- House of Leaves คือนิยายอันเรียบง่ายที่อำพรางตัวมันเองด้วยชื่อเสียงของการเป็น ‘หนังสือที่อ่านยาก’ มีลูกเล่นแปลกประหลาดที่ความเรียงนี้พยายามแสดงให้ผู้อ่านเห็น นั่นคือคำลวง
- หากเรื่องนี้ประกอบไปด้วย ‘คำลวง’ หลายต่อหลายชั้น สิ่งที่เราควรสงสัยก็ไม่ใช่วิธีที่คำโกหกเหล่านั้นหลอกเรา แต่เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องพูดโกหกตั้งแต่แรก
- นอกจาก House of Leaves จะเป็นนิยายสยองขวัญที่น่าสะพรึงแล้ว ในเวลาเดียวกันก็เป็นนิยายชีวิตของผู้คนที่แตกหักและหลงทาง ไม่ว่าเขาวงกตของพวกเขาจะกว้างขวางแค่ไหน สุดท้ายแล้วเขาวงกตก็ไม่อาจเป็นเขาวงกตได้หากไม่มีทางออก
‘Show, Don’t Tell’ คือวลีที่นักเขียนทุกคนต้องเคยได้ยินมาก่อนอย่างน้อยก็หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนมือใหม่ มือเก่า มือฉมัง หรือมืออะไรก็ตาม และบ่อยครั้งมันคือคำแนะนำแรกที่นักเขียนนิยายได้รับโดยปราศจากคำอธิบายอย่างครบถ้วน ปล่อยให้เหล่านักเขียนหน้าใหม่งุนงงว่าระหว่าง ‘โชว์’ และ ‘เทล’ จะต่างกันมากแค่ไหนในเมื่อท้ายที่สุดมันก็เป็นเพียงตัวอักษรบนหน้ากระดาษ
ผมเองก็ไม่มีคำอธิบายดีๆ ให้หรอก เพราะผมไม่ใช่นักเขียน แต่อย่างน้อยผมก็พอมีตัวอย่างให้ลองเปรียบเทียบดู
ชายคนนั้นรู้สึกหวาดผวาเมื่อได้เห็นสิ่งที่แอบซ่อนอยู่หลังบานประตู คือการ ‘เทล’
เมื่อได้เห็นสิ่งที่แอบซ่อนอยู่หลังบานประตู เหงื่อกาฬที่ไหลรินทำให้ชายคนนั้นเย็นยะเยือกไปทั่วร่าง คือการ ‘โชว์’
แต่อย่างไร เหล่านักเขียนหน้าใหม่ก็คิดถูกแล้ว เราไม่ได้ ‘โชว์’ อะไรให้ผู้อ่านเห็นในความหมายที่ตรงตามตัวอักษร เพียงแค่หลอกให้พวกเขาคิดไปเองว่า ตัวเองถูกแสดงให้เห็นภาพอันแจ่มชัดที่สื่อผ่านตัวอักษร
อย่างน้อยมันก็เป็นเช่นนั้น สำหรับหนังสือเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ที่ผมเคยอ่านมาและ House of Leaves คืออีกหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่เหลืออยู่
ก่อนที่จะพูดถึงเนื้อหาของมัน ผมอยากเล่าถึงเหล่าผู้เขียน (ผู้เขียนเป็นพหุพจน์ ต้องเติมตัวเอสต่อท้าย) เป็นอย่างแรก
ชายผู้ให้กำเนิดความเรียงขนาดห้าร้อยยี่สิบแปดหน้านี้ใช้ชื่อว่า ซัมปาโน (Zampano) ในตอนที่เขียนความเรียงเรื่องนี้ชีวิตของเขาก็เข้าสู่ช่วงวัยชราแล้ว ซัมปาโนใช้ชีวิตปลีกตัวจากสังคมและผู้คนส่วนใหญ่ จะพูดคุยก็แต่กับคนที่ช่วยเขาหาข้อมูลอ้างอิงหรือแปลบทกลอนซึ่งเขามักจะสอดแทรกเข้าไปในบทวิเคราะห์ของเขา จากคำบอกเล่าของคนรู้จัก ซัมปาโนมักจะออกมาเดินเล่นทุกวันในเวลาเดิมอย่างไม่ขาดไม่เกิน ระหว่างนั้นเหล่าแมวจรจัดในละแวกใกล้เคียง จะกรูเข้ามาถูไถกับขากางเกงของเขาและส่งเสียงออดอ้อน ทำไมแมวจรจัดที่ระแวงผู้คนถึงได้ติดชายชราที่ไม่พูดคุยกับใครถึงขนาดนั้น เรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้
