- “ก้าวเดิน Walking : One Step at a Time” หนังสือแต่งโดย เออร์ลิง คักเก (แปลโดย ธันยพร หงษ์ทอง) ที่อยากบอกเราว่า การเดินไม่ใช่แค่เคลื่อนไหวร่างกาย แต่ยังเป็นช่วงเวลาให้เราได้หยุด คิด และทบทวนชีวิตที่ผ่านมา
- แม้ว่าการเดินจะเป็นรูปแบบการเดินทางที่กินเวลามากที่สุด สมมติว่าเราจะเดินทางไปที่ๆ หนึ่ง ถ้านั่งรถยนต์อาจใช้เวลาครึ่งชั่วโมง แต่ถ้าเลือกเดินเราอาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ การเดินทำให้เราเป็น “ผู้ครอบครองเวลา” ได้ใช้เวลาของตัวเองจริงๆ สำรวจสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ถนน อาคาร ท้องฟ้า หรือนกที่บินผ่าน
- หลายต่อหลายครั้งที่การเดินถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวน “สัตยาเคราะห์เกลือ” ของมหาตมะ คานธี เพื่อเรียกร้องให้อังกฤษยกเลิกการค้าเกลือแบบผูกขาด หรือการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิคนผิวดำ ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์
จากวานรที่เคลื่อนไหวด้วยการเดิน 4 ขา มนุษย์ ค่อยๆ ยันตัวเองขึ้นยืนหลังตรง และก้าวเดินด้วย 2 ขา เป็นครั้งแรก เมื่อราว 6 ล้านปีที่แล้ว หลังจากนั้น การเดิน 2 ขา ก็ทำให้มนุษย์มีความพิเศษเหนือวานรและสัตว์อื่นๆ มาจนถึงปัจจุบัน
ทว่า ทุกวันนี้ มนุษย์กลับเดินน้อยลง เพราะเรามีสิ่งอำนวยความสะดวก ที่ทำให้ความจำเป็นในการก้าวเท้าเดินลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นยวดยานพาหนะต่างๆ หรือระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ที่ทำให้เราสามารถเดินทางไปได้ทุกที่ในโลกโดยไม่จำเป็นต้องก้าวเท้าออกจากห้อง
ครั้งสุดท้าย ที่คุณก้าวเดินอย่างจริงจัง คือ เมื่อไหร่?
เดินเพื่อเป็นผู้ครอบครองเวลา
เช้าวันนั้น ไม่สิ ต้องบอกว่า เช้ามืดวันนั้นถึงจะถูก เพราะตอนนั้น พระอาทิตย์ยังไม่ตื่นจากหลับไหล ขอบฟ้ายังไร้สีสัน บรรยากาศรอบตัวผม มีแต่ความมืดสลัวและเงียบงัน
ผมก้าวเดินช้าๆ อยู่ในความมืด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะเส้นทางที่ผมเดิน อยู่ในอาณาบริเวณด้านนอกของสนามกีฬาแห่งหนึ่ง ซึ่งพื้นที่ด้านในที่เป็นสนามฟุตบอล มีผู้คนที่รักสุขภาพและชื่นชอบการออกกำลังกายจำนวนไม่น้อยเลย พากันมาวิ่งบนลู่วิ่งมาตรฐานราดยางสังเคราะห์
สีทองอมส้ม เริ่มทอแสงทาบทับขอบฟ้า สรรพสิ่งรอบตัวเริ่มปรากฎให้เห็น ขณะที่การก้าวเดินอย่างช้าๆ ทำให้ผมมีเวลาสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว ที่เคยมองข้ามไปเวลาที่วิ่งด้วยความเร็วมากกว่านี้
เสียงร้อง “ต๊ง ต๊ง” ดังมาจากเรือนยอดของต้นปีบ ผมเงยหน้าขึ้นมองตามเสียง เจ้าของเสียงร้องที่ว่ากันว่า เหมือนเสียงของค้อนตีทองของช่างทอง คือ นกตีทอง นกตัวเล็กสีเขียวสด แซมด้วยสีเหลืองและแดงสด เกาะอย่าบนกิ่งไม้ที่อยู่สูงเหนือศีรษะผมแค่ไม่กี่ฟุต
ผมไม่เคยเข้าใกล้นกตีทองได้มากขนาดนี้ เพราะทุกครั้งที่ผ่านมา เสียงฝีเท้าจากการวิ่งของผม น่าจะทำให้เจ้านกเมืองแสนสวยบินหนีไปแล้ว
หรืออาจกล่าวอีกอย่างว่า ที่ผ่านมา ผมมัวแต่มุ่งมั่นกับจังหวะก้าววิ่งให้เร็วที่สุด จนไม่ทันได้สังเกตเห็นความงดงามที่อยู่ใกล้ตัว
ในตอนนั้นเอง ผมนึกถึงประโยคหนึ่งในหนังสือ “ก้าวเดิน Walking : One Step at a Time” ของ เออร์ลิง คักเก (แปลโดย ธันยพร หงษ์ทอง)
“ทุกสิ่งทุกอย่างเคลื่อนไหวช้าลงเมื่อผมเดิน โลกอ่อนละมุนขึ้น และในช่วงเวลาสั้นๆ นั้น ก็ไม่มีทั้งเรื่องงานบ้าน ประชุม หรือต้นฉบับที่ต้องอ่าน มนุษย์ผู้เป็นอิสระจะได้ครอบครองเวลา ในช่วงไม่กี่นาที หรือไม่กี่ชั่วโมงนั้นอีกเช่นกันที่ความคิดเห็น ความคาดหวัง ความรู้สึกของคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงานและเพื่อน หมดความสำคัญลงไป เมื่อเริ่มออกเดิน ผมกลายเป็นจุดศูนย์กลางในชีวิตของตัวเอง แต่แล้วไม่นานหลังจากนั้น แม้แต่ตัวตนของผมเองก็มลายหายไป”
แน่นอนว่า ในแง่ของประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การเดินเป็นรูปแบบการเดินทางที่กินเวลามากที่สุด สมมติว่าที่ทำงานของเราอยู่ห่างจากบ้านสัก 5 กม. หากเราเดินทางโดยใช้รถยนต์ส่วนตัว รถสาธารณะ หรือกระทั่งรถไฟฟ้า เราอาจเสียเวลาเดินทางทั้งหมดประมาณครึ่งชั่วโมง ขณะที่หากเราเลือกเดินทางด้วยการเดิน เราจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงอย่างแน่นอน
แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ การเดินทำให้เราเป็น “ผู้ครอบครองเวลา” ตามคำกล่าวของเออร์ลิง คักเก แทนที่จะเห็นแค่ภาพเบลอๆ นอกหน้าต่างรถโดยสาร เราจะได้เห็นดอกคูนสีเหลืองบานสะพรั่งอยู่ข้างทาง เราจะได้ยินเสียงนกกางเขนร้องจากบนหลังคาบ้าน เราจะได้กลิ่นหอมของขนมปังอบใหม่จากร้านเบเกอรี่ ปะปนกับกลิ่นจางๆ ของกาแฟร้อนจากร้านกาแฟเปิดใหม่ที่อยู่อีกฟากของถนน และดีไม่ดี เราอาจได้ลิ้มรสของข้าวเหนียวหมูปิ้งเจ้าอร่อยที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
หนึ่งชั่วโมงจากการเดินทางของเรา จะเป็นหนึ่งชั่วโมงที่เราได้พบเจอประสบการณ์มากมาย เราอาจเสียเวลาในการเดินทางมากกว่าเดิม แต่เราได้เวลาที่เป็นของเราจริงๆ กลับมา
เพียงแค่สองขาเริ่มขยับ
“ชาร์ลส์ ดาร์วิน ออกไปเดินเล่นวันละสองครั้ง เพื่อเรียบเรียงความคิดของตัวเอง นักปรัชญา เซอร์เรน เคียร์กเคอกอร์ด ออกเดินไปทั่วโคเปนเฮเกนเหมือนโสกราตีส… ทุกครั้งที่หงุดหงิดจากเรื่องงาน อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จะหนีเข้าไปเดินเล่นในป่ารอบๆ พรินซ์ตัน ส่วนสตีฟ จอบส์ มักเดินเล่นกับเพื่อนร่วมงาน เวลาที่ต้องการต่อยอดความคิด… เฮนรี เดวิด ธอโร สรุปเรื่องนี้ไว้ว่า “วินาทีที่ขาของผมเริ่มขยับ ความคิดของผมก็ลื่นไหล”
หลายคนคงเคยได้ยิน หรือเคยอ่านเจอประโยคทำนองนี้มาแล้วว่า การเดินช่วยให้สมองปลอดโปร่ง หรือเวลาคิดอะไรไม่ออกให้ออกไปเดิน ซึ่งก็ไม่ใช่แค่คำพูดลอยๆ เพราะมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่ยืนยันในเรื่องนี้ อาทิ
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยพิตสเบิร์ก ระบุว่า คนที่ออกไปเดินเล่นสัปดาห์ละ 3 ครั้ง สมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บความทรงจำระยะยาว จะมีการเจริญเติบโตขึ้น 2 % ซึ่งส่งผลให้ความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์เมื่อย่างเข้าวัยชรา ลดน้อยลง
ขณะที่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในเมืองซานฟรานซิสโก ซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้หญิงอายุมากกว่า 65 ปี จำนวน 6,000 คน พบว่า ผู้หญิงที่เดินวันละ 4 กม. (ประมาณ 5,000 ก้าว) จะมีอัตราการสูญเสียความทรงจำ 17 % ขณะที่ผู้หญิงที่เดินน้อยกว่า 0.8 กม.ต่อสัปดาห์ จะมีอัตราการสูญเสียความทรงจำถึง 25
นอกเหนือจากข้อดีต่อการทำงานของสมองและความทรงจำแล้ว การเดินยังส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการลดความดันโลหิต เสริมสร้างความแข็งแรงของหัวใจ ลดการสูญเสียมวลกระดูก เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ทำให้ระบบการหายใจดีขึ้น ซึ่งหมายถึงการหมุนเวียนของออกซิเจนในกระแสเลือดจะเพิ่มขึ้น
และที่สำคัญ การเดินยังช่วยลดน้ำหนักอีกด้วย
เดินเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก-เดินเพื่อเปลี่ยนแปลงเรา
การเดิน เป็นหนึ่งในกิจกรรมของมนุษย์ ที่มีนัยยะนอกเหนือจากกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางร่างกาย หลายต่อหลายครั้งที่การเดิน ถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวน “สัตยาเคราะห์เกลือ” ของมหาตมะ คานธี ในระยะทางกว่า 380 กม. เพื่อเรียกร้องให้อังกฤษยกเลิกการค้าเกลือแบบผูกขาด
หรือการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิคนผิวดำ ของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 1963 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประท้วงครั้งนั้นมากกว่า 300,000 คน โดย 80 % เป็นคนผิวสี
“จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเหล่าผู้นำโลกถูกบังคับให้ออกไปเดินบนท้องถนนปะปนกับประชาชนของตนทุกวัน? แน่นอน สำหรับผู้มีอำนาจ นี่จะกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก พวกเขาอาจต้องมีรถสีดำมาจอดรอรับอยู่ที่ไหนสักแห่ง… ยิ่งผู้มีอำนาจถอยห่างจากประชาชน นโยบายและการทำงานของพวกเขาก็จะยิ่งด้อยประสิทธิภาพ” ข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือ “ก้าวเดิน Walking : One Step at a Time”
เออร์ลิง คักเก อาจโชคดีกว่าหลายคน เพราะในนอร์เวย์ ประเทศบ้านเกิดของเขา แม้แต่นักการเมืองผู้มีอำนาจระดับสูง ก็ยังใช้ชีวิตไม่ต่างจากคนธรรมดา พวกเขายังเดินถนนปะปนกับประชาชน ดื่มกาแฟในร้านเดียวกับประชาชนที่เลือกเขาเข้าไปทำงานสภา
นอกเหนือจากการเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองแล้ว การเดินยังมีนัยยะถึงการท่องโลกด้านใน ในหลายๆความเชื่อทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์ อิสลาม หรือพุทธ
ย้อนกลับไปเมื่อสักห้าปีก่อน ผมเคยเดินอยู่บนถนนที่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเส้นทางแสวงบุญเขาโคยะซัง ซึ่งถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธนิกายชินงอน ในจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น เขาศักดิ์สิทธิ์ลูกนี้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตร แต่มีสภาพอากาศหนาวเย็น โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยแค่ 10 องศาเซลเซียส
แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาบ่าย ตัวเลขอุณหภูมิไม่ได้ลดลงถึงระดับเลขหลักเดียว แต่ลมที่พัดแรง บวกกับสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าสนสูงใหญ่ ทำให้ผมรู้สึกหนาวยะเยือกจนนิ้วชา ขณะที่ในใจก็อดสงสัยไม่ได้ว่า การเดินแสวงบุญ ซึ่งมักจะเป็นการเดินเท้าบนเส้นทางทุรกันดารฟันฝ่าอุปสรรคยากเย็น มีเป้าหมายเพื่ออะไร
เพื่อแสดงถึงศรัทธาอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า หรือเพื่อลดทอนอัตตาตัวตนให้เล็กลง เมื่อยามที่เผชิญหน้ากับความยิ่งใหญ่และโหดร้ายของธรรมชาติ
หรือเพียงเพราะ “มันอยู่ตรงนั้น” อย่างที่จอร์จ มัลลอรี หนึ่งในผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ กล่าวไว้
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม การเดินเท้า การเดินแสวงบุญ การเดินพิชิตยอดเขา การเดินเล่นในสวนสาธารณะ หรือกระทั่งการเดินจากสถานีรถไฟฟ้าเพื่อกลับบ้าน คือ ส่วนหนึ่งของมนุษย์ที่ไม่อาจทิ้งไปได้
การเดินทำให้เราเป็นคนอย่างที่เราเป็นในทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ค่อยได้เดิน เราก็คงค่อยๆ หยุดเป็นคนที่เราเป็น และสุดท้าย เราอาจกลายเป็นสิ่งอื่น