Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Movie
12 July 2024

Instant family: ได้โปรดให้เวลาพวกเราหน่อยนะ 

เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Instant family เป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวการอุปถัมภ์เด็กของคู่สามีภรรยา ‘เอลลี่และพีท’  ซึ่งเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นอเมริกา
  • กว่าทั้งคู่จะรับเลี้ยงลูกบุญธรรมได้ ต้องผ่านขั้นตอนและการเรียนรู้มากมาย ทำให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะรับเลี้ยงและทำความเข้าใจธรรมชาติที่แตกต่างของเด็กแต่ละคน
  • เมื่อเรามองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ก็เป็นปมในใจทำให้อยากกันตัวเองออกมาจากคนอื่น เพราะเกิดความคิดว่าเราไม่สมควรได้รับความรักจากใคร และกว่าจะคลายปมได้ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร

หนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงเกี่ยวกับการอุปถัมภ์เด็กของครอบครัวหนึ่งในอเมริกา

เรื่องเริ่มจากคู่รักที่แต่งงานกันมานานอย่าง ‘เอลลี่และพีท’ ทั้งคู่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สร้างตัวกันมาจนอายุเริ่มมากขึ้น วันหนึ่งพวกเขามีความคิดอยากมีลูก แต่พีทรู้สึกว่าตัวเองแก่แล้วเลยแค่พูดกับเอลลี่เล่นๆ ว่าถ้ารับเลี้ยงเด็กอาจจะดีกว่าเพราะเขาจะได้ไม่แก่เกินไปที่จะดูแลลูก

เอลลี่เก็บเอาไปคิดจริง เธอลองค้นหาข้อมูลดูแล้วทำให้ได้เห็นว่ามีเด็กมากมายที่ต้องการบ้านและความช่วยเหลือ เมื่อพีทเห็นหน้าตาของเด็กๆ เหล่านั้นเขาก็เปลี่ยนใจจากความคิดเล่นๆ มาจริงจัง

เอลลี่และพีทตัดสินใจสมัครเข้าร่วมกับสถานสงเคราะห์สำหรับอุปถัมภ์เด็ก ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ในบ้านอุปถัมภ์คือเด็กที่พ่อแม่มีปัญหาทำร้ายร่างกาย ติดยา ติดคุก หรือเรียกได้ว่าไม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดูลูก

เมื่อสมัครเข้าร่วมแล้วขั้นตอนต่อมา สองสามีภรรยาต้องเรียนรู้ที่จะเป็นพ่อแม่บุญธรรมโดยการเข้าร่วมเวิร์คชอปเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะรับอุปถัมภ์เด็กในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านความปลอดภัยอย่างการฝึกทำ CPR ทั้งทำความเข้าใจจิตใจของเด็กๆ ที่ต้องจากพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดมา และเตรียมบ้านของตัวเองให้มีพื้นที่สำหรับลูกในอนาคตของพวกเขา

ขั้นตอนที่สำคัญต่อจากนั้นคือพ่อแม่เหล่านี้จะต้องทดลองอยู่ร่วมกับเด็กที่พวกเขาสนใจจนผ่านการประเมินโดยศาลก่อนถึงจะสามารถรับเลี้ยงเด็กมาเป็นลูกบุญธรรมโดยสมบูรณ์ได้ 

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็กินระยะเวลานานพอสมควรจนทำให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะรับเลี้ยงเด็กคนหนึ่งเพราะบางบ้านก็อุปถัมภ์เด็กเพื่อเงิน

บางบ้านก็ปรับตัวเข้าหากันไม่ได้ เด็กเลยต้องกลับมาอยู่ที่บ้านอุปถัมภ์ต่อ ถ้าโชคดีเด็กๆ อาจจะไม่ต้องเข้าสู่วัฏจักรเดิมๆ นี้อีก แต่ในความเป็นจริงมีเด็กหลายคนที่ต้องผ่านการเข้าศาลและถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำอีก พวกเขาต้องรับมือกับความไม่แน่นอนนี้เพียงลำพัง

มีเวิร์คชอปนึงที่คล้ายกับการให้ผู้ปกครองสวมหมวกเป็นเด็ก ทางบ้านอุปถัมภ์จะให้ 1 คนรับบทเป็นเด็กโดยให้ถือเชือกหลายๆ เส้นเอาไว้ในมือและปลายทางของเชือกแต่ละเส้นคือความสัมพันธ์รอบๆ ตัวของเด็ก พวกเขาเล่าว่า “เด็กพลัดถิ่น(Displaced child) มักรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ พวกเขาผ่านความรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่ต้องการเขามาหลายครั้ง แทนที่พวกเขาจะเสียใจ พวกเขากลับสูญเสียสายสัมพันธ์กับทุกสิ่งทุกอย่างไป”

หลังจากนั้นเชือกจะค่อยๆ ถูกกรรไกรตัดออกไปทีละเส้น ทีละเส้น เพื่อทำให้พวกเขาเห็นภาพสถานการณ์ว่า นี่คือสิ่งที่เด็กรู้สึกเมื่อต้องเข้าสู่วัฏจักรนี้

ในวันนัดเจอกันของผู้ปกครองและเด็กๆ จะถูกจัดเหมือนสวนสนุกที่มีเครื่องเล่นมากมายเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างมีโอกาสมาทำความรู้จักกัน เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีพ่อแม่สนใจ แม้แต่เอลลี่กับพีทก็รู้สึกไม่ค่อยอยากรับเลี้ยงเด็กวัยรุ่นเช่นกัน

แต่สักพักหลังจากทั้งสองพยายามทำความรู้จักเด็กน้อยมากมายหลายคน พวกเขากลับบังเอิญถูกใจเด็กวัยรุ่นอายุ 15 คนหนึ่งชื่อว่า ‘ลิซซี่’แทน เธอเป็นคนฉลาด กล้าพูด แต่ทางบ้านอุปถัมภ์บอกว่าถ้าพวกเขาจะรับเลี้ยงลิซซี่ ก็จะต้องรับเลี้ยงเด็กอีก 2 คน (‘ฮวนกับลิต้า’) ซึ่งเป็นพี่น้องของลิซซี่ด้วยเหตุผลทางด้านสายสัมพันธ์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่พวกเขายึดถือ คือการทำให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันเพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวกับปัญหาที่ต้องเผชิญในอนาคต

เด็กทั้งสามคนมีแม่ที่เล่นยาจนสลบ ทำบ้านไฟไหม้ แม่ของเด็กๆ เคยสัญญามาตลอดหลายปีแต่ก็ไม่เคยทำตามคำสัญญาได้สำเร็จ ล่าสุดก็ติดคุกอยู่ และไม่เคยติดต่อกลับมาที่สถานสงเคราะห์ถึงสองปี ส่วนพ่อก็ไม่ได้ระบุตัวตน

ในตอนแรกที่ทั้งสามคนได้ไปอยู่กับเอลลี่และพีทก็เหมือนทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี แต่สักพักก็พบเจอปัญหาในการปรับตัวเข้าหากันมากมายใหญ่โต 

ลิต้าน้องคนเล็กแม้จะน่ารักสดใสตามวัย แต่ก็เป็นเด็กขาดระเบียบ ชอบพูดคำหยาบคาย ส่วนฮวนก็เป็นเด็กที่ค่อนข้างบอบบาง อ่อนไหว และใสซื่อเกินไปจนทำให้ตัวเองเจ็บตัวตลอดเวลา

และแน่นอน ลิซซี่ แม้จะเป็นเด็กที่ฉลาด แต่ก็มีความหัวแข็ง ไม่เชื่อใจใครง่ายๆ เธอโตกว่าวัยเพราะต้องเป็นคนคอยดูแลน้องทั้งสองคน

แต่ในความเป็นจริงเธอเป็นเพียงเด็กสาววัยรุ่นที่ถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนไม่เชื่อว่าตัวเองจะเป็นที่รักของใครได้

ลิซซี่มักจะแสดงออกด้วยความโกรธ ทำตัวเหมือนไม่แคร์อะไร เพื่อผลักคนอื่นออกตลอดเวลาเพราะลึกลงไปในจิตใต้สำนึกเธอคิดว่าตัวเองไม่สมควรได้รับความรัก ทั้งเอลลี่และพีทเลยต้องพยายามมากกว่าเดิมเพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติที่แตกต่างของเด็กแต่ละคนให้มากขึ้น 

พอเรื่องราวทุกอย่างกำลังจะดีอีกครั้ง แม่ผู้ให้กำเนิดเด็กทั้งสามคนก็ติดต่อเข้ามาขอเจอลูกๆ และจะขอสิทธิ์เลี้ยงดูลูกกลับมา ซึ่งที่บ้านอุปถัมภ์ก็มีจุดประสงค์หลักของระบบคือการรักษาสถาบันครอบครัว พวกเขาจึงให้สิทธิ์พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดมาเป็นอันดับแรก แน่นอนว่าคนที่ดีใจและตื่นเต้นที่สุดก็คือลิซซี่

