- Indian Matchmaking เรียลิตีโชว์ความยาว 8 ตอน ฉายอยู่บน Netflix เล่าเรื่องราวของ สิมา ทาปาเรีย (Sima Taparia) นักจัดหาคู่ (Matchmaker) ชื่อดังชาวอินเดีย
- กาลเวลาที่เปลี่ยนทำให้วิถีชีวิตการแต่งงานของชาวอินเดียเปลี่ยนไปด้วย พวกเขาไม่ต้องแต่งงานตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี หรือไม่สามารถเลือกคู่ชีวิตด้วยตัวเอง แต่ครอบครัวยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเลือกคู่ชีวิต
- ซีรีส์ฉายให้เห็นภาพการทำงานของสิมา ขณะเดียวกันก็สะท้อนทัศนคติของหญิงสาวที่มาใช้บริการนักจัดหาคู่ รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับความรักและการแต่งงานที่ถ่ายทอดให้เราเข้าใจวัฒนธรรมอินเดียในปัจจุบันมากขึ้น
ภาพ Netflix
“เพราะเราเลือกพ่อแม่ก็ไม่ได้ เลือกลูกเองก็ไม่ได้ แต่เราเลือกสามีได้”
นี่คงเป็นประโยคที่สรุปใจความสำคัญทั้งหมดของ Indian Matchmaking เรียลิตีโชว์ความยาว 8 ตอน ฉายอยู่บน Netflix เล่าเรื่องราวของ สิมา ทาปาเรีย (Sima Taparia) นักจัดหาคู่ (Matchmaker) ชื่อดังชาวอินเดีย กว่า 134 คู่แต่งงานที่จัดโดยเธอคงเป็นเครื่องการันตีตำแหน่ง ‘แม่สื่ออันดับหนึ่ง ณ มุมไบ’ ได้ดี
ผู้เข้าใช้บริการของสิมามีหลากหลายตั้งแต่ทนายความสาวสุดมั่นที่อยู่ในช่วงกังวลว่าตัวเองจะได้แต่งงานหรือไม่ ทายาทธุรกิจร้านเพชรที่ยังไม่สนใจเดินบนถนนชีวิตคู่แต่ถูกครอบครัวรบเร้า นักจัดงานแต่งที่เริ่มตั้งคำถามว่าเธอจะได้มีโอกาสจัดงานแต่งตัวเองไหม หรือครูประจำชั้นประถมที่อยากหาคนมาช่วยเติมเต็มความสุข ถึงแม้แบ็คกราวน์พวกเขาจะแตกต่าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ต้องการหาคู่ชีวิต หลังจากลองทำมาทุกวิธี สุดท้ายพวกเขาตัดสินใจให้แม่สื่อช่วยแทน
ซีรีส์ฉายให้เราเห็นภาพการทำงานของสิมา เริ่มด้วยการเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการตั้งแต่ประวัติส่วนตัว การศึกษา อุปนิสัยใจคอ และสเปกที่พวกเขาอยากได้ โดยเธอจะเดินทางไปพบพวกเขาที่บ้าน เพื่อสำรวจที่พักอาศัย เห็นวิถีชีวิต รวมถึงพูดคุยกับครอบครัวพวกเขาด้วย เพื่อให้ได้รู้จักตัวตนลูกค้าจริงๆ
หลังจากเก็บข้อมูลเสร็จแม่สื่อสิมาก็จะนำข้อมูลของลูกค้าทั้งหมดเก็บไว้ในแฟ้ม และวิธีจับคู่ของเธอ คือ ดูว่าคนไหนเหมาะสมกันจากข้อมูลที่มี จากนั้นก็จะส่งรายละเอียดให้แต่ละฝ่ายดูเบื้องต้นเพื่อตัดสินใจว่าอยากนัดเจอตัวไหม ถ้าพวกเขาเซย์เยสก็เข้าขั้นตอนไป คือ การนัดเจอตัวครั้งแรก หากเดทแรกผ่านไปด้วยดีและมีเดทครั้งต่อๆ ไปก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าพวกเขาอาจมีโอกาสตกลงปลงใจกัน แต่หากเดทแรกไม่ผ่าน สิ่งที่สิมาต้องทำต่อ คือ จับคู่ใหม่ให้พวกเขา
เมื่อการแต่งงานไม่ใช่เรื่องของคนสองคน แต่เป็นเรื่องของ 2 ครอบครัว
สิ่งที่ดึงดูดให้เราตัดสินใจคลิกดูซีรีส์เรื่องนี้ คือ การแต่งงานของชาวอินเดีย ต้องบอกก่อนว่าความรู้เรื่องประเทศอินเดียของเรามีเท่าหางอึ่ง สิ่งที่เรามักได้ยินเวลาพูดถึงเรื่องการแต่งงานของคนอินเดีย คือ ต้องแต่งงานตั้งแต่อายุน้อยๆ ไม่ได้หาคู่เองแต่เป็นครอบครัวที่จัดหาคู่ให้ ต้องเป็นคนที่อยู่ในวรรณะเดียวกันด้วย ฯลฯ
ซึ่งในอินเดิยการแต่งงานถือเป็นเรื่องสำคัญในอินเดียมากตามหลักความเชื่อศาสนาฮินดู ศาสนาหลักของชาวอินเดียที่ระบุอาศรม 4* หลักการดำเนินชีวิต 4 ขั้น โดยขั้นที่ 2 คือ คฤหัสถ์ วัยที่สมควรออกเรือนและสร้างครอบครัว นั่นทำให้พวกเขาให้ความใส่ใจเรื่องการแต่งงาน
the hindu businessline รายงานว่า ประชาชนอินเดียเต็มใจใช้จ่ายเงินออม 1 ใน 3 ไปกับการจัดงานแต่ง และอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมการจัดงานแต่งงานในอินเดียต่อปีประมาณ 25 – 30 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งบริบทชีวิตคู่ของชาวอินเดียที่ซีรีส์เรื่องนี้ถ่ายทอดยังคงเหมือนที่เราได้ยินมาเพียงครึ่งหนึ่ง เพราะกาลเวลาที่เปลี่ยน ทำให้ค่านิยมของประชาชนเปลี่ยนตาม พวกเขาไม่จำเป็นต้องแต่งงานตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปีดี ไม่ต้องถูกจับแต่งงานโดยที่ไม่เคยเห็นหน้าคู่ตัวเอง
“ที่อินเดียเราไม่พูดคำว่า ‘คลุมถุงชน’ มันมีแต่แต่งงานกับแต่งด้วยความรัก และการแต่งงานเป็นเรื่องของสองครอบครัว ที่มีหน้าตาและทรัพย์สินเป็นเดิมพัน พ่อแม่จึงต้องนำทางลูก และนั่นเป็นหน้าที่ของแม่สื่อ” สิมาอธิบาย
‘ครอบครัว’ ยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเลือกคู่ชีวิต สิมาไม่ได้ถามแค่ความต้องการของลูกค้า แต่รวมถึงความต้องการของครอบครัวด้วย และลูกค้าหลายคนพ่อแม่ก็มีส่วนและตัดสินใจเลือกคู่ชีวิต นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องชนชั้นวรรณะ ชาติตระกูล การศึกษา และดวงชะตาที่เป็นปัจจัยในการเลือกคู่เช่นกัน
‘เลือกให้ตรงไปตั้งแต่แรกดีกว่า เพราะการมาปรับตัวทีหลังมันยาก’
เคสลูกค้าของสิมามีหลากหลาย แต่เคสหนึ่งที่จับความสนใจและทำให้เราเอาใจช่วยเธอ คือ อปารณา (Aparna) ทนายความสาวชาวอินเดีย วัย 34 ปี ด้วยบุคลิกที่มั่นใจในตัวเองสูงพอๆ กับสเปคชายในฝัน ทำให้สิมาหนักใจไม่น้อย จนเอ่ยปากว่าการหาคู่ให้อปารณาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แน่ และสมดังคำเธอ เพราะไม่ว่าสิมาจะหาผู้ชายมาให้เธอกี่คน อปารณาก็ไม่พอใจ ไม่ตลกเกินไป ก็ความทะเยอทะยานไม่มากพอที่จะใช้ชีวิตร่วมกับเธอได้
ตอนดูแรกๆ เราก็คิดเหมือนสิมาว่าอปารณาเรื่องเยอะ ตั้งสเปคสูงเกิน แต่พอได้ดูชีวิตเธอไปเรื่อยๆ ทำให้เราเข้าใจเธอมากขึ้น อปารณาโตมากับแม่และพี่สาว แม่ของเธอเป็นผู้หญิงแกร่งที่พาลูกๆ มาตั้งหลักที่อเมริกาตั้งแต่พวกเขายังอายุยังไม่ 10 ปีดี แม่ของเธอเล่าว่าหลังจากก้าวเท้าแรกเหยียบอเมริกา ประโยคแรกที่เธอพูดกับลูก คือ ‘อย่าทำให้แม่ผิดหวังและอย่าทำให้แม่ขายหน้า’ พร้อมกับตั้งเป้าหมายชีวิตให้ลูก คือ ห้ามได้เกรดบีในใบเกรด และปริญญาต้องไม่ต่ำกว่า 3 ใบ นั่นคงจะพอบอกได้ว่าสภาพแวดล้อมที่อปารณาโตขึ้นมาเป็นอย่างไร หล่อหลอมให้เธอทะเยอทะยาน ต้องการแต่สิ่งที่ดีและสมบูรณ์แบบ
หลังจากหาคู่ให้อปารณาไม่ได้สักทีจนสิมาเริ่มท้อ เธอตัดสินใจลองเปลี่ยนทัศนคติของอปารณาด้วยการอธิบายว่า การเลือกชีวิตคู่ไม่ใช่เมนูอาหาร เราไม่สามารถเลือกได้ทั้งหมด และเรื่องที่เธอต้องการ (ให้ผู้ชายมี) ส่วนใหญ่ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ชีวิตคู่มีความสุข แต่คือการปรับตัวและการประนีประนอมต่างหากที่จะทำให้ชีวิตคู่มีความสุข แต่อปารณาไม่เห็นด้วย เธอตอบกลับว่า ‘ฉันไม่คิดว่ามีตรงไหนที่ต้องปรับ เปลี่ยน หรือพัฒนาเพื่อจะเป็นคู่ชีวิตที่ดีของใคร’ อปารณารู้สึกว่าถ้าเธอมีสิทธิ์เลือกอะไรได้ เธอจะเลือกให้เต็มที่ เธอจะไม่กดดันตัวเองหรือเลือกอย่างจำใจ นั่นจึงเป็นที่มาของประโยคแรกในบทความนี้
ถ้าถามว่าการเลือกชีวิตคู่ต้องเลือกคนที่เหมือนหรือต่างกัน หรือการใช้ชีวิตคู่ต้องรู้จักประนีประนอม ปรับเปลี่ยนเข้าหากัน หรือคงไว้ซึ่งความเป็นตัวเอง คงไม่มีใครสามารถบอกได้ พอๆ กับคำถามที่ว่า เคล็ดลับอะไรที่ทำให้ชีวิตคู่ประสบความสำเร็จ เพราะชีวิตคู่ไม่ใช่สูตรเลข ไม่มีทางตายตัว แต่สิ่งหนึ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้บอกเรา คือ ตัวเราเองนั่นแหละที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตคู่
เราขอปิดท้ายบทความด้วยบทสนทนาจากไลฟ์โค้ชที่สิมาส่งเคสหนึ่งไปพบเธอ เขาคนนั้นมีปัญหาไม่แน่ใจว่าตัวเองต้องการแต่งงานจริงๆ หรือที่อยากหาคู่เพราะถึงวัยที่ต้องมีแล้ว ซึ่งไลฟ์โค้ชก็บอกเธอว่า
“คุณคิดว่าคุณรู้จักตัวเองดีหรือเปล่า? ปัญหาความสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อคนเราไม่ได้นั่งทำความเข้าใจตัวเอง ยิ่งรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ก็ง่ายที่จะพูดความต้องการออกไป อย่าลืมมองคุณค่าตัวเอง คุณต้องใช้เวลาหันกลับใส่ใจตัวเองบ้าง”