- เมื่อ ‘โรงเรียนกวดวิชา’ กำลังเข้ามาแทนที่โรงเรียน และครูเอกก็ถูก ‘ติวเตอร์’ เขามาแทนที่เช่นกัน
- ซีรีส์ Blackdog ว่าด้วยเรื่องของ โกฮานึล คุณครูอัตราจ้างคนใหม่ในฝ่ายให้คำปรึกษาโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งที่มีอดีตฝังใจ ทำให้เธอมีความฝันและตั้งใจเรียนอย่างหนักเพื่อเป็นครูประจำให้ได้
- ฮานึลเป็นครูประจำชั้นห้องเรียนอิคารัส ห้องเรียนสำหรับนักเรียนหัวกะทิและมีโอกาสสูงที่จะเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย เป็นตัวสะท้อนให้เห็นค่านิยมสังคมเกาหลีใต้ที่การเรียนต่อมหาวิทยาลัยคือเป้าสูงสุด
- โรงเรียนจากที่เคยเป็นสถาบันการศึกษาหลักของประเทศถูกลดบทบาทลง การเข้ามาแทนของโรงเรียนกวดวิชา ถึงขั้นเป็นตัวกำหนดอนาคตของนักเรียนในสังคมที่แข่งขันสูง พ่อแม่ยอมเสียเงินให้โรงเรียนกวดวิชาหลักแสนต่อเดือนเพื่ออนาคตของลูกๆ
ถ้ามองว่าอาชีพครูมีหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว ก็อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะนอกจากการเตรียมการสอนแล้ว ยังต้องส่งนักเรียนคนหนึ่งให้จบการศึกษาในรั้วโรงเรียนให้ได้ แต่หลังจากนั้นเส้นทางของนักเรียนแต่ละคนจะเป็นอย่างไร พวกเขาจะเป็นคนเลือกเอง
ซีรีส์เรื่อง Blackdog ว่าด้วยเรื่องของ ‘โกฮานึล’ คุณครูอัตราจ้างคนใหม่ในฝ่ายให้คำปรึกษาโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งที่มีอดีตฝังใจ คือ ครูประจำชั้นที่ปกป้องเธอจากอุบัติเหตุรถทัวร์พลิกคว่ำ แต่เธอมารู้ตอนหลังว่าครูที่ช่วยเธอเป็นเพียงแค่ครูอัตราจ้างและไม่ได้ยอมรับว่า เขาคือครูคนหนึ่ง ทำให้เธอมีความฝันและตั้งใจเรียนอย่างหนักเพื่อเป็นครูประจำให้ได้
นอกจาก Blackdog จะเล่าเรื่องการทำงานของครูแล้ว ในอีกแง่หนึ่งยังสะท้อนให้เห็นว่าโรงเรียนเกาหลีใต้กำลังต่อสู้กับโรงเรียนกวดวิชาที่ได้รับความนิยมมากและเรียกความไว้ใจจากนักเรียนและผู้ปกครองว่า พวกเขาสามารถเป็นศูนย์รวมการศึกษาที่บริการข้อมูลได้อย่างเต็มที่ไม่ต่างจากโรงเรียนกวดวิชา
บทความนี้อยากแสดงให้เห็นว่า การกอบกู้ความอยู่รอดของโรงเรียนและซื้อใจนักเรียนหรือผู้ปกครองของเหล่าคุณครู ท่ามกลางกระแสการเรียนพิเศษที่เข้มข้นจนโรงเรียนถูกลดความสำคัญ โรงเรียนจะต้องวางแผนหรือต่อสู้อย่างไรเพื่อพวกเขาจะไม่ตกเป็นสถาบันการศึกษาที่ถูกลืม
ห้องเรียนรวมหัวกะทิสำหรับเด็กเก่งเท่านั้น
สิ่งแรกที่บ่งบอกว่าโรงเรียนนี้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่ว่านักเรียนจากโรงเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้กี่คน แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้มากน้อยแค่ไหน (ไทยกับเกาหลีก็เหมือนๆ กัน)
