- ความไว้เนื้อเชื่อใจอาจเป็นความรู้สึกมั่นใจว่าเขาพึ่งพาได้หรือรู้สึกว่าเขาจะไม่ทำอันตราย ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกปลอดภัยในการที่เราจะเผยความเปราะบาง และเผยความลับออกมา
- ภัทรารัตน์ เขียนถึงเรื่องราวของคาวีและจันทร์สุดา กับการแพร่งพรายความลับของตนเองให้คนที่เราไว้วางใจให้รับรู้ แต่ผลสุดท้ายความไว้ใจนั้นก็ย้อนกลับมาทำร้ายตนเอง
- แม้การเล่าเรื่องราวในบางครั้งจะกลายเป็นการเปิดเผยมากเกินไป แต่บางครั้งมันก็ช่วยลดทอดความตึงเครียดในใจลงได้
1.
(ความเดิมจากเรื่องหลวิชัยคาวี) กุมารผู้หนึ่งชื่อ คาวี ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนกับฤาษีร่วมกับสหายชื่อว่า หลวิชัย เมื่อพวกเขาได้เรียนสรรพวิชาจนโตเป็นหนุ่มกันแล้ว ฤาษีเห็นว่าพวกเขาน่าจะเดินทางออกจากป่าไปครองเมืองซึ่งทั้งสองก็เห็นชอบ ท่านทำพิธีถอดดวงใจของทั้งสองใส่ลงในพระขรรค์และย้ำว่าห้ามให้ศัตรูผู้ปองร้ายได้ขรรค์ไปเด็ดขาด ทั้งหลวิชัยและคาวีเดินทางลาจากฤาษี แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็แยกกันไปคนละทิศ
คาวีท่องโลกต่อแต่เพียงลำพังกระทั่งไปเจอกลองในวังแห่งจันทรนครซึ่งร้างไร้ผู้คน ในกลองนั้นมีนาง จันท์สุดา ผู้เป็นธิดาของเจ้าเมืองจันทรนครซ่อนตัวอยู่ เมื่อได้ทราบจากนางว่าชาวเมืองรวมถึงบิดามารดาของนางถูกนกอินทรีย์จับกิน เขาจึงล่อนกมาสังหารเสีย จากนั้นก็ได้สมรสกับนางและครองจันทรนครนับแต่นั้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังท้าวสันนุราชผู้ครองกรุงพันธวิสัยได้พบเส้นผมกลิ่นเย้ายวนของนางจันท์สุดาในผอบที่ลอยมาตามน้ำ ชายแก่ปรารถนาในตัวนางและประกาศให้รางวัลคนที่ช่วยเหลือได้ ฝั่งยายทัศประสาทซึ่งเป็นข้าเก่าของพระธิดาก็รุดไปบอกท่านท้าวและได้ทรัพย์มามากมาย นางจึงวางแผนขอกลับไปอยู่รับใช้นางจันท์สุดา และใช้โอกาสนั้นยุแยงว่าคาวีไม่ไว้ใจพระนางเพราะคาวี “เหน็บพระขรรค์บรรทมทุกคืนไป น่าจะแหนงแคลงฤทัยเทวี”
นางจันท์สุดาได้ยินคำปั่นจึงไปถามคาวีด้วยความขุ่นข้องหมองหมางว่าไม่ไว้ใจตนล่ะหรือ? และจึงได้รู้ว่าหัวใจของคาวีอยู่ในพระขรรค์ “พระขรรค์นี้พี่ฝังชีวิตไว้ ใครลักเข้าเผาไฟจะมรณา” กล่าวคือถ้าใครได้ขรรค์ไปเผาไฟคาวีก็จะถึงแก่ความตาย คาวีบอกความนี้แล้ว กำชับไม่ให้จันทร์สุดาเอาไปบอกคนอื่น “ความจริงบอกเจ้าไม่อำพราง อย่าพูดมากปากสว่างฟังพี่ว่า” ทว่าจันท์สุดาก็ยังนำความลับนี้ไปแก้ตัวกับยายทัศประสาท “ยายเอ๋ยผัวรักข้าหนักหนา” “จันทร์สุดาพาซื่อไม่สงสัย คิดว่าข้าหลวงเดิมก็เคลิ้มไป หลงใหลนับถือว่าซื่อตรง”
จันทร์สุดาเชื่อใจยาย
ด้วยเหตุนี้ผู้มาดร้ายจึงได้ช่องจะฆ่าพระคาวี…
โดยยายใช้อุบายลวงคู่รักไปลงน้ำสระผมตามประเพณี อีกทั้งหลอกล่อให้คาวีฝากขรรค์ไว้แล้วนำขรรค์ไปเผาไฟ ซึ่งทำให้คาวีล้มสิ้นสติ เปิดทางให้ยายเจ้าเล่ห์นำตัวจันท์สุดาไปถวายท้าวเฒ่าสันนุราชในภายหลังหลวิชัยรู้สึกผิดสังเกตจึงเดินทางเสาะหาคาวี กระทั่งได้พบกับคาวีที่นิ่งแน่ใกล้เพลิงที่แผดเผาพระขรรค์อยู่ เขาจึงอธิษฐานจิตและรดน้ำพระขรรค์ทำให้คาวีฟื้นขึ้น จากนั้นหลวิชัยปลอมตัวเป็นดาบสแล้วใช้วิชาย่อร่างคาวีลงย่ามพาไปที่เมืองของท้าวสันนุราช และได้ออกโรงช่วยเหลือจนคาวีได้กลับมาครองคู่กับนางจันทร์สุดาดั่งเดิม
2.
