- หนังสือ ‘เราทุกคนล้วนมีร้านเวทมนตร์ในหัวใจ (INTO THE MAGIC SHOP)’ เขียนโดย ดร.เจมส์ อาร์. โดตี แปลเป็นภาษาไทยโดย นายแพทย์นที สาครยุทธเดช (สำนักพิมพ์ อมรินทร์ฮาวทู) บอกเล่าเรื่องราวของผู้เขียนที่แต่เดิมเป็นเพียงเด็กชายผู้มีชีวิตแหลกสลายสู่การเป็นประสาทศัลยแพทย์มือหนึ่งจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
- เคล็ดลับความสำเร็จของ ดร.เจมส์ อาร์. โดตี คือการนำ ‘กลวิเศษ’ ที่เขาเรียนรู้จากร้านมายากลมาเนรมิตความสำเร็จให้กับชีวิต ซึ่งกลที่ว่านี้มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน
- สำหรับสาวกบังทันหรือเหล่าอาร์มี่ นี่คือหนังสือที่วง BTS ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง Magic Shop อันโด่งดัง
“ถ้าผมบอกว่าผมกลัวไปหมดทุกอย่าง คุณจะเชื่อผมไหม เวลาที่เหลือทั้งหมดต่อจากนี้จะมีแต่ความจริงใจ ทุกคำตอบที่คุณตามหาจะพบได้ในที่แห่งนี้ มันอยู่ในกาแล็กซี่ของคุณ และภายในใจคุณเอง”
เสียงร้องและท่วงทำนองสุดละมุน พร้อมซับไทยจากเพลง Magic Shop ของวงบอยแบนด์เกาหลีชื่อดังระดับโลก BTS ชวนให้ผมหยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาอ่าน
หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า INTO THE MAGIC SHOP หรือ เราทุกคนล้วนมีร้านเวทมนตร์อยู่ในใจ ที่ยิ่งอ่านผมก็ยิ่งอินกับเพลงๆ นี้ของบังทันมากขึ้น แม้ว่าเรื่องราวในหนังสือจะเริ่มต้นด้วยชีวิตวัยเด็กที่แหลกสลายของ ‘จิม’ หรือ ดร.เจมส์ อาร์. โดตี
พ่อขี้เหล้าที่เมาแล้วชอบทำลายข้าวของรวมถึงทำร้ายร่างกายแม่ แม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าและกินยาเกินขนาดจนเข้าโรงพยาบาลบ่อยๆ พี่สาวที่มีลูกเร็วและย้ายไปอยู่ที่อื่น พี่ชายตัวเล็กที่มักถูกแก๊งเด็กเสเพลประจำถิ่นลากไปซ้อมเป็นประจำ ไม่นับรวมฐานะยากจน อดมื้อกินมื้อ บ้านที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่งเนื่องจากไม่มีปัญญาจ่ายค่าเช่า รวมถึงเหตุการณ์ชวนรันทดอีกมาก คือสิ่งที่สร้างบาดแผลในใจเด็กชายจิมในวัย 12 ขวบ
ถ้ามีบริษัทพนันอย่างถูกกฎหมายมาพนันเรื่องอนาคตที่ประสบความสำเร็จของจิม เชื่อเหลือเกินว่าหลายคน รวมถึงผมเอง คงพนันว่าไม่มีทางที่จิมจะประสบความสำเร็จได้ และชีวิตของจิมเองก็คงจบลงด้วยการเป็นไอ้ขี้ยา ไอ้ขี้เหล้า หรือไอ้ขี้แพ้ที่ใช้ชีวิตไปวันๆ อย่างไร้จุดหมาย
เพียงแต่ว่าชีวิตมักจะเล่นกลกับเราเสมอ เหมือนกับจิมที่จู่ ๆ ปลอกนิ้วพลาสติกสำหรับเล่นมายากลของเขาหายไป พยายามตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ เขาจึงตัดสินใจเข้าไปในร้านมายากลแห่งหนึ่งที่ดูแล้วตัวเขาเองไม่น่าจะมีเงินพอจะซื้อของที่ถูกที่สุดในร้านด้วยซ้ำ
Into the Magic Shop
ณ ร้านมายากล จิมได้พบกับ ‘รูธ’ แม่ของเถ้าแก่ร้านมายากลที่มาหาลูกชายในช่วงฤดูร้อน
หลังทักทายกันตามธรรมเนียมและรู้ว่าจิมชอบเล่นกลโดยใช้ปลอกนิ้วพลาสติก รูธจึงขอให้จิมพูดถึงมายากลจากปลอกนิ้วพลาสติก
