- Flash Dance (1983) เป็นภาพยนตร์ดรามาโรแมนติกสัญชาติอเมริกันบอกเล่าเรื่องราวของอเล็กซ์ หญิงสาววัย 18 ปีที่มีอาชีพหลักเป็นช่างเชื่อมเหล็ก และเป็นนักเต้นไนท์คลับยามค่ำคืน
- ด้วยความหลงใหลในศาสตร์การเต้น โดยเฉพาะบัลเล่ต์ เธอจึงศึกษามันด้วยตัวเอง โดยมีเป้าหมายว่าวันหนึ่งจะสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนสอนบัลเล่ต์ชื่อดังในเมืองพิตต์สเบิร์ก
- หากไม่นับเรื่องเพลงประกอบที่ได้รางวัลออสการ์ รวมถึงลีลาการเต้นที่ชวนขยับร่างกาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังช่วยสะท้อนให้เห็นคุณค่าของความพยายาม การฝึกซ้อม กำลังใจจากคนรอบข้าง และการเอาชนะความกลัวเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดในชีวิต
Flash Dance เป็นภาพยนตร์แนวดรามาโรแมนติกสัญชาติอเมริกันที่เล่าเรื่องราวของ อเล็กซ์ โอเวน หญิงสาววัย 18 ปีในเมืองพิตต์สเบิร์กที่ใช้ชีวิตเป็นช่างเชื่อมเหล็กตอนกลางวัน และเป็นนักเต้นไนท์คลับยามค่ำคืน
แม้ตารางชีวิตจะแน่นและวุ่นวาย แต่เธอก็สามารถบริหารจัดการเวลาได้เป็นอย่างดีและมีเวลาเหลือพอสำหรับการฝึกเต้น โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าวันหนึ่งจะสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนสอนบัลเล่ต์ชื่อดังที่ตั้งอยู่ในโรงละครของเมือง
ในการฝึกเต้น ผมสังเกตว่าอเล็กซ์ไม่ได้เป็นคนที่ฝึกเต้นไปเรื่อยๆ แบบไร้จุดหมาย ที่ชั้นหนังสือในห้องของเธอเต็มไปด้วยตำราสอนเต้น โดยเล่มที่สะดุดตาผมที่สุดคือคู่มือบัลเล่ต์คลาสสิกขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้เธอยังแบ่งเวลามาดูการแสดงบัลเล่ต์ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ หรือแม้แต่การไปชมการแสดงบัลเล่ต์สดๆ ที่โรงละครเพื่อซึมซับและเรียนรู้ท่าทางการเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างมุ่งมั่นตั้งใจ
“ฉันไม่เคยเรียนเต้นมาก่อน ฉันอ่านจากหนังสือและคอยสังเกตจากคนอื่น แต่ฉันไม่เคยไปเรียนเต้นรำมาก่อนจริงๆ” อเล็กซ์กล่าว
วันหนึ่งอเล็กซ์ตัดสินใจไปสมัครเรียนที่โรงเรียนบัลเล่ต์ตามความฝัน แต่เมื่อไปถึงความรู้สึกประหม่าก็เริ่มครอบงำจิตใจ ไล่ตั้งแต่บรรยากาศที่เคร่งขรึม เพื่อนผู้สมัครคนอื่นที่ดูหน่วยก้านดีและเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ หรือใบสมัครที่ต้องกรอกข้อมูลราวกับทำเรซูเม่เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกผู้มีสิทธิ์สอบ (ทดสอบการเต้นต่อหน้ากรรมการ) ในภายหลัง
เมื่อเป็นเช่นนี้ อเล็กซ์ที่ประหม่าอยู่แล้วก็เริ่มวิตกกังวลและกลัวจนตัดสินใจวิ่งหนีออกจากห้องธุรการโดยพลการ (ทั้งที่ยังไม่ได้กรอกใบสมัครด้วยซ้ำ)
หลังวิ่งหนีออกจากห้องสมัครด้วยความกลัว อเล็กซ์เลือกไปหาป้าฮันนาห์ อดีตนักบัลเล่ต์ผู้เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของเธอ ซึ่งป้าฮันนาห์ได้เตือนอเล็กซ์อย่างตรงไปตรงมาว่าความฝันอย่างเดียวไม่อาจทำให้เธอไปถึงจุดหมายได้หากปราศจากการลงมือทำ
“ความฝันเป็นสิ่งที่วิเศษ แต่มันไม่ได้ช่วยให้เธอเข้าไปใกล้สิ่งที่ต้องการ นอกจากเธอจะสมัครทดสอบการแสดง อเล็กซานดราเธออายุ 18 แล้ว ต้องทำเดี๋ยวนี้ ทำมันซะเด็กดี” ป้าเฮนนาห์กล่าวหลังจากอเล็กซ์พยายามหาข้ออ้างต่างๆ นาๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการไปสมัครเรียน
นอกจากป้าฮันนาห์ อเล็กซ์ยังแวะไปที่สารภาพบาปกับบาทหลวงในโบสถ์ถึงความกลัวที่กัดกินใจจนอยากจะล้มเลิกความฝัน
“ป้าฮันนาห์อยากให้ลูกไปสมัคร แต่ลูกไม่กล้าบอกว่าลูกขี้ขลาดเกินกว่าจะทำได้ ถ้าคุณพ่อได้เห็นนักเต้นพวกนั้น พระเจ้า! ลูกไม่มีทางเทียบพวกเขาได้เลย ลูกอยากเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น แต่บางทีหนูก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้”
