- ‘จอห์น ไทรี’ เป็นตัวละครเอกจากนิยายเรื่อง Dear John รักจากใจจร ของ นิโคลัส สปาร์กส์ ในวัยเด็กเขาสนุกสนานกับรับหน้าที่คู่หูของพ่อผู้คลั่งไคล้ด้านเหรียญกษาปณ์ และพากันตามล่าหาเหรียญทั่วอเมริกา
- แต่เมื่อจอห์นโตขึ้นเรื่องนี้กลับไม่น่าสนุกอีกต่อไป เขาเริ่มเบื่อและรู้สึกไม่ดีกับพ่อ ที่ใช้เงินไปแต่กับเหรียญกษาปณ์ ส่วนเขาต้องรู้สึกต่ำต้อยน้อยหน้าเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ จนกลายเป็นรอยร้าวและความเหินห่าง
- จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อจอห์นได้พบรักกับซาวันนาห์ ซึ่งหลังจากพบกับพ่อของจอห์น เธอแนะนำหนังสือเกี่ยวกับโรคออทิสติกและแอสเพอร์เจอร์ ทำให้เขาเข้าใจพ่อที่มีอาการคล้ายกับโรค ‘แอสเพอร์เจอร์’มากขึ้น
จินตนาการว่าคุณเป็นเด็กชายวัย 6 ขวบ ที่สนุกสนานกับการรับหน้าที่คู่หูของพ่อในการตามล่าหาเหรียญกษาปณ์ทั่วอเมริกา แถมพ่อยังพูดคุยกับคุณเสมือนผู้ใหญ่วัยเดียวกัน ผมเชื่อว่าคุณคงปลาบปลื้มใจไม่น้อย
‘จอห์น ไทรี’ ก็เช่นกัน…
ตั้งแต่จอห์นจำความได้ พ่อมักทำกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์พ่อลูกในลักษณะนี้ ไม่นานจอห์นก็สามารถอธิบายถึงที่มา จุดสังเกต ตำหนิ และข้อมูลต่างๆ ของเหรียญกษาปณ์ทั่วอเมริกาได้อย่างแม่นยำ
ความคลั่งไคล้ด้านเหรียญกษาปณ์ของพ่อ เริ่มมาจากปู่ ซึ่งปู่ของจอห์นก็มักพาพ่อไปตะลุยล่าเหรียญกษาปณ์เช่นเดียวกัน เมื่อปู่เสียชีวิต เหรียญกษาปณ์เหล่านั้นก็มีราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว แต่สำหรับตระกูลไทรี เหรียญกษาปณ์ไม่ใช่สิ่งของเก็งกำไร แต่เป็นเรื่องราวของสองพ่อลูกที่ได้ทำอะไรดีๆ ร่วมกันมากกว่า
เรื่องนี้คงไม่แปลกอะไร หากจอห์นเป็นเด็กน้อยที่ตามพ่อออกตามล่าเหรียญกษาปณ์ตลอดไป…
รอยร้าว
แม้พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกเป็นเด็กตลอดกาล แต่เวลาก็ไม่เคยรับฟังความปรารถนานั้น เช่นเดียวกับจอห์นที่เริ่มโตขึ้น…โตขึ้นพร้อมๆ กับคำถามในใจถึงพ่อ…พ่อที่ดูแปลกเมื่อเทียบกับพ่อของเพื่อนคนอื่น
“พ่อเป็นคนเงียบขรึม เก็บเนื้อเก็บตัว พ่อเป็นคนเงียบที่สุดที่ผมเคยรู้จัก เราพูดเล่นกันน้อยมาก พ่อเงอะงะกับการเข้าสังคม ไม่ยอมออกเดท และไม่เข้าวงเล่นโป๊กเกอร์กับคนอื่น”
ตอนจอห์นอายุสิบสี่ ความหงุดหงิดที่เห็นเหล่าเพื่อนซี้พากันอวดสิ่งของเจ๋งๆ ตามสมัยนิยม ทำให้เขาเริ่มรู้สึกไม่ดีกับพ่อ เพราะไม่ว่ามีเงินเก็บเท่าไหร่ พ่อก็จะใช้มันไปกับเหรียญกษาปณ์เสมอ