ความไว้วางใจและการเผยความลับ
ความไว้เนื้อเชื่อใจอาจเป็นความรู้สึกมั่นใจว่าเขาพึ่งพาได้หรือรู้สึกว่าเขาจะไม่ทำอันตราย ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกปลอดภัยในการที่เราจะเผยความเปราะบางออกมา และหนึ่งในการเผยด้านที่เปราะบางก็คือการเผยสิ่งที่ควรจะเป็นความลับออกมาให้เขาทราบ อันเป็นสิ่งที่เมื่อมีใครรู้เข้าเราก็อาจเป็นอันตรายได้…
การส่งต่อเรื่องที่ควรจะเป็นความลับ และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
มีรุ่นพี่คนหนึ่งที่เรียกตนเองว่าปราชญ์วิปลาส เคยเขียนข้อความลอยๆ ทำนองว่า “ผมรู้ความลับคุณ” เพราะความลับที่คุณได้บอกให้คนที่คุณเชื่อใจทราบ ได้ถูกเขาคนนั้นบอกต่อไปให้คนที่เขาเชื่อใจทราบอีกทอด และต่อไปอีกหลายทอดในลักษณะนั้น..
คล้ายการที่เราไว้ใจเล่าเรื่องส่วนตัวบางอย่างให้คนอื่นฟัง แล้วกำชับว่า “อย่าไปบอกใครนะ” ทว่าผลมักกลับเป็นในทางตรงข้าม!
และเมื่อเรื่องของเราถูกส่งผ่านไปถึงหูคนที่ไม่หวังดีกับเรา มันก็อาจจะถูกใช้พิฆาตเราได้
เฉกเช่นคาวีที่กล้าเล่าเรื่องที่ทำให้ตัวเองเปราะบางแก่นางจันทร์สุดาโดยกำชับว่า “อย่า ปากสว่าง” แต่เมียรักกลับนำความลับนี้ไปบอกข้าเก่าต่ออีกทอด ซึ่งนางกล้าบอกส่วนหนึ่งก็เพราะความเชื่อใจเช่นกัน ทั้งยังเป็นการตอบสนองตัวเองด้วยเพราะระหว่างบรรทัดของถ้อยคำที่ป่าวประกาศก็คือการบอกว่า ฉันเป็นที่รักและควรค่าแก่ความไว้วางใจ
แต่ผลก็คือสามีของนางเกือบม้วยมรณ์ และตัวนางเองก็ต้องสูญเสียพลัดพราก
ไม่ว่าจะเป็นยายเฒ่า ท้าวแก่และจันทร์สุดา ทุกคนล้วนมีความปรารถนาที่ต้องการการตอบสนอง แม้แต่คาวีเองก็ยังฆ่านก ต่อให้บอกว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้อื่นก็ตาม ภายใต้การกระทำนั้นก็มีสิ่งที่เขาต้องการจะเป็นมิใช่หรือ? ความเป็นปรปักษ์นั้นไม่ถาวรแต่ความเกื้อกูลและมโนธรรมก็ลื่นไหลได้เช่นนั้นด้วย ยิ่งกับคนที่ดูน่าเชื่อถืออย่างที่สุดมันอาจเพียงสะท้อนว่าเขาฝึกปรือจนเจนจัดมากเพียงใดให้ดูเหมือนควรค่าแก่การวางใจ ดั่งนี้ การบอกความลับและการไว้วางใจผู้คนในเรื่องใดก็ตามจึงไม่ได้รับประกันว่าจะไม่ก่อโทษภัยกับตัวเองและผู้อื่นในภายภาคหน้า ในกรณีของคาวีก็ยิ่งตอกย้ำคำเตือนที่ว่า “อันเชื้อชาติช้างสารแลงูเห่า ข้าเก่าเมียรักอย่าวางจิต”
เมื่อบาดเจ็บ
หากเราบอกเล่าเรื่องที่เปราะบางของตนเองไปให้ใครสักคนได้รับรู้ แล้วใครคนนั้นกลับใช้มันย้อนกลับมาทำร้ายเราหรือเป็นเหตุให้เราถูกผู้หนึ่งผู้ใดทำร้ายไม่ว่าทางใด เราอาจกลายเป็นคนที่กลั่นกรองคำพูดเพิ่มขึ้นอีกมากมายและจดจำคำสอนว่า “อย่าไว้ใจมนุษย์” ได้ขึ้นใจ และแม้แต่โทษตัวเอง
แต่มันไม่จำเป็นต้องแปลว่าเราโดนแบบนี้เพราะเราทำอะไรบางอย่าง ‘ผิด’ เราล้วนเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง ในการส่งผ่านเรื่องราวอันเปราะบางไปสู่ผู้หนึ่งผู้ใดบางครั้งก็เกิดจากการคะยั้นคะยอของคนอื่นที่เรามักประเมินแล้วว่าไม่น่าจะอันตรายและอยากรักษาความสัมพันธ์ด้วยเหมือนกรณีของคาวีกับจันทร์สุดา หรือแม้แต่เป็นการกระชับความสัมพันธ์ในกรณีอื่นๆ เพราะเมื่อเรากล้าเปราะบางต่อหน้าผู้อื่น ผู้อื่นก็มักจะกล้าเปลือยเปล่าต่อเราเช่นกัน