เอาละ ผมควรจะเขียนถึงเนื้อหาจริงๆได้แล้ว
House of Leaves เป็นความเรียงที่พูดถึงภาพยนตร์สารคดีที่มีชื่อว่า The Navidson Record ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่คุณคงไม่เคยได้ยินมาก่อน ในเวลาเดียวกันก็เป็นภาพยนตร์ที่จุดประกายให้ผู้คนมากมาย ตั้งแต่เหล่านักวิจารณ์ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา เขียนความเรียงและหนังสือวิจัยออกมาเป็นร้อยๆ เล่ม มันอาจจะเป็นภาพยนตร์สารคดีที่มีการพูดถึงมากที่สุดเลยก็ได้ สังเกตได้จากจำนวนของเชิงอรรถใน House of Leaves ที่มีจำนวนมากถึงสี่ร้อยห้าสิบ เกินกว่าครึ่งอ้างอิงถึงงานเขียนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ The Navidson Record
ส่วน The Navodson Record นั้นเป็นผลงานของช่างภาพและผู้กำกับสารคดีนาม วิล เนวิดสัน (Will Navidson) เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) ผู้ได้ชื่อว่าสามารถถ่ายภาพแก้วมัคสกปรกๆ เพื่อสื่อถึงอารมณ์เศร้าโศกที่ ‘ชวนให้นึกถึงการเดินทางของเหล่าผู้แสวงบุญ’ …หรืออย่างน้อยเหล่านักวิจารณ์ก็กล่าวไว้เช่นนั้น
เนวิดสันที่ต้องการหลีกหนีจากความวุ่นวายของเมืองใหญ่ตัดสินใจซื้อบ้านในแถบชนบทของรัฐเวอร์จิเนียและติดตั้งกล้องไว้ทุกมุมบ้านเพื่อถ่ายทำสารคดีแนวอบอุ่นหัวใจว่าด้วยการย้ายบ้านและพฤติกรรมการลงหลักปักฐานของครอบครัวของเขา ซึ่งประกอบด้วยตัวเขา ภรรยา ลูกเล็กสองคน และสัตว์เลี้ยงจำนวนหนึ่ง
“ผมแค่คิดว่ามันคงจะดีถ้าเราได้เห็นว่าผู้คนจะเปลี่ยนบ้านหลังหนึ่งให้เป็นที่อยู่อาศัยของพวกเขาได้อย่างไร ผมอยากเห็นขั้นตอนเหล่านั้น และถ้าโชคดีเราคงเข้าใจกันและกันมากกว่าเดิม (ตรงนี้เนวิดสันพูดถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่นเท่าไรระหว่างตัวเขาและภรรยา) โดยส่วนตัวแล้วผมก็แค่อยากสร้างสถานที่อันอบอุ่นสำหรับครอบครัวของผม”
แน่นอนว่า ทุกอย่างเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเนวิดสันค้นพบว่าระหว่างห้องนอนของเขากับภรรยาและห้องนอนของลูกๆ มีห้องมืดว่างเปล่าที่อยู่ตรงนั้นตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ปริศนานั้นก็กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อการตรวจสอบของเขาเปิดเผยว่าความกว้างของตัวบ้านที่วัดจากด้านนอกและด้านในกลับไม่ตรงกัน
ด้านในนั้นกลับกว้างกว่าด้านนอก ถึงจะแค่หนึ่งส่วนสี่ฟุตก็ตาม
และนั่นคือเหตุผลที่ปกของหนังสือเล่มนี้กว้างไม่เท่าหน้ากระดาษด้านใน มันคือการ ‘โชว์’ ในความหมายที่ตรงตามตัวอักษรที่สุด