“ผมเริ่มรู้สึกเบื่อหลังจากหลังฟังพ่อพูดแต่เรื่องเหรียญตลอดหกเจ็ดปี ผมกำลังสนใจกีฬา สาวๆ อยากออกไปข้างนอกบ้าง ผมเริ่มอยู่ไม่ติดบ้านและรู้สึกต่ำต้อยน้อยหน้าเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ที่มีเงินไปดูหนังหรือซื้อแว่นกันแดดเท่ๆ มาใส่ ส่วนผมยังต้องควานหาเศษสตางค์จากเก้าอี้นวมไปซื้อแฮมเบอร์เกอร์ที่แมคโดนัลด์”
ผมเห็นด้วยกับจอห์นสุดพลัง เพราะวัยรุ่นเป็นวัยอยากรู้อยากเห็นและต้องการการยอมรับจากเพื่อนฝูง ดังนั้น ‘การไม่มี’ อย่างเพื่อน ย่อมสร้างบาดแผลในใจเล็กๆ แต่ที่น่าเจ็บใจที่สุดคือนอกจากเหรียญกษาปณ์แล้ว พ่อไม่เคยคุยกับจอห์นเรื่องชีวิตวัยรุ่นแม้แต่น้อย
ดังนั้นผมไม่แปลกใจสักนิดที่จอห์นจะตัดสินใจถอยห่างจากเพื่อนกลุ่มนั้น และย้ายไปร่วมกลุ่มเด็กซ่าที่ชวนกันสูบบุหรี่ ก่อนพัฒนาไปสู่สิ่งอบายมุขทั้งหลาย จนในที่สุดจอห์นก็ถูกตำรวจหิ้วกลับมาส่งที่บ้านหลังเข้าร่วมปาร์ตี้เสพยา
“เมื่อพ่อดุด่า ผมก็ขึ้นเสียงว่ามันไม่ใช่กงการของพ่อ แล้วหนีไปอยู่บ้านเพื่อนสองสัปดาห์ ตอนกลับมาพ่อก็ไม่พูดอะไร ยังคงทำอาหารให้ผมทุกเช้า อาจมีถามบ้างเรื่องมหาวิทยาลัย แต่ผมตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เรียนต่อ ผมอยากทำงาน อยากได้อะไรก็ตามที่ผมไม่เคยมีสิทธิ์จับต้องมาตลอด 18 ปี”
สำหรับผม จอห์นเป็นวัยรุ่นพ่อรวยที่แสนอับโชค พ่อไม่เคยซื้ออะไรให้จอห์นเลยนอกจากรองเท้าคู่ใหม่ปีละคู่ ส่วนปัจจัย 4 อื่นๆ อย่างเช่น เสื้อผ้าของจอห์นที่ผมเกริ่นไว้ พ่อก็ดันไปซื้อจากองค์กรบรรเทาทุกข์ที่เอาเสื้อมือสองมาขายอีก ดังนั้นการที่จอห์นรู้สึกอึดอัดและอยากหาเงินเองก็ไม่แปลก เพราะอย่างน้อยพ่อก็ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยให้เขาอยู่แล้ว
จากนั้นบ้านก็ตกอยู่ในความเงียบ หลายวันผ่านไป พ่อพยายามชวนจอห์นรื้อฟื้น ‘วันชื่นคืนสุข’ ครั้งตามล่าหาเหรียญร่วมกัน แต่นั่นกลับเป็นชนวนที่จุดระเบิดความรู้สึกของจอห์นตลอด 18 ปี
“ผมตะคอกใส่หน้าพ่อว่าผมเบื่อฟังเรื่องเหรียญเต็มทีแล้ว ผมไม่อยากฟังอีกแล้ว พ่อขายมันทิ้งให้หมดเถอะ แล้วไปทำอย่างอื่นซะบ้าง ทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่การสะสมเหรียญ จนถึงวันนี้ผมไม่เคยลืมสีหน้าเจ็บปวดของพ่อ หลังจากนั้นพ่อกับผมก็ไม่เอ่ยถึงเหรียญอีก”
จอห์นใช้ชีวิตแบบไร้จุดหมาย ทำงานที่ไหนก็อยู่ได้ไม่นาน ในที่สุดเขาตัดสินใจไปสมัครเป็น ‘ทหารบก’ เพราะคิดว่ามันคงทำให้ชีวิตของเขาดูมีจุดหมายมากขึ้น
ช่วงเวลาที่ไปปฏิบัติภารกิจ พ่อจะคอยส่งจดหมายให้เขาทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน แม้ข้อความจะมีแต่เรื่องข่าวคราวรอบบ้านที่เกิดขึ้น แต่ความสม่ำเสมอของพ่อนั่นเองที่ทำให้จอห์นเริ่มมองพ่อเขาในมุมที่ดีกว่าเดิม
“ตอนกลับมาสนามบิน แทนที่จะกอดกัน พ่อกลับจับมือผมแล้วถามเรื่องการเดินทาง กลับบ้านครั้งนี้ผมรู้สึกอึดอัดเหมือนครั้งก่อน แต่ตอนขึ้นรถแล้วเหลือบไปเห็นสติ๊กเกอร์ ‘ส่งใจไปแนวหน้า’ ที่พ่อแปะไว้ท้ายรถกระบะคันเก่า ผมไม่แน่ใจว่ามันหมายถึงอะไรในความคิดพ่อ แต่ผมก็ดีใจที่เห็นมัน”
ช่วงเวลาพักร้อนนั้นเอง ที่จอห์นได้พบกับนางเอกของเรื่องอย่าง ‘ซาวันนาห์ เคอร์ติส’ นักศึกษาสาขาการศึกษาพิเศษที่มาออกค่ายเพื่อสังคม ซึ่งหลังจากซาวันนาห์ได้คบหาจอห์น เธอได้ขอมาหาพ่อของเขาที่บ้าน แต่จอห์นก็พยายามปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า “พ่อผมไม่ค่อยพูด”
ซาวันนาห์ไม่สนใจและดึงดันจะไปพบพ่อของจอห์นแบบกะทันหัน เมื่อถึงบ้าน พ่อของจอห์นก็ ‘ช็อก’ และทำตัวเงอะงะ ทำให้บรรยากาศค่อนข้างอึดอัด ซาวันนาห์จึงลองชวนพ่อคุยเรื่องเหรียญกษาปณ์ (จอห์นเคยบอกเธอและเธอรู้ว่าสองพ่อลูกไม่ยอมคุยกันในเรื่องนี้) หลังลังเลสักพักในที่สุดพ่อก็โม้กับเธออย่างไหลลื่นกว่าสี่สิบนาที
กาวใจ
ซาวันนาห์ยังคงมาหาพ่ออยู่เรื่อยๆ และในที่สุดเธอก็ตัดสินใจยื่นหนังสือเกี่ยวกับโรคออทิสติกและแอสเพอร์เจอร์ให้กับจอห์น ทำเอาจอห์นตะลึงและโกรธมากเพราะคิดว่าที่ผ่านมาเธอเห็นพ่อของเขาเป็นแค่หนูทดลองเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีบ้าๆ ที่เธอเรียนมา
“ฉันไม่ได้กล่าวหาว่าท่านไร้ความสามารถ แต่กิจวัตรประจำวันที่เหมือนเดิม การที่ท่านไม่สบตาใครเวลาพูดคุย หรือการไม่มีชีวิตทางสังคม…ฉันบอกคุณไม่ใช่เพราะดูถูกท่านแต่เพราะอยากให้คุณเข้าใจท่าน”
วันต่อมา จอห์นลองเปิดใจอ่านหนังสือเล่มนี้ และพบว่าพ่อของเขามีอาการคล้ายกับโรคแอสเพอร์เจอร์ หลายอย่าง
“ทั้งสองโรคนี้จะพบความผิดปกติด้านระบบทางพัฒนาการ ข้อแตกต่างคือคนเป็นออทิสติกจะอยู่ในโลกของตัวเอง แต่คนเป็นแอสเพอร์เจอร์จะอยู่ในโลกของเรา แต่ก็ในวิถีปฏิบัติที่เขาเลือกเอง ดังนั้นการที่พ่อมีตารางชีวิตเดิมๆ การปลีกตัวไม่เข้าสังคม และไม่ยอมสนใจอย่างอื่นนอกจากเหรียญกษาปณ์ นั่นไม่ใช่ว่าพ่อไม่ยอมเปลี่ยน แต่เปลี่ยนมันไม่ได้ต่างหาก”
วินาทีนั้น จอห์นรู้สึกเห็นใจพ่อมากขึ้น เขาคิดไปว่าแม่คงทิ้งพ่อไปด้วยอาการประหลาดๆ เหล่านี้ แต่พ่อกลับยืนหยัดรับผิดชอบและเลี้ยงดูเขาให้โตขึ้น ทั้งยังบอกให้เขาอธิษฐานเผื่อแม่เสมอ
