- จดหมายถึงพ่อ โดย ฟรันซ์ คาฟคา นักเขียนชาวยิว เป็นจดหมายความยาวกว่า 50 หน้า ที่คาฟคาเขียนถึงพ่อเพื่อแก้ปมในใจที่เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างเขาและพ่อ
- คาฟคาเติบโตมากับพ่อที่เป็น ‘ชาย’ สมบูรณ์แบบตามขนบธรรมเนียมสังคมในยุคนั้น ทำให้เขารู้สึกกดดันว่าตนเองดีสู้พ่อไม่ได้ และยิ่งเขาถูกพ่อต่อว่าบ่อยๆ มันทำให้คาฟคายิ่งรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เพราะไม่สามารถแม้แต่ทำให้คนที่เขารักภาคภูมิใจได้
- คาฟคาย้ำบ่อยครั้งว่าเขารู้เสมอว่าพ่อรักเขา และไม่ได้มีเจตนาร้ายแก่เขาเลย แต่การที่พ่อนั้นคอยแต่ดุว่า ถากถาง และไม่เคยรับฟัง ยิ่งทำให้คาฟคารู้สึกผิด รู้สึกไร้ค่า เพราะเขารู้สึกว่าไม่อาจทำให้คนที่รักตนพอใจได้เลย
ท่านคิดว่าคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องมีความสุขเสมอไปไหมครับ
ผมอยากให้ท่านมาทำความรู้จักชายผู้หนึ่งที่เกิดมาในครอบครัวที่พอมีใช้ เรียนจบมัธยมด้วยคะแนนสูง จบมหาวิทยาลัยที่ดี ได้งานทำมั่นคง ได้ทำตามความฝันของตนคือเป็นนักเขียนเป็นงานเสริม แถมผลงานก็เป็นที่ยอมรับพอสมควร
แต่เชื่อไหมครับว่า เขาเป็นคนที่ไม่น่ามีความสุขในชีวิตเท่าไรนัก เพราะผลงานเขียนของชายที่ผมพูดถึงมีชื่อเสียงในด้านความหมองหม่น เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความสิ้นหวังและความรู้สึกผิดของตัวละคร ท่ามกลางความมืดดำของสังคมและการเมือง ประวัติที่ได้จากคนรอบตัวและบันทึกของเขาก็ใช้ยืนยันได้ว่า ผลงานของเขานั้นสะท้อนถึงบุคลิกของผู้แต่งไว้เป็นอย่างดี เขาเป็นคนอมทุกข์ มองโลกในแง่ร้าย ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ถึงขั้นที่เขาได้สั่งเสียให้เผาผลงานของตนทิ้งให้หมดหากเขาตาย
ผู้อ่านหลายท่านน่าจะรู้แล้วว่าผมกำลังพูดถึง ฟรันซ์ คาฟคา (Franz Kafka) นักเขียนชาวยิว (เกิดและอาศัยในราชอาณาจักรโบฮีเมียน ซึ่งบริเวณดังกล่าวคือสาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน) ผู้โด่งดังในวรรณกรรมที่มืดมนและแปลกประหลาด
จะว่าเป็นโชคดีก็ได้ที่เพื่อนผู้รับคำสั่งเสียของคาฟคานั้นเสียดายผลงานของคาฟคาเกินกว่าจะเผาทิ้ง แถมยังนำมาเผยแพร่แทน จนโลกได้รู้จักผลงานทรงคุณค่าหลายเรื่องที่ยังไม่เคยตีพิมพ์ตอนคาฟคามีชีวิต และหนึ่งในผลงานนั้นคือ จดหมายถึงพ่อ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแต่ง แต่เนื้อหาคัดลอกมาจากจดหมายที่คาฟคาเขียนถึงพ่อของเขา และผลงานเล่มนี้เองจะมาตอบคำถามว่า ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จอย่างคาฟคา ถึงไม่มีความสุข
‘จดหมายถึงพ่อ’ เป็นจดหมายแค่ฉบับเดียว แต่มันมีความยาวเกือบ 50 หน้า เนื้อหานั้นเต็มไปด้วยสิ่งที่คาฟคาคิดในใจอยู่เสมอ และอยากถามหรือบอกเรื่องนี้กับพ่อของเขามานาน แต่ก็ไม่เคยได้ทำเสียที
จนกระทั่งเขาอายุ 36 ปี มีเหตุให้เขาเหลืออดกับชีวิตที่ดูสิ้นหวังไร้ค่าในหลายๆ ด้าน เขาเลยคิดว่าต้องการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในใจของเค้าเสียที คาฟคาตัดสินใจเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อปรับความเข้าใจกับพ่อ เพราะเขาคิดว่าต้นตอของปัญหาใหญ่ๆ ในชีวิตของเขาตั้งแต่เด็กจนโตล้วนมีสาเหตุมาจากพ่อ
โลกของเด็กเริ่มต้นในโลกใบเล็ก ซึ่งก็คือครอบครัวหรือตัวเด็กกับผู้เลี้ยงดู เมื่ออ่านจดหมายถึงพ่อเราจะพบว่าโลกของคาฟคาในวัยเด็กมีราชาผู้ปกครองคือพ่อของเขา ด้วยสังคมยุโรปในราวๆ ค.ศ. 1880 ที่ยังให้คุณค่าว่าชายเหนือกว่าหญิง ชายคือผู้นำที่คนในครอบครัวต้องเคารพยำเกรง ไม่ว่าจะเป็นลูกหรือภรรยา เฮอร์แมน-พ่อของคาฟคานั้นมีบุคลิกโผงผาง เสียงดัง พูดแรง ช่างตำหนิ และชอบถากถาง และสิ่งนั้นก็ไม่ยกเว้นแม้แต่กับลูกๆ ซึ่งส่งผลให้โลกของคาฟคานั้นเต็มไปด้วยความหวาดกลัวราชาคนนี้
แต่ปัญหาของคาฟคานั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความกลัว ปัญหาใหญ่อีกอย่างคือ การแบกรับความคาดหวังจากพ่อที่ตัวคาฟคายอมรับว่าเป็น ‘ชายในแบบฉบับ’ ของบุคคลสมัยนั้น คือตัวใหญ่ ร่างกายแข็งแรง เล่นกีฬาเก่ง พูดจามีวาทศิลป์ เป็นพ่อค้าที่ประสบความสำเร็จด้วยความสามารถและความทะเยอทะยาน แต่คาฟคากลับไม่มีคุณสมบัติอะไรเลยในวัยเด็กที่มีแววว่าจะเหมือนพ่อ เขาทั้งตัวเล็ก ผอมแห้ง ไร้เรี่ยวแรง ขี้อาย แถมพูดติดอ่าง ซึ่งหลายๆ เรื่องน่าจะแก้ไขได้ แต่เฮอร์แมนเน้นเพียงแต่การใช้คำพูดตำหนิ เย้ยหยัน ดูถูก ถากถาง ซึ่งเหมือนตอกย้ำคาฟคาว่าตนไร้ความสามารถจริงๆ และเชื่อว่าไม่อาจทำอะไรได้ดี หรือเป็นคนที่พร้อมแบบพ่อเขาได้
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของโลกของเด็กชายคาฟคาที่เต็มไปด้วยความรู้สึกผิดทุกครั้งที่เขาเห็นพ่อมีหลายอย่างในอุดมคติ และทำสิ่งต่างๆ ได้ แต่เขาไม่กล้าแม้แต่จะคิดว่าเขาจะมีโอกาสทำได้ หรือเป็นอย่างพ่อ
เมื่อโตขึ้นหน่อย คาฟคาเองก็เหมือนเด็กคนอื่น ๆ ที่เริ่มมีความคิดอ่านของตนเอง ซึ่งหลาย ๆ อย่างก็ไม่ตรงกับสิ่งที่พ่อแม่สอน แต่ความคิดอ่านที่เพิ่มมากลับกลายเป็นทำให้คาฟคารู้สึกแย่ไปกว่าเดิม เพราะไม่ว่าเขาจะโต้แย้งอะไร เขาไม่อาจเถียงชนะพ่อของเขาได้ และที่แย่ไปกว่านั้น คือในหลายๆ ครั้ง พ่อไม่แม้แต่จะฟังเขาด้วยซ้ำ พ่อเขาวางตนเองเป็นกฎที่ถูกต้องเสมอ แต่กฎของเฮอร์แมนกลับความไม่คงเส้นคงวา เช่น การดุว่าลูกหากลูกกินอาหารแล้วทำเศษร่วงแม้แต่นิดเดียว แต่เขากลับทำเศษอาหารร่วงมากกว่าใคร และในบางครั้งก็ว่าในสิ่งที่ลูกยังไม่ได้ทำเสียด้วยซ้ำ สุดท้ายมันเลยกลายเป็นความสับสน และสิ้นหวังของคาฟคาเพราะไม่ว่าทำอะไรก็ไม่ถูกใจพ่อเขาสักเรื่อง หรือหากคิดเห็นต่างอะไร สิ่งนั้นผิดเสมอหากคิดต่างจากพ่อ
ชีวิตในวัยเรียนทำให้คาฟคามีโลกหรือสังคมที่กว้างขวางขึ้น แต่กรอบจากโลกใบเล็กสมัยเขายังเด็กยังคงไม่หายไป พ่อยังคงเป็นมาตรฐานในชีวิตไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็แล้วแต่ แม้คาฟคาเก่งในบางเรื่อง แต่หากสิ่งนั้นพ่อไม่ได้ให้ความสำคัญ ก็ยากที่เขาจะรู้สึกว่าตนเองทำได้ดี เช่น เขามีผลการเรียนดีมาตลอด แต่เขากลับไม่รู้สึกภูมิใจกับคะแนนสอบ เพราะพ่อของเขาไม่ได้แสดงความยินดีหรือยอมรับความสามารถแต่อย่างใด คาฟคาถึงขั้นสงสัยว่าโรงเรียนนี้ผิดปกติอย่างไรหรือเปล่า ที่คนอย่างเขาถึงสอบผ่านและได้คะแนนดี
แม้เขาสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว คาฟคาไม่คิดว่าจะเป็นพ่อค้าที่เก่งกาจแบบพ่อได้ แต่ถึงเขาอยากเป็นนักเขียน เขาก็เลือกทำงานเอกสารในบริษัทที่เขาไม่ชอบ เพราะเขายึดเกณฑ์ของชายที่มีอาชีพมั่นคงเหมือนพ่อ ซึ่งก็ไม่ตอบสนองให้เขารู้สึกว่าประสบความสำเร็จในชีวิตการงานเลย เขารู้สึกว่าตนล้มเหลวทั้งในงานประจำที่ยังไม่ก่อให้เกิดความมั่งคั่งเหมือนการค้า และทั้งงานเสริมคือการเป็นนักเขียน แม้เขาจะเริ่มได้มีหนังสือตีพิมพ์ของตนเอง แต่พ่อไม่เคยอ่านหนังสือของเขาเลยสักเล่ม ความสำเร็จเหล่านี้เลยกลายเป็นสิ่งไร้ค่าด้วยมาตรฐานจากพ่อ
คาฟคานั้นพยายามแต่งงานหลายครั้งด้วยความรู้สึกว่าการได้บท ‘พ่อ’ ของครอบครัวจะทำให้เขาหลุดพ้นจากความรู้สึกว่าตนไม่ดีพอในสายตาพ่อเสียที แต่เขาก็ยกเลิกงานแต่งหลังหมั้นหมายไปแล้วหลายครั้ง เพราะสุดท้ายแล้วเขารู้สึกกดดันกับมาตรฐานการเป็น ‘พ่อ’ ที่เขาคิดไว้เหลือเกิน และในแผนแต่งงานครั้งสุดท้าย พ่อของเขากลับไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง เพราะไม่ชอบคนรักเขา ซึ่งมันเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คาฟคารู้สึกว่าชีวิตเขาผิดพลาดไปเสียหมด จนเขาตัดสินใจเขียนจดหมายเพื่อปรับความเข้าใจกับพ่อ
ถึงตรงนี้อาจจะฟังเหมือนคาฟคากล่าวโทษพ่อแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่หากได้อ่านจดหมายถึงพ่อจนจบ จะพบว่าทุกครั้งที่คาฟคากล่าวโทษพ่อ เขาจะก็กล่าวโทษตนเองไปพร้อมๆ กัน เขาอาจจะพูดว่าเขาไม่ผิด แต่เขาก็แสดงความรู้สึกผิดทุกครั้งในสิ่งที่พ่อต่อว่าเขาไม่ว่าเรื่องอะไร และภาวะนั้นเกิดขึ้นเป็นเวลาสิบๆ ปี และคือเกือบชั่วชีวิตของคาฟคาที่เสียชีวิตตอนอายุเพียง 41 ปีเพราะโรคร้าย สิ่งที่น่าเสียดายคือหลังเขียนจดหมายเสร็จ แม่ของเขาไม่ต้องการให้พ่อลูกทะเลาะกัน จึงไม่ยอมส่งจดหมายให้พ่อหลังคาฟคาฝากไว้ เราจึงไม่อาจรู้ได้ว่าผลลัพธ์ของจดหมายเล่มนี้จะช่วยแก้ไขให้ชีวิตของคาฟคาสดใสขึ้นหรือไม่
ที่ผมอยากแนะนำให้อ่านจดหมายถึงพ่อก็เพราะเป็นงานเขียนรูปแบบที่หาได้ยาก น้อยคนที่จะเขียนความรู้สึกที่เกี่ยวกับความรู้สึกเรื่องการเลี้ยงดูของพ่อหรือแม่ในสมัยเด็กๆ และเทียบผลกระทบของมันในวัยผู้ใหญ่ได้ละเอียดลออถึงเท่างานเขียนชิ้นนี้ จดหมายถึงพ่อเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าชีวิตในวัยเด็กนั้นมีผลต่อการสร้างบุคลิกในวัยผู้ใหญ่เป็นอย่างมาก และประเด็นนี้คือหนึ่งในรากฐานของทฤษฎีจิตวิทยาเลยก็ว่าได้
หนึ่งในทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการที่ได้รับการยอมรับ คือ ‘พัฒนาการทางจิตสังคม’ ของ อีริก อีริกสัน นักจิตวิทยาชาวเยอรมันที่เสนอว่า ในบุคคลแต่ละวัยนั้นมี ‘งาน’ สำคัญที่ต้องทำให้ลุล่วง ซึ่งแต่ละวัยจะมีงานแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่แรกเกิดจนแก่ชรา หากวัยไหนทำงานของวัยนั้นไม่ผ่าน บุคคลก็อาจจะผ่านงานของวัยถัดไปยากขึ้น หรืออาจจะย้อนกลับมาหมกมุ่นในงานที่ไม่เหมาะสมกับวัย
เช่น ในวัย 3 – 5 ปี งานคือการมั่นใจว่าเริ่มลงมือทำสิ่งต่างๆ หรือคิดสิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเอง หากทำไม่สำเร็จ จะกลายเป็นความรู้สึกผิดและกลัวถูกตำหนิหรือลงโทษหากตนต้องการทำอะไรเอง ต่อมาในวัย 6-11 ปี งานคือการรับรู้ว่าตนเองทำอะไรได้เก่งหรือชำนาญหรือไม่หากเทียบกับคนอื่น หากไม่ จะกลายเป็นความรู้สึกด้อยค่า ไม่มีความสามารถเพียงพอ เราจะเห็นว่าชีวิตในวัยเด็กของคาฟคานั้นเจอแต่การลงโทษด้วยคำพูด และไม่ได้รับความชื่นชมในความสามารถใดๆ และนั่นอาจจะทำให้เขากลับมาหมกมุ่นกับเรื่องความรู้สึกผิด และด้อยค่าเหล่านี้แม้ว่าเขาจะเป็นผู้ใหญ่แล้ว
โลกของเด็กนั้นมีคนอยู่จำกัด บุคคลที่มีอิทธิพลในครอบครัวจึงเหมือนบุคคลที่ตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด ณาคส์ ลากอง นักจิตวิเคราะห์และจิตแพทย์ชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้ว่าบุคคลที่มีอำนาจที่สุดในครอบครัว เช่น พ่อ จะเป็นเหมือนตัวแทนของศีลธรรมที่เด็กได้เรียนรู้ผิดชอบชั่วดี
ในจดหมายถึงพ่อเราได้เห็นว่า คาฟคาตัดสินโลกในแนวทางเดียวกับพ่อของเขา แม้ว่าเขาจะไม่ชอบใจ แต่เขาก็ไม่อาจหลุดพ้นจากกรอบที่สร้างขึ้นในวัยเด็ก สิ่งที่เขาชอบ ที่เขาทำได้ดี เลยกลายเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและไร้ค่าด้วยกฎของพ่อที่ฝังอยู่ในใจ
จดหมายถึงพ่อคงไม่ใช่หนังสือที่เหมาะสำหรับพ่อเท่านั้น แต่เหมาะกับทั้งแม่หรือใครก็ตามที่เลี้ยงดูเด็ก จริงอยู่ว่าทุกคนอยากให้ลูกของตนเป็นคนดี คนเก่ง มีความสามารถในอนาคต พ่อแม่หลายๆ ท่านเลยมีความเข้มงวด และใส่ความคาดหวังของตนให้ลูกมากเป็นพิเศษ หลายคนก็ปั้นลูกออกมาได้ดั่งใจ แต่ก็มีหลายครั้งที่เด็กโตมาถึงจะเก่ง ได้งานการที่ดี แต่กลับไม่มีความสุข เพราะถ้าเลือกทำตามกรอบที่พ่อแม่วาง ก็ไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ แต่ถ้าทำตามใจตนเอง แต่ไม่ตรงกับที่พ่อแม่คาดหวัง ก็จะรู้สึกผิดแทน ทำให้ทุกข์ใจทั้งสองทาง การปลูกฝังบุคลิกในวัยเด็กส่งผลต่อการมองโลกว่าเป็นที่ที่เขาจะมีหนทางซึ่งหาความสุขได้หรือไม่ ซึ่งสิ่งนี้ผู้เลี้ยงดูมีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมเรื่องนี้เหลือเกิน
แม้ว่าหลายๆ ท่านอาจจะบอกว่าที่เข้มงวด ใจร้าย คอยว่าคอยด่า ก็เพราะรัก แต่เมื่อท่านอ่านจดหมายถึงพ่อ จบ ท่านอาจจะรู้สึกได้ว่า ‘รัก’ ในแบบนั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะคาฟคาย้ำบ่อยครั้งว่าเขารู้เสมอว่าพ่อรักเขา และไม่ได้มีเจตนาร้ายแก่เขาเลย แต่การที่พ่อนั้นคอยแต่ดุว่า ถากถาง และไม่เคยรับฟัง ยิ่งทำให้คาฟคารู้สึกผิด รู้สึกไร้ค่า เพราะเขารู้สึกว่าไม่อาจทำให้คนที่รักตนพอใจได้เลย
ดังนั้นการแสดงความชื่นชมในตัวเด็กอย่างจริงใจ การทำให้เด็กรู้ว่าตนมีข้อดี มีความสามารถ เป็นคำพูดที่เด็กต้องการอย่างยิ่ง เด็กทุกคนย่อมอยากได้รับคำชมจากพ่อแม่ หรือบุคคลที่เลี้ยงตนมา เด็กที่ไม่อาจภูมิใจตัวตนของเขาในสายตาพ่อแม่ ก็อาจจะไม่มีวันภูมิใจในตัวเองเลยในอนาคต ไม่ว่าชีวิตจะประสบความสำเร็จแค่ไหน
และเหนือสิ่งอื่นใดที่เห็นได้ชัดจากจดหมายถึงพ่อ คือ การเปิดใจรับฟังลูกนั้นสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเราคงอยากให้ลูกเปิดใจกับเราทันทีหากเขารู้สึกคับข้องใจอย่างมาก ไม่ใช่เปิดใจกับเราในวันที่เขาสุดทน เหมือนคาฟคาที่อดทนมาเป็นสิบๆ ปี จึงค่อยเขียนจดหมายถึงพ่อของเขาในวันที่อาจจะสายเกินไปแล้ว
หนังสือที่รีวิว: จดหมายถึงพ่อ ประเภท: วรรณกรรม เขียนโดย: ฟรันซ์ คาฟคา แปลโดย: ถนอมนวล โอเจริญ สำนักพิมพ์: ไลบราลี่ เฮาส์ (พิมพ์ครั้งที่ 2)
ชวนอ่านบทความเพิ่มเติมในหมวดจิตวิทยากับการ ‘ชื่นชม’ ความเข้าใจผิดที่ส่งต่อกันมาเรื่องการชื่นชมเด็ก โรค ‘ปั้นลูกให้เก่ง’ |