คุณอาจแย้งว่ามันไม่ใช่การแสดงความหมายด้วยตัวอักษรแต่เป็นลูกเล่นของรูปเล่มหนังสือไม่ใช่หรือ? ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ผมยังมีตัวอย่างเหลืออยู่อีกเยอะ
ไม่ว่าจะเป็นเชิงอรรถที่รุกล้ำเข้าไปอยู่กลางหน้ากระดาษและยังเลยไปถึงกระดาษหน้าถัดๆ ไป ไม่ต่างกับบานประตูที่อยู่ผิดที่ผิดทางในบ้านพิศวงของเนวิดสันหรือกำแพงที่เคลื่อนตัวราวกับเขาวงกตที่มีชีวิต
หรือความสั้นยาวของย่อหน้าที่สะกดเป็นคำว่า SOS ในรหัสมอร์ส ซึ่งอยู่ในบทที่พูดถึงสัญญาณขอความช่วยเหลือที่ดังมาจากในกำแพงบ้าน หรือไม่ก็ย่อหน้าที่พูดถึงฉากปีนบันไดอันคับแคบซึ่งต้องอ่านจากล่างขึ้นบนถึงจะมีความหมาย
และคุณคงคุ้นเคยกับการที่หนังสือเล่มหนึ่งจะใช้พื้นที่ของหน้ากระดาษหน้าแรกๆ เพื่อป่าวประกาศว่าหนังสือเล่มนั้นอุทิศแด่ใครคนหนึ่ง อย่างเช่น แด่มารดาของข้าพเจ้า ในนิยายเรื่อง ‘คลาราและดวงอาทิตย์’ หรือ แด่คอลลิน ใน ‘Piranesi’
ขณะที่นิยายเรื่อง The Haunting of Hill House (ชื่อไทย บ้านหลังนี้มีคนตาย) พรรณนาในคำโปรยว่า “มันเป็นบ้านที่ปราศจากความเมตตา ไม่หมายให้ใครเข้าพักตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่ที่ที่เหมาะกับมนุษย์ ความรัก หรือความหวัง… บ้านฮิลล์เฮาส์จะเป็นเช่นนั้นจนกว่าจะถูกทำลาย” House of Leaves กลับเลือกที่จะใช้พื้นที่สำหรับกล่าวคำอุทิศนั้นเขียนวลีสั้นๆว่า:This is not for you.
คงไม่ต้องให้พูดว่าผมชอบเล่มไหนมากกว่ากัน
House of Leaves ไม่ใช่งานเขียนชิ้นแรกที่เล่นกับการวางโครงร่างของหน้ากระดาษและใช้พื้นที่ทางกายภาพเพื่อ ‘โชว์’ สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ ชื่อเรียกของงานที่ใช้เทคนิคเหล่านี้คือ งานวรรณกรรมแบบเออร์กอดิก (Ergodic literature)
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องตลกร้ายที่ผู้เขียน House of Leaves เป็นชายตาบอดที่อยู่อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่เพียงคนเดียว (ชรา ตาบอด อยู่คนเดียว คำสามคำที่ไม่ควรอยู่ด้วยกัน) ทั้งลูกเล่นแพรวพราวเหล่านี้ หรือแม้กระทั่งตัวหนังสือธรรมดาๆ ในหน้าหนังสือทั่วๆ ไปเขาก็ไม่อาจมองเห็น
ยิ่งไปกว่านั้น House of Leaves ถูกรวบรวมและตีพิมพ์หลังจากที่ซัมปาโนเสียชีวิตในบ้านของเขาไปได้หลายปีแล้ว ผู้ที่ค้นพบงานเขียนซึ่งในตอนนั้นเป็นเพียงแค่กระดาษกองโต ณ มุมมืดของบ้านซอมซ่อนั้นคือ จอห์นนี ทรูแอนต์ (Johnny Truant) และคนที่เพิ่มลูกเล่นเหล่านี้ลงไปในหน้าหนังสือก็คือจอห์นนีคนนี้นี่แหละ
จากคำบอกเล่าของตัวเขาเอง ในตอนนั้นจอห์นนี่เป็นเพียงแค่ชายที่ทำงานเป็นผู้ช่วยในร้านสักและเป็นมนุษย์ปาร์ตี้ผู้ชื่นชอบการปั้นแต่งเรื่องราวเหลือเชื่อเกี่ยวกับแผลเป็นที่แขนของเขาเพื่ออวดสาวๆ ตามคลับตามบาร์
เรื่องราวเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ถูกเขียนไว้ใน House of Leaves เหตุผลที่หนังสือเล่มนี้มีจำนวนเชิงอรรถมากถึงขนาดนี้ก็เพราะราวหนึ่งในสามของเชิงอรรถเป็นเรื่องราวชีวิตของจอห์นนีและความเห็นของเขาเกี่ยวกับ ซัมปาโน House of Leaves และแน่นอน The Navidson Record
ในแง่นี้การอ่านหนังสือเล่มนี้ก็เหมือนกับได้อ่านความเรียงเกี่ยวกับภาพยนต์สารคดีอันสลับซับซ้อน และในขณะเดียวกันก็เหมือนได้อ่านอัตชีวประวัติขนาดย่อของผู้ที่ค้นพบสิ่งที่กลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้
จอห์นนีจึงกลายมาเป็นนักเขียนคนที่สองที่มีชื่ออยู่บนหน้าปกของ House of Leaves
เรื่องราวของความบังเอิญนี้ ฟังดูเหมือนพล็อตเรื่องที่หลุดมาจากหนังหรือนิยาย แต่เรื่องราวที่จอห์นนีเล่าให้ผู้อ่านฟังภายใน House of Leaves นั้นฟังดูเหมือนนิยายมากกว่าเสียอีก และหากจะเป็นนิยายมันก็คงต้องเป็นนิยายสยองขวัญ
เพราะเหตุผลหลายประการที่เจ้าตัวเลือกที่จะไม่เปิดเผย หลังจากที่บังเอิญไปเจอมรดกลี้ลับของซัมปาโน จอห์นนีก็ไม่อาจละสายตาไปจากเนื้อหาของ House of Leaves ได้ ความมืดของห้องโถงที่ยืดยาวกว่าที่ควรจะเป็นของบ้านเนวิดสันทำให้จอห์นนี่รู้สึกอึดอัดอย่างบอกไม่ถูก ถึงขนาดที่ ณ จุดจุดหนึ่ง เขาเขียนถึงอาการตื่นตระหนกอย่างรุนแรงในตอนที่เขาย่างกรายเข้าไปในห้องเก็บของในร้านสักที่เขาทำงานอยู่ และเผอิญว่าหลอดไฟในห้องเก็บของดันหยุดทำงานไปดื้อๆ
หากลองคิดถึงวลี ‘Show, Don’t Tell’ คุณก็น่าจะทำความเข้าใจได้ไม่ยากว่า การเขียนนิยายแนวสยองขวัญนั้นเขียนยากกว่านิยายแนวไหนๆ ในเมื่อหากปราศจากการ ‘โชว์’ แล้ว เหล่าผีสางและมารร้ายก็ไม่อาจกระโจนออกมาจากหน้ากระดาษและกรีดร้องดังลั่นให้คุณฟังได้
เพียงแต่ว่า House of Leaves สามารถแสดงให้คุณเห็นได้ มันสามารถแสดงความมืดและมิติอันเป็นไปไม่ได้ของบ้านเนวิดสันให้คุณเห็นได้ด้วยการจัดวางตัวอักษรที่ทำให้คุณต้องหมุนหน้าหนังสือไปมา (หนังสือเล่มนี้ไม่ควรอ่านในที่สาธารณะ) ไม่ต่างจากเนวิดสันที่กำลังหาทางออกจากห้องโถงอันดำมืดนั้น
เหนือสิ่งอื่นใด House of Leaves ไม่จำเป็นต้องใช้มุกผีตุ้งแช่แบบนั้นเพื่อให้คุณกลัว
หากต้องอธิบายด้วยถ้อยคำของตัวผมเอง ความน่าหวาดกลัวของบ้านเนวิดสันคือการที่คุณไม่กล้าแหงนหน้ามองขั้นบันไดในตอนกลางคืน
หรือเสียงในใจที่คอยพร่ำบอกคุณว่าอย่ามองเงาสะท้อนในกระจกห้องน้ำ
หรือรอยเปื้อนแปลกประหลาด ณ มุมมืดของห้องนอนที่คุณเองก็ไม่แน่ใจว่ามันมาอยู่ตรงนั้นตั้งแต่เมื่อไหร่
หรือการที่คุณไม่กล้าละสายตาไปจากตัวอักษรเหล่านี้เพราะมันอาจจะมีเงามืดอยู่ในที่ที่คุณไม่ทันสังเกตเห็นก็ได้?
House of Leaves พยายามจะบอกคุณว่า ความมืดนั้นน่ากลัวยิ่งกว่าสัตว์ประหลาดที่อาจจะหลบซ่อนอยู่ในนั้น เพราะสัตว์ประหลาดนั้นไม่อาจดำรงอยู่ได้หากไม่มีจินตนาการของคุณ ในขณะที่ความมืดทำได้
มันสิงสถิตอยู่ทุกทุกที่ ทั้ง ณ บนสุดของขั้นบันได ทั้งในเงาสะท้อนของกระจกห้องน้ำ ทั้งที่มุมห้องของคุณ และมันก็อยู่ในที่ที่คุณไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ทั้งหมดนี้มันฟังดูเหนือจริงจนผมไม่อยากเรียก House of Leaves ว่าเป็นเพียงความเรียงเกี่ยวกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่ง ถึงขนาดที่จอห์นนีเองก็เคยเขียนไว้ว่า เขารู้สึกราวกับเป็นตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องราวที่ถูกสมมติขึ้นมา
จอห์นนีพูดถูก และพวกคุณหลายคนก็คงจะรู้สึกตัวตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่หากคุณไม่รู้สึกตัว นั่นก็ถือว่าการ ‘Show, Don’t Tell’ ของผมใช้ได้ผลอย่างที่หวังเอาไว้ เพราะผมเองก็ถูกนิยายเรื่องนี้หลอกไปหลายครั้ง จึงได้แต่พยายามหลอกคนอื่นต่อราวกับกำลังส่งจดหมายลูกโซ่อย่างไรอย่างนั้น
หลายๆ คนอาจจะกำลังรู้สึกกังขาว่าเหตุการณ์ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Navidson Record นั้นเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง ข่าวดีก็คือ มันไม่มีจริงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ตัวละครที่ชื่อวิล เนวิดสันนั้นคือบุคคลสมมติที่มาแทนที่เควิน คาร์เตอร์ (Kevin Carter) ช่างภาพตัวจริงที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากภาพถ่ายรูปเด็กหญิงชาวซูดานที่กำลังอดตายต่อหน้านกแร้งที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของความตายซึ่งคุณคงเคยเห็นผ่านตามาสักครั้งในชีวิต (เกร็ดความรู้เล็กๆ: คาร์เตอร์ฆ่าตัวตายในปี 1994) ซัมปาโนเองก็ไม่มีตัวตนอยู่จริง ผู้แต่งที่แท้จริงของนิยายเล่มนี้คือ มาร์ก ซี.แดเนียลลูสกี (Mark Z. Danielewski)
แน่นอนว่าเชิงอรรถที่อ้างอิงถึงงานเขียนอื่นๆ เกี่ยวกับบ้านเนวิดสันและสารคดีชิ้นนั้น ล้วนเป็นของปลอมทั้งสิ้น บางอันที่อ้างชื่อบุคคลจริงอย่างสตีเฟ่น คิง ก็เป็นแค่เรื่องมโน และเชิงอรรถของปลอมเหล่านั้นก็นับเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของเชิงอรรถทั้งหมด
เดิมทีผมวางแผนไว้ว่าบทความจะจบลงแค่ตรงนี้ โดยเขียนย่อหน้าปิดสวยๆ ประมาณว่า ความน่าหวาดกลัวที่แท้จริงของ House of Leaves คือการที่คุณไม่แน่ใจอีกต่อไปว่าอะไรคือเรื่องจริงและอะไรคือเรื่องแต่ง แต่เมื่อผมอ่านนิยายเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผมก็ต้องย้อนกลับมาแก้โครงร่างของบทความนี้หลายต่อหลายครั้ง
House of Leaves คือบ้านแห่งคำลวง
ผมหลงเชื่อว่าตัวเองเข้าใจลูกเล่นแปลกประหลาดที่ความเรียงนี้พยายามแสดงให้ผู้อ่านเห็น นั่นคือคำลวง
หลงเชื่อว่าตัวเองเข้าใจความน่าสะพรึงที่บ้านเนวิดสันพยายามแสดงให้เห็น นั่นคือคำลวง
หลงเชื่อว่าตัวเองเข้าใจคำโกหกที่ผู้แต่งใส่มาในรูปแบบของภาพยนตร์ที่ไม่มีอยู่จริง ช่างภาพที่ไม่มีอยู่จริง ชายตาบอดที่ไม่มีอยู่จริง และพนักงานร้านสักที่ไม่มีอยู่จริง นั่นก็เป็นคำลวงเช่นกัน
House of Leaves เป็นมากกว่านั้น
เพราะฉะนั้นผมจะขอแก้ตัวด้วยการเขียนถึง House of Leavesอีกครั้งโดยไม่มองมันเป็นความเรียงขนาดห้าร้อยยี่สิบแปดหน้าที่ซ่อนลูกเล่นไว้มากมาย แต่มองมันในฐานะนิยายความยาวขนาดเจ็ดร้อยเก้าหน้าที่เต็มไปด้วยตัวละครและเรื่องราวที่ซับซ้อนทว่าในขณะเดียวกันก็แสนจะเรียบง่าย
House of Leaves : คำลวงหรือคำใบ้?
การเขียนเรื่องเล่า (Narrative) นั้นมีส่วนประกอบสำคัญสองอย่าง นั่นคือ เรื่องที่จะเล่า และ วิธีที่จะเล่าเรื่อง ผู้เขียนมีอิสระที่จะทำให้ทั้งสององค์ประกอบนี้สลับซับซ้อนหรือเรียบง่ายแค่ไหนก็ได้ยกตัวอย่างเช่น หนูน้อยหมวกแดง เป็นเรื่องเล่าที่เรียบง่ายและเล่าด้วยวิธีที่เรียบง่ายเช่นกัน ในขณะที่นิยายสืบสวนหรือนิยายวิทยาศาสตร์อาจจะเล่าเรื่องที่มีความซับซ้อนด้วยวิธีที่ซับซ้อนอีกทีหนึ่ง
House of Leaves คือนิยายอันเรียบง่ายที่อำพรางตัวมันเองด้วยชื่อเสียง (หรือชื่อเสีย) ของการเป็น ‘หนังสือที่อ่านยาก’
ก่อนหน้านี้ผมพูดถึงเทคนิคการเขียนและการที่ House of Leaves แสดงความน่ากลัวของบ้านเนวิดสันให้ผู้อ่านได้สัมผัสโดยตรง แน่นอนว่านั่นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีเอกลักษณ์อย่างที่มันมี แต่วิธีที่เล่าก็เป็นแค่ครึ่งหนึ่งของหนังสือเล่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมอยากจะพูดถึงเรื่องที่ House of Leaves ต้องการจะเล่าจริงๆ
สรุปง่ายๆ เลย House of Leaves คือเรื่องราวของผู้คนที่สูญเสีย ผู้คนที่หลงลืม ผู้คนที่ตายจากไป และผู้คนที่ต้องการซ่อมแซมสิ่งที่แตกหัก
เมื่อลองมองหนังสือเล่มนี้เป็นนิยาย มองจอห์นนี่ ซัมปาโน และครอบครัวเนวิดสันเป็นตัวละครที่ถูกเขียนขึ้นมาอย่างพิถีพิถัน และมองลูกเล่นหลอกตาเหล่านั้นเป็นคำใบ้ของปริศนา ผมก็รู้สึกอยากจะกลับไปอ่านใหม่ตั้งแต่หน้าแรก เพราะว่าก่อนหน้านี้ผมไม่ทันได้ฉุกคิดว่าการเขียนแบบเออร์กอดิกนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้แต่งใส่เข้ามาเพื่อให้นิยายเล่มนี้แตกต่างจากนิยายเล่มอื่นๆ แต่มันเป็นสิ่งที่จอห์นนี ซึ่งเป็นตัวละครสมมติ สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยเหตุผลที่เขาไม่ยอมเปิดเผยต่อผู้อ่าน
เช่นนั้นผมจึงนึกสงสัยขึ้นมา ว่าทำไมจอห์นนีถึงได้หมกมุ่นกับ House of Leaves ถึงขนาดนี้ตั้งแต่แรก?
ทำไมกองบรรณาธิการถึงเขียนไว้ว่านิยายเล่มนี้เป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สอง ทั้งๆ ที่ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกไม่มีอยู่จริง?
ทำไมคำว่า House ถึงถูกพิมพ์ด้วยหมึกสีฟ้าไม่ว่าจะเป็นในภาษาใดก็ตาม?
ทำไมเชิงอรรถบางอันถึงใช้เครื่องหมายแปลกประหลาดแทนที่จะใช้ตัวเลขตามปกติ?
ทำไมจอห์นนีถึงใส่เครื่องหมายติ๊กถูกไว้ที่มุมขวาล่างของหน้าที่เก้าสิบเจ็ดโดยไม่อธิบายอะไรเพิ่มเติม?
และซัมปาโนได้อ้างอิงถึงแนวคิดของเขาวงกต (Labyrinth หรือ Maze) ทั้งในด้านวรรณกรรมและในปกรณัมต่างๆ ซึ่งอันที่โด่งดังที่สุดคงจะเป็นเขาวงกตบนเกาะคนอสซอสแห่งกรีซ แต่ถึงอย่างนั้นเขากลับขีดฆ่าทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ประหลาดครึ่งคนครึ่งวัวที่มีนามว่า มิโนทอร์ (Minotaur) ซ้ำยังพิมพ์ด้วยตัวอักษรสีแดงสดอีกด้วย
หาก House of Leaves ประกอบไปด้วยคำลวงหลายต่อหลายชั้น สิ่งที่เราควรสงสัยก็ไม่ใช่วิธีที่คำโกหกเหล่านั้นหลอกเรา แต่เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องพูดโกหกตั้งแต่แรกด้วย
ผมเริ่มเขียนบทความนี้ตอนที่อ่านนิยายเล่มนี้ไปได้ราวครึ่งเล่ม ในปัจจุบันผมอ่านไปจนจบแล้ว และสามารถยืนยันได้ว่าปมปริศนาส่วนใหญ่จะถูกคลี่คลายในท้ายที่สุด ทั้งเรื่องที่ว่าทำไมจอห์นนีถึงรู้สึกหวาดกลัวบ้านเนวิดสันถึงขนาดนั้น และเรื่องที่ว่าทำไมเขาต้องคอยสร้างเรื่องเกี่ยวกับแผลเป็นที่แขนของเขาขึ้นมา หรือแม้กระทั่งเหตุผลที่หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า House of Leaves
ผมเพิ่งมารู้สึกตัวเมื่ออ่านไปได้เกินครึ่งเล่มแล้วว่าผมตั้งตารออ่านบทสรุปของการเดินทางเร่ร่อนของจอห์นนี ความทรงจำเกี่ยวกับมารดาสติไม่สมประกอบของเขา และความสัมพันธ์อันร้าวฉานของครอบครัวเนวิดสันมากกว่าคำอธิบายของบ้านปริศนาหลังนั้น
ส่วนที่ผมชอบที่สุดของนิยายเล่มนี้ไม่ใช่เนื้อหาหลักแต่เป็นภาคผนวกที่รวบรวมบทกลอนและบันทึกเล็กๆ น้อยๆ ของซัมปาโน ภาพถ่ายและภาพวาดของบ้านเนวิดสัน รวมถึงจดหมายนับสิบฉบับที่แม่ของจอห์นนีเขียนส่งให้เขาจากศูนย์บำบัดผู้ป่วยทางจิต
House of Leaves พยายามจะบอกคุณว่า ความมืดมิดนั้นน่ากลัวยิ่งกว่าสัตว์ประหลาดใดๆ แต่กระนั้นเนวิดสันกลับรอดพ้นจากเงื้อมมือของความว่างเปล่าไร้ที่สิ้นสุดนั้นมาได้ด้วยแสงริบหรี่ของไม้ขีดไฟ และเรื่องราวที่ไม่มีจริงเหล่านั้นก็นำพาจอห์นนี่ไปยังสถานที่ในความทรงจำที่เขาเอาแต่เบือนหน้าหนีมาตลอด
สำหรับผม House of Leaves คือนิยายสยองขวัญที่น่าสะพรึง และในเวลาเดียวกันก็เป็นนิยายชีวิตของผู้คนที่แตกหักและหลงทาง ถึงอย่างไรไม่ว่าเขาวงกตของพวกเขาจะกว้างขวางแค่ไหน และไม่ว่ามิโนทอร์ในใจพวกเขาคืออะไร สุดท้ายแล้วเขาวงกตก็ไม่อาจเป็นเขาวงกตได้หากไม่มีทางออก
…และปัจฉิมลิขิตของบทความนี้ก็ควรจะเป็นถ้อยคำของซัมปาโน
บทกวีไร้ชื่อ โดยซัมปาโน
ไร้คำปลอบประโลม
แด่ผู้เศร้าหมอง
เมื่อจิตใจลอยเลื่อน
ดั่งกำแพงเคลื่อนไหว
โลกสีครามใบนี้พลันเปลี่ยน
เป็นดั่งบ้านใบไม้