“หลังอ่านหนังสือ ผมสังเกตว่าพ่อทำแบบเดียวกับที่ซาวันนาห์บอกไว้ แต่แปลกมากที่ความรู้เปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดของคนเราได้ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรกับมัน ระหว่างกินข้าวผมไม่ถามพ่อว่าวันนี้เป็นไงเพราะพ่อคงไม่ตอบ พอกินข้าวเสร็จ ผมรู้ว่าพ่อต้องกลับไปนั่งเก้าอี้มุมโปรด ผมจึงเดินมาชวนพ่อคุยเรื่องเหรียญ พ่อทำหน้าเหลือเชื่อ เหลือบตามองพื้น ยกมือลูบผม จากนั้นผมก็วางมือบนบ่าผมและตอบตกลง สิ่งเดียวที่ผมคิดได้ตอนนั้นคือ ผมไม่เคยรู้สึกใกล้ชิดกับพ่อแบบนี้มาหลายปีแล้ว ผมอิ่มใจไปกับน้ำเสียงตื่นเต้นยามพ่อเล่าถึงเหรียญเป็นเวลาหลายชั่วโมง”
หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ของพ่อลูกที่ล้มเหลวก็ค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้นอย่างก้าวกระโดด จอห์นบอกว่าตอนที่กลับไปประจำการที่ฐานทัพ พ่อยังเขียนจดหมายให้เขาทุกวันที่ 1 เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเนื้อความยาวขึ้นสองเท่า
ส่วนจอห์นเองก็พยายามหาข้อมูลเรื่องเหรียญกษาปณ์และเขียนถึงพ่อบ่อยๆ เช่นกัน
ไม่กี่เดือนจากนั้น พ่อของจอห์นล้มป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลวขั้นรุนแรง แต่ที่สุดแล้วหมอก็รักษาจนพ่อสามารถกลับบ้านได้
“ผมเขียนจดหมายถึงพ่อบ่อยขึ้น โทรหาพ่ออาทิตย์ละสองวัน พยายามจับน้ำเสียงว่าพ่อไม่เป็นอะไรและเตือนให้พ่อกินยาตามหมอสั่ง นอนให้เพียงพอ ซึ่งพ่อมักเงียบและปล่อยให้ผมพูดฝ่ายเดียว แต่ผมรู้ว่าพ่อดีใจ…อย่างน้อยก็วัดจากน้ำเสียงที่แสนสดชื่น”
ผมรู้สึกว่าหนังสือเรื่องโรคออทิสติกและแอสเพอร์เจอร์ไม่เพียงทำให้จอห์นเข้าใจพ่อมากขึ้น แต่ยังช่วยให้จอห์นเรียนรู้ที่จะรักพ่อของเขาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน สังเกตจากการที่จอห์นเลิกคาดคั้นให้พ่อโต้ตอบในบทสนทนา และเลือกที่จะใช้เวลาพักร้อนในการนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ ข้างพ่อที่นั่งดูเหรียญกษาปณ์ไปเรื่อยๆ
“การไม่คาดหวังของผมทำให้เกิดบรรยากาศสุขสงบและจริงใจ ความเงียบทำให้เรากลายเป็นเพื่อนกันโดยไม่ต้องเสแสร้ง และเมื่อผมต้องกลับไปประจำการ ผมก็รู้ว่าผมจะคิดถึงพ่อในแบบที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน”
ปีต่อมา พ่อของจอห์นหัวใจล้มเหลวเป็นครั้งที่สอง และต้องใช้เวลาส่วนมากบนเตียง หมอจึงแนะนำให้พ่อย้ายไปศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะยาว
“เมื่อได้รับรู้ ผมถึงกับเข่าอ่อน พยายามปลอบใจตัวเองว่าหมอพูดเกินไป ผมตกใจเมื่อเห็นพ่อ ภายในปีเดียวตั้งแต่ผมเจอพ่อครั้งล่าสุด พ่อดูเหมือนแก่ลงไปอีกสามสิบปี ผิวของพ่อเกือบเป็นสีเทา ผมตกใจที่พ่อซูบผอมไปกว่าเดิมมาก ผมเริ่มร้องไห้ พ่อกำลังจะตาย นี่เป็นครั้งแรกที่ผมร้องไห้ในหลายปีที่ผ่านมา และเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ผมร้องไห้เพราะพ่อ ผมร้องไห้อยู่นานมาก”
จอห์นใช้เวลาพักร้อนพิเศษที่ได้ ดูแลพ่ออย่างดีที่สุด อ่านเรื่องเหรียญกษาปณ์ให้พ่อฟัง ทำซุปให้ทาน และคอยเปลี่ยนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้ท่าน
“ก่อนกลับไปประจำการที่เยอรมัน ผมบอกพ่อถึงความกลัดกลุ้มของผมหากพ่ออยู่บ้านต่อไป ผมอยากให้พ่อย้ายไปที่อื่นที่มีคนดูแล พ่อไม่ได้ถามอะไร แต่ก็ทำหน้าตกใจตาค้างราวกับได้ยินคำตัดสินประหารชีวิต เมื่อผมเดินไปหยิบน้ำให้พ่อ ปรากฏว่าตอนกลับมาพ่อกำลังซบหน้ากับโซฟาตัวสั่นเทา นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นพ่อร้องไห้”
หลังทำใจสักพัก พ่อก็สั่งให้จอห์นขุดกล่องใบหนึ่งที่พ่อฝังมันไว้ใต้ต้นไม้หลังบ้านขึ้นมา ที่นั่นจอห์นได้พบกล่องที่บรรจุเหรียญกษาปณ์ที่พ่อรักมากที่สุด และตอนนี้พ่อมอบมันให้เขา
“ผมพาพ่อไปส่งศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะยาว พ่อตัวแข็งทื่อ สายตาของพ่อทำให้ผมใจแทบขาด เหมือนผมกำลังฆ่าพ่อแท้ๆ ผมนั่งข้างเตียงพ่อเพื่อใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่เหลือกับพ่อก่อนบินกลับไปประจำการ”
จอห์นรู้ดีว่านี่เป็นครั้งสุดท้ายที่เขาจะได้เห็นพ่อในสภาพมีชีวิต เขาจึงอดไม่ได้ที่จะหลั่งน้ำตายามกล่าวลา
“ทุกอย่างจะเรียบร้อยครับพ่อ พวกเขาจะดูแลพ่อ ผมอยากให้พ่อรู้ว่าพ่อเป็นพ่อที่ดีที่สุด พ่อดูแลลูกแย่ๆ อย่างผมมาได้ดีขนาดนี้ ผมขอโทษสำหรับเรื่องงี่เง่าทั้งหลายที่ผมทำกับพ่อ ผมเสียใจที่ผมไม่ค่อยมีเวลาให้พ่อ พ่อเป็นคนดีที่สุดเท่าที่ผมเคยรู้จักมา พ่อเป็นคนเดียวที่ไม่เคยโกรธผม พ่อไม่เคยโทษผม พ่อสอนให้ผมรู้จักชีวิตมากกว่าที่ลูกคนไหนจะรู้ได้ ผมขอโทษที่ผมจะต้องไปจากพ่ออีกแล้ว และผมเกลียดตัวเองที่ต้องทำแบบนี้กับพ่อ แต่พ่อครับ ผมเป็นห่วงพ่อมาก ผมไม่รู้จะทำยังไงอีกแล้ว ผมรักพ่อนะ”
“พ่อก็รักลูก จอห์น”
7 สัปดาห์ต่อมาพ่อของจอห์นก็จากไป แต่ก่อนตายก็ไม่วายทำหน้าที่พ่อครั้งสุดท้ายด้วยการมอบหมายให้ทนายความคนโปรดมาจัดแจงเรื่องพินัยกรรม ก่อนเซ็นยกมรดกทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเหรียญกษาปณ์ บ้าน และเงินจากบริษัทประกันที่ทำไว้ให้กับจอห์นทั้งหมด ซึ่งเป็นการปิดฉากความเป็นพ่อได้อย่างสง่างามที่สุดเท่าที่ ‘พ่อ’ คนหนึ่งจะทำได้
‘จอห์น ไทรี’ เป็นตัวละครเอกจากนิยายเรื่อง Dear John (รักจากใจจร) ของ นิโคลัส สปาร์กส์ ฉบับภาษาไทยแปลโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา ( สำนักพิมพ์มติชน) ก่อนถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันในปี 2553 ซึ่งนำแสดงโดย แชนนิง เททัม, อะแมนดา ไซเฟร็ด และ ริชาร์ด เจกกิ้นส์ |