 ในวันที่เอลลี่กับพีทใกล้จะต้องขึ้นศาลเพื่อไกล่เกลี่ยขอสิทธิ์เลี้ยงดู พวกเขาก็คิดจะยอมแพ้โดยการเขียนสำนวนที่จะปล่อยเด็กๆ ไป พวกเขาคิดว่าลิซซี่น่าจะอยากกลับไปอยู่กับแม่ผู้ให้กำเนิดมากกว่า พวกเขากลัวว่าถ้าสำนวนที่พวกเขาเขียนทำให้แม่ของลิซซี่ไม่ได้สิทธิ์เลี้ยงดู ลิซซี่จะยิ่งเกลียดพวกเขากว่าเดิม 

ในตอนนั้นเองที่คุณย่าเข้ามาบอกว่า “ลิซซี่ไม่ได้เกลียดทั้งสองคน เธอแค่คิดว่าทั้งสองคนไม่ได้รักเธอจริง และสำนวนนั่นไม่ช่วยอะไรเลย” เอลลี่สงสัยและถามว่า “ลิซบอกแม่แบบนั้นหรอ”

คุณย่าจึงเล่าว่า “ฉันโตมาคล้ายกับลิซซี่มาก ถ้าเราถูกด่าซ้ำซากว่าไร้ค่าวันละห้าครั้งไม่นานคงยากที่จะเชื่อว่ามีใครรักเราได้” เอลลี่บอกว่า “คุณรู้ใช่มั้ยว่าพวกเรารักคุณ” คุณย่านิ่งไปแปปนึง แล้วตอบว่า “ไม่รู้…แต่ไม่ใช่เพราะเธอ มันเป็นเพราะตัวฉันเอง”

เราเองก็เติบโตมาด้วยความรู้สึกคล้ายกันกับคุณย่าและลิซซี่เลยรู้สึกเข้าใจความหมายของสิ่งที่คุณย่าพูด ตอนเป็นเด็กเราเคยถูกบอกซ้ำๆ ว่าเป็นหมาหัวเน่าที่ไม่มีใครรัก พอมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง เราก็อยากกันตัวเองออกมาจากคนอื่นเพราะไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นประโยชน์ให้ใคร เพราะคิดว่าเราไม่สมควรได้รับความรักจากใคร

ในท้ายที่สุดแล้วเราดีใจกับลิซซี่ที่เธอได้มีครอบครัวซึ่งพยายามทำความเข้าใจในตัวเธอและพร้อมที่จะมอบความรักให้เธอแม้จะไม่ได้มีสายเลือดเดียวกัน เราคิดว่าทั้งเรา ลิซซี่และคุณย่าต่างคงต้องการเวลาทำความเข้าใจตัวเองมากกว่าคนทั่วไปและต้องการความรักมากมายจนกว่าจะรู้ว่าตัวเองเป็นที่รักได้เพียงแค่เราเป็นเรา 

เราใช้เวลาหลายปีเพื่อคลี่คลายปมในใจนี้และยังคงต้องทำงานกับมันอย่างหนัก และแม้จะรู้ว่าตัวเองได้ความรักมากมายแล้วแต่เราก็ยังไม่สามารถเปิดหัวใจให้รักตัวเองได้อย่างง่ายดาย 

บางครั้งเราก็แอบคิดว่ามันคงจะดีถ้าเราได้ตั้งระบบตั้งต้นที่ดีกว่านี้ ถ้าไม่มีคำว่าหมาหัวเน่าในวันนั้นมันคงจะดีกว่านี้รึเปล่านะ เราอาจจะกอดตัวเองได้โดยไม่ต้องพยายาม

ดังนั้นเราเลยอยากบอกใครก็ตามที่ได้ผ่านมาอ่านบทความนี้ ถ้าคุณมีโอกาสเจอคนแบบเราหรือลิซซี่ได้โปรดให้เวลาพวกเราหน่อยนะ 

Tags:

พ่อแม่วัยรุ่นภาพยนตร์เด็กครอบครัวบาดแผลทางจิตใจInstant Family

Author:

illustrator

พิมพ์พาพ์

เป็นลูกคนเดียวจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกตัวเองว่านักวาดภาพประกอบที่ชอบวาดคนหน้าแมว เผลอเสียน้ำตาให้กับหนังครอบครัวอยู่บ่อยๆ

Related Posts

  • Movie
    Stand By Me: เด็กทุกคนล้วนเคยเจ็บปวดเพราะผู้ใหญ่ ขอแค่ใครสักคนที่เชื่อมั่น ความฝันย่อมไม่ดับสลาย

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    The Holdovers: ในวันที่ไม่มีใครเหลียวแล ขอแค่ใครสักคนที่มอบไออุ่นและเยียวยาหัวใจกัน

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Book
    รถไฟขนเด็ก – เพราะรักจึงยอมปล่อยมือ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Matilda The Musical: เมื่อโลกไม่เข้าข้าง เราต้องยืนหยัดเพื่อตัวเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Dear ParentsMovie
    Boyhood: ครอบครัว แตกสลาย เติบโต

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel