- Inside Out 2 เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันภาคต่อในชื่อเดียวกันของค่ายดิสนีย์และพิกซาร์ บอกเล่าเรื่องราวของไรลีย์ เด็กหญิงวัย 13 ปีที่กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงชีวิตวัยรุ่น ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนแปลงภายนอกแล้ว อารมณ์ความรู้สึกภายในของเธอก็มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม
- ลั้ลลา เศร้าซึม ฉุนเฉียว หยะแหยง และกลั๊วกลัว หรืออารมณ์หลักทั้ง 5 ของไรลีย์ยังอยู่กันพร้อมหน้าเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือแก๊งอารมณ์น้องใหม่ นำโดยว้าวุ่นที่ถูกส่งมายังศูนย์สั่งการ ก่อนช่วยกันยึดผังควบคุมไปจากลั๊ลลาจนเกิดเป็นเรื่องราวความชุลมุนวุ่นวายต่างๆ ที่ล้วนแต่ผลักดันให้ไรลีย์ได้ลิ้มลองรสชาติของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
“ฉันไม่รู้จะหยุดว้าวุ่นได้ยังไง เราอาจจะหยุดมันไม่ได้ บางทีการเติบโตก็คงเป็นแบบนี้ รู้สึกสุขน้อยลง”
คำพูดของ ‘ลั๊ลลา’ ตัวแทนอารมณ์ความสุขของ ‘ไรลีย์’ ตัวละครหลักจากภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Inside Out 2 น่าจะสะท้อนความรู้สึกของใครหลายคนที่รู้สึกว่าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ช่างแตกต่างจากภาพฝันในวัยเด็ก
หลังจาก Inside Out ประสบความสำเร็จในการคว้ารางวัลภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์เมื่อปี 2016 ตอนนี้ดิสนีย์และพิกซาร์ได้นำเสนอภาคต่อโดยเนื้อหายังคงบอกเล่าเรื่องราวของไรลีย์ในวัย 13 ปี (เพิ่มขึ้นสองปีจากภาคแรก) และกำลังเตรียมตัวเข้าโรงเรียนมัธยมปลาย
ไฮไลท์ของ Inside Out 2 คือการเปิดตัวอารมณ์น้องใหม่อย่าง ว้าวุ่น อิจฉา เขิ๊นเขินอ๊ายอาย และ เฉยชิล ที่เข้ามาแย่งคอนโซลควบคุมไปจากกลุ่มอารมณ์เดิมในภาคที่แล้วอย่าง ลั้ลลา เศร้าซึม ฉุนเฉียว หยะแหยง และกลั๊วกลัว ทำให้ไรลีย์ต้องต่อสู้กับความสับสนปั่นป่วนในอารมณ์ ขณะที่เธอจะเปลี่ยนผ่านจากคำว่า ‘เด็ก’ ไปสู่ ‘วัยรุ่น’
[*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์]
ไรลีย์ ถือเป็นภาพตัวแทนของเด็กที่ก้าวสู่การเป็นวัยรุ่น ไม่ว่าจะด้านกายภาพและด้านจิตใจ ซึ่งอย่างหลังดูจะเป็นสิ่งที่วัยรุ่นหรือคนเคยเป็นวัยรุ่นคงตระหนักดีว่าช่วงชีวิตดังกล่าวเต็มไปด้วยความพลุ่งพล่านทางอารมณ์ที่สวิงไปสวิงมาจนยากจะรับมือ
แม้พล็อตของภาพยนตร์จะพูดถึงสถานการณ์แค่ช่วงสั้นๆ ที่ไรลีย์ถูกเชิญให้ไปคัดตัวในทีมฮ็อกกี้ม.ปลายชื่อดังเป็นเวลา 3 วัน แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เธอลิ้มรสของการเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น หลังจากที่อารมณ์ภายในถูก ‘ว้าวุ่น’ หรืออารมณ์ของความวิตกกังวลเข้าครอบงำ
ในช่วงแรก ว้าวุ่นคืออารมณ์ที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องไรลีย์จากความผิดพลาดและช่วยให้เธอบรรลุเป้าหมายในการคัดตัว ผ่านการวางแผนการมากมาย แต่ไม่นาน ว้าวุ่นก็เริ่มประเมินเหตุการณ์ต่างๆ ในอนาคต ในแง่ลบและเกินจริงมากขึ้น นำมาสู่การจินตนาการทำร้ายตัวเองว่าจะคัดตัวไม่ติดด้วยเหตุผลร้อยแปดประการ จนในที่สุดไรลีย์ก็เริ่มแสดงพฤติกรรมที่ขัดกับความเชื่อและตัวตนของเธอในอดีต
มากกว่านั้น พอไรลีย์ปล่อยใจตัวเองไหลไปกับแผนการของว้าวุ่น นอกจากความสัมพันธ์กับผู้คนที่เปลี่ยนไป ผลกระทบหลักที่ชัดเจนคือไรลีย์กลายเป็นคนที่เครียดง่ายขึ้น นอนไม่ค่อยหลับ แถมยังมองโลกในแง่ร้าย ทำให้เธอค่อยๆ สูญเสียตัวตนที่เคยเป็น
แน่นอนว่าในภายหลัง ดิสนีย์ก็ยังคงเป็นค่ายที่เน้นฉากจบที่มีความสุขและคลี่คลายปัญหาให้ตัวละคร แต่สำคัญกว่านั้นคือการที่ภาพยนตร์ได้แนะนำให้เราหันกลับมาสำรวจอารมณ์ในจิตใจตัวเอง โดยผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เคลซี่ย์ แมนน์ ให้สัมภาษณ์ผ่าน The Korea Herald ว่าภาพยนตร์จะพูดเกี่ยวกับอารมณ์ที่เราทุกคนต้องเผชิญ ซึ่งผู้คนจำนวนมากได้ให้การตอบรับตัวละครต่างๆ และสังเกตเห็นว่าพวกเขาไม่ใช่คนเดียวที่ต้องจัดการกับตัวละครนี้ แต่ยังมีคนอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาเหล่านี้อยู่
“ผู้คนมักเปรียบเทียบตัวเองและไม่เห็นอะไรเลยนอกจากข้อบกพร่อง ผมต้องการให้ผู้ชมมองในกระจกขณะที่พวกเขาเดินออกจากโรงภาพยนตร์ และรักในสิ่งที่พวกเขาเห็น”
ด้าน ลิซ่า ดามูร์ นักจิตวิทยาคลินิกชื่อดังชาวอเมริกันที่เป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของ Inside Out 2 กล่าวผ่าน vox.com ว่าเมื่อมนุษย์อายุได้ 13-14 ปี พวกเขาต่างมีความสามารถในการวาดภาพตัวเองจากภายนอก เพื่อจินตนาการถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอันเป็นผลจากการพัฒนาของสมอง เช่น ความสามารถในการเขินอายและจินตนาการว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับคุณ หรือมีความอิจฉา อยากได้บางสิ่งบางอย่างที่คนอื่นมี และอยากรู้ว่าทำไมคุณถึงไม่มีมัน
“แน่นอนว่าความวิตกกังวล(ว้าวุ่น) เป็นส่วนสำคัญในหนังเรื่องนี้ สิ่งที่ความวิตกกังวลต้องการคือความสามารถในการจินตนาการและการคาดการณ์
ความกลัวคือการตอบสนองต่อภัยคุกคามที่อยู่ตรงหน้า ในขณะที่ความวิตกกังวลเป็นการจินตนาการถึงสิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความวิตกกังวลถูกควบคุม ถือเป็นปัญหาที่แท้จริงและท้าทายอย่างยิ่ง เราเห็นสิ่งนี้ในทุกเพศ แต่เมื่อเราดูข้อมูล เราจะเห็นสิ่งนี้ในเด็กผู้หญิงมากกว่าเล็กน้อย
หลายอย่างเกิดขึ้นจากความปรารถนาที่จะเข้าสังคมและเพื่อให้ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวพวกเขาพอใจ ซึ่งมันสามารถส่งผลย้อนกลับได้ในแง่ของการทำให้พวกเขารู้สึกว่าคุณค่าของพวกเขาอยู่ที่การไม่ทำข้อผิดพลาด ดังนั้นหากพวกเขาคิดเช่นนั้น วิธีเดียวที่จะบรรลุสิ่งนี้ได้คือการไม่ทำผิดพลาด มันจึงเป็นสูตรสำหรับความวิตกกังวลและความรู้สึกไม่สบาย
ความวิตกกังวลเป็นส่วนสำคัญของชีวิตอย่างแน่นอน มันปกป้องเรา มันช่วยให้เราจินตนาการและคาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจผิดพลาด มันช่วยให้เราแก้ไขและตัดสินใจได้ดีขึ้น มันอาจทำให้ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นความวิตกกังวลในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมีคุณค่าอย่างมากที่จะต้องควบคุมทั้งในด้านที่ดีและไม่ดี”
หลังอ่านบทสัมภาษณ์ของทั้งคู่ ผมอดไม่ได้ที่จะนึกกลับไปยังช่วง End Credit ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ได้แฝงข้อความขึ้นมาสั้นๆ ถึงผู้ชมว่า “this film is dedicated to our kids, we love you just the way you are.” (ภาพยนตร์เรื่องนี้อุทิศแก่เด็กๆ และลูกๆ ของเรา , พวกเรารักเธอในแบบที่เธอเป็นนะ) ทำให้ผมฉุกคิดได้ว่าต่อให้อารมณ์ข้างในหรือใครจะคาดหวังกำหนดให้เราทำอะไร สุดท้ายแล้วการเป็นตัวเองและเห็นคุณค่าในตัวเองนี่แหละคือสิ่งสำคัญที่สุด
Inside Out 2 อาจมอบบทสรุปที่ว่าแม้อารมณ์ทุกชนิดจะไม่ใช่วายร้ายและมีไว้เพื่อการดำรงอยู่รอดของมนุษย์ แต่หากปล่อยให้มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งมากเกินจนครอบงำจิตใจโดยปราศจากการรู้เท่าทัน สุดท้ายอารมณ์นั้นจะย้อนกลับมาทำลายตัวตนของเราในภายหลัง