แม้ว่าจะยังไม่อาจก้าวข้ามเส้นแบ่งความกลัว แต่ผมรู้สึกชื่นชมที่อเล็กซ์ยังคงฝึกซ้อมอย่างหนัก พร้อมกับสนใจศาสตร์การเต้นใหม่ๆ รวมถึงสเกตน้ำแข็งที่เพื่อนสนิทของเธอกำลังฝึกซ้อมเพื่อเตรียมลงแข่งขัน แต่น่าเสียดายที่สิงห์สนามซ้อมกลับกลายเป็นหมูสนามจริง เมื่อเพื่อนของเธอล้มครั้งแล้วครั้งเล่าระหว่างการแข่งจนถูกเจ้าหน้าที่พยุงออกจากสนาม
สิ่งที่ทำให้ผมทั้งประทับใจและตั้งคำถาม คือคำพูดที่อเล็กซ์นำมาใช้ปลอบใจเพื่อนสนิท อเล็กซ์เลือกจะบอกว่า “ไม่เป็นไรนะ อย่างน้อยเธอก็ได้พยายาม” ซึ่งคำพูดนี้ในมุมหนึ่งก็ปลอบประโลมความรู้สึกของเพื่อน แต่อีกมุมกลับสะท้อนถึงความย้อนแย้งในตัวอเล็กซ์เอง เพราะเธอสามารถให้กำลังใจผู้อื่น แต่กลับไม่สามารถปลดล็อกความกลัวในใจตัวเองได้ เสมือนว่าการทายาให้คนอื่นนั้นง่ายกว่าการทายาให้ตัวเอง
ในตอนท้ายเรื่อง อเล็กซ์ตัดสินใจกลับไปสมัครเรียนและก้าวสู่การทดสอบการเต้นครั้งสำคัญต่อหน้าคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ แม้ความวิตกกังวลและความกลัวยังคอยหลอกหลอนเธอ แต่ครั้งนี้ เธอโชคดีที่มีคนรอบข้างเชื่อมั่นและเป็นแรงสนับสนุน โดยเฉพาะแฟนหนุ่มที่พูดเตือนสติให้เธอกลับมาทบทวนตัวเอง
“เมื่อไหร่ที่คุณละทิ้งความฝัน เมื่อนั้นคุณก็เหมือนตายทั้งเป็น”
ผมคิดว่าประโยคนี้ได้จุดประกายให้อเล็กซ์กลับมารวบรวมความกล้าเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายในการพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง
หลังชมภาพยนตร์จบ เรื่องราวของอเล็กซ์เหมือนจะเตือนผมดังๆ ว่า ความกลัวและความวิตกกังวลเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางเราไม่ให้ไปถึงเป้าหมายได้มากกว่าความล้มเหลว หลายครั้งเราอาจไม่ได้ล้มเหลวเพราะขาดความสามารถ แต่เป็นเพราะเราไม่กล้าแม้แต่จะเริ่มต้น
อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนจากคนรอบข้าง รวมถึงความหลงใหลและความเพียรพยายามจนกว่าจะถึงเป้าหมาย (Grit) ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เรามีความกล้าหาญพอที่จะเผชิญหน้ากับความกลัวนั้น ซึ่งความกล้าหาญสำหรับผมนั้นไม่ใช่การไร้ซึ่งความกลัว แต่คือการที่เราสามารถทำให้ความฝันหรือเป้าหมายของเรามีอิทธิพลเหนือกว่าความกลัว เพราะเมื่อเราเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งที่ต้องการมากกว่าสิ่งที่กังวล เราก็จะเริ่มมองเห็นหนทางที่สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
นอกจากนี้ ผมยังมองว่าความรู้สึกวิตกกังวลหรือความกลัวยามต้องเผชิญกับความท้าทายหรือสิ่งที่ไม่คุ้นเคยนั้นถือเป็นเรื่องปกติ เพราะนักจิตวิทยาบอกว่าสมองของมนุษย์ส่วนหนึ่งถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่ ‘ระวังภัย’ มันจึงพยายามส่งสัญญาณเพื่อป้องกันเราจากความเสี่ยง ความผิดพลาด หรือสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อความไม่มั่นคงต่างๆ อย่างกรณีของอเล็กซ์…เธอไม่ได้ตกอยู่ในอันตรายใดๆ ในการสมัครเรียนบัลเล่ต์ แต่สมองของเธอกลับตีความว่าการเผชิญหน้ากับความท้าทายนี้เป็นสิ่งที่ ‘น่ากลัว’ เพราะมันอาจนำมาสู่การถูกปฏิเสธหรือความล้มเหลวที่อาจทำให้เธอรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการรู้เท่าทันตัวเองพร้อมทั้งตระหนักว่าความกลัวไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงเสมอไป
ความกล้าหาญแท้จริงคือการยอมรับและเผชิญหน้ากับความกลัวนั้นอย่างมีสติ เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดในใจ และเปิดโอกาสให้ตัวเองได้สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิต
ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่มีความฝัน