- Elio เอลิโอ เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันจากพิกซ่าร์ สตูดิโอส์ กำกับโดย แมดเดอลีน ชาราเฟียน (Burrow Sparkshort) โดมี ฉี (Bao, Turning Red และเอเดรียน โมลิน่า (Coco)
- ‘เอลิโอ’ คือตัวแทนของเด็กชายที่รู้สึกเหงา โดดเดี่ยว แปลกแยก และคิดว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการ เขาจึงมีความหวังลึกๆ ว่าคงมีที่ไหนสักแห่งที่มองเห็นคุณค่าในแบบที่เขาเป็น
- เอลิโอพยายามส่งสัญญาณถึงเอเลี่ยนเพื่อขอให้พาเขาออกเดินทางไปยังดาวดวงอื่น แต่แล้วเมื่อคำขอเป็นจริง สิ่งที่เขาค้นพบกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด
[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์]
“ผมจะไม่อยู่เกะกะอาแล้ว ไม่ต้องห่วง…นอกโลกมีดาวเคราะห์ที่อยู่อาศัยได้ตั้งห้าร้อยล้านดวง ต้องมีสักดวงที่ต้องการผม เพราะเห็นอยู่ว่าอาไม่ต้องการผม”
เสียงตัดพ้อของ ‘เอลิโอ’ เด็กชายกำพร้าในภาพยนตร์ Elio ผลงานล่าสุดจากพิกซาร์ ชวนให้ตั้งคำถามถึงความรู้สึกแปลกแยก ความเหงา ความโดดเดี่ยว และความหวังลึกๆ ที่อยากเป็น ‘ที่ต้องการ’ ของใครสักคนที่มองเห็นคุณค่าในแบบที่เขาเป็น

Elio บอกเล่าเรื่องราวของ ‘เอลิโอ’ เด็กชายที่เพิ่งสูญเสียพ่อแม่จากอุบัติเหตุและต้องย้ายมาอยู่กับอาสาวที่เขาไม่รู้จักดีนัก ทั้งยังมองว่าอาไม่ใช่ ‘ครอบครัว’ ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวนำไปสู่ความอ้างว้าง และค่อยๆ ผลักให้เอลิโอกลายเป็น ‘เด็กมีปัญหา’ ในสายตาของอา เขาเริ่มหนีเรียน มีเรื่องชกต่อย รวมถึงทำไฟดับทั้งฐานทัพที่อาทำงานเป็นผู้พันอยู่
หากมองให้ลึกกว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ผมเห็นว่านี่คือสัญญาณของการร้องขอความรักและการยอมรับของเด็กชาย จากอา…ผู้ที่ดูเหมือนจะเข้มงวดกับเขาทุกเรื่อง แถมเพิ่งส่งเขาไปโรงเรียนประจำที่ไม่ต่างอะไรกับค่ายทหาร
ท่ามกลางจิตใจที่บอบช้ำและไร้ทางออก เด็กชายเลือกเบี่ยงเบนความรู้สึกเจ็บปวดผ่านการหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการใช้วิทยุเพื่อติดต่อสื่อสารกับเอเลี่ยน และหวังว่าเอเลี่ยนที่ส่งสัญญาณติดต่อมายังฐานทัพของอาจะพาเขาหนีไปจากโลกใบนี้
และแล้ววันหนึ่ง มนุษย์ต่างดาวก็มารับเขาไปจริงๆ ก่อนเกิดเป็นเรื่องราวสุดโกลาหลเมื่อเขาถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้นำของโลกมนุษย์ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าในมุมของผมคือ คำถามในใจที่ว่า หากได้ไปอยู่ในดาวดวงอื่นจริงๆ เขาจะมีความสุขขึ้นไหม?

“คนหนุ่มสาวจำนวนมากต้องการมีเพื่อน พวกเขาต้องการค้นหาคนที่ใช่สำหรับพวกเขา แต่พวกเขาคิดว่าถ้าฉันอยู่ในสถานที่ที่สมบูรณ์แบบที่ทุกคนคิดเหมือนฉัน ทำตัวเหมือนฉัน ฉันก็จะเป็นส่วนหนึ่งของใครได้ นั่นจะเป็นทางออกสำหรับปัญหาทั้งหมดของฉัน แต่จริงๆ แล้ว วิธีแก้ปัญหานั้นมาจากภายใน มันเกี่ยวกับก้าวแรก นั่นคือการเข้าหาใครสักคน…”
ทีมผู้กำกับให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ IndieWire และนั่นทำให้ผมย้อนไปถึงฉากหนึ่งที่เอลิโอต้องทำโคลนนิ่งร่างตัวเอง เพื่อกลับไปแทนที่เขาบนโลก โดยร่างโคลนนิ่งนี้สามารถคัดลอกทั้งรูปร่าง ความคิด และอารมณ์ ดังนั้นฉากที่มันถามเอลิโอว่า “อะไรคือแรงจูงใจของฉัน ฉันควรเปลี่ยนตัวเองไหม หรือเป็นคนที่ไม่เห็นค่าตัวเอง อยู่ไปวันๆ เหมือนเดิม” ทำให้เอลิโอหน้าถอดสีด้วยความตกใจ เพราะนี่คือครั้งแรกที่เขาได้ยินเสียงของตัวเองอย่างซื่อตรง
ถึงอย่างนั้น จุดเปลี่ยนสำคัญจริงๆ ได้เกิดขึ้นเมื่อเขาอาสากลุ่มคอมมูนิเวิร์ส (กลุ่มเอเลี่ยนที่รับเขาขึ้นมาจากโลก) ในการเดินทางไปเจรจาเพื่อยุติสงครามกับ ‘ลอร์ดไกรกอน’ ผู้นำฝ่ายนักรบ ที่นั่นเขาได้พบกับ ‘กลอร์ดอน’ ลูกชายของลอร์ดไกรกอน ซึ่งตัวของกลอร์ดอนเองก็รู้สึกเป็น ‘ตัวปัญหา’ ในสายตาพ่อ เพราะพ่อหมายมั่นจะปั้นให้เขาเป็นเจ้าแห่งสงคราม ขณะที่เขาไม่อยากเป็นนักรบ ไม่อยากทำลายล้าง และเกลียดชุดเกราะที่ทุกคนในเผ่าจะต้องใส่เมื่อโตขึ้น

