- หนังสือเรื่อง คลาราและดวงอาทิตย์ (Klara and The Sun) เขียนโดย คาซึโอะ อิชิงุโระ แปลเป็นภาษาไทยโดย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ หนังสือเล่มนี้ บอกเล่าเรื่องราวในโลกอนาคต ที่หุ่นยนต์ถูกพัฒนาจนเข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบ และกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ ที่ถูกนำมาใช้ในฐานะเพื่อนของมนุษย์วัยเด็ก โดยเรียกกันในชื่อ AF ซึ่งย่อมาจาก Artificial Friend
- ‘คลารา’ เป็น AF ที่ถูกซื้อมาให้เป็นเพื่อนกับ ‘โจซี’ จนกระทั่งถึงวันที่โจซีป่วยหนัก แม่ของโจซีได้ขอให้คลารา เลียนแบบทุกอย่างของโจซี เพื่อทำหน้าที่ ‘เป็น’ โจซี ในวันที่เด็กสาวจบสิ้นอายุขัย
- คลารา เฝ้าสังเกตพฤติกรรมและพยายามเข้าใจความคิดของคนรอบข้าง ทำให้เธอค้นพบว่าบางครั้งมนุษย์ก็ทำสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับตรรกะความมีเหตุมีผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกทำสิ่งที่ส่งผลเสียต่อตัวเอง เพื่อแลกกับการที่คนที่ตัวเองรัก จะได้รับสิ่งดีๆ เป็นการแลกเปลี่ยน
ลองหลับตาแล้วจินตนาการถึงโลกอนาคต โลกที่หุ่นยนต์ได้รับการพัฒนาจนถึงขีดสุด ทั้งด้านรูปลักษณ์ภายนอก และระบบปฏิบัติการภายใน
โลกที่หุ่นยนต์ที่มีความสามารถเลียนแบบมนุษย์ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม การเคลื่อนไหว การเดิน การพูดจา สำเนียงการพูด เลียนแบบแม้กระทั่งตรรกะความคิด รวมทั้งมีความละเอียดอ่อน จนเกือบจะเรียกได้ว่ามีความรู้สึก
หุ่นยนต์ จะสามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้หรือไม่
สมมติให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นไปอีกว่า คนที่คุณรักกำลังจะตายจากไป แล้วมีหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง ที่สามารถอัพเกรดรูปลักษณ์ภายนอกจนเหมือนคนๆ นั้น ขณะที่โปรแกรมการทำงานของหุ่นยนต์ตัวนั้น ก็สามารถจำลองความคิด การพูดจาของคนๆ นั้นได้อย่างครบถ้วน
คุณจะยอมรับให้หุ่นยนต์ตัวนั้น มาแทนที่คนที่คุณรัก ซึ่งกำลังจะตายจากไปหรือไม่
นั่นคือ คำถามที่ผุดขึ้นในหัว หลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้
หนังสือที่มีชื่อว่า คลาราและดวงอาทิตย์ (Klara and The Sun) เขียนโดย คาซึโอะ อิชิงุโระ แปลเป็นภาษาไทยโดย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ จัดพิมพ์โดย แพรวสำนักพิมพ์
ความรัก ความทรงจำ และความรู้สึก
ย้อนไปเมื่อปี 2017 ปีนั้นเป็นอีกปีที่มีกระแสการคาดการณ์กันว่า ถึงเวลาแล้ว ที่รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจะตกเป็นของฮารุกิ มูราคามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่น ผู้มีฐานแฟนคลับทั่วโลก จนถึงขั้นที่บ่อนพนันถูกกฎหมายในอังกฤษ ขึ้นชื่อมูราคามิ เป็นเต็งลำดับต้นๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง เขาจะเป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นคนที่ 3 ที่คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ต่อจาก ยาสึนาริ คาวาบาตะ ในปี 1968 และ เคนซาบุโร โอเอะ ในปี 1994
ตอนที่คณะกรรมการรางวัลโนเบล ประกาศชื่อ คาซึโอะ อิชิงุโระ เป็นผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม หลายคน (รวมทั้งผมด้วย) อาจรู้สึกแปลกใจ แต่สำหรับคนในแวดวงวรรณกรรมแบบจริงจัง ไม่ได้รู้สึกประหลาดใจในเรื่องนี้
อิชิงุโระ ซึ่งเกิดที่เมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น แต่ไปโตและได้สัญชาติเป็นพลเมืองอังกฤษ ไม่ใช่นักเขียนหน้าใหม่ แม้เขาจะสร้างผลงานนิยายออกมาไม่มาก (เขาใช้เวลาเขียนนิยายแต่ละเล่มประมาณ 5 ปี) แต่ก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้มหลามมาโดยตลอด ด้วยงานเขียนที่เรียบง่าย-หากละเมียดละไม ที่เน้นการคลี่เผยความสัมพันธ์ของผู้คน ซึ่งท่วมท้นไปด้วยความรัก ความทรงจำและความรู้สึก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานเรื่อง The Remains of the Day หรือชื่อภาษาไทยว่า ‘เถ้าถ่านแห่งวารวัน’ ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน และ Never Let Me Go หรือชื่อภาษาไทยว่า ‘แผลลึก หัวใจสลาย’
Klara and The Sun หรือชื่อภาษาไทยว่า คลารา และดวงอาทิตย์ คือ ผลงานเล่มล่าสุดหลังจากได้รับรางวัลโนเบลของอิชิงุโระ ทำให้งานเล่มนี้ได้รับการจับตามองด้วยความคาดหวังสูง
และอิชิงุโระ ก็ไม่ได้ทำให้นักอ่านผิดหวัง นิยายเล่มนี้ เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก ในด้านความละเอียดอ่อน ละเมียดละไม และพานักอ่านเข้าไปสัมผัสกับความเป็นมนุษย์
หนังสือเล่มนี้ บอกเล่าเรื่องราวในโลกอนาคต ที่หุ่นยนต์ถูกพัฒนาจนเข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบ และกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ ที่ถูกนำมาใช้ในฐานะเพื่อนของมนุษย์วัยเด็ก โดยเรียกกันในชื่อ AF ซึ่งย่อมาจาก Artificial Friend ในยุคสมัยที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันน้อยลง จนถึงขั้นต้องมีการจัดงานพบปะปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้เด็กๆได้พัฒนาการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น
แม้ว่าเซ็ตติ้งของเรื่อง จะเป็นโลกดิสโทเปีย ทำให้หนังสือเล่มนี้ดูเหมือนนิยายไซไฟ แต่แก่นหลักของหนังสือ ยังคงเป็นเรื่องราวของความรัก ความทรงจำ และความรู้สึก เหมือนงานชิ้นอื่นๆ ของอิชิงุโระ
คลารา เป็นเอเอฟพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ถูกซื้อเพื่อเป็นเพื่อนกับโจซี เด็กสาวที่ร่างกายอ่อนแอป่วยกระเสาะกระแสะ ความสัมพันธ์ระหว่างหุ่นยนต์และเด็กสาว พัฒนาไปลึกซึ้งและราบรื่น จนกระทั่งถึงวันที่โจซีป่วยหนัก ถึงขนาดที่หมอยังหมดความหวัง
วันนั้น แม่ของโจซี ขอให้คลารา ซึ่งสามารถเลียนแบบพฤติกรรม การพูดจา หรืออาจจะรวมถึงความรู้สึกทุกอย่างของโจซี อัพเกรดตัวเองเข้าไปอยู่ในร่างประดิษฐ์ที่มีรูปลักษณ์เหมือนโจซีทุกประการ เพื่อทำหน้าที่ ‘เป็น’ โจซี ในวันที่เด็กสาวจบสิ้นอายุขัย
แม้ว่าประเด็นที่คาบเกี่ยวปัญหาเชิงจริยธรรมนี้ จะมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ทว่า อิชิงุโระ แตะเรื่องนี้แค่เพียงผิวเผิน โดยทิ้งให้เป็นเรื่องที่นักอ่านจะนำไปขบคิดต่อเอง ขณะเดียวกัน เขาเลือกที่จะขับเน้นประเด็นความรู้สึกของคลาราแทน
ในฐานะหุ่นยนต์ คลารา พร้อมทำตามคำสั่งนี้ และมั่นใจด้วยว่า เธอสามารถทำได้ดีที่สุด แต่ในฐานะเพื่อน คลารา เลือกทำสิ่งที่ดูเหลือเชื่อ เพื่อช่วยชีวิตของโจซี ซึ่งเธอเรียกสิ่งนั้นว่า ‘ความหวัง’ แม้ว่าการได้มาซึ่งความหวังนั้น ต้องแลกกับการสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างในตัวเธอก็ตาม
เพราะเป็นมนุษย์ จึงมีหัวใจ
“เธอเชื่อในหัวใจมนุษย์หรือเปล่า” พ่อของโจซี ถามคลารา “เธอจะเรียนรู้เฉพาะกิริยาท่าทางของโจซีไม่ได้… เธอจะต้องเรียนรู้ถึงหัวใจของโจซี และเรียนรู้อย่างเต็มที่ด้วย ไม่อย่างนั้นเธอจะไม่มีวันเป็นโจซีได้”
บทความทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่ง เขียนไว้ว่า หุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ไม่มีวันที่จะเลียนแบบมนุษย์ จนถึงขั้นมีความรู้สึกได้ ซึ่งในบทความชิ้นนั้น ระบุว่า กระบวนการที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้สึก” หรือ sentient มีความซับซ้อนเกินกว่าเทคโนโลยีในปัจจุบัน จนถึงอนาคตอันใกล้ จะสามารถสร้างขึ้นได้
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ซึ่งพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์กระบวนการทำงานของสมองในการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรู้สึก’ ค้นพบว่า การสร้างความรู้สึก หรือจิตสำนึก อาศัยการบูรณาการข้อมูลในระดับที่ซับซ้อนกว่าการทำงานของเครื่องจักร ซึ่งทำได้แค่ย่อยข้อมูลเป็นชิ้นเล็กที่สุด แล้วเข้านำกลับมารวมกันใหม่ในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม
แต่ในหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องราวจินตนาการที่ไม่อิงอยู่บนหลักวิทยาศาสตร์ใดๆ ทำให้คลารา ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่มีความละเอียดอ่อนและช่างสังเกตเกินหุ่นยนต์ตัวอื่นๆ อาจจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรู้สึกได้’
มีอยู่ฉากหนึ่งในเรื่อง ระหว่างที่แม่ของโจซีคุยกับคลารา ซึ่งแม่พูดขึ้นว่า
“บางครั้งไม่มีความรู้สึกก็คงจะดี ฉันอิจฉาเธอจัง”
ฉันใคร่ครวญสักครู่ก่อนพูดว่า “ฉันเชื่อว่าฉันมีความรู้สึกหลายอย่างค่ะ ยิ่งสังเกตมากเท่าไร ฉันก็ยิ่งมีความรู้สึกมากเท่านั้น”
ความช่างสังเกตของคลารา ทำให้เธอมีความละเอียดอ่อน และเข้าใกล้การมีสิ่งที่เรียกว่า ‘หัวใจ’ เช่นเดียวกับมนุษย์
หลายสิ่งหลายอย่างที่คลาราสังเกตเห็น เป็นสิ่งที่เราอาจจะมองข้าม หรือไม่ทันสังเกต ไม่ว่าจะเป็น ช่วงเวลาที่คนเราได้พบหน้าคนรักที่พลัดพรากจากกันไปนาน แม้จะเป็นช่วงเวลาที่เปี่ยมด้วยความสุข แต่ก็มีร่องรอยความเจ็บปวดอยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน
“บางครั้ง” เธอเอ่ย “ณ ช่วงเวลาพิเศษเช่นนั้น คนเราอาจรู้สึกเจ็บปวดไปพร้อมๆ กับมีความสุขได้”
หรือตอนที่คลารา ตั้งข้อสังเกตว่า การที่เด็ก ๆ แสดงพฤติกรรมหยาบคายใส่คนอื่น ไม่ได้เป็นเพราะจิตใจที่ชั่วร้าย หากแต่พวกเขาทำลงไปเพราะกลัวที่จะไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนมากกว่า
“ส่วนเด็กๆ พวกนั้น พวกเขาทำพฤติกรรมหยาบคายก็จริง แต่อาจไม่ได้ใจร้ายมากนัก พวกเขากลัวความโดดเดี่ยวถึงได้ทำตัวแบบนั้น”
การเฝ้าสังเกตอย่างตั้งอกตั้งใจ ยังทำให้คลาราค้นพบว่า บางครั้ง มนุษย์ก็ทำสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับตรรกะความมีเหตุมีผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกทำสิ่งที่ส่งผลเสียต่อตัวเอง เพื่อแลกกับการที่คนที่ตัวเองรัก จะได้รับสิ่งดีๆ เป็นการแลกเปลี่ยน
“ฉันไม่เคยคิดเลยว่ามนุษย์จะเลือกความโดดเดี่ยว ไม่เคยคิดว่าบางครั้งจะมีพลังอื่นๆ ที่รุนแรงกว่าความปรารถนาที่จะหลีกหนีจากความโดดเดี่ยว”
มิสเฮเลนยิ้ม “ความรักของแม่ที่มีต่อลูกชาย สิ่งอันสูงส่งนั้นมีไว้เพื่อเอาชนะความน่ากลัวของความโดดเดี่ยวจ้ะ”
บางที การได้พูดคุยกับมิสเฮเลน ทำให้คลาราได้เรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า ‘ความรัก’ อันนำไปสู่การเสียสละเพื่อคนที่รัก และความรักนั่นเอง ที่ก่อเกิดขึ้นจาก ‘หัวใจ’
และที่สำคัญ คลาราเรียนรู้ที่จะมี ‘ความหวัง’ ในการช่วยชีวิตของโจซี แม้ว่าความหวังนั้นอาจดูเป็นเรื่องไร้สาระเลื่อนลอยในสายตาคนอื่น โดยเธอพยายามอ้อนวอนต่อดวงอาทิตย์ ให้ส่งพลังพิเศษมาช่วยให้โจซีหายจากอาการป่วยหนัก ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คลาราจะมีความเชื่อมั่นศรัทธาในดวงอาทิตย์ เพราะเธอเป็นหุ่นยนต์ที่ได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์โดยตรง
แม้ว่าคลาราจะเป็นเพียงหุ่นยนต์ แต่สิ่งที่เธอทำ-สิ่งที่เธอเลือก ชวนให้เราฉุกคิดว่า ‘ความเป็นมนุษย์’ คืออะไร
มนุษย์แตกต่างจากหุ่นยนต์ เพราะมนุษย์มีหัวใจ
ในแง่หนึ่ง เพราะมีหัวใจ จึงมีความรู้สึก จึงมีอคติ และจึงมีความผิดพลาด
ทว่า ในอีกแง่หนึ่ง เพราะมีหัวใจ จึงมีความรู้สึก จึงมีความรัก และจึงมีความหวัง
เพราะเป็นมนุษย์ จึงบกพร่อง แต่เราก็ยังมีความหวังอยู่เสมอ