สำหรับ Blackdog โรงเรียนสร้างห้องเรียนอิคารัสสำหรับนักเรียนเก่ง เพื่อส่งเสริมให้เด็กกลุ่มนี้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ และเป็นกลุ่มที่คุณครูในโรงเรียนให้ความสนใจ โดยถือว่าเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เด็กๆ อยากจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชมรมนี้ เพราะพวกเขาจะมีสิทธิเรียนเพิ่มเติมมากกว่านักเรียนคนอื่น
ชมรมอิคารัส คือ หนึ่งในผลผลิตจากนโยบายของภาครัฐซึ่งระบุไว้ในกฎหมายการศึกษาปี 2543 เพื่อสร้างนวัตกรรมการศึกษา พัฒนาศักยภาพในการทำงานของคนให้สูงขึ้น และพัฒนาคนเพื่อตอบโจทย์ตลาดและสังคม หรือเรียกว่าการศึกษาแบบกิ๊ฟเต็ด (Gifted Education)
โดยสถาบันการศึกษาสามารถนำไปสร้างแนวทางการสอนได้ 3 รูปแบบ คือ โรงเรียนมัธยมเฉพาะทาง จัดตั้งเป็นศูนย์การศึกษาภายใต้การดูแลของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย รวมถึงกำหนดเป็นห้องเรียนเฉพาะทางในโรงเรียนทั่วไป (อิคารัสอยู่ในแบบสุดท้าย)
ข้อมูลล่าสุดจาก Gifted Education Database (GED) เมื่อปี 2013 พบว่านักเรียนเกาหลีใต้เข้าร่วมโครงการ Gifted ในรูปแบบต่างๆ ประมาณ 120,000 คน และมีสาขาสำหรับสายวิทย์และศิลป์ให้พวกเขาเลือก เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดนตรี ศิลปะ และภาษาเป็นต้น
ห้องเรียน Gifted ในเกาหลีใต้ไม่ต่างจากการห้องเรียน Gifted ในโรงเรียนรัฐและเอกชนของไทยที่มีการแข่งขันและค่าเทอมสูงกว่า ยกตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หรือโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ตามแนวทาง สสวท. และสอวน. ของโรงเรียนสตรีวิทยา
นอกจากหลักสูตรของห้องเรียน Gifted ที่เข้มข้นและเรียนหนักกว่าห้องเรียนทั่วไปแล้ว สภาพแวดล้อมในห้องเรียนก็ยังเอื้อให้เด็กๆ เรียนอย่างมีประสิทธิภาพด้วย เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่าพวกเขาจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ อย่างชมรมอิคารัสใน Blackdog ก็สามารถใช้ห้องอ่านหนังสือได้และมีแนวข้อสอบในการทำข้อสอบ ทั้งๆ ที่นักเรียนคนอื่นไม่สามารถทำได้
เรียกได้ว่า ห้องเรียน Gifted กำลังทำหน้าที่เป็นทั้งห้องเรียนเสริมเด็กเก่งและพัฒนาศักยภาพของคน รวมถึงเป็นป้ายโฆษณาเรียกความน่าเชื่อถือจากผู้ปกครองได้ด้วย
บทบาทของโรงเรียนในวงการศึกษา
โรงเรียนกวดวิชาเกาหลีใต้ (ฮักวอน) ถูกยกย่องจนเป็นสถาบันหลักของสังคมเรื่องการศึกษาจากการเป็นศูนย์รวมการศึกษาทุกด้าน ทั้งเรื่องเรียน สุขภาพ และจิตใจ เพราะสถาบันทางสังคมนี้กลายเป็นตัวกำหนดอนาคตของนักเรียนในสังคมการแข่งขันที่เข้มข้นภายใต้โลกทุนนิยมที่มีเงินเป็นเครื่องนำทาง ดังนั้นพ่อแม่จึงยอมเสียเงินให้กับโรงเรียนกวดวิชาวางแผนอนาคตของลูกๆ
ย่านคังนัมในโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้มีฮักวอนอยู่ 25,000 – 30,000 แห่งและอาจมีฮักวอนทั่วประเทศประมาณ 70,000 แห่ง อีกทั้งพ่อแม่ยังยอมเสียค่าใช้จ่าย 124,000 – 186,000 บาทต่อเดือนสำหรับเด็กหนึ่งคนเพื่อเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน และรายได้ของฮักวอนยังคิดเป็นค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเกาหลี (Gross Domestic Product: GDP) ซึ่งมีค่ามากกว่าจำนวนงบ (กว่าครึ่ง) ที่เกาหลีใช้ไปกับระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ให้เรียนฟรีในโรงเรียนรัฐบาลจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ขณะที่โรงเรียนเกาหลีใต้ จากสถาบันหลักของสังคมในอดีต แต่วันนี้กลายเป็นสถาบันการศึกษาทั่วไป เพราะเป็นทางเลือกที่นักเรียนไม่ได้เป็นคนเลือกเอง เนื่องจากเป็นระบบสุ่มของภาครัฐ คุณครูเลยทำงานหนักขึ้นทั้งการวางแผนการสอนหรือดูแลนักเรียน เพื่อบอกว่า โรงเรียนและครูมีความรู้และความตั้งใจมากพอที่จะให้คำแนะนำทุกด้านกับนักเรียนและผู้ปกครองเช่นกัน
ใน Blackdog โกฮานึลรับหน้าที่เป็นครูดูแลห้องเรียนอิคารัส เธอค้นพบว่าเด็กทุกคนต่างมีความฝันและมองเห็นเส้นทางของตัวเอง หน้าที่ของเธอ คือ การเตรียมพร้อมนักเรียนสู่มหาวิทยาลัย ทำให้ครูคนใหม่คนนี้เลือกจะแนะนำและอยู่เคียงข้างนักเรียนของเธอตลอด แม้กระทั่งดูมหาวิทยาลัยที่เหมาะสม ตั้งใจเขียนจดหมายแนะนำนักเรียน หรือสมัครสอบให้
นอกจากนั้น ฝ่ายให้คำปรึกษาที่เธอทำงานอยู่ต้องวางแผนการทำงานอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์และการร่วมมือกับบุคลากรในมหาวิทยาลัยให้เข้ามาเป็นผู้ให้ข้อมูลการสมัครสอบ ไปจนถึงขอทุนมหาวิทยาลัยให้กับนักเรียน
ที่โรงเรียนต้องลงทุนลงแรงดูแลนักเรียนกันอย่างเต็มที่เพราะโปรไฟล์ด้านการเรียนและพฤติกรรมของนักเรียน หรือแม้แต่จดหมายแนะนำนักเรียนเป็นตัวกำหนดว่า นักเรียนคนนั้นจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ไหม หรือจะสอบเข้าได้ในมหาวิทยาลัยไหน หรือจะเลือกอนาคตแบบไหน
อีกทั้งซีรีส์เรื่องนี้กำลังบอกว่า โรงเรียนกวดวิชาอาจจะสำคัญในเรื่องเทคนิคการทำข้อสอบ แต่โรงเรียนมีหน้าที่ประคับประคองและดูแลประวัตินักเรียนแต่ละคนให้ดีที่สุดเพื่อให้พวกเขาพร้อมในสนามแข่งขันและโลกความเป็นจริง
ครูในโรงเรียนถูกลืม เพราะติวเตอร์เข้ามาแทนที่
จะเห็นว่าโรงเรียนกวดวิชาเข้ามาครองใจเหล่านักเรียนและผู้ปกครองได้เพราะพวกเขาเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดี สามารถดูแลนักเรียนคนหนึ่งให้พร้อมกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างรอบด้านด้วยจำนวนนักเรียนที่น้อยกว่าห้องเรียนธรรมดาครึ่งหนึ่ง ส่วนครูในโรงเรียนก็ยังคงมีภาระงานจากกระทรวงศึกษาและการเตรียมแผนการสอนจนอาจมองข้ามความรู้สึกของนักเรียนไปบ้าง
หากจะบอกว่าโรงเรียนกวดวิชากำลังแทนที่โรงเรียน ติวเตอร์ก็กำลังมาแทนที่ครูในโรงเรียนเช่นกัน
ประเด็นนี้ Blackdog ถูกหยิบมาสร้างเป็นปมปัญหาในเรื่อง จากการเฉลยข้อสอบผิดพลาดที่เด็กห้องอิคารัสไม่ยอม เพราะพวกเขาเชื่อว่าพวกเขาทำถูกและเลือกที่จะเช็คคำตอบข้อสอบนี้จากครูในโรงเรียนกวดวิชาอีกครั้ง (ครูในโรงเรียนยืนกรานว่าพวกเขาทำถูก) ซึ่งผลจากโรงเรียนกวดวิชาก็แสดงออกมาว่าข้อสอบผิดพลาดจริง ทำให้เด็กๆ ตั้งคำถามกับการออกข้อสอบของครู
หากถอยออกมาจากโลกของซีรีส์คงจะจริงที่นักเรียนเลือกจะไม่สนใจการเรียนในโรงเรียน แต่ตั้งใจเรียนในโรงเรียนกวดวิชาแทน เพราะนักเรียนบางคนแบกหมอนกับผ้าห่มมานอนที่โรงเรียนแล้วกลับไปเรียนพิเศษชดเชยตอนเย็นแทน จนร้านกิฟต์ช็อปในเกาหลีผลิตหมอนพิเศษสำหรับการนอนบนโต๊ะนักเรียน
“ติวเตอร์บางคนบอกว่าพวกเขามีอิทธิพลกับเด็กๆ มากกว่าคุณครูในโรงเรียนเสียอีก” ติวเตอร์คณิตศาสตร์คนหนึ่งเล่าผ่านบทความของเว็บไซต์ koreanjoongkangdaily
เหตุผลที่เขาพูดได้อย่างเต็มปากเป็นเพราะเขารู้ว่าเด็กๆ เบื่อกับการเรียนในโรงเรียน จากคุณครูบางคนที่เข้มงวดและขยันจัดอันดับพวกเขา รวมถึงเนื้อหาที่สอนยังเป็นเนื้อหาที่เขารู้อยู่แล้ว
อิทธิพลของโรงเรียนกวดวิชาในเกาหลีไม่ต่างจากประเทศไทย เพราะทุกวันนี้นักเรียนหรือแม้แต่นักศึกษายังต้องเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนถึงสองหรือสามทุ่ม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองตอนทำข้อสอบ และเริ่มเข้ามาลดบทบาทโรงเรียน เนื่องจากเนื้อหาในโรงเรียนเป็นสิ่งที่นักเรียนรู้อยู่แล้ว
Blackdog คือ ซีรีส์สะท้อนกระบวนการทำงานของอาชีพครูและโรงเรียนที่ไม่ได้มีแค่หน้าที่ยืนแล้วให้ความรู้นักเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ทุกขั้นตอนคือความละเอียดอ่อนที่ส่งผลต่ออนาคตของเด็กคนหนึ่งหากบอกว่าโรงเรียนกำลังจะถูกลืม เพราะค่านิยมสังคมกำลังบอกว่า นักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ต้องเรียนพิเศษ แต่ในโลกความจริงแล้วโรงเรียน คือ สถาบันเตรียมพร้อมนักเรียนที่กำลังจะก้าวสู่โลกภายนอกที่ไม่มีครูคอยชี้แนะ