุดแห่งขุนเขา และสุดยอดแห่งความท้าทาย
เรื่องน่าเศร้าก็คือ พ่อไม่เคยยอมรับความจริงว่า ระดับความสูงของพ่อ ไม่ใช่ระดับความสูงที่เหมาะกับปิเอโตร
ปิเอโตรในวัยเด็ก เคยมีพ่อเป็นต้นแบบของชีวิต หากแต่พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เขาค้นพบแล้วว่า ระดับความสูงที่เหมาะกับตัวเอง ไม่ใช่ระดับที่พ่อต้องการ จนนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว และทำให้ปิเอโตรเลือกที่จะทิ้งหมู่บ้านกรานา และออกเดินทางไปใช้ชีวิตในเมือง
ในช่วงเวลาที่ปิเอโตรเหินห่างจากพ่อ บรูโน ได้กลายเป็นตัวแทนของเขา ในการเข้ามาประสานรอยร้าวในครอบครัว บรูโนกลายเป็นเหมือนลูกชายอีกคนของพ่อ เป็นเหมือนพี่ชายที่แสนดีของปิเอโตร
หลังจากที่พ่อเสียชีวิตไป ปิเอโตรได้กลับมาประสานรอยร้าว ด้วยการสร้างบ้านบนขุนเขาเกรน็อน บ้านที่เป็นเหมือนความฝันของพ่อ บ้านที่เขาและบรูโนช่วยกันสร้างขึ้นด้วยมือตัวเอง
แม้ว่าถึงที่สุด ปิเอโตรจะทำให้ฝันของพ่อกลายเป็นจริง แต่ความฝันของเขาล่ะ คืออะไร และเขาจะทำให้มันกลายเป็นจริงได้หรือไม่
บทสรุปของหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้บอกว่า สุดท้าย ปิเอโตร ค้นพบขุนเขาพระสุเมรุของตัวเองหรือยัง ชีวิตของเขายังคงเหมือนกับการเดินทางท่องไปบนขุนเขาทั้งแปด
แล้วคุณล่ะ ค้นพบขุนเขาพระสุเมรุของตัวเองหรือยัง หรือคุณยังเดินทางท่องไปบนขุนเขาทั้งแปด