ด้วยท่าทีที่ตั้งใจฟังอย่างแท้จริงผสมผสานคำชมเชยจากสตรีชราทำให้จิมเกิดความรู้สึกที่ดีต่อเธอ และพอจิมเริ่มเปิดใจให้รูธ แม่เจ้าของร้านมายากลแห่งนี้จึงเริ่มกล่าวปฐมนิเทศให้จิมอย่างแนบเนียน
“ฉันคิดว่ามายากลนั้นหลอกคนได้เพราะคนเห็นเฉพาะสิ่งที่เขาคิดว่าอยู่ตรงนั้นมากกว่าสิ่งที่อยู่ตรงนั้นจริงๆ กลปลอกนิ้วใช้ได้เพราะจิตของเรานั้นเป็นสิ่งที่ตลก จิตจะเห็นในสิ่งที่อยากเห็น จิตอยากเห็นนิ้วโป้งจริง ก็เลยเห็นนิ้วโป้งจริง สมองเราที่มักจะยุ่งเสมอนั้น จริงๆ แล้วขี้เกียจมาก และมายากลหลอกคนได้ก็เพราะอย่างที่เธอบอก ว่าคนนั้นเบนความสนใจได้ง่าย แต่ไม่ใช่เพราะท่าทางของมือ คนส่วนใหญ่ที่มาดูมายากลไม่ได้อยู่ตรงนั้นเพื่อดูมายากลจริงๆ หรอก พวกเขามัวแต่เสียใจกับสิ่งที่ทำไปเมื่อวาน ไม่ก็กังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นพรุ่งนี้ ทำให้พวกเขาไม่ได้อยู่กับการแสดงมายากลตั้งแต่เริ่ม อย่างนี้แล้วพวกเขาจะมองเห็นปลอกนิ้วพลาสติกได้ยังไง”
จากนั้น รูธก็ชวนจิมพูดถึงกลที่เหนือชั้นยิ่งขึ้น อย่างการทำให้เปลวไฟเล็กๆ กลายเป็นลูกไฟใหญ่โดยใช้จิต ทำให้จิมยิ่งฟังยิ่งอินและอยากจะทำให้ได้บ้าง ในที่สุดความปรารถนาของเขาก็ดังไปถึงหัวใจของรูธ เธอจึงบอกจิมว่าหากจิมมาเจอเธอที่ร้านมายากลทุกวัน เธอจะสอนกลวิเศษให้และกลนั้นจะช่วยเสกทุกสิ่งที่เขาปรารถนา
จิมมาตามนัดและมาอย่างสม่ำเสมอ ทุกครั้งที่มาถึงร้านมายากล เขาจะเดินตามรูธไปยังห้องหลังร้าน เพื่อเริ่มเรียนกลวิเศษ ซึ่งจะค่อยๆ ทวีความเข้มข้นขึ้นในแต่ละสัปดาห์
กลแห่งการกล่อมจิต
“เธอไม่ใช่เสียงในหัวของเธอ”
ในบรรดากลวิเศษที่รูธถ่ายทอดให้กับจิมนั้น ผมประทับใจเป็นพิเศษกับกลแห่งการกล่อมจิตให้ว่าง รูธบอกว่ามนุษย์ทุกคนจะมีเสียงบรรยายเสียงหนึ่งดังในหัวไม่หยุด เปรียบได้กับ ‘ดีเจ’ ที่คอยพูดคุยกับผู้ฟังทางวิทยุอยู่ตลอดเวลา
“จินตนาการว่าดีเจในหัวของเธอคอยบอกเธอทุกอย่างทั้งวัน เธอชินกับมันเสียจนบางทีเธอแทบไม่รู้ตัวว่าวิทยุในหัวของเธอนั้นเสียงดังสุดอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ไม่เคยปิดเลย”
รูธอธิบายว่าคนส่วนมากมักหลงใหลไปกับคำพูดและการตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างจากเสียงของดีเจในหัว และหลายคนเข้าใจว่า ‘เรานั่นแหละคือดีเจ’ ทั้งที่จริงแล้ว เราทุกคนล้วนเป็นเพียงผู้ฟังรายการ และเสียงดีเจในหัวของเรานั้น ก็ไม่ใช่เสียงของเราสักนิด
“เสียงในหัวของเธอจะตัดสินชีวิตของเธอว่าดีหรือไม่ดี แล้วจิตของเธอก็ตอบสนองต่อเสียงที่คอยบอกนั่น ราวกับว่ามันรู้จักเธอดี ปัญหาคือการตอบสนองส่วนใหญ่ไม่ได้ดีกับตัวเธอเลย”
ผมเห็นด้วยกับคำพูดของรูธ และจับตาดูความเป็นไปของดีเจในหัว ปรากฏว่าดีเจของผมกลับพูดได้ทั้งวันทั้งคืนไม่หยุดหย่อน ไล่ตั้งแต่ตอนตื่นที่ดีเจพยายามบอกผมให้หลับต่ออีกสิบนาที ตอนหิวที่ดีเจก็มักพูดชื่อเมนูแสนอร่อยที่เป็นภัยกับสุขภาพ หรือแม้แต่ตอนนอน ดีเจก็มักบอกให้ผมดูซีรีส์อีกสักตอน ทั้งที่หนึ่งชั่วโมงก่อนหน้าดีเจก็พูดประโยคนี้
