- เมื่อวัยหัวเลี้ยวหัวต่อต้องรับมือกับสภาพสังคมอันเปราะบางในโลกโซเชียล ชีวิตของพวกเขาจึงวุ่นวายและซับซ้อนกว่าวัยรุ่นในอดีต
- หนังสือเล่มนี้ตีแผ่ ‘ชีวิตโซเชียล’ ของวัยรุ่นได้อย่างถึงแก่น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการค้นหาตัวตน ความเป็นส่วนตัว ภัยอันตราย รวมถึงทักษะและการรู้เท่าทันสื่อ
- โซเชียลมีเดียคือโลกจำลองชีวิตของวัยรุ่นทุกยุคทุกสมัย วัยรุ่นไม่ได้เสพติดเทคโนโลยี พวกเขาเพียงแต่ต้องการ ‘พื้นที่’ เพื่อพบปะสังสรรค์ สานสัมพันธ์ เรียนรู้โลก และค้นหาที่ทางของตน
- นี่คือคู่มือชั้นดีสำหรับพ่อแม่ ครู ผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงตัววัยรุ่นเอง ที่ต้องการทำความเข้าใจและรับมือกับความซับซ้อนในโลกเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
เรื่อง: ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์
ใครหลายคนที่เคยเป็นวัยรุ่นหรือยังเป็นวัยรุ่นคงเห็นพ้องกับประโยคที่ว่า “เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย” ไหนจะสารพัดการสอบที่เปลี่ยนระบบจนชวนปวดหัว ไหนจะพ่อแม่ที่ชอบเข้ามาวุ่นวาย ไหนจะแอบชอบคนเดียวกันกับเพื่อน และอีกสารพัดปัญหาที่พาให้ชีวิตวัยรุ่นนั้นไม่ง่ายเลย แต่เรื่องว้าวุ่นที่คนรุ่นก่อนจินตนาการคงเทียบไม่ได้กับชีวิตวัยรุ่นปัจจุบัน เพราะพวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกวุ่นๆ เพียงใบเดียว แต่ยังมีโลกอีกใบที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่ นั่นคือโลกที่มีชื่อว่า ‘โลกโซเชียล’
It’s Complicated: the social lives of networked teens หรือชื่อไทยว่า เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต คือหนังสือที่พาเราไปสำรวจชีวิตวัยรุ่นในโลกเครือข่ายอย่างละเอียดและครอบคลุม ดานาห์ บอยด์ ผู้เขียนใช้เวลากว่าแปดปีตระเวนสัมภาษณ์วัยรุ่นและค้นคว้าวิจัยกรณีศึกษามากมาย เพื่อกลั่นกรองออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้
ผู้เขียนตั้งคำถามและพยายามเสาะหาคำตอบของแง่มุมต่างๆ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียของวัยรุ่น เช่น
- ทำไมวัยรุ่นจึงนิยมแชร์ทุกสิ่ง หรือแม้กระทั่งเลือกแชร์ภาพน่าอายของตนเอง พวกเขาไม่สนใจรักษาความเป็นส่วนตัวของตนแล้วใช่ไหม หรือแท้จริงแล้วการ ‘แชร์’ คือกลวิธีรักษาความเป็นส่วนตัวในแบบของวัยรุ่นเอง?
- วัยรุ่น ‘เสพติดโซเชียล’ อย่างที่สังคมมักกล่าวหาจริงหรือไม่ หรือพวกเขาเพียงต้องการพื้นที่ที่จะ ‘เติบโต’ ภายใต้ชีวิตที่เต็มไปด้วยข้อบังคับกฎเกณฑ์ในปัจจุบัน?
- โซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยอันตรายจริงหรือ มีความเชื่อผิดๆ อย่างไรบ้างเกี่ยวกับอาชญากรทางเพศบนโลกออนไลน์ และพ่อแม่ผู้ปกครองควรมีวิธีสอดส่องดูแลอย่างไร จึงจะช่วยให้เยาวชนใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยบนถนนสายดิจิทัลแห่งนี้
จุดเด่นสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ
ผู้เขียนไม่ได้ใช้แว่นตาแบบ ‘ผู้ใหญ่’ มาตัดสินเรื่องราวของวัยรุ่นทั้งหลาย แต่เธอเปิดใจรับฟังเสียงของพวกเขา ทั้งยังพยายามเข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมในโลกโซเชียลอันแสน ‘ซับซ้อน’ ของวัยรุ่นเหล่านั้น
Cyberbullying ใครเป็นคนผิด?
ประเด็นหนึ่งที่สะท้อนความ ‘ซับซ้อน’ บนโลกโซเชียลได้ชัดเจนที่สุดคือ การรังแกกันบนโลกออนไลน์ หรือ cyberbullying ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนยกตัวอย่างกรณีศึกษาและบทสัมภาษณ์วัยรุ่นที่เคยถูกรังแกบนโลกออนไลน์ รวมถึงฝ่ายที่รังแกผู้อื่น โดยสะท้อนให้เห็นหลากหลายแง่มุมที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมเหล่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่ชอบดูเรื่องราวดราม่าของตัวละครในทีวี และในชีวิตจริงก็มีพฤติกรรมระรานที่จุดชนวนปัญหาในสังคม เรื่องราวของวัยรุ่นที่ใช้พฤติกรรมรังแกเป็นหนทางสร้างสถานภาพและเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น ‘คนดัง’ ในโรงเรียน โดยหันมานินทาว่าร้ายเพื่อนสนิทที่เคยคบหากัน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า หลายครั้งเหตุการณ์รังแกบนโลกไซเบอร์ก็เข้าข่าย ‘การทำร้ายตัวเอง’ เพื่อเรียกร้องความสนใจ กำลังใจ และการยอมรับ
เพราะการรังแกบนโลกออนไลน์นั้นเกิดขึ้นได้หลากหลายจนไม่สามารถสรุปได้ง่ายๆ เพียงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ทำให้บางคนเชื่อว่าการรังแกในโลกไซเบอร์เป็นปรากฏการณ์ใหม่อย่างสิ้นเชิง ขณะที่คนอื่นๆ แย้งว่าเทคโนโลยีแค่ทำให้มีสถานที่ใหม่ไว้รังแกก็เท่านั้น
กรณีศึกษาในเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า การรังแกเป็นหนึ่งในกระบวนการที่วัยรุ่นหาทางเรียนรู้และรับมือกับความสัมพันธ์ในสังคม รูปแบบของการรังแกบนโลกออนไลน์นั้นซับซ้อนกว่าภาพจำของผู้ใหญ่ หลายครั้งเมื่อเกิดปัญหาการรังแกออนไลน์ของวัยรุ่น สื่อต่างๆ และผู้ใหญ่ที่ ‘หวังดี’ มักมุ่งแต่จะโทษผู้ก่อเหตุและปกป้องเหยื่อ โดยไม่สนใจว่าบางครั้งมาตรการลงโทษกลับยิ่งทำให้วงจรความรุนแรงดำเนินต่อไปมากกว่าเดิม
สิ่งที่ควรทำคือพยายามทำความเข้าใจที่มาที่ไปของพฤติกรรมเหล่านี้ เพื่อเลือกใช้กลยุทธ์การแทรกแซงและช่วยเหลืออย่างเหมาะสม รวมถึงการสอนให้วัยรุ่นตระหนักว่าการกระทำของตนส่งผลกระทบต่อผู้อื่นมากเพียงใด และเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ รวมถึงช่วยรับรู้ยามพวกเขาเจ็บปวด เมื่อวัยรุ่นเข้มแข็งพอที่จะรับมือกับสถานการณ์อันตึงเครียด ก็มีแนวโน้มน้อยลงที่พวกเขาจะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นหรือสะเทือนใจเมื่อประสบเหตุการณ์เชิงลบ
โลกโซเชียลคือโลกจำลองของสังคมที่วัยรุ่นใช้ชีวิตอยู่ การรังแก ความขัดแย้ง เรื่องดราม่า และการไขว่คว้าสถานภาพทางสังคม ล้วนเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมาตลอดทุกยุคสมัย เพียงแต่โซเชียลมีเดียทำให้สิ่งเหล่านี้ปรากฏชัดขึ้นและทิ้งร่องรอยไว้บนโลกดิจิทัลเท่านั้น ผู้ใหญ่ไม่ควรใช้มันเป็นหลักฐานเพื่อมุ่งลงโทษผู้กระทำผิดเพียงอย่างเดียว แต่ควรใช้เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่เจ็บปวด และร่ำร้องให้ใครสักคนสนใจฟังเสียงของพวกเขา
หนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นว่า การกล่าวโทษเทคโนโลยีและมุ่งตีกรอบจำกัดให้เด็กอยู่ห่างไกลเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ดังเช่นข้อความหนึ่งในเล่มที่กล่าวว่า
“อินเทอร์เน็ตคือภาพสะท้อนสังคมของเรา และกระจกเงาบานนี้จะสะท้อนสิ่งที่เราเห็น ถ้าเราไม่ชอบสิ่งที่เห็นในกระจก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การซ่อมแซมกระจก แต่เราต้องซ่อมแซมสังคมต่างหาก” วินต์ เซิร์ฟ
และสังคมจะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับช่างซ่อมอย่างพ่อแม่ ครู เหล่าผู้ออกแบบนโยบาย และตัววัยรุ่นเอง ที่จะร่วมมือกันสร้างพื้นที่ใหม่ให้วัยรุ่นได้เรียนรู้ เติบโต และก้าวเดินไปบนหนทางของตนเองอย่างมั่นคง