“แต่ไม่มีใครถอดชุดหรอกมันจะเผยจุดอ่อน เผยรูปร่าง มันจะทำให้ตัวนายและวงศ์ตระกูลเสื่อมเสียไปตลอด…ทุกคนจะต้องใส่ มันเป็นประเพณีแล้ว ถ้าฉันไม่ใส่พ่อต้องเกลียดฉันแน่…ฉันเลือกไม่ได้หรอก
…ฉันเป็นแค่ตัวร้าย ความผิดหวัง ตัวขายหน้า ฉันเคยเป็นตัวปริศนา ตัวปัญหา ตัวป่วน ช่วงหลังฉันโดนพ่อเมิน”
ผมเชื่อว่าคำพูดของกลอร์ดอนน่าจะดังแทนความรู้สึกของใครหลายคน โดยเฉพาะเด็กหรือวัยรุ่นที่รู้สึกว่าชีวิตไร้ค่าและเหนื่อยกับการต้องพยายามทำตัวให้เป็นที่รักของครอบครัว โรงเรียน หรือสังคมที่ให้ค่าคนๆ หนึ่งผ่านค่านิยมบางอย่าง
นอกจากนี้ ผมมองว่าความรู้สึกไร้ทางเลือกของกลอร์ดอนมีความเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของเอลิโออย่างลึกซึ้ง นั่นทำให้ทั้งสองเปิดใจให้กันในฐานะเพื่อน โดยเอลิโอเองก็สลับมาเล่าเรื่องของเขากับอา และได้รับมุมมองใหม่จากกลอร์ดอนว่า อาคือคนที่อยู่เคียงข้างและเสียสละเพื่อเขามาโดยตลอด เพียงแต่เขาไม่เคยเปิดใจยอมรับอามากพอ
แม้จะเดาทางของพิกซาร์ได้ว่าภาพยนตร์ต้องจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ในตอนท้าย ปมในใจของเพื่อนซี้ต่างเผ่าพันธุ์ก็ได้รับการเยียวยา
เริ่มจากกลอร์ดอนที่มีเหตุต้องนอนสลบบนยานของกลุ่มคอมมูนิเวิร์สด้วยอาการหนาวเหน็บปางตายเนื่องจากไม่มีชุดเกราะปรับอุณหภูมิ ปรากฏว่าลอร์ดไกรกอนผู้เป็นพ่อถึงกับยอมออกมาจากชุดเกราะในที่สาธารณะ (ซึ่งถือเป็นการกระทำอันอัปยศของเผ่า) เพื่อออกมาพ่นใยพันตัวลูกชายให้อุ่นขึ้นโดยไม่สนสายตาของคนอื่น
นั่นทำให้ผมฉุกคิดได้ว่าแท้จริงแล้วมนุษย์เราก็ไม่ต่างอะไรกับลอร์ดไกรกอนที่ถูกปลูกฝังว่าเป็นผู้ใหญ่ต้องมีเกราะหรือสวมหัวโขนที่ดูแกร่งกล้าตามค่านิยมเพื่อให้สังคมยอมรับ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านั้นเทียบไม่ได้เลยกับความรัก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่งดงามที่สุดในสัญชาตญาณมนุษย์

ขณะเดียวกัน ฉากการตัดสินใจของเอลิโอที่ต้องเลือกว่า จะเดินทางท่องจักรวาลในฐานะสมาชิกกลุ่มคอมมูนิเวิร์ส หรือจะกลับไปยังโลก ก็ทำให้ผมซาบซึ้งไม่น้อย เพราะการตัดสินใจของเอลิโอทำให้รู้ว่าเขาเติบโตขึ้นแล้วจากการได้ออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองนอกโลก
เพราะไม่ว่าเขาจะพยายามหนีไปให้ไกลเพียงใด แต่ที่สุดแล้วปัญหาก็ไม่เคยหายไปไหน นอกจากจะกลับมาแก้ไขที่ใจตัวเอง มองตัวเองและคนอื่นด้วยสายตาใหม่ที่เห็นถึงคุณค่าในความเป็นมนุษย์
“ที่นี่น่าทึ่งมากเลยครับ แต่โลกคือบ้านผม ผมไม่ได้ให้โอกาสมัน แต่ว่าตอนนี้ผมอยากลองดู…กับอา เราเป็นครอบครัวเดียวกัน”
หลังจากชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมนึกถึงท่อนฮุคของเพลง Live&Learn (บอย โกสิยพงษ์) ที่ร้องว่า “อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน เติมความคิดสติเราให้ทัน อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด” เช่นเดียวกับความรักที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ แค่มีใครสักคนที่มองเห็นคุณค่าในแบบที่เราเป็น…แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว ที่จะทำให้รู้สึกว่าตัวเราเองก็มีที่ยืนที่มั่นคงบนโลกใบนี้