นอกจากนี้ ผมพลางคิดไปถึงตำนานของชาวอินเดียนแดงเผ่าเชโรกี ที่เชื่อว่าภายในของมนุษย์ทุกคนจะมีหมาป่าสองตัวอาศัยอยู่ ตัวหนึ่งเป็นหมาป่าดุร้ายนิสัยไม่ดี กับอีกตัวที่มีนิสัยตรงกันข้าม แน่นอนว่าหมาป่าสองตัวนี้มักต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา (คล้ายเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้) วันหนึ่งเด็กชายจึงถามปู่ของเขาว่าถ้าหมาป่าสองตัวนี้สู้กันแล้วใครจะชนะ ปู่จึงถามกลับว่า “แล้วหมาป่าตัวไหนที่หลานอยากเลี้ยงเอาไว้ล่ะ”
“นี่คือเสียงที่ฉันอยากให้เธอเข้าใจ เธอจะไว้ใจเสียงในหัวของเธอไม่ได้ เสียงที่คอยพูดกับเธอตลอดเวลานั้นน่ะ มันมักจะผิดมากกว่าถูก เธออาจลองคิดว่ากลนี้เป็นการเรียนรู้ที่จะลดเสียงให้เบาลงหรือปิดเสียงไปเลย จากนั้นเธอจะเข้าใจว่าฉันกำลังพูดถึงอะไร”
รูธย้ำกับจิมอีกครั้งว่าเรากับดีเจในหัวเป็นคนละคน ดังนั้นวิธีที่จะช่วยให้เราสามารถหรี่เสียงหรือปิดวิทยุในหัว คือการอยู่กับลมหายใจเข้าออก ซึ่งจะช่วยชะลอความคิด เพราะความคิดนั้นจะนำเราไปสู่คำพูดและการกระทำต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
รูทแนะนำว่าถ้าการอยู่กับลมหายใจเข้าออกยากเกินไป ก็ให้จุดเทียนขึ้นมาสักเล่ม จ้องมองที่แสงเทียนนั้นจดจ่ออยู่กับมัน ถ้าจิตใจวอกแวกก็ให้พยายามดึงตัวเองกลับมายังแสงเทียน หากทำได้จิตใจของเราก็จะสงบขึ้น
นอกจากวิธีเพ่งเทียน รูธสอนจิมว่าเราสามารถตั้งจิตได้โดยอาศัยมนตร์สั้นๆ (เหมือนชาวพุทธที่ท่องพุทโธ) รูธบอกจิมว่าสามารถนึกคำอะไรก็ได้สั้นๆ ให้กับตัวเอง ท่องไปซ้ำๆ และโฟกัสกับเสียงของคำแต่ละคำ โดยไม่ต้องคิดถึงอย่างอื่น
“มนตร์เป็นเหมือนเพลงหรือเสียงที่ทำขึ้นเพื่อช่วยให้เธอตั้งจิตได้ เหมือนที่เธอตั้งจิตตอนหายใจหรือมองเปลวเทียน นี่เป็นกลอีกวิธีหนึ่งที่ใช้หลอกจิตของเธอ”
จิมได้เลือกคำว่า คริส-น็อบ โดยคริสคือชื่อของหญิงสาวที่เขาแอบปิ๊ง ส่วนน็อบคือลูกบิดประตู แม้ทั้งสองคำนี้จะฟังดูไม่เข้าท่า แต่เมื่อจิมได้นำกลของการท่องมนตร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาใช้ ปรากฏว่าคาถา ‘คริส-น็อบ’ ช่วยให้เขาไม่ได้ยินเสียงของดีเจอีก…ดีเจในหัวของคุณหยุดพล่ามแล้ว
หนังสือ INTO THE MAGIC SHOP เราทุกคนล้วนมีร้านเวทมนตร์อยู่ในใจ ได้รับการแปลไปแล้วกว่า 27 ภาษา และการันตีด้วย Award-winning New York Times Bestseller และ Best Seller in Korea รวมถึงคนดังทั่วโลก โดยเฉพาะองค์ทะไลลามะที่ยกย่องหนังสือเล่มนี้และท่านเองก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนด้านเงินทุนให้กับจิม หรือ ดร.เจมส์ อาร์. โดตี ในการก่อตั้งศูนย์เพื่อการศึกษาเรื่องความเมตตาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด