- Blue Giant เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันจากญี่ปุ่น บอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มวัย 18 ปี 3 คน ที่มีแบ็คกราวด์แตกต่างแต่มีความฝันเดียวกัน โดยมีดนตรีแจ๊สร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างทรงพลัง
- แก่นหลักของเรื่องนอกจากจะทำให้เห็นถึงความสำคัญของแพสชั่นและความพยายาม หรือ Grit ยังฉายชัดถึงการมีทัศนคติที่ดี ที่ช่วยให้รับมือกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้
- ยุซุรุ ทาชิคาวะ ผู้กำกับแสดงความคาดหวังว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังหลงทาง สูญเสียความฝัน หรือยอมแพ้ ให้สามารถลุกขึ้นยืนเพื่อตามหาดาวเหนือที่ฝันไว้อีกครั้ง
ภาพจาก 沁入靈魂的爵士樂:為什麼《BLUE GIANT》讓觀眾看著看著都淚流滿面? – POPBEE
ย้อนกลับไปประมาณสิบปีก่อน ผมในวัย 20 กำลังนั่งจับกลุ่มคุยกับเพื่อนๆ ถึงเหตุการณ์ในรายการประกวดร้องเพลงชื่อดังแห่งยุค
สิ่งที่ทำให้ผมไม่ลืมคือปกติเราจะนั่งคุยกันว่าใครเสียงดีหรือหน้าตาดีที่สุด แต่วันนั้นเรากลับพูดถึงประเด็นที่รายการโฟกัสความสนใจไปยังน้องผู้หญิงวัยมัธยมสองคนว่าทำไมคนหนึ่งถึงถูกกรรมการเปรียบว่าเป็น “ดอกไม้สด” ต่างกับอีกคนที่ถูกเรียกว่า “ดอกไม้ประดิษฐ์”
ผมคิดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง หลังได้รับชมภาพยนตร์อนิเมะจากญี่ปุ่นเรื่อง Blue Giant เป่าฝันให้เต็มฟ้า ที่สร้างจากมังงะชื่อเดียวกันที่มียอดขายมากกว่า 10 ล้านเล่ม
Blue Giant บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ได’ (มิยาโมโตะ ได) หนุ่มน้อยอายุ 18 จากเมืองเซนไดที่เดินทางเข้ามาในเมืองหลวงอย่างกรุงโตเกียวเพื่อสานฝันการเป็นนักดนตรีแจ๊ส (แซ็กโซโฟน) อันดับ 1 ของโลก ซึ่งประเด็นสำคัญนอกจากเรื่องความมุ่งมั่นพยายามอย่างแรงกล้าของไดแล้ว ภาพยนตร์ยังเล่าถึงเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันของไดอีกสองคนที่แม้จะมีนิสัยใจคอต่างกัน แต่ด้วยความหลงใหลในดนตรีแจ๊สเหมือนกัน ทำให้ทั้งสามคนตัดสินใจตั้งวงดนตรีร่วมกัน โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องไปแสดงโชว์ใน So Blue หรือคลับแจ๊สอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นก่อนที่ทุกคนจะอายุครบ 20 ปี
[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์]
ความสำเร็จเหมือนการปลูกดอกไม้ที่ต้องรดน้ำพรวนดินอย่างสม่ำเสมอ
บทเรียนชีวิตบทแรกที่ผมได้รับจากภาพยนตร์เรื่องนี้คือเรื่อง ‘ความมุ่งมั่น’ และ ‘เพียรพยายาม’ ของไดในการฝึกฝนฝีมือทุกวัน โดยไม่สนว่าวันนั้นจะผ่านเรื่องอะไรมา สภาพอากาศจะเป็นอย่างไร หรือคนจะพูดถึงเขายังไง
นอกจากการฝึกเป่าแซ็กโซโฟนทุกวัน ไดก็หาเวลาว่างมาดูแลอาวุธคู่ใจของเขาเสมอ ทั้งยังเพิ่มความแข็งแรงของปอดและลมหายใจด้วยการวิ่งวันละ 3 ชั่วโมง เพราะไดตระหนักว่าหน้าที่ของเขาคือการพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ เขาในวันนี้ต้องดีกว่าตัวเองในเมื่อวาน
ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินว่าการมีแพสชันเพียงอย่างเดียวก็ไม่ต่างอะไรกับการ ‘ฝันกลางวัน’ ที่แทบจะไม่มีทางเป็นจริง ซึ่งบุคลิกของไดได้บอกใบ้ผมทางอ้อมว่า กุญแจสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นความจริง คือส่วนผสมของความหลงใหลและความพากเพียร ที่เรียกว่า Grit ซึ่งเป็นเหมือนแรงผลักดันให้เราไปสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ได้ โดยไม่ยอมแพ้แม้หนทางจะยากลำบาก หรืออุปสรรคจะมากแค่ไหน
อย่าเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ที่สวยแต่ไร้ชีวิตชีวา
ในจำนวนเพื่อนร่วมวงทั้งสองของได ผมชื่นชอบนักเปียโนที่ชื่อ ‘ยูกิโนริ’ มาก เพราะยูกิโนริถือเป็นตัวละครที่มีความพลิกผันมากที่สุด ซึ่งก็ทำให้เห็นมุมมองเรื่องชีวิตและความสำเร็จมากที่สุดเช่นเดียวกัน
ยูกิโนริฝึกเปียโนตั้งแต่ 4 ขวบ ฝีมือของเขาในวัย 18 ถูกจับจ้องและคาดหมายว่าจะก้าวขึ้นเป็นนักดนตรีแถวหน้าของวงการแจ๊สได้ไม่ยาก แต่ถึงจุดหนึ่งความแม่นทฤษฎีกลับทำให้ตัวเอง ‘ติดกรอบ’ เมื่อต้องแสดงท่อนโซโล่ในการโชว์ร่วมกับวง เขากลับโซโล่เปียโนอยู่ในกรอบเดิมๆ ซ้ำๆ จนขาดเสน่ห์ เพราะหัวใจของท่อนโซโล่คือการแสดงอารมณ์ความรู้สึกสดๆ ของนักดนตรีผ่านเสียงบรรเลงไปยังผู้ชมโดยไม่มีการเตรียมตัวมาก่อน
สวนทางกับไดที่แม้จะไม่รู้ทฤษฎีอะไรมากนัก แต่พอเข้าโซโล่เขากลับเล่นดนตรีได้อย่างเร่าร้อนและทรงพลัง โดยใช้อารมณ์เป็นตัวขับเคลื่อนทำให้เสียงแซ็กโซโฟนของไดเปล่งประกายและมีเสน่ห์เฉพาะตัวเหมือนกับ ‘ดอกไม้สด’ ที่บางครั้งก็เบ่งบานให้ความสุข แต่บางคราวกลับดูเศร้าหมอง แต่ทุกครั้งมันคือการสื่อสารความรู้สึกจากนักดนตรีไปถึงผู้ชม
อย่างไรก็ตาม หลังฉากนี้ผู้บริหารจาก So Blue คลับแจ๊สอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นที่ได้มาดูการแสดงสดของทั้งสามคน ซึ่งรวมตัวกันในชื่อ ‘Jass’ เขาได้พูดคุยกับยูกิโนริเป็นการส่วนตัว และได้วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า
“เธอเล่นได้ไม่ดีเลย เอาแต่เล่นเปียโนอยู่ใต้จมูกตัวเอง ไม่มีพาร์ทไหนของการแสดงเลยที่น่าสนใจ เธอก็รู้ว่าเรามีคลับแจ๊สที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น แต่เธอกำลังทำเหมือนดูถูกเราด้วยวิธีการเล่นแบบนั้น เธอขี้ขลาดใช่ไหม เธอพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อดึงดูดความสนใจมาที่ตัวเอง…ทั้งๆ ที่เธอควรใช้ความพยายามเหล่านั้นในระหว่างการโซโล่แทน ยิ่งกว่านั้นดูเหมือนเธอไม่เพียงแค่ดูถูกดนตรีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนอื่นๆ ด้วย”
ล้มได้ก็ลุกได้ ถ้าเรายังเป็นลมใต้ปีกให้กันและกัน
ภายหลังเหตุการณ์ที่ยูกิโนริถูกผู้บริหาร So Blue หักอก ภาพยนตร์ก็ส่งข้อความถึงผมว่า การมี ‘ทัศนคติที่ดี’ จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับสถานการณ์ยากๆ ได้ ซึ่งนำเสนอผ่านฉากที่ ‘ได’ รับรู้เรื่องนี้และเข้ามาปลอบใจยูกิโนริให้ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง
“นายคิดว่าสิ่งที่ชายคนนั้นพูดมันจริงไหม ใช่ ฉันก็คิดแบบนั้นเช่นกัน นายไม่ควรปล่อยให้ตัวเองหดหู่ สิ่งที่นายควรทำคือการลุกขึ้นสู้ ไม่ใช่มัวแต่นั่งซึม
ตอนเป่าโซโล่ ฉันจะเป่าโดยคิดว่าตัวเองเจ๋งสุดในโลก ถึงแม้จริง ๆ แล้วมันไม่แจ่มนักก็ตาม ถ้าแค่มีคนบอกว่าฝีมือห่วยก็เออออเชื่อเขาแบบนี้คงไม่ต้องทำอะไรกินกันแล้ว คนที่มัวแต่หงอ ไม่มีทางทำอะไรสำเร็จหรอก”
นอกจากยูกิโนริ ตัวละครสุดท้ายที่อยากพูดถึงคือ ‘ทามาดะ’ มือกลองของวงที่หัดกลองได้ไม่ถึงสามเดือนก็ต้องขึ้นโชว์ครั้งแรก ซึ่งภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นว่าแม้ช่วงต้นๆ เขาจะเป็น ‘ตัวถ่วง’ ของวง แต่ไม่นานผมก็เริ่มเห็นพัฒนาการที่ก้าวกระโดดของทามาดะ ผ่านสายตาของคุณลุงเจ้าของร้านเต้าหู้ที่ติดตามให้กำลังใจทามาดะตั้งแต่แสดงครั้งแรกจนถึงวันที่เขาเริ่มเป็นที่ยอมรับของชาวแจ๊สในกรุงโตเกียว
“เธอเล่นดีขึ้นมากจากการแสดงครั้งแรกจนถึงตอนนี้ ลุงเห็นทักษะของเธอดีขึ้นเรื่อยๆ (ตบไหล่) ลุงมาที่นี่ก็เพื่อดูว่าฝีมือกลองของเธอพัฒนาการขึ้นแค่ไหนแล้ว”
ผมรู้สึกประทับใจวิธีพูดและการใช้ภาษากายของคุณลุงมาก เพราะทามาดะเป็นตัวแทนของคนที่เริ่มพัฒนาตัวเองจากศูนย์โดยอาศัยความพยายามอย่างหนักหน่วง ทั้งการลงทุนซื้อกลอง ไปเรียนกลองที่โรงเรียนสอนดนตรีเด็ก หรือแม้แต่ฝึกตีกลองจนนิ้วเป็นตุ่มพองก็ยังไม่หยุด ดังนั้นการที่มีใครสักคนมองเห็น ชื่นชม ให้กำลังใจ และให้คุณค่ากับความพยายามของเขา จึงเหมือน ‘ลมใต้ปีก’ ที่พยุงให้ทามาดะมีพลังใจจะก้าวต่อไปในเส้นทางที่เขารัก
อย่างไรก็ตาม บนเส้นทางไล่ล่าความฝันเพื่อให้ได้ขึ้นแสดงที่ So Blue จักรวาลชาวแจ๊สในโตเกียว ทั้งสามคนต้องผ่านบททดสอบมากมาย แต่ด้วยมุมมองเชิงบวก ความมุ่งมั่นพยายามเอาชนะข้อจำกัดของตัวเอง การเห็นคุณค่าและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ในการโอบล้อมของมิตรภาพและความปรารถนาดีอย่างจริงใจ ทำให้พวกเขาก้าวไปประกาศความฝันต่อหน้าผู้ชมได้อย่างสง่างาม
“ผมมีคำเรียกนักดนตรีที่เล่นได้อย่างมหัศจรรย์ว่าดาวฤกษ์สีฟ้า ด้วยอุณหภูมิที่ร้อนจัดจนเกินขีดจำกัดที่เราสามารถทำได้ พวกเขาเป็นเหมือนดาวฤกษ์สีฟ้าดวงนั้น และการแสดงโชว์ครั้งนั้นเปล่งประกายไปด้วยแสงสีฟ้าของดนตรี” อาจารย์ผู้สอนแซ็กโซโฟนของได กล่าว
ถือเป็นความแข็งแรงของพล็อตที่ทำให้หนังเรื่องนี้ส่งต่อพลังงานดีๆ ให้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่กำลังไล่ตามความฝัน เป็นคนรักดนตรีแจ๊ส เป็นคนรักอนิเมะ หรือเป็นแค่คนธรรมดาที่อยากใช้ชีวิตในเส้นทางที่เลือก…