นอกจากนี้ การบอกเล่าเรื่องราวบ้างก็กลายเป็นการเปิดเผยมากเกินไปในบรรยากาศที่พาไป ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น และบางทีก็เกิดจากแรงขับของเราเองทั้งที่ผู้อื่นมิได้รบเร้าทว่ามันช่วย ลดทอดความตึงเครียดในใจลง
อย่างน้อยเราก็ต้องให้อภัยตัวเองที่ไม่รู้ว่าบางสิ่งจะเกิดขึ้นตราบจนมันได้เกิดขึ้นแล้ว และยกโทษให้ตัวเองที่ต้องการหาทางออกจากความปั่นป่วนภายในผ่านการเล่าเรื่อง หากต้องเก็บงำบางอย่างไว้คนเดียวตลอดไปเราอาจมีอาการป่วยไข้ก็ได้
เพราะความลับหลายอย่างก็เชื่อมโยงกับความรู้สึกผิดและความละอายใจ ความรู้สึกของเราเองว่าเป็นคนไม่ดี ไม่น่าเคารพหรือไม่ควรค่าจะถูกรัก ฯลฯ การได้ถ่ายทอดเรื่องราวของตนไปสู่คนที่เป็นเสมือนภาชนะอันปลอดภัยช่วยให้เราได้ทำงานกับช่วงชั้นความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นและได้รวบรวมส่วนเสี้ยวอันแตกสลายที่เราได้ทอดทิ้งไปในจุดเวลาต่างๆ ในอดีตมาร้อยเรียงโอบกอดไว้
หรือมันเป็นเช่นการ “สารภาพ” และทำให้ได้รู้ว่าแม้จะเกิดเรื่องราวเหล่านั้นขึ้นแล้ว เราก็ยังควรค่าต่อการถูกรักและให้อภัย ทั้งปลดเปลื้องความหนักอึ้งออกไป เชื่อมโยงกับประเด็นนี้ คาร์ล กุสตาฟ ยุง นักจิตวิทยาวิเคราะห์ชาวสวิสกล่าวว่าในหลายกรณีเรื่องราวอันเป็นความลับซึ่งคนไข้ “มิได้บอกเล่าให้รับรู้และหามีผู้ใดล่วงรู้ไม่” อันเป็น “แก่นความของทุกสิ่ง ดุจก้อนศิลาที่ได้ทุบเขาจนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย” นั้นเป็นกุญแจสู่การบำบัดรักษา
อีกด้านหนึ่งของการบอกเล่าความลับของตัวเองในบริบทที่เหมาะสมจึงเป็นการเยียวยาได้เช่นกัน
3.
ไม่ว่าเราจะระมัดระวังถ้อยคำและระแวดระวังกับผู้คนมากเพียงไหน ในที่สุดแล้วก็ไม่มีการรับประกันได้ว่าเราจะไม่บาดเจ็บ ดังนั้น เมื่อรอบคอบตามสมควรแล้วเราจึงทำได้เพียงปลดปล่อยจากควบคุมสิ่งที่ไม่อาจคุมและยอมรับผลของการตัดสินใจของตัวเองซึ่งมันดีที่สุดในเวลานั้นๆ แล้ว เราน้อมรับชีวิตดั่งที่มันคลี่เผยออกมา
บางครั้ง คมขรรค์ที่มีหัวใจก็ปรารถนาจะเชื่อมโยงกระทั่งลืมเลือนการปกป้องภัย แต่แม้เผชิญพาลภัยมา หัวใจดวงนั้นก็มีศักยภาพที่จะให้อภัยและใจดีกับตัวเองได้เช่นกัน ❄❄
อ้างอิง
บทละครนอกเรื่องคาวีและสังข์ศิลป์ชัย พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางจำปา วัฒนศิริโรจน์
พิมพ์ปีพ.ศ. 2508 สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี
ความทรงจำ ความฝัน ความคิดคำนึง (Memories, Dreams, Reflections) โดย คาร์ล กุสตาฟ ยุง แปลเป็นภาษาไทยโดย พจนา จันทรสันติ
ข้อความของคุณเบิร์ด ณัฐเมธี สัยเวช หรือ ปราชญ์วิปลาส ประมาณปีพ.ศ. ๒๕๕๕
What Is Trust? โดย Paul Thagard, Ph.D.
Who Do You Trust With Your Deepest, Darkest Secrets?